"คนเรามีภูมิจิตภูมิธรรมต่างกัน ฝึกปฏิบัติมา ไม่เท่ากัน จะให้ทุกคนรู้เหมือนเรา เข้าใจเราทุกอย่างไม่ได้ เมื่อเขาทำพลาดไป เราควรให้อภัย วันหนึ่งเขาจะรู้เอง ทำได้ถูกต้องเอง"
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
“ไม่ใช่แต่เวลาของตนเท่านั้น ที่เหลือน้อย เวลาของคนท่ีตนรักและผูกพัน ก็เหลือน้อยลงเช่นกัน
ถ้าผู้คนตระหนักว่า พ่อแม่มีเวลาเหลือน้อยลงทุกที เขาจะไม่มัวทำมาหาเงิน หรือเที่ยวเตร่สนุกสนาน จนลืมพ่อแม่”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
เรื่อง "หลวงปู่ฝั้นเกิดธรรม จากการธุดงค์เจอเสือ"
ข้อธรรมสอนใจจากการออกธุดงค์เจอเสือ ของพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ในการออกธุดงค์ของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านได้เผชิญอุปสรรคและพบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้เกิดข้อธรรมสอนใจต่าง ๆ
ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาที่หลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์นั้น ประเทศลาวอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส มีความเข้มงวดทางทหารมาก ทำให้หลวงปู่ฝั้นและสามเณรพรหมไม่สามารถข้ามฝั่งไปได้ จึงตัดสินใจเดินทางเลียบฝั่งไปทางเหนือที่รายล้อมไปด้วยป่าทึบ และมีรอยเท้าเสือปรากฏให้เห็นอยู่ทุกระยะ
ในเวลาใกล้ค่ำ ทั้งหลวงปู่ฝั้นและสามเณรพรหมก็ได้ยินเสียงเสือคำรามดังก้องไปทั้งป่า จิตของทั้งสองจึงไม่อาจสงบนิ่งได้เช่นเคย ทันใดนั้นหลวงปู่ฝั้นก็เปล่งภาษิตอีสานขึ้นมาบทหนึ่งว่า
“เสือกินโค กินควาย เพิ่นช้าใกล้ เสือกินอ้าย เพิ่นช้าไกล”
แปลความได้ว่า
ถ้าเสือกินโคหรือกินควาย เสียงร่ำลือจะไม่ไปไกล เพราะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเสือกินคน หรือกินพระกัมมัฏฐานแล้ว เสียงร่ำลือจะไปไกล
ภาษิตบทนี้ข่มความกลัว ทำให้ความกล้าหาญปรากฏในจิตของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แล้วท่านจึงเปล่งภาษิตขึ้นอีกบทหนึ่งว่า
“ตกกะเทินกำคอเข้ บ่ยอมวางให้หางมันฟาด ตกกะเทินกำคอกะท้าง บ่วางให้แก่ผู้ใด”
ซึ่งตีความได้ว่า
“กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดนั้น มันฝังแน่นอยู่ในสันดานของมนุษย์ เช่นเดียวกับจระเข้ที่กบดานแน่นิ่งอยู่ใต้น้ำ นาน ๆ จึงจะโผล่หัวขึ้นมานอนอ้าปากตามชายฝั่ง พอแมลงวันเข้าไปไข่ มันจะคลานลงน้ำ แล้วอ้าปากตรงผิวน้ำเพื่อให้ไข่แมลงวันไหลออกไปเป็นเหยื่อปลา และเมื่อใดที่ปลาใหญ่ปลาเล็กหลงเข้าไปกินไข่แมลงวันในปากของมัน มันก็จะงับปลากลืนกินไปทันที ส่วนกะท้างนั้นก็เช่นเดียวกับกระรอก ซึ่งหัวหางกระดุกกระดิกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหากกำคอจระเข้และคอกะท้างไว้ให้มั่น ไม่ปล่อยให้จระเข้มันฟาดหาง และไม่ยอมให้กะท้างมันกระดุกกระดิกได้ จิตใจก็จะสงบเป็นปกติ ไม่กลัวเกรงต่อภยันตราย ถึงเสือจะคาบไปกินก็ไม่กระวนกระวายเป็นทุกข์”
จากนั้นท่านก็กล่าวแก่สามเณรพรหมว่า
“เมื่อเรามีสติกำหนดรู้เท่าทันมันดีแล้ว การตายนั้นถึงตายคว่ำก็ไม่หน่าย จะตายหงายหน้าก็ไม่จม”
แปลความได้ว่า
เมื่อมีสติ ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใด สุคติเป็นที่หวังได้เสมอ
(จากธรรมประวัติ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
ปฏิบัติทางสั้นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็คือ "ภิกษุเองจะพึงวางกังวลในขันธ์ห้า เสีย" นี่คือ หัวใจสติ หัวใจอริยมรรค ถ้าวางกังวลได้ในขันธ์ห้า
จิตพ้นเกี่ยวข้องขันธ์ห้า ก็พ้นทิฏฐิทั้งสิ้น เพราะพ้นสังขารทั้งสิ้น ถึงจิตวิสังขาร คือ จิตแท้ ไม่ใช่สังขาร ไม่มีสังขาร ไม่ใช่ภพโลกคนเทวดา สัตว์โลกทุกชนิด หรือที่พระนักปฏิบัติ เรียก จิตเป็นกลาง
อมตจิต ที่บริสุทธิ์แล้วก็หยั่งลงสู่ อมตสัจธรรมบริสุทธิ์ พระวิสังขารธรรม คือ นิพพานธรรม อกาลิโก ไม่มีเรื่องกาลเวลาของโลกอวิชชาหลง เป็นอมตสัจธรรม ไม่ใช่ มตธรรม หลงความผิดว่า 'เรา' ego, self เกิด ตาย จะเกิดจะตาย
แม้โสดาบันก็เห็นอมตธรรม พระนิพพานเท่านั้นจริง ไม่ใช่มตธรรมโลกหลง เป็นเรา เขา, แก่ เจ็บ ตาย เมื่อจิตพ้นโลกหลง เป็นโลกุตตรจิต โลกุตตรสุข วิมุตติสุข แล้วโลกธรรมแปดหมดอำนาจ (สุขทุกข์ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ฯลฯ)
อ้าว ลองทำดู สัก ๒๐ - ๓๐ ปี คงได้ผลไม่มากก็น้อย
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
|