“โลกุตตรนิพพานปราศจากวิญญาณ จึงไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย มีแต่ความสุขสุขสบายปราศจากอามิส หาความสุขอันใดจะมาเปรียบด้วยพระนิพพานไม่มี”
โอวาทธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร
กรรมทำแท้ง องค์ท่านหลวงปู่ชอบและหลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านได้มาพักที่ บ้านเรือนไทยของคุณจงรักษ์หลังโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา กรุงเทพมหานคร
มีหญิงสาวท่านหนึ่งเธอมากับลูกชาย เธอมีความทุกข์ใจมาก เพราะสมัยที่ตนเรียนนี้นได้เคยทำแท้ง พอได้ยินเสียงพระเทศน์เกี่ยวกับบุญบาปก็รู้สึกมีความทุกข์ใจ จึงนำเรื่องนี้มากราบเรียนองค์ท่านหลวงปู่ชอบ
หลวงปู่ชอบท่านบอกหญิงสาวคนนี้ว่า
“ ธรรมชาติกิเลสมันบ่เคยส่งเสริมผู้ใดไปในทางดี มันมีแต่สิพาเฮาคิดไปในเรื่องบ่ดีไห่ใจเจ้าของเศร้าหมอง อดีตผ่านไปแล้วเอามาคิดใจเจ้าของกะเป็นทุกข์ เหตุปัจจุบันเป็นทุกข์ อนาคตมันกะผลเป็นทุกข์ ไห่ปฏิบัติดีเอาในปัจจุบันที่ตนเองมีอยู่ ปฏิบัติตนในศีลธรรมแล้วใจเจ้าของกะเป็นสุข "
องค์หลวงปู่พูดจบ หญิงสาวก็ร้องไห้ เธอบอกหลวงปู่ชอบว่า
“ ลูกตามกราบหลวงปู่มาสามปีไม่เคยได้ยินเสียงหลวงปู่พูดซักคำเลย วันนี้หนูได้ยินเสียงหลวงปู่พูดกับหนู หนูตื้นตันใจเป็นที่สุด ทุกข์ในใจของหนูในเรื่องนี้ที่มีมาโดยตลอดมันเหมือนถูกล้างออกไปจากใจโดยคำพูดของหลวงปู ”..
องค์หลวงปู่ชอบท่านบอกหญิงสาวว่า
“ เฮาสิบอกไตรสรณะคมน์ศีลห้าไห่นำไปปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติตนในไตรสรณะคมน์ศีลห้านี่ได้แล้ว เฮารับรองไห่เลยว่าสิบ่ตกอบายภูมิ ”..
หญิงสาวรับพระไตรสรณะคมน์และศีลห้ากับองค์หลวงปู่ชอบ
หลวงปู่ชอบท่านบอกให้หญิงสาวภาวนาโดยเอาจิตเอาใจของตนเองอย่าไปสนใจอะไรข้างนอก ทุกอย่างเราจัดการให้หมดแล้ว..
หลวงปู่ชอบท่านหันไปบอกหลวงปู่บุญฤทธิ์ให้สอนหลักการภาวนาเบื้องต้นให้กับหญิงสาวคนนี้โดยองค์ท่านจะภาวนาไปด้วย..
หลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านสอนภาวนาให้กับหญิงสาวว่า..
“ เรื่องที่ผ่านมานั้นไม่ต้องไประลึกถึงมัน อดีตมันก็คืออดีต ให้มีสติกำหนดระลึกภาวนาในใจให้เป็นปัจจุบันพอ ไม่ว่าเราจะบริกรรมคำภาวนาว่าพุทโธ หรือจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกของตนเองก็ตาม ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใจของตนเองรักและถนัดในเรื่องนั้นๆ
สิ่งที่ใจเรารักใจเราถนัดนั้นคือ เวลาเรากำหนดหรือบริกรรมไปแล้ว ใจของเราจะเกิดความสุขุมเยือกเย็นสงบลงได้อย่างรวดเร็ว นั่นแหละคือความถนัดที่มาจากวาสนาดั้งเดิมของตนเอง
ข้อสำคัญในการภาวนานั้น คือการมีสติอยู่กับจิตกับใจของตนเองอยู่ตลอดทุกเวลานาที ให้มีสติจดจ่อลงไปในคำบริกรรมของตนอย่างถี่ๆ พอสติเรามีกำลังเข้มแข็งอย่างเต็มที่แล้ว จิตมันก็จะนิ่งสงบลงไปในธรรมของพระพุทธเจ้า ถึงใจเราไม่อยากจะรู้ แต่จิตมันจะรู้ ”..
หลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านสอนธรรมหลักการภาวนากับหญิงสาวเพียงสั้นๆ ท่านก็บอกหญิงสาวคนนี้ให้ภาวนา หลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านก็หลับตาภาวนาไปด้วย..
หญิงสาวก็นั่งหลับตาภาวนาอยู่ต่อหน้าองค์ท่านหลวงปู่ชอบและหลวงปู่บุญฤทธิ์.
เมื่อหญิงสาวเกิดอาการฟุ้งซ่านขึ้นมาในใจเมื่อไหร่ องค์หลวงปู่ชอบท่านก็จะเอามือตบหมอนพักแขนขึ้นมาเป็นระยะๆเพื่อเตือนสติให้หญิงสาวคนนี้ทราบ ให้กำหนดรู้จิตของตน
เวลาผ่านไปเกือบร่วมชั่วโมงหลวงปู่ชอบท่านก็ไม่ตบหมอนพักแขนอีก องค์ท่านหลับตาลงไม่แสดงกิริยาจ้องมองตบหมอนพักแขนใส่หญิงสาวคนนี้อีก..
หลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านก็นิ่งในกิริยาหลับ ทุกๆอย่างเวลาที่อยู่ในท่ามกลางมหานครกรุงเทพตอนนั้น มันเงียบสงบทั้งๆที่มันเป็นเวลาบ่ายกลางวัน..
เป็นสิ่งที่แปลกมาก ในเวลาร่วมจะสามชั่วโมง ลูกชายของหญิงสาวคนนี้เขาก็ไม่ขึ้นมารบกวนแม่ ไม่มีใครคนข้างนอกมาหาองค์ท่านหลวงปู่ชอบแม้แต่คนเดียว เหตุการณ์ทุกอย่างทั้งภายในภายนอกถูกองค์ท่านหลวงปู่ชอบคุมกำกับไว้ภายในบารมีขององค์ท่านทั้งหมด..
องค์ท่านหลวงปู่ชอบลืมตาขึ้นมาในเวลาไล่เลียงกันกับหลวงพ่อบุญฤทธิ์ ทั้งสองท่านยิ้มให้กัน หลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านก็กอดนวดขาองค์ท่านหลวงปู่ชอบและต่างยิ้มให้กัน..
พอหญิงสาวคนนี้ลืมตาขึ้นมองหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่บุญฤทธิ์ กิริยาเขานั่งนิ่งน้ำตาไหลซึ่งต่างจากกิริยาก่อนที่เขาบอกหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่บุญฤทธิ์..
องค์ท่านหลวงปู่ชอบยิ้ม บอกกับหญิงสาวว่า..
“ ธรรมแท้มันเป็นจั่งซี้หล่ะ ฮาก ( ราก) มันมีแล้วกะไห่รักษาต้นของมันไปหาดอกหาผล ”
หลังไหว้สวดมนต์ปลอดผู้ปลอดคนเขากลับกันไปหมดแล้ว พระอุปัฎฐาก(คูบาวีระศักดิ์ โพธิสัตย์)ได้กราบเรียนถามองค์หลวงปู่ชอบว่า
" แต่ก่อนแต่ไรครูบาอาจารย์ก็เจอผู้หญิงคนนี้เขามากราบครูบาอาจารย์ตั้งหลายครั้ง ทำไมครูบาอาจารย์ถึงไม่บอกแก้ทุกข์ทางใจของเขาให้แล้วไปตั้งนานกว่านี้ "..
หลวงปู่ชอบท่านบอก..
" โบ้ย..เรื่องบางอย่างนั้นมันต้องรอเวลา ให้วาสนาเรา วาสนาเขาบรรจบกันก่อนจึงจะสงเคราะห์กันได้ เปรียบคือเฮานึ่งข้าวหุงข้าวยังไม่ทันสุกดีก็เอาให้เขากิน เมื่อเขากินข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบหม้อนั้นหวดนั้นแล้ว ข้าวหม้อนั้นหวดนั้นมันก็จะกลายเป็นข้าวเสียประโยชน์.. พระพุทธเจ้า พระอริยะสงฆ์สาวกทั้งหลายท่านจะพิจารณาจนเห็นว่าข้าวสุกปลาตายแล้วท่านจึงจะป้อนข้าวใส่คำ ป้อนธรรมใส่ใจ ธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อทุกอย่างของข้าวนั้นมันสุกแล้ว ผู้ที่ได้กินข้าวคำนั้น เขาก็เป็นสุข ".....
หลวงปู่ชอบ
“ทุกๆ คน ควรรีบขวนขวาย ซึ่งความงามความดี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
เป็นเด็ก ก็อย่าได้เกียจคร้าน ในการเรียนหนังสือ จงตั้งจิตตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียน ให้มีความรู้ ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ
เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จงตั้งตัวตั้งตนให้ดี ให้มีความขยัน มีความประหยัด ให้คบแต่คนดี ให้รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
ถ้าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว ก็เตรียมตัวเพื่อคุณงามวามดี ให้ยิ่งๆ กว่า เด็กและคนหนุ่มทั้งหลาย”
ครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก
“เราต้องมีความละอายแก่ใจ อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ว่าต้องให้คนอื่นมาเห็น จึงจะละอาย”
ท่านพุทธทาสภิกขุ
"ความคิด เป็นเหตุแห่งความทุกข์ และความคิด ก็เป็นเหตุแห่งความสุขได้
พึงรอบคอบ ในการใช้ความคิด คิดให้ดี คิดให้งาม คิดให้ถูก คิดให้ชอบ
แล้วชีวิตในชาตินี้ ก็จะงดงาม สืบเนื่องไป ถึงชาติภพชาติใหม่ได้ด้วย"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
|