"ระวังให้ดี ถ้าท่านรักใคร คิดถึงใคร เป็นห่วงใคร ผู้นั้น จะให้โทษแก่ท่าน" หลวงปู่กินรี จันทิโย
"มีสติรู้ตัว ถอนความยึดถือในตัวตนเสีย มีอะไรบ้างหรือ ที่เราบังคับได้บ้าง
ร่างกายนี้ ตั้งแต่เกิดมา มีแต่ความเปลี่ยนแปลง อย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดยั้ง แล้วก็ต้องตายไป
ทำพิธีต่ออายุ สืบชะตาอย่างไร ก็ต้องตายทุกคน แล้วจะยึดถือว่า เป็นตัวเรา ของเรา ได้อย่างไร ตายแล้ว ไม่เผาไฟ ก็ฝังดินเท่านั้นเอง
มันเป็นเพียงธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เราเพียงยืมใช้ ได้อาศัยศึกษา รักษาไว้เป็นพาหนะ ให้ทำความดี เพื่อข้ามวัฎสงสารเท่านั้น"
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
"ความผูกพันธ์นั่นแล พาให้โลกเป็นทุกข์กันมากน้อย ถ้าความผูกพันธ์ในใจไม่มี ก็ไม่เป็นทุกข์
ธรรมท่านจึงสอนให้รู้เท่า และปล่อยวางความผูกพันธ์ อันเป็นตัวการให้ทุกข์ทั้งหลายเกิด"
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
พระนอก_พระใน
อย่าให้พระไปอยู่ที่อื่น ให้พระอยู่ในใจ พระนอกท่านจูงใจเราให้เราพฤติปฏิบัติธรรม พระในเรานี่...พระเมตตาคุณ, พระมหากรุณาธิคุณ, พระวิสุทธิคุณ, #พระ๓องค์นี้ขลังมากนะ!! ดีมากในใจเราถ้าแขวนคอเฉยๆไม่มีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าท่านมีกุศโลบาย ครูบาอาจารย์ท่านก็มีกุศโลบาย แจกเหรียญแขวนคอไว้ เอากุศลจิตคิดถึงพระในคอนั่น ไม่ให้ทำชั่วแต่คนทุกวันนี้ไม่นับถือหรอก มีพระในคอนั่น ถือปืนเข้าป่าล่าสัตว์...นี่มันขัดกัน กินเหล้าเข้าไปข้ามหัวพระพุทธเจ้า ยกจอกเหล้าเข้าปากข้ามหัวท่านไป นี่ประมาทนะ มันบาปนะให้มันเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป ละอายต่อความชั่วทั้งหลาย
...มันอยู่ที่ใจเรามันคือความคิดเฉยๆ มันเป็นบาป ถ้าไม่เจตนาไม่เป็นบาป อย่างพระอริยสงฆ์ท่านฉันทุกวันโยมเอามาให้ฉัน เป็นเนื้อเป็นอะไรทุกอย่างต้องฉัน ไม่ถือพระจะเป็นบาป(ที่ถูกในธรรมวินัย)ของทานทั้งหลายที่ญาติโยมสร้างบารมีนะ สร้างบุญสร้างกุศลทำบุญทำทานเอาอะไรมาทำกับพระภิกษุสงฆ์ ท่านไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ยินดีของทานญาติโยมทั้งหลายที่เอามาบริจาคทาน ท่านก็ฉันไปตามธรรมวินัย รักษาจิตของเราอย่าให้เป็นอกุศลจิตมันจะเป็นบาปมาก คิดมากถ้าใจเราเสียก็เสียหมด เสียใจก็เสียหมด ถ้าเราไม่รักษาใจของเรา ใจของเรานี่ละเป็นพระ พระใจเราบริสุทธิคุณ เป็นพระเขาเรียกว่าร่างกายเป็นพระ ใจเป็นพระ วาจาเป็นพระ มีพระในใจของเรามากถ้ารักษาศีลก็จะมีความสุข ความเจริญรุ่งเรอง บุญกุศลในตัวเราถูกทำนองครองธรรม. การทำมาหากินก็เหมือนกัน เอาเยี่ยงอย่างท่านพระพุทธเจ้า เรียกว่า อริยวงศ์ อริยวาท ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า รักษาตัวเองอย่าให้ใจตกไปอยู่ในความชั่วได้ ถ้ามีโอกาสเราก็นั่งภาวนาเสียหน่อย ใจเราก็จะมีความสุข
โอวาทคำสอนหลวงปู่อุดม ญาณรโต วัดป่าสถิตย์ธรรมวนาราม บ.หนองผักแว่น ต.ศรีชมภู อ. พรเจริญ จ.บึงกาฬ
"รีบร้อนข้ามขั้นตอนคงไม่ได้"
ฝึกหัดทำสมาธิภาวนา จงทำเหมือนชาวนาเขาทำนา เขาไม่รีบร้อน เขาหว่านกล้า ไถคราด ปักดำ โดยลำดับ ไม่ข้ามขั้นตอน แล้วรอให้ต้นข้าวแก่ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงข้าวเลย แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่าจะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ๆ เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมาจึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่แล้ว เขาไม่ไปชักดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามชอบใจ ผู้กระทำเช่นนั้นย่อมไร้ผลโดยแท้
การฝึกหัดสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้ ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาแน่วแน่ว่าอันนี้ละเป็นคำบริกรรมที่จะทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริง แล้วอย่าไปลังเลสงสัยว่า คำบริกรรมนี้จะถูกจริตนิสัยของเราหรือไม่หนอ คำบริกรรมอันนั้น คนนั้นทำแล้วมันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำแล้วจิตไม่ตั้งมั่น อย่างนี้ใช้ไม่ได้
ถ้าจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในคำบริกรรมที่ตนภาวนาอยู่นั้นแล้วเป็นใช้ได้ทั้งนั้น เพราะภาวนาก็เพื่อต้องการทำจิตให้แน่วแน่เท่านั้น ส่วนนอกนั้นมันเป็นตามบุญวาสนาของแต่ละบุคคล
ครั้งพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งไปภาวนาอยู่ใกล้สระแห่งหนึ่ง เห็นนกกระยางตัวหนึ่งโฉบปลากินเป็นอาหาร ท่านเลยถือเอาเป็นคำบริกรรมภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นกกระยางกินปลาไม่เคยเห็นมีในกัมมัฏฐานบทใด ท่านเอามาภาวนาจนได้สำเร็จ นี้เป็นตัวอย่าง
"พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี" วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก
“ธรรมะเป็นของดีของประเสริฐก็จริง แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสีย เช่น เมื่อรู้ธรรมะแล้ว แทนที่จะเอาธรรมะมาขัดเกลาตัวเองให้เจริญงอกงาม กลับเอาไปใช้ตำหนิผู้อื่นหรือยกตนข่มท่าน เป็นการเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนทิฏฐิมานะ “มานะ”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความขยันหมั่นเพียร แต่หมายถึงความถือตัวหรือสำคัญมั่นหมายว่าฉันดี ฉันประเสริฐ ฉันเก่งกว่าคนอื่น คนที่จบปริญญาเอกหากคิดว่าฉันเก่งกว่าปริญญาโท คนที่จบปริญญาโทถ้าดูถูกคนจบมัธยม ก็เรียกว่ามี “มานะ” ถ้าเอาธรรมะที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการดูถูกคนอื่น เชิดชูอัตตา โอ้อวดว่าฉันเก่ง ฉันรู้ธรรมะ อย่างนี้เรียกว่า เอาธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง
การให้ทานก็เช่นกัน การให้ทานเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเราให้ทานเพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าปฏิบัติดี ย่อมทำให้เกิดสุข ทีนี้ปฏิบัติไม่ดีเป็นอย่างไร เช่น ให้ทานเพื่อแสดงว่าฉันเป็นคนใจบุญ อย่างนี้เรียกว่าทำบุญเอาหน้า อีกอย่างก็คือให้ทานเพราะอยากได้โชคได้ลาภ เช่น บริจาคสิบ อยากได้ร้อย บริจาคร้อย อยากได้ล้าน ให้ทานเพื่อหวังว่าจะถูกล็อตเตอรี่ ถูกหวย อย่างนี้เป็นการให้ทานเพื่อเพิ่มพูนกิเลส ได้บุญเหมือนกันแต่ได้น้อย
การรักษาศีลหากปฏิบัติผิดหรือวางใจไม่ถูกก็มีปัญหาเช่นกัน ศีลนั้นมีไว้เพื่อขัดเกลาตัวเอง แต่บางคนพอรักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้วก็เกิดความหลงตัวว่าเป็นคนมีศีล สำคัญมั่นหมายว่าฉันมีศีลมากกว่าเธอ เวลาเถียงกันถ้ามีเหตุผลสู้เขาไม่ได้ ก็เอาศีลมาข่ม อ้างว่าฉันศีล ๘ เธอแค่ศีล ๕ เธออย่ามาเถียงฉัน อย่างนี้เรียกว่าเอาธรรมะมาปฏิบัติไม่ถูกต้อง แทนที่จะลดกิเลส กลายเป็นการเพิ่มกิเลส นักปฏิบัติธรรมหลายคนที่เข้าวัดเป็นประจำ ถ้าไม่ระวังจะมีกิเลสตัวนี้พอกพูนยิ่งขึ้น อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่ดีประพฤติไม่ถูกต้อง
ในทำนองเดียวกัน บางคนภาวนาแล้วเกิดนิมิตเห็นแสงสี ก็หลงตัวว่าฉันเป็นผู้วิเศษ บางคนก็หลงตัวว่าเป็นอริยบุคคล แล้วก็ไปข่มคนอื่น บางทีข่มครูบาอาจารย์ด้วยซ้ำ สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังมีชีวิตอยู่ มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่าหลวงตาพวง ท่านบวชเมื่อแก่แล้ว จึงปฏิบัติตั้งใจมาก ปรากฏว่าวันหนึ่งเกิดวิปัสสนูปกิเลส คิดว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงเดินเท้า ๘๐ กิโลเมตรจากบุรีรัมย์ไปหาหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นอาจารย์ของตนที่สุรินทร์ ไปถึงตอนเที่ยงคืนแล้วก็ตะโกนหน้ากุฏิว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว” ครั้นหลวงปู่ดูลย์ออกมาจากกุฏิ แทนที่หลวงตาพวงจะกราบหลวงปู่ดูลย์ กลับพูดว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว”
หลวงตาพวงคิดว่าตัวเองสำเร็จเสร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้วจะมาสั่งสอนครูบาอาจารย์ อย่างนี้เรียกว่าหลงเพราะภาวนาไม่ถูก อันนี้ไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะหลอกใคร แต่เป็นเพราะหลง จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
บางคนแกล้งภาวนาเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าฉันเป็นนักปฏิบัติที่เคร่ง สมัยก่อนมีสำนวนว่า “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” สมัยนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว สำนวนนี้เตือนใจเราว่า เวลาทำบุญอย่าเอาหน้า เวลาภาวนาก็ทำด้วยความซื่อตรง อย่าตอแหล หลอกลวง หรือทำตัวเรียบร้อยเพื่อสร้างภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการนำธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง ผลเสียที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว กิเลสแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มพูนมากขึ้น แล้วยังเป็นการเบียดเบียนคนอื่นด้วย
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ องค์ปัจจุบัน ( ป. อ.ปยุตโต ) เคยกล่าวว่า “อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก” ที่พูดมาทั้งหมดคือการทำผิดในสิ่งที่ถูก คือการเอาสิ่งที่ดีมาปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเพราะเป็นความหลงหรือด้วยเจตนาไม่ดีก็ตาม สิ่งที่ถูกที่ดีนั้นจะให้ผลดีก็ต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย ปฏิบัติไม่ถูกก็เกิดผลเสีย หรือไม่เกิดผลดีอย่างที่ต้องการ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม เคยเล่าถึงผู้ชายสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งขึ้น ๘ ค่ำเป็นวันพระ คนหนึ่งตั้งใจว่าจะไปวัด ใส่บาตรและฟังเทศน์ จึงชวนเพื่อนอีกคนไปด้วย ฝ่ายหลังคิดในใจว่า ถ้าเราเข้าวัดใส่บาตรฟังเทศน์กลับมาก็ไม่มีอะไรจะกิน จึงตัดสินใจไปทอดแหดีกว่า
ชายคนที่ไปวัด ขณะที่ฟังพระเทศน์ ใจก็คิดถึงเพื่อนว่าจะได้ปลามากินไหม คิดไปคิดมาก็อยากกินแกงปลา เลยนึกอยากให้เพื่อนจับปลามาให้ได้ ส่วนคนที่ไปทอดแหนั้น ในใจนึกถึงเพื่อนว่าป่านนี้ใส่บาตรเสร็จแล้วยังหนอ รับศีลหรือยัง หรือว่ากำลังฟังเทศน์อยู่ พอได้ยินเสียงฆ้องดังมาจากวัด แกก็วางแห โมทนาสาธุทุกครั้ง ใจแกจึงเป็นบุญ ตรงข้ามกับคนที่อยู่ในวัด ฟังเทศน์ก็จริงแต่ใจไม่ได้บุญเลยเพราะนึกถึงแต่ปลาที่เพื่อนจะจับ
ชายคนแรกทำผิดในสิ่งที่ถูก คือตัวฟังเทศน์แต่ใจนึกถึงการจับปลา ส่วนชายอีกคน ทำถูกในสิ่งที่ผิด คือจับปลาก็จริงแต่ใจนึกถึงบุญกุศล
ทำผิดในสิ่งที่ถูก สู้ทำถูกในสิ่งที่ผิดไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรทำถูกในสิ่งที่ถูก อย่างเช่น ธรรมะเมื่อเรารู้ว่าเป็นของดีก็ควรจะประพฤติให้ดี ปฏิบัติให้ถูก จะเกิดสุขตามมา อย่าคิดว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ ถ้าคิดว่าจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ กิเลสจะฉวยโอกาสเข้ามาเล่นงานเราทันที กิเลสจะฉวยเอาการปฏิบัติธรรมนั่นแหละเป็นเครื่องสนองกิเลส จนอาจนำไปสู่การเบียดเบียนคนอื่นด้วย
สงครามศาสนาเป็นตัวอย่างของการทำผิดในสิ่งที่ถูก ศาสนาเป็นสิ่งที่ดี แต่หากยึดติดถือมั่น ก็สามารถนำไปสู่การทำลายล้างกันได้ คนที่เคร่งศาสนาจำนวนไม่น้อยหลงตนว่าเป็นคนดี จะคิดหรือทำอะไรก็มักเข้าข้างตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเวลาเจอใครที่ไม่เห็นด้วยกับตน ปฏิบัติไม่เหมือนตน ก็มักตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว และเมื่อใดที่เราตัดสินใครว่าเป็นคนชั่ว เราก็พร้อมจะทำร้ายเขา ไม่ด้วยคำพูดก็ด้วยการกระทำ โดยไม่เฉลียวใจว่าการกระทำของเรานั้นเป็นความไม่ดี หรือเป็นความชั่ว อาจชั่วยิ่งกว่าคนที่เราทำร้ายเขาด้วยซ้ำ”
พระไพศาล วิสาโล
ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ฉบับวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
|