"เอาสติอยู่กับตัว รู้..ก็สักแต่รู้ เห็น..ก็สักแต่เห็น ทำเพียงเท่านี้ก็ไปนิพพานได้" ธรรมคำสอน หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ที่พักสงฆ์สวนทิพย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
“ศีลนี้สำคัญนะ จะเป็นศีล ๕ ก็ตาม ศีล ๘ ก็ตาม เพราะถ้าไม่มีศีลเสียแล้ว ทำสมาธิไม่เกิด ศีลนี้ต้องเป็นพื้นฐาน เป็นตัวนำจริงๆ เพราะฉะนั้นควรจะรักษาศีลนี้ให้ดี” หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี
“ทุกอย่างในชีวิตคนเรา ทำที่ทำให้เราทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเราทั้งนั้น ถ้าเราโกรธใคร เกลียดใคร มันก็อยู่ที่ใจ แต่ถ้าใจเราไม่เกลียด ใจเราไม่โกรธ เราก็ไม่มีความทุกข์ เกลียดก็ทุกข์ โกรธก็ทุกข์ แล้วเราจะเกลียด จะโกรธไปให้เราเป็นทุกข์ทำไม คนที่เราเกลียด คนที่เราโกรธ เขาไม่ทุกข์ไปกับเราหรอก เราทำให้เราทุกข์เองทั้งสิ้น แต่ถ้าเราปล่อยวาง ไม่สนใจเขา ไม่รับรู้เรื่องเขา ใจเราก็ไม่หมกหมุ่นกับเรื่องของเขาอีก เราก็ไม่ทุกข์ เพราะใจมันสงบ” โอวาทธรรม ท่านพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล
การขบฉัน ก็ฉันหนเดียว ฉันในบาตร บิณฑบาตมาฉัน ตามมีตามได้ ฉันจังหันไม่มากอย่าง ฉันแต่พอดี แต่เพิ่นฉันได้มาก การทรมานดัดสันดานของตน การเน้นหนักในการภาวนาโดยเฉพาะการเดินจงกรม เพิ่นถือไว้เป็นข้อปฏิบัติหลักใหญ่ อันนี้หลวงปู่ลาด คนบ้านบากหลวงตาเสี่ยวของเพิ่นครูอาจารย์เสาร์ (กนฺตสีโล) เล่าให้ฟัง แม้หลวงพ่อออก (หลวงพ่อกา) ก็เล่าอย่างเดียวกัน เคยถามหลวงพ่อ (หลวงพ่อกา ธมฺมรโต) “ หลวงพ่อเพิ่นครูอาจารย์เสาร์กับเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) หลักปฏิบัติบัติภาวนาของเพิ่นพากันทำมาอย่างไร หรือสอนไว้อย่างไร หลวงพ่อพอจะจำได้ไหมครับ ” หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า “ เพิ่นสอนให้ภาวนา พุทโธ - พุทโธ แต่ก่อนเจริญภาวนาทุกครั้ง เพิ่นว่าให้ไหว้พระสวดมนต์ อรหํ... พุทฺธํ... อิติปิโส... กาเยนะ... สฺวากฺขาโต... กาเยนะ... สุปฏิปนฺโน... กาเยนะ... อหํสุขิโต... สพฺเพสตฺตา... เพิ่นว่าต้องทำวัตรเสียก่อน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่ให้จืดจางไปได้ เมื่อเข้าที่แล้วตั้งสติให้มั่น ปล่อยอารมณ์เครื่องยุ่งภายนอกให้หมด สู่ปัจจุบันรู้อยู่กับพุท - โธ เมื่อกาย วาจาสำรวมแล้ว เหลือแต่สำนึกในใจ ให้บริกรรม ว่า พุทฺโธ เม นาโถ ธมฺโม เม นาโถ สงฺโฆ เม นาโถ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ๓ จบ แล้วก็ให้กำหนดลมหายใจเข้า - ออก พร้อมภาวนา พุท - โธ, พุท - โธ, พุท - โธ แล้วให้เหลือรู้เฉพาะลมหายใจเข้ากับพุท, ลมหายใจออก โธ, กำหนดรู้ภาวนาไปเรื่อย ๆ กำหนดจิตไปเรื่อย ๆ ไม่ปล่อยอารมณ์คือ ไม่ทิ้งผู้รู้ไปกับความคิดนึก ไม่กังวล หรือเล่นหลงอยู่กับจังหวะ ลมหายใจเข้าออก ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติธรรมดาของการหายใจ ภาวนายังไม่เป็น อย่าไปทิ้ง พุท - โธ เพราะ พุท - โธ เป็นกิริยาของใจ กำหนดภาวนาไป เอาเป็นเอาตายเป็นเกณฑ์วัด อย่าเอาความอยากเข้าไปวัด เพราะการเจริญภาวนาก็เพื่อให้เป็นไปได้ในความสงบนิ่ง กิริยาจิตตั้ง เมื่อเป็นความสงบนิ่งภายในจิตใจแล้ว คำบริกรรม พุท - โธ ก็จะจางจนหายไป เมื่อบริกรรมหายไป ก็ให้รู้ว่าหายไป รู้อยู่อย่างนั้นหล่ะ ที่รู้ว่าตัวของเรารู้ตัวอยู่ ตั้งผู้รู้ได้ แม้ลมหายใจก็ละเอียดตาม ผู้รู้แนบแน่นเท่าใดลมหายใจก็ละเอียดตามเท่านั้น จากนั้นก็ให้ประคับประคองจิตที่สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น จะสงบได้นานเท่าใดก็ตาม ให้มีผู้รู้ว่าสงบอยู่ นิ่งรู้อยู่ เรียกว่าจิตทรงสมาธิ จิตตั้ง จิตเป็นหนึ่งกับลมหายใจ กายเบาจิตเบา กายอิ่มจิตอิ่ม ให้ปฏิบัติอย่างนี้ก่อนในเบื้องต้นจนชำนิชำนาญ เข้าที่แล้วจิตเข้าถึงความสงบได้ เมื่อชำนาญแล้วจึงให้ใช้ปัญญาหาความรู้ ก็ย้อนกลับไปตรวจตราดูร่างกายรูปอันเน่าเหม็นผุพังไม่สวยไม่งาม พิจารณากาย พิจารณาธาตุ หรือหากเมื่อใดที่จิตของเราไม่เป็นสมาธิ ภาวนาอยู่แต่ไม่สงบคอยแต่จะฟุ้งซ่าน บริกรรม พุทโธแล้วก็แล้ว จับพุทโธก็ไม่อยู่ จับลมหายใจก็ไม่ได้ ให้ยกอาการของรูปกายนี้ ขึ้นพิจารณาเลยก็ได้ กายคตาสติ ให้พิจารณาจนละเอียดถี่ถ้วน พิจารณาย้ำไปย้อนมา ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น แยกส่วนพิจารณา รูปส่วนพิจารณาดูจากนอกเข้าไปในจากในออกมานอก เพราะใจไม่สงบก็ให้อยู่กับกรรมฐาน จนกว่าจะสงบได้ปัญญา ให้ตั้งใจภาวนาให้ได้ทุกวันอย่าให้ขาด
***คัดจากธรรมประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ : วัยติดตนต้นธรรม
|