เมื่อทุกคน...หนีความจริงไปไม่ได้ จึงไม่มีอะไร ที่จะให้ประโยชน์มากกว่า "ความจริง"
......."ความจริง" เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินความจริงไปได้ และชีวิตของเราก็ต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงควรระลึกตระหนักในความจริงอยู่เสมอ และวางใจต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้อง แล้วความจริงนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราจะหนีหรือจะสู้ ความจริงก็อยู่นั้น ถ้าเรากลัวความจริง ความจริงก็เป็นโทษแก่เรา แต่ถ้าเรารู้ความจริง ความจริงก็เป็นประโยชน์แก่เรา
"ความจริง"นั้นไม่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มเอร็ดอร่อย เหมือนอย่างเรื่องสนุกสนานทั้งหลาย ความจริงนั้นเหมือนกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีรสจืด แต่รสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการที่สุด เราอาจจะต้องการรสอะไรหลากหลาย ทั้งรสหวาน รสมัน รสเค็ม และรสอะไรสารพัดให้สนุกสนานตื่นเต้นไป แต่ในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องการรสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการแท้ๆ ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของเรานี้ต้องการรสจืดของความจริง ความจริงเป็นรสจืดอย่างสนิท ถึงแม้ใครไม่ชอบ ก็ไม่มีใครหนีความจริงไปพ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ความจริงก็จะให้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตเป็นธรรมดา และที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้นไม่ใช่เพียงให้ระลึกเท่านั้น แต่ยังให้พิจารณาด้วย ความจริงที่ว่านี้มี ๕ ประการด้วยกัน
ความจริงที่เราทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ ประการ อย่างที่อาตมภาพได้ยกขึ้นตั้งเป็นคำเริ่มต้นในพระธรรมเทศนานี้ว่า " ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโตติ อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ " มีใจความว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า
๑.เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒.เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓.เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔.เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕.เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นพวกพ้องของกรรม ทำกรรมไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น จักเป็นทายาทของกรรมนั้น
"ความจริง"เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าคฤหัสถ์คือชาวบ้านหรือบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร ควรจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ
รวมความง่ายๆ ว่า ทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอว่า เราเกิดมาแล้วย่อมต้องพบกับความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย เป็นความจริงแน่แท้ และเราก็จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น มองอีกที หมดทั้งชีวิตของเรานี่ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม
๕ ประการนี้ เป็นความจริงที่แน่นอน ถึงเราจะไม่พิจารณาหรือไม่นึกถึงมัน ชีวิตของเราก็ต้องเป็นไปตามมัน เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราจะต้องพบต้องเจอต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เผชิญหน้ากับมัน เอามันมาพิจารณา และเอามาใช้ประโยชน์เสียเลย"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป.อ.ปยุตฺโต )
เรื่องของสังขาร
“ตอนที่พระเทศน์ สอน และนำปฏิบัติภาวนานั้น เทวดาทั้งหลายก็จะลงมาฟังและร่วมปฏิบัติภาวนาด้วยเช่นกัน เทวดานั้นมี “สังขาร” เช่นเดียวกับมนุษย์ ทั้งอสุรกาย สัตว์ ยักษ์ มนุษย์ เทวดา ไปจนถึง พรหม สรรพสิ่งที่เวียนวนอยู่ในวัฏสงสารก็ล้วนแต่มี “สังขาร” ทั้งสิ้น หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ “การปรุงแต่งของจิต” ในสังสารวัฏตั้งแต่ชั้นล่างสุดถึงชั้นบนสุด ทุกระดับชั้น ระดับจิต ก็ล้วนแล้วแต่มีการปรุงแต่งในจิตทั้งสิ้น
จะปรุงแต่งแบบหยาบ (เป็นกาย เป็นธาตุขันธ์) หรือปรุงแต่งแบบละเอียด (เป็นอรูป) จะปรุงแต่งไปโดยอกุศล (นรก เดรัจฉาน) หรือปรุงแต่งไปโดยกุศล (สวรรค์) ก็ยังเป็นการปรุงแต่งทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือ “ไม่มีสภาวะจิตใดที่ไม่ปรุงแต่ง เว้นจากจิตแห่งอริยะบุคคล”
การทำให้เราเท่าทันและพ้นไปจากอำนาจการปรุงแต่งของจิต ตัดวงจรแห่งความทุกข์ และการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นมีเพียงการภาวนาเท่านั้น จะเป็น ๑ ชั่วโมง จะได้ครึ่งชั่วโมง หรือทำได้แค่ ๑๐-๑๕ นาทีก็ต้องเพียรพยายามที่จะทำให้ได้ บันทึกคำสอนสุดท้ายของหลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒
พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านสอนและย้ำอยู่เสมอว่า ถ้าอยากสบายในอนาคต ก็ควรทำบุญให้มากๆ ไม่ใช่เฉพาะบุญจากทรัพย์ แต่รวมถึงบุญในการรักษาศีล และบุญในการทำสมาธิภาวนาด้วย เหตุผลก็คือ จะได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ
การให้ทาน ส่งผลให้ มีทรัพย์มาก ทำอะไรก็รวย
การรักษาศีล ส่งผลให้ รูปร่างหน้าตาดี คนรักคนชอบ มีความสุขกายสบายใจ
การเจริญภาวนา ส่งผลให้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไหวพริบดี มีความคิดสร้างสรรค์
หรือบางคนอาจจะคิดว่า ไม่ได้หวังมนุษย์สมบัติ บุญต่างๆเหล่านี้จึงไม่ต้องการ แต่คนที่เขามีปัญญาจริงๆ สิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นคุณงามความดีนั้น เขาทำหมดนั่นแหละ แต่ไม่หวังผลตอบแทนเท่านั้นเอง
ดังนั้นถึงแม้เราจะปรารถนาพระนิพพาน ก็ควรทำบุญให้ครบถ้วนด้วยความศรัทธา เพราะเราจะทราบได้อย่างไรว่า เราจะทำตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในชาตินี้ หากเราเป็นคนประมาทไม่ทำบุญไว้ก่อน ชาติต่อๆไปนั้นลำบากแน่นอน
ธรรมะคำสอน หลวงปู่ไม อินทสิริ
"พออาจารย์ตื้อถึงธรรมแล้ว ไล่กันมาอาจารย์แหวนท่านก็ได้ ทำอยู่บ้านปง แม่แตง อาจารย์แหวน ถึงธรรมตอนท่านอายุ ๕๘ ตอนอาจารย์แหวนท่านบรรลุธรรม เรากับอาจารย์ขาว อาจารย์เหรียญ หลวงพ่อวงษ์ พากันเที่ยววิเวกอยู่แม่ริม ตอนนั้นโลกธาตุสั่นไหวในจิตอย่างแรง อาจารย์ขาวถามเกิดหยังขึ้นครูบา โลกธาตุคือสั่นไหวแฮงแท้ เราบอกอาจารย์ขาว ผู้เฒ่าแหวนท่านถึงธรรมอันเป็นมงคลแล้ว เรากับอาจารย์ขาวพากันอนุโมทนาในธรรมกับผู้เฒ่าแหวน ที่ท่านพ้นทุกข์ได้ในชาตินี้"
เรียนถามองค์ท่าน (หลวงปู่ชอบ)ว่า อดีตเคยปรารถนาพุทธภูมิบ้างไหม ? ท่านบอก "เราไม่เคยปรารถนาพุทธภูมิกับเขา ตอนอยู่เชียงใหม่กับอาจารย์มั่น อาจารย์มั่นชี้มือขึ้นฟ้าบอกเราว่า ท่านชอบเอ้ย.. เดือนดาวที่ท่านเห็นอยู่นี้ ยังน้อยกว่าดารารัศมีพระโพธิสัตว์ที่รอการตรัสรู้ ท่านอยากจะเป็นมหาบุรุษผู้แบกทุกข์กับเขาอยู่บ้อ "เราบอกท่านว่า ข้าน้อยบ่ขอปรารถนาเป็นมหาบุรุษ ผู้แบกทุกข์ ข้าน้อยปรารถนาขอพ้นทุกข์ในชาตินี้เท่านั้น อาจารย์ใหญ่ท่านว่า ดีแล้วๆ เอาให้มันจบในชาตินี้เด้อ..ท่านชอบ"
"เราเร่งความเพียรเจ้าของอย่างสุดเหยียด พอมาอยู่บ้านป่าไม้แดงเมืองพม่า กามนครในจิตของเราก็มาแตกพังอยู่นี่ จิตหมดอุปาทานสมมุติในเพศหญิงเพศชาย ใจหมดความอยากได้ใคร่มีในกามคุณทั้งหมด รู้ตัวว่าจากนี้ไป เราบ่ได้อาศัยท้องผู้ใดเกิดอีกแล้ว จากนั้นมาอีก ๓ ปี ปี ๘๗ (๒๔๘๗) เราจำพรรษาอยู่ถ้ำหมีเก่า บ้านไทยใหญ่หนองยวน เราก็มาเมี้ยนเม่าโคตรพ่อโคตรแม่กิเลสลงได้อยู่บ้านหนองยวน จิตเป็นธรรมชาติสว่างไสวจบสิ้นการเกิดอย่างถาวร เราบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เตวิชโช เพราะบุญบารมีเราสร้างมาทางสายวิริยะ" ฟังองค์ท่านแล้วอัศจรรย์ใจในธรรมขององค์ท่าน
ท่านบอก "บุญบารมีที่เราบำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราสำเร็จเตวิชโชสาม มีอภิญญาเป็นเครื่องประดับจิตหกอย่าง อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ด้วยใจ ทิพโสต รู้สนทนาของสัตว์โลกแม้ต่างภูมิ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติการเกิดของตนเองและสัตว์โลก ทิพจักษุ มีตาในเห็นการกระทำของผู้อื่น อาสวักขยญาณ สละล้างกิเลสให้สิ้นไปจากจิตใจของตนเอง"
ท่านบอกธรรมห้าอย่างแรกเป็น "สาธารณะธรรม" ผู้สำเร็จฌานโลกีย์ก็มีภูมิความรู้นี้ได้ แต่ข้อสุดท้ายคือ "อาสวักขยญาณ" การทำลายกิเลสให้สิ้นไปจากจิตใจของตนเอง คือคุณสมบัติของ "พระอรหันต์" ท่านผู้สิ้นทุกข์แล้วเท่านั้นที่มีคุณสมบัติข้อนี้ได้
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
|