ธรรมนี่ถ้าผู้ได๋เดินตามทางพระพุทธเจ้า พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ขั่นถึงที่แล้ว อันเดียวกันเลย ตั้งแต่โสดาพี้แล้ว พอดวงตาเห็นธรรม เห็นเรื่องกายเรื่องใจแล้วจังซี่เป็นพระไปได้ ปฏิบัติขั้นต้นเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือขั่นบ่เห็นธรรมแล้ว มันยังมีกายเป็นของๆโต ขั่นเห็นกายชัดเจนกะยุติสักกายทิฏฐิ ถือกายเป็นโตจังหมดไป วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยเรื่องบุญเรื่องบาปหมดไป สีลัพพตปรามาส การลูบๆคลำๆว่าศีลขาด ศีลยังหมดไป เพราะศีลคือหัวใจ
พระขั้นแรกมีกิเลสเรื่องกาม มีอยู่เรื่องกาม ส่วนสกิทาคา มีกิเลสโทสะ โมหะเบาบาง มีอยู่แต่เบาบาง ส่วนพระอนาคามันเบิ้ดโลกแล้ว คือเรื่องกายพิจารณาเสร็จเรียบร้อย เข้าออกนอกในบ่ติดกาย เหตุนั้นขั่นตายไปจังบ่กลับมาเกิดในท้องคนท้องสัตว์ ไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ขึ้นโดยลำดับ
พระอรหันต์เพิ่นมีสติทุกเมื่อ เพิ่นบ่มีบาปมีบุญ เพราะอันใดเกิดขึ้นมันกะดับทุกอัน เพิ่นดับทัน เฮานี่บ่ดับ
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ
บ้านที่แท้จริง
บัดนี้ให้โยมยายจงตั้งใจฟังธรรมะ ซึ่งเป็นโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเคารพ ต่อไปให้โยมตั้งใจว่า ในเวลานี้ ปัจจุบันนี้ ซึ่งให้โยมตั้งใจเสมือนว่าอาตมาให้ธรรมะในเวลานี้ พระพุทธเจ้าของเรานั้นตั้งอยู่ในเฉพาะหน้าของโยม จงตั้งใจกำหนดจิตให้เป็นหนึ่งหลับตา โดยเฉพาะน้อมเอาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ที่ใจ เพื่อจะเคารพต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บัดนี้ อาตมาไม่มีอะไรจะฝากโยม ซึ่งเป็นของที่จะเป็นแก่นสาร นอกจากธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ฉะนั้นเป็นของฝากชิ้นสุดท้าย ดังนั้น ขอโยมจงรับ ให้โยมทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีมาก ก็ทนต่อความทุพพลภาพไม่ได้ อายุถึงวัยนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ท่านก็ปลงอายุสังขาร
คำที่ว่า “ปลง” นั้นก็คือวางลง อย่าไปหอบไว้ อย่าไปหิ้วมันไว้ อย่าไปแบกมันไว้
สังขารคือ ร่างกายนี้ให้โยมยอมรับเสียว่า สังขารร่างกายนี้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นยังไงๆ ก็ตามมันเถอะ เราก็ได้อาศัยสกลร่างกายนี้มาตั้งแต่กำเนิดเกิดขึ้นมาก็พอแล้ว จนถึงเฒ่าชะแรแก่ชราบัดนี้ เหมือนเปรียบประหนึ่งว่า เครื่องใช้ไม้สอยของเราต่างๆ ที่อยู่ในบ้าน ซึ่งเราเก็บงำไว้นมนานมาแล้ว เช่น ถ้วยโถโอชาม บ้านช่องของเรานี้เบื้องแรกมันก็สดใสใหม่สะอาดดี เมื่อเราใช้มันมาตลอดกาลนาน บัดนี้สิ่งทั้งหลายนั้นมันก็ทรุดไปโทรมไป บางวัตถุก็แตกไปบ้าง หายไปบ้าง ชิ้นที่มันเหลืออยู่นี้ก็แปรไปเปลี่ยนไปไม่คงที่ มันก็เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น ถึงแม้ว่าอวัยวะร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ตั้งแต่เริ่มเกิดมาเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม มันก็แปรมา เปลี่ยนมาเรื่อยมาอย่างนี้ ถึงบัดนี้ก็เรียกว่า “แก่” นี่ก็คือให้เรายอมรับเสีย พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สังขารนี้ไม่ใช่ตัวของเราและไม่ใช่ของของเรา ทั้งในตัวเรานี้ก็ดี กายเรานี้ก็ดี นอกกายเรานี้ก็ดี มันก็เปลี่ยนไปอยู่อย่างนั้นให้โยมพินิจพิจารณาดูให้มันชัดเจน อันนี้แหละทั้งก่อนที่เรานั่งอยู่นี้ ที่เรานอนอยู่นี้ กำลังมันทรุดโทรมอยู่นี้ นี่แหละคือสัจธรรม
สัจธรรมคือ ความจริง ความจริงอันนี้เป็นสัจธรรม เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แน่นอนอย่างนั้น
ท่านจึงให้มอง ให้พิจารณาดู ยอมรับมันเสีย ก็เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอะไรอย่างไรก็ตามทีเถอะ
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า เมื่อเราถูกคุมขังในตะรางก็ดี ก็ให้ถูกคุมขังเฉพาะกายอวัยวะอันจิตใจอย่าให้ถูกคุมขัง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อร่างกายมันทรุดโทรมไปตามวัย โยมก็ยอมรับเสีย ให้มันที่ทรุดไป ให้มันโทรมไปเฉพาะร่างกายเท่านั้น
เรื่องจิตใจของเรานั้นเป็นคนละอย่างกับร่างกาย ก็ทำจิตใจให้มีพลัง ให้มีกำลังเพราะเราเข้าไปเห็นธรรมว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็เป็นอย่างนั้น มันจะต้องเป็นอย่างนั้น พระพุทธรูปองค์ท่านก็สอนว่า ร่างกายจิตใจนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะไม่เป็นอย่างอื่น คือเริ่มเกิดขึ้นมาแล้วก็คือเริ่มแก่ แก่มาแล้วก็เจ็บ เจ็บมาแล้วก็ตาย อันนี้เป็นความจริงเหลือเกิน ซึ่งคุณยายได้พบอยู่ในวันนี้ปัจจุบันนี้ มันก็เป็นสัจธรรมอยู่แล้ว ก็มองดูด้วยปัญญาของเราให้เห็นเสีย ถึงแม้ว่าไฟมันจะไหม้บ้านเราก็ตาม ถึงแม้ว่าน้ำมันจะท่วมบ้านเราก็ตาม ถึงแม้ว่าภัยอะไรต่างๆ มันจะมาเป็นอันตรายต่อบ้านต่อเรือนเราก็ตาม ให้มันเป็นเฉพาะบ้าน เฉพาะเรือน อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา
ถ้าไฟไหม้บ้าน อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา
ถ้าน้ำมันท่วมบ้านก็อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา ให้มันท่วมแต่บ้าน ให้มันไหม้แต่บ้าน สิ่งซึ่งเป็นของนอกกายของเรา ส่วนจิตใจเรานั้นให้เรามีการปล่อยวาง เพราะในเวลานี้ก็สมควรแล้ว สมควรที่จะปล่อยวางแล้ว
ที่โยมเกิดมานี้ก็นานแล้วใช่ไหม ตาก็ได้ดูรูปสีแสงต่างๆ ตลอดหมดแล้ว อวัยวะทุกชิ้นส่วนหูได้ฟังเสียงอะไรทุกๆ อย่างมากแล้ว อะไรทุกอย่างก็ได้รับมามากๆ ทั้งนั้นแหละ มันก็เท่านั้นแหละ จะรับประทานอาหารที่อร่อยๆ มันก็เท่านั้นแหละ ที่ไม่อร่อยๆ มันก็เท่านั้นแหละ ตาจะดูรูปสวยๆ มันก็เท่านั้นแหละ รูปที่ไม่สวยมันก็เท่านั้นแหละ หูได้ฟังเสียงที่มันไพเราะเสนาะโสตจับอกจับใจมันก็เท่านั้นแหละ จะได้ฟังเสียงที่ไม่ไพเราะไม่จับอกจับใจมันก็เท่านั้นแหละ
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่า ทั้งคนร่ำรวย ทั้งคนทุกข์จน ทั้งผู้ใหญ่และก็ทั้งเด็กตลอดทั้งเดียรัจฉานทั้งหมดด้วย ซึ่งเกิดมาในสกลโลกนี้ ไม่มีอะไรจะยั่งยืนอยู่ในโลกนี้ จะต้องผลัดไปเปลี่ยนไปตามสภาวะของมัน อันนี้เป็นสภาวะความจริงที่เราจะแก้ไขอย่างใดที่ไม่ถูกทางมันไม่ได้ แต่ว่ามีทางแก้ไขได้ พระพุทธองค์ท่านให้พิจารณาสังขารร่างกายนี้เท่านั้น จิตใจนี้มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เป็นของสมมติ เช่นว่า บ้านของคุณยายก็เป็นของสมมติว่าเป็นบ้านของคุณยายเท่านั้น จะเอาติดตามไปที่ไหนก็ไม่ได้ สมบัติพัสถานซึ่งเรียกว่าสมมติเป็นของคุณยายนี้ ก็เป็นเรื่องสมมติเท่านั้น มันก็ตั้งอยู่อย่างนั้น จะเอาไปที่ไหนก็ไม่ได้ ลูกหลาน บุตรธิดาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ซึ่งเขาสมมติว่าเป็นลูกเป็นหลานของคุณยายนั้น มันก็เรื่องสมมติทั้งนั้น
มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเป็นเราคนเดียว เป็นกันทั้งโลก ถึงแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนี้ พระอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวงท่านก็เป็นอย่างนี้ แต่ท่านแปลกกว่าพวกเราทั้งหลาย แปลกโดยประการอย่างไรคือ ท่านยอมรับ ยอมรับว่าสกลร่างกายสังขารนี้มันเป็นอย่างนั้นเองของมัน จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านจึงให้พิจารณาดูสกลร่างกาย ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาหาบนศีรษะตั้งแต่ศีรษะลงไปหาปลายเท้า อันนี้เรียกว่าส่วนอวัยวะร่างกายของเรา ดูสิว่ามันมีอะไรบ้าง อะไรเป็นของสะอาดไหม อะไรเป็นของเป็นแก่นเป็นสารไหม นับวันมันที่ทรุดมาเรื่อยๆ มาอย่างนี้ อันนี้พระพุทธเจ้าจึงให้เห็นสังขารว่า ของไม่ใช่ของเรา มันก็เป็นอย่างนี้ จะให้มันเป็นอย่างไรล่ะ อันนี้มันถูกแล้ว
ถ้าโยมมีความทุกข์ โยมก็คิดผิดเท่านั้นแหละ ไปเห็นสิ่งที่มันถูกอยู่โยมเห็นผิด มันก็ขวางใจเช่นนั้น เหมือนน้ำในแม่น้ำที่มันไหลลงไปในทางที่ลุ่ม มันก็ไหลไปตามสภาพอย่างนั้น อย่าง แม่น้ำอยุธยา แม่น้ำมูล แม่น้ำที่ไหนก็ตามเถอะ มันก็ต้องมีการไหลวนไปทางใต้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ไหลขึ้นไปทางเหนือหรอก ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น
สมมติว่าบุรุษคนหนึ่งซึ่งไปยืนอยู่บนฝั่งของแม่น้ำ แล้วก็ไปมองดูกระแสของแม่น้ำ มันก็ไหลเชี่ยวไปทางใต้ แต่บุรุษคนนั้นมีความคิดผิด อยากจะให้น้ำนั้นมันไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ บุรุษคนนั้นจะไม่มีความสงบเลย ถึงแม้จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ไม่มีความสงบ เพราะอะไร เพราะบุรุษคนนั้นคิดผิด คิดทวนกระแสน้ำ คิดอยากจะให้น้ำไหลขึ้นไปทางเหนือ ความเป็นจริงนั้นน้ำจะไหลขึ้นไปทางเหนือนั้นไม่ได้ ไม่สมควรแล้ว มันก็ต้องไหลไปตามกระแสของน้ำ เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น
เมื่อมันเป็นอย่างนี้บุรุษนั้นก็ไม่สบายใจ ทำไมถึงไม่สบายใจ เพราะบุรุษนั้นคิดไม่ถูก พิจารณาไม่ถูก ดำริไม่ถูก พิจารณาไม่ถูกเพราะว่าความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิแล้วก็ต้องเห็นว่าน้ำมันก็ต้องไหลไปตามกระแสของน้ำทางใต้จะให้น้ำไหลไปทางเหนือมันไปไม่ได้ ที่จะให้น้ำไหลไปทางเหนือนั้นมีความเห็นผิด มันก็กระทบกระทั่งตะขิดตะขวงในใจอยู่อย่างนั้น จนกว่าว่าบุรุษคนนั้นจะมาพิจารณาคิดกลับเห็นแล้วว่า น้ำธรรมดามันก็ต้องไหลไปอย่างนั้น มันก็ต้องไหลไปทางใต้อย่างนี้ เป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนี้
อันนี้เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเราจะเอามาพิจารณาว่า เออ...อันนี้ก็เป็นความจริง อย่างนั้นเมื่อหากว่าเห็นความจริงอย่างนั้น บุรุษคนนั้นก็ปล่อย บุรุษคนนั้นก็วาง วางน้ำให้มันเชี่ยว ให้มันไหลไปตามกระแสของมันอย่างนั้น ปัญหาที่ตะขิดตะขวงของโยม ของบุรุษคนนั้นก็หายไป เมื่อปัญหาหายไป ก็ไม่มีปัญหา เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม่น้ำที่มันไหลไปทิศใต้ มันก็เหมือนชีวิตร่างกายของยายอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เมื่อมันหนุ่มแล้วมันก็แก่ เมื่อมันแก่แล้วก็วนไปตามเรื่องมัน อันนี้เป็นสัจธรรม อย่าไปคิดว่าไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปคิดอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปคิดอย่างนั้น เรื่องอันนี้ไม่ใช่เราจะมีอำนาจไปแก้ไขมัน
พระพุทธเจ้าให้มองตามรูปมัน มองตามเรื่องของมัน เห็นตามสภาพของมันเสียว่า มันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น เราก็ปล่อยมันเสีย เราก็วางมันเสีย เอาความรู้สึกนี้เองเป็นตนเป็นที่พึ่ง ให้ภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ
ถึงแม้ว่าจะเหน็ดจะเหนื่อยก็จริงเถอะ ให้โยมทำจิตให้อยู่กับลมหายใจ หายใจออกยาวๆ สูดลมเข้ามายาวๆ หายใจออกไปยาวๆ แล้วก็ตั้งจิตขึ้นใหม่ กำหนดลมหายใจ พุทโธ พุทโธ โดยปกติถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยมากเท่าไร ก็ยิ่งกำหนดจิตกำหนดอารมณ์ของเราให้ละเอียดเข้าไป ให้ละเอียดเข้าไปเท่านั้นทุกครั้ง เพื่ออะไร
เพื่อจะต่อสู้กับเวทนา เมื่อกำลังมันเหน็ดมันเหนื่อยให้โยมหยุดคิดทั้งหลาย ให้โยมหยุดคิดอะไรทั้งปวงเสีย ให้เอาจิตมารวมอยู่ที่จิต แล้วเอาจิตกับลม รู้จักลม ภาวนา พุทโธ พุทโธ ปล่อยวางข้างนอกให้หมด อย่าไปเกาะกับลูก อย่าไปเกาะกับหลาน อย่าไปเกาะกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งนั้น ให้ปล่อยให้เป็นอันเดียว รวมจิตลงที่อันเดียว ให้ดูลม กำหนดลม เอาจิตนั่นแหละไปรวมอยู่ที่ลม คือให้รู้ที่ลมในเวลานั้นไม่ต้องให้รู้อะไรมากมาย กำหนดให้จิตมันน้อยไปๆ ละเอียดไปๆ เรื่อยๆ จนกว่าจะมีความรู้สึกน้อยๆ แต่มีความตื่นอยู่ในใจมากที่สุด เป็นต้น อันนี้เวทนาที่มันเกิดขึ้นมันจะค่อยๆ ระงับไปๆ ผลที่สุดเราก็ดูลมเหมือนกับญาติมาเยี่ยมบ้านเรา เราจะตามไปส่งญาติขึ้นรถลงเรือ เราก็ตามไปถึงท่าเรือ ตามไปถึงรถ เราก็ส่งญาติเราขึ้นบนรถ เราก็ส่งญาติเราลงเรือ เขาก็ติดเครื่องเรือเครื่องรถไปลิ่วเท่านั้นแหละ เราก็มองไปเถอะญาติเราก็ไปแล้ว เราก็กลับบ้านเรา เราดูลมก็เหมือนกันฉันนั้น
เมื่อลมมันหยาบเราก็รู้จัก เมื่อลมมันละเอียดเราก็รู้จัก เมื่อมันละเอียดไปเรื่อยๆ เราก็มองไปๆตามไปๆน้อยไปๆทำจิตให้มันตื่นขึ้น ทำลมให้มันละเอียด เข้าไปเรื่อยๆผลที่สุดแล้วจนกว่าลมหายใจมันน้อยลงๆจนกว่าลมหายใจไม่มี มีแต่ความรู้สึกเท่านั้นที่ตื่นอยู่ นั่นก็เรียกว่าเราพบพระพุทธเจ้าแล้ว
หลวงปู่ชา สุภัทโท
" ชีวิตนี้น้อยนัก น้อยด้วยจำนวน กับ น้อยด้วยกาลเวลาที่มีชีวิตอยู่ น้อยด้วยเวลาน้อยยังไง ? ชีวิตเรานี้มีชีวิตอยู่อย่างมากไม่เกินร้อยปี แต่เมื่อเทียบเวลาที่มันมีอยู่ในโลกแล้วหมื่นปีพันปีก็ยังถือว่าน้อยอยู่ ส่วนน้อยด้วยจำนวนนั้น ชีวิตคนเรามีเพียงคนละหนึ่งชีวิตเท่านั้น ไม่มีใครมีมากกว่ากัน มีเท่ากันคือหนึ่งชีวิต ชีวิตมีน้อยแล้วยังไม่พอ ยังมากอันตรายอีกต่างหาก และยังมากด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นเราจงอย่าประมาทในชีวิต เพราะความตายมาถึงเราได้ทุกเมื่อ "
-:- ธรรมโอวาท -:- พระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปัณฑิโต) วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
|