"คนเราเกิดมา ย่อมมีความตาย เป็นธรรมดา เวลาเกิดมา เรามิได้เอาอะไรมา เวลาตาย เราก็มิได้เอาอะไรไป
บุญกับบาปเท่านั้น เป็นสมบัติประจำชีพ บุญนำไปสู่สุคติ บาปนำไปสู่ทุคติ
คนผู้รักตน จึงพยายามทำความดี อันจักเป็นที่พึ่งของตน ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า"
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
"การทำสมาธิภาวนานี้ ถ้าเป็นคนนิสัยดุร้าย ก็จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่าย ก็จะค่อยๆ เบาบางลง ถ้าเป็นคนปัญญาทึบ ก็จะเป็นคนฟังอะไรรู้เรื่อง เข้าใจในเหตุผล ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก"
หลวงปู่คำดี ปภาโส
"ขอให้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะแก้ไขตัวเองอยู่เสมอ
ไม่ว่าใครเป็นผู้เสนอความเห็น ก็ขอให้เราพร้อมที่จะรับฟัง
เพราะอะไร? เพราะต้องเป็นธัมมกาโม เป็นคนรักธรรม มากกว่ารักหน้าของตัวเอง"
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
"จะนั่งหัวแถว หรือหางแถวก็ไม่แปลก เหมือนเพชรนิลจินดา จะวางไว้ที่ไหน ก็มีราคาเท่าเดิม" หลวงปู่ชา สุภัทโท
“...เรื่องมรรคผลธรรมวิเศษนี้สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ผมได้ยินครูบาอาจารย์บางท่านเล่าสู่ฟังว่ามีคนเข้าไปถามท่านเหมือนกันว่า “เมื่อท่านอาจารย์มรณภาพไปแล้ว จะมีอะไรเป็นสักขีพยานเครื่องยืนยันให้อนุชนที่เกิดมาสุดท้ายภายหลัง เชื่อแน่นอนว่าท่านอาจารย์เป็น “พระอรหันต์ขีณาสพ แน่นอน เพื่อยืนยันว่าสมัยนี้ยังไม่หมดพระอรหันต์” ท่านบอกว่า “เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วจะต้องมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นภายหลังฌาปนกิจศพแล้ว”
เมื่อได้ยินแล้วต่างคนต่างก็คอยสังเกตว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยความกระเหี้ยนกระหายอยากดูว่าจะเป็นอะไร พอถึงคราวท่านมรณภาพจริงๆ และหลังจาก “ฌาปนกิจศพ” แล้วผลปรากฏว่า “อัฏฐิของท่านกลายเป็น พระธาตุ คือเป็นก้อนกลมสีต่างๆกันหลายร้อยก้อน ผู้ที่ได้รับแจกมีหลายคนเป็นก็มีไม่เป็นก็มีและอยู่คนละอำเภอ คนละจังหวัด แต่เรื่องนี้ตามที่ได้ยินข่าวเขาเล่าว่ามักเป็นกับพวกชนบทเป็นส่วนมาก ถ้าเป็นเฉพาะของนายวันที่โคราชแห่งเดียว เราก็อาจสงสัยได้ เพราะเขาอาจจะมีวิธีทำให้เป็นของแปลกๆ เพื่อยกย่องครูบาอาจารย์ก็ได้ แต่อันนี้ไม่เป็นเฉพาะคนเดียว ของคนที่อยู่ตามบ้านนอกบ้านนาตาสีตาสาก็เป็นเหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องที่ว่าเขาอาจมีวิธีทำขึ้นเพื่อสรรเสริญครูบาอาจารย์ดังกล่าวมานั้น จึงตกไป
สรุปแล้ว เรื่องมรรคผลธรรมวิเศษและพระอรหันต์ ว่ามีจริงหรือไม่นั้น สำหรับผมเองแล้วไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยแม้แต่ประการใด ผมเชื่อว่า “ยังมีจริงๆ อย่างแน่นอน” ผมเองก็เคยศึกษาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นลำดับมา ถึงแม้การปฏิบัติของผมได้เพียงเล็กน้อยเท่าที่ผมได้ ผมก็รู้สึกภูมิใจมาก นับว่าไม่เสียชาติที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา ผลของการปฏิบัติ คือ “คุณธรรม” ที่เกิดขึ้นภายในเป็นสิ่งอัศจรรย์ และเป็นความสุขที่ผมยังไม่เคยได้รับมาก่อนในชาติใดๆทั้งหมดที่ผมเคยผ่านมา ฉะนั้นผมจึงทราบซึ้งในคุณธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นอย่างสูง ที่ท่านได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติจนรู้แจ้งแทงตลอดในทางดำเนินที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อยืนยันคำสอนของพระพุทธเจ้าในความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในโลกอีกครั้งหนึ่งแล้วนำมาประสิทธิ์ประสาทให้แก่บรรดาผู้แสวงหาสันติสุขได้ประพฤติปฏิบัติตาม จึงนับว่าท่านพระอาจารย์มั่น ทำประโยชน์ที่สูงที่สุดในโลก และท่านเป็นสาวกที่เทิดทูนพระศาสนาที่หาได้ยากองค์หนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี
"... อารมณ์ชนิดใดก็ตาม เราอย่าไป “เอาชนะมัน” เราอย่าไป “ยอมแพ้มัน”
ให้เรา “ตั้งอยู่ในความสงบ”...เรียกว่า "น้ำไหลนิ่ง" ความสงบท่ามกลางความไม่สงบ "น้ำไหลนิ่ง"....หยุด...นิ่ง...รู้
"น้ำไหลนิ่ง" เป็น "ความสงบที่อยู่ท่ามกลางความไม่สงบ เปรียบเสมือน "น้ำไหลนิ่ง"
“อารมณ์” อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นภายในจิตเรา ความพอใจ ความไม่พอใจ ความรัก ความชัง ความดีใจ ความเสียใจ ความโกรธ ความพยาบาท
อะไรก็ตาม มันจะเป็น “อารมณ์ชนิดใด” ก็ตาม เราอย่าไป “เอาชนะมัน" เราอย่าไป “ยอมแพ้มัน” ให้เรา “ตั้งอยู่ในความสงบ”
"ความสงบที่อยู่ท่ามกลางความไม่สงบ "เปรียบเสมือน "น้ำไหลนิ่ง".... หยุด...นิ่ง...รู้.... “ดู” ความ “เกิด- ดับ”.... ของ “อารมณ์” ทั้งหลายทั้งปวง....
ไม่ไป “ข้องเกี่ยว” กับมัน แม้แต่ "ลมกับกาย" ความสงบนั้นก็ “มิได้ไปยุ่งเกี่ยว” อะไรด้วยเลย แล้วเราจะ “พ้นจากบ่วงของมาร” ..."
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
“ความคิดนั้นมันเกิดอยู่เสมอ เหมือนลมหายใจนั่นเอง ห้ามไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้มุ่งดับความคิด เอาแค่ว่า พอรู้อารมณ์แล้ว จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ก็ให้รู้ทัน อย่าฝันทั้งที่ตื่น คือหลงคิดไปโดยไม่รู้ตัวเท่านี้ก็พอ”
พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)
นักปฏิบัติ.หลงติดอยู่ที่ความพอใจ และไม่พอใจ เป็นเครื่องอยู่ เอาความพอใจ และไม่พอใจเป็นเครื่องอยู่
เมื่อพอใจ ได้สมใจก็เป็นสุข เมื่อไม่พอใจก็เกิดทุกข์ แต่ทั้งสุขและทุกข์ ก็ยังเป็นเงื่อนของสมมุติ
ไม่มีใครคิดที่จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างสุขกับทุกข์ เพราะตรงนั้นไม่มีทั้งความพอใจ และไม่พอใจ แต่เป็นความพอ พอดี ผู้ที่หลงเพลิน เล่นอยู่กับความพอใจ และไม่พอใจ จึงได้หนังสือเดินทางแห่งการท่องเที่ยวของภพชาติ ติดตัวไปตลอด ความพอใจ และไม่พอใจ เป็นอาหารชั้นยอดเยี่ยมของกิเลส
คุณแม่จันดี โลหิตดี
|