"คุณเอ้ย โลกมันสอนเรา
บางทีก็สนุกสำราญ บางทีก็เศร้าโศก บางทีก็ทารุณโหดร้าย คุณต้องเรียนได้ทุกบท
คุณจะบอกว่า ไม่ชอบวิชานี้ ไม่เรียน มันไม่ได้ เราชอบสุข เกลียดทุกข์ แต่เราก็ต้องเรียนทั้งสองอย่าง
เมื่อคุณผ่านการสอบหนึ่งครั้ง คุณจะพัฒนาไปอีกขั้น บทเรียนบางบท มันอาจจะแพงไปสักหน่อย ต้องแลกมาด้วย เงินทอง อวัยวะ หรือแม้แต่ชีวิต
แต่คุณอย่าลืมนะ วิชาดี ราคามันต้องแพง โลกสอนให้คุณรู้จักโลก ในทุกรูปแบบ ทุกรสชาติ คุณจะได้เบื่อโลก หน่ายโลก อย่างแท้จริง นิพพานของคุณ ก็จะเป็นนิพพานจริงๆ
อย่าเพิ่งลาออกจากโรงเรียนกลางคันก็แล้วกัน"
หลวงปู่หา สุภโร
ฌาน และ สมาธิ เป็นอันเดียวกันและต่างกัน ฌาน ได้แก่การเพ่งในอารมณ์นั้น ๆ ให้เป็นไป ตามปรารถนาของตน เมื่อสังขารปรุงแต่งอยู่นั้น จิตก็จะรวมลงในอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้น แล้วก็เป็นไป ตามปรารถนาของตน ดังอธิบายมาแล้ว เรียกว่า ฌาน
สมาธิ ได้แก่การพิจารณาให้เห็นเหตุผลของมันตามความเป็นจริงจนจิตหยุดนิ่งอยู่ไม่คิด ไม่นึกต่อไป ยังเหลือแต่ ผู้รู้ เรียกว่า สมาธิ
ฌาน และ สมาธิ นี้จิตรวมเหมือนกัน ถ้าจิตไม่รวมก็ไม่เรียกว่า สมาธิ และ ฌาน มีแปลก ต่างกันที่ ฌาน นั้น เมื่อจิตรวมเข้าแล้วจะลืมสติ เพ่งพิจารณาแต่อารมณ์อันเดียว หรือมีสติอยู่
แต่ไปเพลินหลงอยู่กับภาพนิมิตและความสุขอันนั้นเสีย ไม่พิจารณาพระไตรลักษณญาณต่อไป หรือที่เรียก ว่าความเห็นไปหน้าเดียว นี่เรียกว่า ฌาน ส่วน สมาธิ นั้น เมื่อจิตรวมหรือไม่รวมก็มีสติรักษาจิตอยู่ ตลอดเวลา รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่ในสภาพเช่นไร พิจารณาอะไร หยาบหรือละเอียดแค่ไหน เรียกว่า สมาธิ
บางทีเมื่อจิตถอนออกมาจากฌานแล้ว มาพิจารณาองค์ฌานนั้น หรือพิจารณาอารมณ์อันใด ก็ตาม จนจิตแน่วแน่อยู่เฉพาะอารมณ์อันนั้น หรือเพ่งอารมณ์ของฌานอยู่ แต่กลับไปพิจารณา พระไตรลักษณญาณ เสีย จิตไม่รวมลงเป็น ภวังค์ เรียกว่า ฌานกลับมาเป็นสมาธิ
เมื่อพิจารณาอารมณ์ของสมาธิอยู่ หรือออกจากสมาธิแล้วก็ตาม จิตไปยินดีน้อมเข้าไปสู่ ความสงบสุข เลยไม่พิจารณาอารมณ์ของสมาธินั้น จิตรวมเข้าไปเป็น ภวังค์ เรียกว่า สมาธิกลับมาเป็นฌาน
ฌานและสมาธินี้กลับเปลี่ยนกันไปกันมาอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติ ไม่เป็นการเสีย หายอะไร ขอแต่ให้รู้เรื่องของมันว่า อันนี้เป็น ฌาน อันนี้เป็น สมาธิ อย่าไปติดในอารมณ์นั้น ๆ ก็แล้วกัน
ทำให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว แล้วจะอยู่ในอารมณ์อันใดก็ได้ พระบรมศาสดาเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ หรือพระสาวกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องเพ่งพิจารณา ฌาน นี้เป็น วิหารธรรม เครื่องอยู่ของท่าน
ธรรมดาจิตจำเป็นจะต้องมีความคิดความนึกอยู่เสมอ ท่านเห็นโทษในอารมณ์นั้น ๆ ว่าเป็นไปเพื่อ วัฏฏะ เพราะฉะนั้นท่านจึงน้อมเอาจิตมาพิจารณาให้เป็น ฌาน เสีย เพื่อเป็นเครื่องอยู่ใน ทิฏฐธรรม ของท่าน
ฌาน และ สมาธิ นี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ไม่มีฌานก็ไม่มีสมาธิ ผู้ไม่มี สมาธิก็ไม่มีฌาน ดังนี้
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
"ไม่เห็นทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ ก็เอาทุกข์ออกไม่ได้ ทุกข์ตรงนี้ ก็หนีไปตรงนั้น นั่นแหละยิ่ง(เก็บ)ทุกข์เอาไว้"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
มันก็แสนจะทุกข์นั่นละการปฏิบัติ แต่ว่าทุกข์นั่นถ้ามันไม่รู้จักว่ามีทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์หรอก ถ้าเราจะพิจารณาทุกข์เราจะฆ่าทุกข์นี่ มันก็ต้องพบกันก่อนซิ จะไปยิงนกถ้าไม่เจอนกแล้วจะได้ยิงหรือ ทุกข์ ทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทุกข์ ชาติทุกข์ ชะราปิทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากให้มันทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์มันก็เอาทุกข์ออกไม่ได้อย่างนี้ . แล้วคนเราไม่อยากเห็นทุกข์ ไม่อยากได้ทุกข์ ทุกข์ตรงนี้ก็หนีไปนั้น นั่นแหละยิ่งเอาทุกข์ไว้ไม่ได้ฆ่ามัน ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาดูมัน ทุกข์ตรงนี้หนีไปตรงนั้น ทุกข์ตรงนั้นหนีไปตรงนี้ หนีแต่ทางกายเรา ครั้นมันหลงอยู่เมื่อใดจะไปตรงไหนมันก็ทุกข์ จะขึ้นเครื่องบินหนีไปจากมันก็ขึ้นไปด้วย แม้จะมุดลงไปในน้ำมันก็มุดไปด้วย เพราะทุกข์มันอยู่กับเรา แต่เรามันหลงมันอยู่กับเรา จะไปหนีจะไปละมันที่ไหนได้ . คนเรานะทุกข์ ทีนี้หนีไปที่นั้น ทุกข์ที่นั้นหนีมาทางนี้ ว่าเราหนีทุกข์มันก็ไม่ใช่ ทุกข์มันไปกับเรา เราไปกับทุกข์ไม่รู้จักทุกข์ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ก็ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้จักเหตุของทุกข์ ก็ไม่รู้จักความดับทุกข์ ที่ไหนมันจะดับได้ มันไม่มีหรอก . - หลวงปู่ชา สุภัทโท -
|