การที่วัดสังฆทานสอนให้เดินจงกรม ย่างหนอ เหยียดหนอ อบรมจิตพุทโธ เป็นการอบรมคนใหม่ เราจะทำตนเป็นคนใหม่อยู่ตลอดก็ไม่พัฒนาขึ้นเลย เขาต้องมีระเบียบออกมาให้ฝึกอย่างนี้ เพราะมีคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ นานาจิตตังก็ต้องยืนพื้นหลักนั้นไว้ ความจริงเราเรียนมาตั้งนานแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปแล้วแต่รู้เฉพาะตัวเอง เราจะมาเปลี่ยนตรงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งที่จะต้องยืนไว้อย่างนี้ เราต้องรู้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่ยี่สิบปีก็พุทโธอยู่นั่น ไม่ไปไหนเลยยัง ก ไก่ ข ไข่ อยู่ คนมาใหม่เรื่อยๆ ก็ต้องยืนพื้นฐานของการฝึกไว้ เราต้องเข้าใจนี่บอกความลับให้ ต้องวิวัฒนาการไปแล้ว
การมองตัวเองไม่ได้หมายถึง การเพ่งอย่างเดียว จิตจะอยู่ไม่นาน สมมติว่าเราเลี้ยงเด็กซนๆ จับให้นิ่งบอกว่า อย่าไปไหน ให้อยู่ตรงนี้ เขาจะอยู่ได้แป๊บเดียว แล้วก็ยุกยิกๆ จะไปแล้ว ธรรมชาติของเขานิ่งไม่ได้ เพราะอยู่ในวัยกำลังซน จิตก็เหมือนกันบังคับให้เพ่งตรงนี้ อย่าไปไหน เพ่งอยู่แป๊บเดียวก็ไปแล้ว เราต้องมีอุบายเข้าไปสำทับอีกทีว่า ให้จิตมองเพ่งไปด้วย แล้วก็อารัมภบทไปด้วย หมายถึงว่าเราต้องพิจารณาเป็นท้องเรื่อง เรื่องใด เรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นการกล่อมจิตให้คล้อยตาม จะเจริญสติให้เกิดญาณได้อย่างไม่เบื่อ ถ้าซ้ำซากจิตก็เบื่อ พอเริ่มเบื่อก็เปลี่ยนท้องเรื่องใหม่ ทำให้เกิดรสชาติทำไปได้เรื่อยๆ
ทำไมต้องทำความเพียร ๒๔ ชั่วโมง ไม่งั้นไม่คุ้มไม่พอเยียวยาสงบไม่พอ ต้องทำอารมณ์ให้ขาดไปเลย จิตถูกอบรมในตัวเราจนเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับหนึ่งเรียกว่า“สักกายทิฏฐิ” เห็นตัวเองไม่ใช่ตัวเอง ร่างกายเป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ ประชุมกันอยู่ การละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็เกิดขึ้น เขาจะเข้าใจขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ว่าความสว่างของจิตและความเห็นแจ้งไม่พอเหมือนตาบอดมาก่อนแล้วเริ่มเห็นรางๆ เห็นระดับ ๕๐% คนนั้นจะไปสู่ความรู้แจ้งในที่สุด แล้วก็ทำอย่างเดิมนั้นต่อไปอีก ดวงตาดวงนั้นก็จะค่อยๆ แจ้งออกๆ จนในที่สุดแจ้งมากจนตาเนื้อสู้ไม่ได้ แจ้งทั้งวันทั้งคืนตลอดเวลา ทำให้จิตเราหนีระบบธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ พ้นจากอำนาจนั้นออกมา จนไม่มีอำนาจนั้นต่อไปอีกแล้ว จิตเราจะอิสรภาพที่สุดไม่ขึ้นตรงต่ออะไร เปลี่ยนทางเดินเปลี่ยนระบบไม่มีภาพอะไรเลยมีแต่ภาพตัวเอง แล้วภาพตัวเองจะดับอารมณ์ทั้งหมด ทำให้สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิที่ยั่งยืนไม่เสื่อม เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ ไม่เสื่อมในตัวเองตลอดชีวิตเลย เป็นสมาธิหนาแน่นตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง จิตเป็นหนึ่งเดียว พร้อมทั้งการเห็นสรีระของตนขึ้นมา ก็ค้นหาความเป็นสัจจะหรือความจริงที่มีอยู่ว่า ตัวของตัวเองแท้จริง คือ อะไร?
จิตเป็นพยานอยู่แล้วย่อมเห็นความว่างเปล่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาจะเห็นกองแห่งรูปก่อน แล้วเขาจะเข้าใจว่ารูปไม่เที่ยง เวทนานั้นจะเที่ยงได้อย่างไร สัญญาจะเที่ยงได้อย่างไร ? เมื่อตัวเองทั้งตัวทั้งร่างไม่เที่ยงแล้ว ความสุขความทุกข์อันใดที่อาศัยจิตเสวยนั้น ความทุกข์นั้นจะเที่ยงได้อย่างไร? เป็นปัญญาและเป็นญาณในตัว และมีการเห็นเป็นเครื่องบ่งบอกเป็นพยานแล้วก็วิเคราะห์ตามนั้น จิตจะเห็นอยู่ตลอดเวลา แล้ววิเคราะห์ความถูกต้องถึงความเป็นจริง สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของว่างเปล่า แล้วเห็นคุณ เห็นโทษ เห็นอุบายออกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของว่างเปล่า ควรหรือหนอที่เราจะส่งจิตไปในอารมณ์ต่างๆ อยู่อย่างเดิมนั้น จิตก็ตอบตามความเป็นจริงว่า ไม่ควรเลย ! อุบายออกก็คือ เลิกคิดเถอะ เลิกนึก เลิกส่งจิตไปในอารมณ์ทั้งหลาย ถึงส่งจิตไปก็ไม่ได้อะไร โลกนี้อนัตตา วางความเห็นอย่างนั้น แล้วจิตเป็นผู้เลือกทางเดินของตัวเอง สมัครใจเองที่จะหยุด ยอมหยุดเห็นความผิดของตนเอง ใจยอมที่จะหยุด จึงเป็นความหยุดที่ยั่งยืนได้ ตอนที่เราฝึกสมาธิใหม่ๆ จิตหยุดแบบบังคับแต่จิตไม่ยอมรับ เวลาเผลอจิตออกไปอีกแล้ว เวลามีอารมณ์แรงๆ จิตบังคับไม่อยู่ จิตออกไปอีกแล้วนี่คือปัญหา การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องยั่งยืน โดยให้ตัวจิตเองต้องยอมรับขึ้นมา ถ้าจิตยอมรับแล้วเราจะไล่ให้จิตออกไปข้างนอกจิตก็ไม่ไป เพราะเห็นโทษว่า ถ้าไปก็โง่สิ จิตเปลี่ยนความเห็นแล้ว เอาจิตไปแก้ปัญหาที่จิต จนจิตเข้าไปรู้เห็นแจ้งขันธ์ ๕ แล้วจิตจะยอมรับและแก้ปัญหาเอง ทำให้การที่เราจะกั้นจิตว่า เจ้าอย่าออกไปนะ อย่าไปเที่ยวนะ ก็ไม่ต้องพูดเลยเพราะจิตเองสมัครใจที่จะหยุดแล้ว การห้ามของเราไม่มีผลอะไร? ไม่ห้ามจิตก็ไม่ไปอยู่แล้ว นี่คือสมาธิที่ยั่งยืนในตัวเอง เพราะจิตยอมรับว่า “ไปก็โง่ ! หลงโลก” ญาณเป็นเหตุผลที่ทำให้เขายอมจำนน ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอจิตจะไม่ยอมหยุด
ฉะนั้น การอบรมจิตตรงนี้ เป็นที่มาของการอบรมมรรคมีองค์ ๘ อันเดียวกัน
หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ
ให้หมั่นสวดมนต์คาถาท่านพ่อลี "อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะมามิหัง" เอาสัก๓รอบหรือ๕รอบ ถ้าเวลาไม่พอ เอารอบเดียวเป็นนิจศีลนะ เเล้วจึงนั่งสมาธิ๕นาทีหรือกว่านั้น เเล้วเเต่เวลา เเล้วเเผ่บุญตามเเบบเเล้วจึงค่อยนอนนะ ความเป็นมงคลกลับมาหาเราหมด ความดีนี้กลับมาหาเราหมด ไปที่ไหนมีเเต่ความสุข
หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม
มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่ประมาทในทางโลก ย่อมรู้จักฝังขุมทรัพย์เอาไว้สำหรับตนเอง เพราะเมื่อมีกิจจำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์ที่ฝังไว้ย่อมเป็นประโยชน์ สามารถเปลื้องตนให้พ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ แต่ว่าทรัพย์นั้น ๆ บางคราวก็สูญหายบ้าง จำไม่ได้ว่าฝากฝังไว้ที่ใดบ้าง ทำให้สูญประโยชน์สิ้นไป หาความแน่นอนอะไรมิได้เลย
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัททุกคนเป็นผู้ไม่ประมาทในทางธรรม ด้วยการรู้จักฝังขุมทรัพย์อันเลิศล้ำซึ่งไม่อาจสูญหายทำลายไปได้ไม่ว่าในกาลใด ๆ นั่นคือการสั่งสม “บุญ”
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลายฝังความดีเอาไว้ ด้วยการบริจาคทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการสำรวม และฝึกอบรมตนให้มีปัญญา อีกทั้งยังทรงรับรองว่าบรรดาทรัพย์สินที่ฝังไว้ในโลก ถึงอย่างไรก็เอาไปไม่ได้เมื่อสิ้นชีวิต แต่ใครก็ตามที่ฝังบุญนิธิไว้ ย่อมนำพาขุมทรัพย์แห่งบุญนั้นไปได้ทุกภพทุกชาติ
ผลอันดีงามทั้งปวงในชีวิตของคนเรา แม้กระทั่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขความเจริญในทางโลก ก็ย่อมบังเกิดได้ด้วยบุญนิธิทั้งสิ้น เช่น ความเป็นพระอริยบุคคล ความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือแม้กระทั่งความเป็นพระพุทธเจ้า บุคคลก็ย่อมประสบได้ด้วยการสั่งสมบุญ
โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อมฺพรมหาเถร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
"พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ไม่ต้องไปตามพระอรหันต์ที่ไหนหรอก เหลียวดูพ่อแม่ในบ้านบ้าง แล้วท่านจะรู้สึกว่า ได้ทําดีตั้งแต่วันนี้แล้ว"
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
"พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งที่น่าเกลียด แต่ให้พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง" หลวงปู่ชา สุภัทโท
|