“การศึกษาก็ดี การครองเรือนก็ดี การทำงานก็ดี การปฏิบัติธรรมก็ดี ขาดความอดทน อย่างเดียว ก็ไม่สำเร็จ”
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
"ปากโกหก เป็นปากที่ขาดบาทสลึง คนโกหก เป็นคนขาดบาทขาดเต็ง
มนุษย์เต็มบาทเต็มเต็ง ไม่ควรพูดโกหกมุสา
จงพูดแต่ความสัตย์ความจริง เพื่อประโยชน์อันสมบูรณ์ต่อกัน"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
"การระลึกถึงความตาย เท่านี้แหละ จะแก้ความเศร้าโศกได้ เมื่อมีการพลัดพรากจากกัน" หลวงปู่แบน ธนากโร
“เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด” หลวงปู่ลี กุสลธโร
หลวงปู่ลี : เป็นอย่างไรแม่ออก การภาวนา หรือมากินมานอนอยู่อย่างนั้นหรอ?
โยม : มีแต่เจ็บแต่ปวด จะทำอย่างไรคะ
หลวงปู่ลี : “โอ๊ย...ทำให้มันเลยความเจ็บความปวดไปนู่นล่ะ ตอนนอนหลับ ไม่เห็นมันเจ็บมันปวดอะไร แต่ใจก็ไม่เห็นมันตายนะ ตอนนอนหลับ เราก็รู้ว่าวันนี้นอนเหมือนตายไม่รู้สึกตัว วันนี้ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความเจ็บความปวดมันมีอยู่ที่ไหน ของอันนี้แหละไปยึดมัน อันไหนก็ของกูของกูหมดมันก็เจ็บหน่ะซิ ก็วางมันดูซิ ถ้าว่ามันเจ็บ แต่นี่จิตมันไม่เป็นสมาธิ เป็นสมาธิเพียงแต่นอนเท่านั้น มันแยกกันไม่ออกเท่านั้นเอง
ถ้าจิตเป็นสมาธิจริงๆ แล้ว เป็นอัปมาสมาธิแล้ว มันไม่มีแล้วกาย มันมีแต่ผู้รู้ที่มันสัมผัสอยู่นั่นแหละ ถึงจะนั่งทั้งคืนก็ทั้งคืน ถ้าอย่างนั้นจะไปอัศจรรย์อย่างไรธรรมของพระองค์เจ้า มีแต่ชมครูบาอาจารย์ มีแต่ชมของพระพุทธเจ้าอยู่เฉยๆ แต่หัวใจตัวเองไม่ได้ดื่มสักที มีแต่ดื่มความเจ็บความปวด แล้วมันจะไปอัศจรรย์อะไร มีแต่ไปตามกิเลสตัณหาเฉยๆ ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วไม่ลงมือทำสักที เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่อย่างนี้แหละ วัฏฏะตัวนี้ เปลี่ยนพ่อเปลี่ยนแม่ เปลี่ยนพี่เปลี่ยนน้องกันอยู่อย่างนั้น เพราะจิตมันข้องเกี่ยวกันอยู่อย่างนั้นนะ ลงมือทำเอานะ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เท่านี้ก็ดีแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงเรานะ เรื่องการกระทำ อีกหน่อยไปเกิดเป็นสัตว์ให้เขาทำไร่ทำนา ถูกเขาเฆี่ยนเขาตี มันจะเป็นเองหรอกนับวันไปแล้ว ถ้าไม่เห็นสิ่งนี้ เขาจะมาบวชเหรอ
ขอให้จิตมันสงบเถอะ ก็เรื่องราคะนั่นแหละ ที่มันพาไปเกิดที่นั่นที่นี่ ตามจิตให้มันทันเถอะ ถ้าอยากเห็นภพเห็นชาติ ก็ต้องฝึกหัดสติให้เป็นมหาสติ ฝึกหัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญาดูซิ ตามจิตตัวเองให้มันทัน แต่นี่จะไปทันอะไรกัน แค่วันเดียวก็ตามจิตตัวเองไม่ทันแล้ว ไม่รู้ว่าจิตตัวเองมันคิดไปทางชั่วหรือทางดี ก็เลยไม่รู้ ก็เหมือน "หมาเห่าบ่าง” หมามันไม่รู้ว่าบ่างมันหนีขึ้นต้นไม้ต้นไหนก็เลยเห่าไปทั่ว เพราะมันไม่ได้กลิ่นนะ นี่ก็เหมือนกันนั่นแหละ
ดูครูบาอาจารย์ท่านฝึกหัด กว่าจะได้รู้คุณวิเศษ ท่านฝึกหัดพุทโธอยู่เป็นปีเป็นปีนะ กว่าจะได้ มันไม่ได้ฝึกกันง่ายๆ นะ แต่เรื่องภพเรื่องชาตินั้นมันชำนาญแล้ว เรื่องเทียวเกิดเทียวตายนั้นมันชำนาญมากแล้วไม่ได้ฝืน เหมือนเขาฝึกหัดควายฝึกหัดวัว เวลาเขาเอาแอกใส่คอมันก็ต้องดิ้นหนีบ้างเป็นธรรมดา เพราะมันไม่เคยแบกสักที มันก็ต้องพลิกข้างนั้นบ้างข้างนี้บ้าง ถ้ามันด้านแล้วมันไม่ได้พลิกหล่ะ เพราะบ่ามันด้านแล้วนี่ มีแต่ไถไปหล่ะ เร็วด้วย ถ้าไม่ชำนาญก็ไถไปหยุดเริ่มใหม่อยู่อย่างนั้นแหละ
แต่นี่จิตใจของเราก็เหมือนกันนั่นแหละ การนั่งสมาธิภาวนาก็เหมือนกันนั่นแหละ จิตมันไม่สงบสักที จิตไม่เป็นสมาธิสักที แล้วมันจะวางอุปาทานได้อย่างไร ก็แบกหามอยู่นั่นแหละ ถ้านอนหลับแล้วมีได้เท่านั้นแหละ ความสุขของผู้มีกิเลสตัณหา มีแต่นอนหลับเท่านั้นแหละ นอกนั้นมีแต่ไฟหมดเท่านั้นแหละ ดีไม่ดีก็โกรธให้ตัวเอง เพราะทำอะไรไม่ได้ดั่งใจตัวเองก็โกรธเครียดให้ตัวเองก็มี จะฆ่าตัวเองก็มี แต่ธรรมของพระองค์เจ้าท่านไม่เป็นอย่างนั้นนะ ท่านไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ให้เบียดเบียนตนเอง หัดเข้าฝึกเข้า อยู่ที่การฝึกเข้านั่นแหละนั่งก็ฝึกนอนก็ฝึกอยู่อย่างนั้นฝึกตัวเอง ฝึกจิตฝึกใจฝึกการฝึกงาน เขาเรียนมาแล้วในตำราเรียนเขาเรียนหมด แล้วก็มาฝึกงานอีก
เรานี้นักปฏิบัติต้องฝึกตนเองอยู่อย่างนั้น ไม่มีผู้ใดทำแทนเราได้ ครูบาอาจารย์มีแต่บอกทางเท่านั้นแหละ สิ่งที่ต้องทำ เราต้องเป็นผู้ทำเองทั้งหมด เหมือนกันกับกินข้าวนั่นแหละ ถึงจะนั่งเฝ้าอาหารอยู่ก็ตาม ถ้าไม่ยอมกิน มันก็ไม่รู้จักรสชาดไม่รู้จักความอิ่ม เหมือนกันกับความเจ็บความปวดนั่นแหละ นี่ก็ไปเพียงถามอาการนั่นแหละ ถ้าไปว่าอาการนั้นเป็นอย่างนั้น ไปถามว่าวันนี้เป็นอย่างนี้ มีแต่ถามกันเท่านั้นแหละ ความเจ็บปวดเป็นแทนกันไม่ได้ แต่นี่มีแต่ท่านสอน พอสอนแล้วก็จำเอาคำพูดท่านไป ไปโฆษณาเท่านั้นแหละว่าท่านดีเทศน์ดีเท่านั้น แต่จะละกิเลสตัณหานั่นไม่มี นี่แหละมีแต่เราต้องทำเอาเอง นี่แหละไม่อยากพูดเพราะพูดไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดูหมู่พวกอยู่เหมือนกัน โอ๊ย มีแต่เล่น เห็นแล้วระอาใจ
เรื่องการรับหมู่พวกทุกวันนี้ ผมไม่ได้ทำเล่นนะ ก็ทำอยู่อย่างั้นแหละ เดินจงกรมหมดทั้งวันก็เดินได้ นั่งภาวนาก็นั่งทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ทำเล่น เป็นคนที่เล่นกับเพื่อนไม่เป็น หยอกล้อกับใครไม่เป็น ความสนุกเฮฮาไม่เคยทำ ฝึกมาอย่างนั้นนะ มีแต่ไปคนเดียวไปคนเดียว ถ้าเห็นหมู่พวกติดตามมากก็เข้าบ้านตาด พอเข้าไปแล้ว พอว่างจากการช่วยการช่วยงานท่านแล้วก็หลบไป เป็นอย่างนั้นตั้งแต่พรรษามากขึ้นมา แต่ถ้าพรรษายังน้อยก็อยู่ประจำกับท่าน(หลวงตามหาบัว)นั่นแหละ ท่านพูดอะไรก็จับทันที จับเอาไปพิจารณาเอาไปทำนะ เพราะความตายไม่รู้จะมาวันไหนนะ นั่งก็ตาย นอนก็ตาย พิจารณาเรื่องความอยากให้มันชินกับความตาย ดูซิเวลาตายก็ร้องไห้ฟูมฟายจนให้คนอยู่รำคาญ บ้านอื่นก็รำคาญโอ่ยโอ้ยอยู่นั่นแหละ ตายแบบนั้นถือว่าตายขาดทุนนะ ไม่มีที่ไปเกิดก็ไปเกิดเป็นตุ๊กแก เกาะอยู่กับตุ่มเพราะมันห่วงอันนั้นนะ ของกูของกูอยู่อย่างนั้น ก็จิตมันไปเป็นอย่างนั้นแหละ ลองตามดูดีๆ นะ ถ้าว่ามันตายเอาธรรมของพระพุทธเจ้าไปวัดดูซิ
คนไม่ซื่อสัตย์ไม่เห็นหรอกเรื่องภพภูมิ คนไม่มีศีลไม่มีธรรม มีแต่พระอริยเจ้าทั้งหลายนั่นแหละ ระดับจิตท่านรับได้หมด ส่วนปุถุชนคนหนานั้นมันจะไปรับอะไรได้ แค่จิตของตัวเองก็ยังรักษาไม่ได้ ก็เลยปล่อยมันไปทั่ว ก็เลยไม่เกิดอานิสงส์อะไร เดินจงกรมก็เดิน แต่ไม่รู้สติมันไปทางไหน แล้วมันจะอัศจรรย์อะไร สุนัขถึงขนาดมันวิ่งมันยังไม่ได้ตรัสรู้เลย เดินไม่มีสติไม่มีปัญญา ถ้านั่งก็นั่งเฉยๆ นั่งหลับตาสัปหงก แต่ก็ยังหาว่าตัวเองทำความเพียร มันก็ไม่เห็นอะไรนะ สักหน่อยก็ตำหนิธรรมของพระองค์เจ้า ตัวเองทำไม่จริงไม่ตำหนินะไปตำหนิผู้อื่น เรื่องกิเลสมันเป็นอยางนั้นแหละ อะไรก็ต้องให้มันถูกใจตนเองหมดถึงดี มันเป็นอย่างนั้น
เอาเรื่องกิเลสมาพูดก็เชื่อมันนะ ก็เชื่อมาหลายภพหลายชาติแล้ว เชื่ออยู่อย่างนั้นก็เพราะตัวเองไม่อยากออกจากโลก ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าอยางนั้นคนมั่งคนมีคนยากคนจน ก็เห็นกันอยู่อย่างนี้แหละ ความสุขความทุกข์ก็เห็นกันอยู่อย่างนี้ ข้าวเกิดในจานก็มี ข้าวเกิดในหม้อก็มี ความสุขของมนุษย์ก็ดูให้มันชัดๆ อาบเหงื่อต่างนั้นเหมือพวกเราก็มี หรือจนถึงขนาดที่ว่าหาอะไรก็ไม่มี ก็เพราะบุญกุศลนั่นแหละที่ทำให้เป็นไป ก็ดูซิโลกใบนี้ ลองคิดอ่านดูดีๆ มันเกิดขึ้นด้วยการกระทำนะ ท่านถึงพูดว่า “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” ถ้าไม่สร้างสมบารมีก็มีแต่ทุกข์ตาย เกิดภพหน้า ก็เห็นอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ขนาดคลอดออกมาจากพ่อจากแม่เดียวกัน การทำอยู่ทำกินเราสังเกตสังกาดูซิต่างกันสุดๆ ท่านถึงว่าอกุศลกับกุศล กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตาธัมมา เราทำไว้อย่างไร เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ให้ภาวนาเข้าไป เดี๋ยวมันจะประมวลมาเองหรอก ให้ทำไป...” บางส่วนของโอวาทธรรมคำสอนเรื่อง “เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด” หลวงปู่ลี กุสลธโร ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘ คัดลอกจากหนังสือประวัติปฏิปทาหลวงปู่ลี กุสลธโร ๙๐ ปี เศรษฐีธรรม พระอริยสาวกแห่งภูผาแดง ; หน้า ๒๓๒ – ๒๓๔
เรื่อง "ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ"
การเรียนธรรมก็เหมือนกัน ถ้าจะเรียนแต่สมาธิหลับตาอย่างเดียว ก็เท่ากับตาบอดคลำช้าง หรือเรียนดีเกินไป เช่น เรียนอภิธรรมอย่างเดียว โดยศีลไม่บริสุทธิ์ หรือไม่ละ โลภ โกรธ หลง ให้สิ้นเชิงแล้ว ก็จะเป็นเสมือนนักเรียนไทยไปเรียนภาษาคนอื่น โดยลืมภาษาของตนเสีย สมมติว่าไปเมืองนอกรู้ภาษาต่างประเทศ เมื่อกลับมานำมาใช้กับชาวนาชาวสวนก็เลยพูดไม่เข้าใจกัน เช่นเดียวกับอภิธรรมสังคหะ ถ้าเรียนตามแบบก็เท่ากับไปเรียนเอายอดของความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มาเรียงไว้ เท่ากับ "ปลูกต้นไม้เอายอดลง" ความเป็นจริงในเบื้องต้นในพระปฐมสมโพธิที่ได้เรียนกัน เป็นแบบฉบับนั้น ก็มีพระอภิธรรมควบกันมาด้วย ฉะนั้น แม้แต่เรียนปริยัติก็จริง เท่ากับเรียนอภิธรรมไปในตัว ไม่จำเป็นที่จะไปเรียนชั้นสูงสุดลงมา
(คติธรรม คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม)
“ความอดทน” ...ขันติธรรมอันนี้ เป็นสิ่งหนึ่ง ที่จะทำคนให้บรรลุถึงคุณงามความดี คือความอดทน ขันติ จะนำคนให้ข้ามจากทุกข์ไปหาสุข ปะระมัง หมายความว่า ข้ามฝั่ง ถ้าหากใครไม่มีขันติ คือความอดทนแล้ว ก็มักจะเป็นไปไม่รอด อดทนตั้งแต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดถึงขั้นสูงสุดโน้นหละ... หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ขันติธรรมเป็นของดี
|