พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 18 ก.พ. 2019 8:59 am
"ถ้าเป็นเรื่องจริง
เมื่อถึงเวลาที่ควรติ ก็ต้องติ
เมื่อถึงเวลาที่ควรชม ก็ต้องชม
แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง
ก็ไม่ควรพูดแท้
และแม้เป็นเรื่องจริง
หากไม่ถึงเวลาที่ควรติ หรือชม
ก็อย่าไปติหรือชม นิ่งเสียดีกว่า"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ในพระไตรปิฏกกล่าวใว้ว่า หลังกึ่งพุทธกาลจะมีพระตกนรกจำนวนมาก ถ้าเอาเชือกขนาดต้นตาลขึงไว้พระที่จะตกนรกต้องเอาจีวรแขวนไว้ก่อนที่เชือกนั้น เพราะจีวรเป็นเครื่องหมายของความดี น้ำหนักของจีวรที่แขวนไว้นั้นจะทำให้เชือกขาดวันละ ๗ หน (ตกนรกมากจริงๆ) หลวงปู่กล่าวต่อว่า ศีลต้องบริสุทธิ์ สมาธิจึงดำเนินไปด้วยดี เมื่อมีสมาธิดีๆ จะเป็นกำลังในการผลักดันปัญญาให้เกิดขึ้น...
คติธรรม
หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ (อายุ ๙๓ ปี)
วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
สิ้นภพจบชาติ
"...สำหรับพระอรหันต์นั้น รู้แจ้งหมดแล้ว หายสงสัยในโลกหมดแล้ว รู้โลกแจ้งชัดเจนแล้ว ไม่หลงโลก ใครจะทำให้หลงก็ไม่หลง ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีความต้องการ ร่างกายก็รู้หมด รู้เฒ่า รู้แก่ รู้เจ็บ รู้ตาย รู้ทุกข์ รู้ยาก พอแล้ว อิ่มแล้ว ไม่เอารูปขันธ์นี้แล้ว เรียกว่าตัดกิเลสขาด ขาดจากความยึดมั่น ถือมั่น วิราโค คลายความกำหนด สิ้นความยินดี ไม่ยินดีกับอะไรในโลกนี้ ความรัก ความชังขาดลอยหมดแล้ว ไม่แต่อุเบกขาญาณ วางเฉยอยู่แต่ยังสอนคนอยู่ จะเอาไม่เอาช่างมัน สอนด้วยความเมตตาเฉยๆ แต่ตัวท่านนั้นทำงานเสร็จแล้ว ไม่มีงานจะทำแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือ การปฏิบัติธรรมอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำไม่มีอีก ที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะมาเกิดอีกไม่มี จิตของท่านไม่ต้องพูดถึง เป็นสมาธิทั้งวันทั้งคืน เป็นอยู่ทุกขณะ รู้อยู่ตลอด พุทโธเต็มอยู่บริบูรณ์อยู่ตลอด มีธัมโม สังโฆอยู่ในตัวตลอด.."
หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป
อริยสงฆ์แห่งอรัญญวิเวก
" ชีวิตของเทพ.. เสวยความสุขที่กรรมเขาสร้างเอาไว้ อยู่ไม่เฒ่าไม่แก่ ไม่เจ็บไม่ป่วย.. เป็นอุปปาติกะ เกิดผุดขึ้นตามบุญตามกรรมของตนเอง ใหญ่เท่ากันหมดเลย ตัวเท่ากันแล้วก็สวยเท่าๆกัน หมู่ใครหมู่มัน เป็นภูมิเหมืือนคนรักษาศีล ๕ ก็ภูมิของพวกนั้น ภูมิของพวกรักษาศีล ๘ ก็ภูมิของพวกนั้น ของใครของมันก็เสวยบุญของตนเองเรียกว่า..บุญทิพย์
สมมุติว่า.. เราอยู่นี่ อยากไปประเทศอื่น ที่อื่นในโลก สิ่งที่เราก่อสร้างไว้ สร้างกุศลวิหารศาลาวัตถุทั้งหลาย มันก็ไปปรากฎคอยอยู่..ไปถึงนั่นก็ไปนั่ง ถ้าอยากหนีจากที่นั่นก็หายแวบไปเลย เหมือนเครื่องนุ่งห่มของเรา เราบริจาคทานไว้สีอะไรบ้าง ถ้านึกอยากนุ่งมันก็เกิดขึ้นเป็นสีนั้น ไม่ได้นุ่งเหมือนอย่างเรานะ มันเกิดขึ้นของมันเองเหมือนของทิพย์ พวกนี้ไม่มีเวทนา มันยังเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ ก็พวกเรานี่แหละ เขาไม่บ่นว่าเขาทุกข์เจ็บปวดที่นั้น เทวดานี้ ถ้าใครได้ทำบุญอะไรไว้บ้างเหมือนถวายน้ำปานะอย่างนี้ นึกอยากจะกินน้ำปานะก็นึกอิ่มขึ้นมาเลย เพราะเขาทำบุญไว้แล้ว ถ้าใครไม่ทำนึกอย่างไรก็ไม่อิ่ม.. นี่เมืองสวรรค์
ถ้าหากมีปราสาทไปนั่งอยู่นี่ถ้าบุคคลไปถวายพระพุทธรูปก็ไปนั่งดูพระพุทธรูปอยู่ แล้วก็เดินไป ถ้าบุคคลใดสร้างกุศลศาลา มีสระน้ำรอบ มีดอกบัว ใครบริจาคทานดอกไม้ ทานดอกไม้ไว้มาก สวนไม่กี่ไร่ล้อมปราสาท มันดอกใหญ่ อาตมาไม่มีเงินซื๊อเครื่องบินจัมโบ้พาไปเหมือนบางอาจารย์ แต่จะปฎิบัติให้ถึง.. มันก็ถึงเห็นเอง ดอกกุหลาบขนาดนี้บนสวรรค์ ที่เราใช้ดอกน้อยๆ ไปบูชากันทุกวันนี้ พูดแล้วก็อยากได้สักคนไปเที่ยวเอง ไปดูแล้วคงจะพูดกันง่ายหน่อย อันที่ไม่เห็นก็จะต้องบอกกันอย่างนี้แหละ ถ้าไปเห็นแล้วคงจะขยัน บางคนทำบุญขยันทำบุญอยากมาอยู่อย่างนี้แหละ เป็นภวตัณหา ดีก็ไม่เป็นอะไรตัณหาอยากพาไปดี ชั้นสูงขึ้นตามระดับจริง ๆ แน่นอนเลย "
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
สมบัติโลก คืนสู่โลกทั้งหมด..""
ความพลัดพรากเป็นของธรรมดา
ทรัพย์สมบัติทุกชิ้น ที่หามาจากโลกนี้
ยศตำแหน่ง หน้าที่การงาน คำสรรเสริญติชม ทุกสรรพเสียง ความสุขรื่นรมย์ทุกประการ
คนรัก สัตว์เลี้ยง สิ่งของที่สะสม ห่วงหาอาลัย
สุดท้ายคืนโลกหมด เหมือนฝันไปจำต้องตื่น
โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
“อริยทรัพย์คือทรัพย์ที่แท้จริง”
ชีวิตของเรานี้มีเวลาน้อยมาก
วันๆหนึ่งเวลาก็ค่อยๆหมดไปๆ
ถ้ามัวแต่ใช้เวลาอยู่กับการกิน การนอน
การแสวงหาความสุขในทางโลกิยะ
ก็จะไม่ช่วยทางด้านจิตใจ
เพราะยังต้องเผชิญกับภัยต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า
เช่น ภัยที่เกิดจากความแก่
ภัยที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย
ภัยที่เกิดจากการตาย ภัยที่เกิดจากการพลัดพราก
จากของรักของเจริญใจทั้งหลาย
ถ้าไม่สะสมบุญบารมี เช่นเนกขัมมบารมี
คือความสงบสุขของจิตใจแล้ว
เวลาที่ต้องเผชิญกับภัยต่างๆ จิตใจจะขาดที่พึ่ง
จะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว แต่ถ้าได้เสริม
ได้บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
แสวงหาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ
ด้วยการสลัดสิ่งต่างๆที่จิตใจไปหลง ไปยึด ไปติดอยู่
ความสุขต่างๆภายนอกทั้งหลายนั้น
อย่าไปหลงยึดติดอยู่ เพราะไม่ช้าก็เร็ว
สักวันหนึ่งร่างกายก็จะไม่สามารถแสวงหา
ความสุขเหล่านั้นได้อีก เพราะเวลาแก่ลงไป
ตาก็จะมืดมัว จะดูหนังก็ดูไม่รู้เรื่อง หูก็หนวก
ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ถ้ายังต้องการความสุขจากรูปเสียงอยู่
ก็จะต้องมีแต่ความทุกข์อย่างแน่นอน
เพราะไม่สามารถหาความสุขแบบนั้นได้อีกต่อไป
แต่ถ้าได้เคยฝึกหัดบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
ก็จะไม่ทุกข์ เพราะมีที่พึ่ง
ในวันพระจึงควรถือศีล ๘ กัน
ตัดความสุขทางโลกเสียบ้าง
อย่าไปสนใจกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ดูหนังฟังเพลง ร้องรำทำเพลง
เรื่องอย่างนี้อย่าไปแสวงหา อย่าไปต้องการ
หันมาทำจิตใจให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์
นั่งสมาธิ กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
ที่เป็นเครื่องผูกจิต จะเป็นการบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ
ไปภายในใจไปเรื่อยๆก็ได้ หรือจะกำหนด
ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้
เวลาหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ใ
ห้รู้ตามความจริงของลม ไม่ต้องบังคับลมให้ยาวหรือสั้น
ให้หยาบหรือละเอียด
ลมเป็นอย่างไรก็ให้รู้ตามความจริงของลม
ใช้ลมเป็นเครื่องผูกจิต ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ
เพราะถ้าไปคิดแล้วเดี๋ยวก็จะเกิดความอยาก
อยากไปดูนั่น อยากไปฟังนี่
อยากไปรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้
ก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งอยู่ในความสงบได้
แต่ถ้าจิตอยู่กับการสวดมนต์
อยู่กับการบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ
อยู่กับการดูลมหายใจเข้าออก
บังคับด้วยสติไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
จิตก็จะค่อย สงบลง สงบลง จนรวมลงเป็นหนึ่ง
ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ในขณะนั้น
จิตจะไม่มีความคิดอยากกับสิ่งต่างๆเลย
เพราะมีความสุขอยู่ภายในตนเอง
นี่แหละเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนมีอยู่กับตัวเราแท้ๆ
เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้
ด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
เราจึงไม่ควรมองข้ามการเข้าวัด เพื่อบำเพ็ญปฏิบัติธรรม
เพราะเป็นการสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับเรา
เป็นการสร้างสรณะที่แท้จริงให้กับเรา
ถ้าสามารถเข้าสมาธิได้ตามที่ต้องการแล้ว
ต่อไปเวลาร่างกายของเรา
ไม่สามารถออกไปแสวงหาความสุขภายนอกได้
ไม่มีปัญญา ขาดทุนทรัพย์ เราจะไม่เดือดร้อน
เพราะเรามีความสุขที่ดีกว่า
ที่เหนือกว่าอยู่ภายในใจของเราแล้ว
คือความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตนี่แหละ
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้
จะเสมอเท่ากับความสุข ที่เกิดจากความสงบของจิต
ต่อให้ได้ไปเที่ยวรอบโลก
ต่อให้ได้แต่งงานกับคนที่เรารัก ที่เราชอบ
ต่อให้ได้ตำแหน่งสูงขนาดไหน
ต่อให้มีความร่ำรวยขนาดไหนก็ตาม
ความสุขเหล่านี้ก็สู้กับความสุข
ที่เกิดจากการทำจิตของเราให้สงบไม่ได้
เพราะความสุขแบบนี้ เป็นความสุขที่ถาวร
อยู่กับเราไปตลอด ไม่มีใครสามารถมาแย่งจากเราไปได้
เป็นความสุขชนิดเดียวที่ให้ความอิ่ม ความพอกับเรา
ความสุขอย่างอื่นต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร
ก็ยังมีความรู้สึกต้องการเพิ่มขึ้นไปอีก
เป็นเศรษฐีก็อยากจะเป็นมหาเศรษฐี
เป็นมหาเศรษฐีก็อยากจะเป็นไปนานๆ อย่างนี้เป็นต้น
มันไม่ได้ไปดับความอยากความต้องการของใจ
แต่เวลาที่ทำจิตให้สงบได้แล้ว ความอยากต่างๆ
จะถูกระงับดับไป ไม่คิดอยากจะได้อะไร
เพราะความสุขอยู่ในใจมันพอเพียง มันอิ่ม
เหมือนกับคนที่รับประทานอาหารอิ่มเต็มที่แล้ว
ต่อให้ใครยกอาหารวิเศษเลิศโลกขนาดไหน
มาตั้งไว้ข้างหน้า ก็ไม่มีความอยากที่จะรับประทาน
นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง
ความสุขที่ไม่มีใครสามารถมาแย่งจากเราไปได้
ความสุขภายนอกคนอื่นเขาแย่งไปได้
สามีภรรยาอาจจะถูกคนอื่นเขาแย่งชิงไปก็ได้
ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของอาจจะถูกเขาขโมยไปก็ได้
อาจจะถูกไฟไหม้ไปก็ได้ อาจจะถูกรัฐบาลยึดไปก็ได้
เพราะของเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎของ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง คือเป็นของไม่เที่ยง
ไม่ใช่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา
เป็นทุกข์ถ้าไปหลงยึดติดกับสมบัติต่างๆ
เพราะเวลาที่จะต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้
พลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะต้องเกิดความทุกข์
ความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
บางคนบางท่านถึงกับไม่สามารถ
ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ
บางคนก็กลายเป็นคนบ้าไปก็มี บางคนทนอยู่ไม่ได้
ถึงกับกระโดดตึกฆ่าตัวตายไปก็มี
เพราะจิตไปหลงยึดติด
อยู่กับโลกิยะสมบัติทั้งหลายนั่นเอง
จนไม่รู้สึกตัวว่าตนเองกำลังสร้างปัญหาให้กับตน
เพราะสิ่งที่ไปยึดติดนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
จะมาจะไปอย่างไรเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ ไปห้ามก็ไม่ได้
เพราะไม่เคยสนใจกับการสร้างความสุขที่แท้จริง
ที่มีอยู่ในตัวของเรา ด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
อย่างที่ท่านทั้งหลายมาที่วัดกันในวันพระ
มาถือศีล ๘ กัน บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรม
ละเว้นจากการเสพกามคุณทั้งหลาย
ถ้าทำไปได้เรื่อยๆแล้ว ต่อไปจะไม่มีความจำเป็น
ที่จะต้องออกไปแสวงหาความสุขภายนอกเลย
อย่างพระหรือนักบวชทั้งหลายนั้น
ท่านก็บำเพ็ญเนกขัมมบารมีกันอย่างต่อเนื่อง
ทุกวัน ทุกเวลา จึงทำให้ท่านไม่มีความจำเป็น
ที่จะต้องออกไปนอกวัด ไปอยู่ในบ้านในเมือง
เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายอยู่กัน
ท่านอยู่บำเพ็ญในป่าท่านก็มีความสุข
ท่านไม่ต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ
ดังที่พวกเราทั้งหลายมีกัน
ท่านกลับมีความสุขมากกว่าเสียอีก
เพราะเป็นความสุขที่มั่นคงนั่นเอง
เวลาเรารู้สึกว่าเรามีอะไรที่มั่นคง
ที่เราพึ่งได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเจ็บจะไข้หรือไม่
จะแก่ จะเป็นจะตายหรือไม่
เราก็ยังสามารถพึ่งความสุขอันนี้ได้อยู่
เพราะความสุขนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับร่างกายนั่นเอง
ร่างกายจะเป็นอย่างไร
หรือสมบัติต่างๆภายนอกจะเป็นอย่างไร
จะไม่สามารถมากระทบ มาทำลายความสุข
ที่เกิดจากการปฏิบัติเนกขัมมบารมีนี้ได้เลย
เราจึงควรให้ความสนใจกับการบำเพ็ญบารมีชนิดนี้
เพราะเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของเรา เรียกว่าอริยทรัพย์
โลกิยทรัพย์ต่างที่เรามีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นสมบัติข้าวของเงินทอง บุคคล
บริษัท บริวารต่างๆ ล้วนไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริงของเรา
เป็นสมบัติผลัดกันชม สักวันหนึ่งก็ต้องจาก
ต้องทิ้งสมบัติเหล่านั้นไป หรือไม่เช่นนั้น
เขาก็ทิ้งเราไปก่อน
แต่การพลัดพรากจากสมบัติเหล่านี้
ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะเราทุกคนที่มาเกิดในโลกนี้
เราก็ไม่ได้ขนสมบัติอะไรติดตัวมาเลย
เวลาตายไปก็ไม่ได้ขนสมบัติอะไรติดตัวไปด้วยเลย
สมบัติที่จะขนไปได้ ก็มีโลกุตรสมบัติ
หรือบุญบารมีกับบาปกรรมเท่านั้นเอง
ที่จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเราไป ถ้ามีบุญบารมีติดตัวไป
ก็จะมีที่พึ่ง มีสรณะ มีสิ่งที่จะดูแลรักษา
ให้มีแต่ความสุขความเจริญ ถ้ามีบาปกรรมตามไป
ก็จะมีแต่ภัยต่างๆตามมา
สร้างแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ชีวิตของเรานี้ เกิดมาก็เพื่อ
บำเพ็ญอริยทรัพย์ คือบุญบารมี
แล้วก็ละเว้นจากการสร้างบาปสร้างกรรม
นี่แหละคืองานที่แท้จริงของเรา หน้าที่ที่แท้จริงของเรา
ไม่ใช่แสวงหาความสุขกับโลกิยทรัพย์ทั้งหลาย
เพราะเป็นของชั่วครั้งชั่วคราว
เพียงแค่ชั่วอายุขัยของเราเท่านั้น
เมื่อตายไป ไปเกิดใหม่ ก็ต้องไปแสวงหาใหม่
ยังหิวยังอยากอยู่ แต่ถ้าสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ
คือบุญบารมี ก็จะสร้างความสงบ
สร้างความสุขให้กับจิตใจ ทำให้ทุกภพทุกชาติที่ไปเกิด
มีความหิว มีความอยากน้อยลงไปๆ
ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาโลกิยทรัพย์ต่างๆ
เพราะรู้แล้วว่าทรัพย์ที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในใจ
คืออริยทรัพย์นี้เท่านั้น จึงขวนขวายสร้างแต่อริยทรัพย์
เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็จะบำเพ็ญแต่บุญบารมี
เช่น ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี
รวมไปถึงปัญญาบารมี คือความรู้ที่จะทำให้หลุดพ้น
จากความหลงผิด จากความยึดติด
อยู่กับกองทุกข์ทั้งหลายนั่นเอง....
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
มรณานุสติ
พวกเรานั้นได้พากันมีความตั้งใจใฝ่ฝันหา แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปสู่สุขเกษมศานต์ ตามองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเรามีจุดประสงค์ความมุ่งหมายเช่นนั้น
เราต้องพากันเป็นคนที่มีความพากความเพียร พยายามขวนขวายสร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตน
เราทุกคนควรมองซ้ายแลขวาว่า ชีวิตของเรานั้นผ่านไปทุกวันทุกวัน ความเฒ่าแก่ชราภาพก็แก่ไปทุกวันทุกวันทุกเวลา พวกเราไม่เจริญภาวนาดูกันเองก็ย่อมหลงมัวเมาในวัยของตนอยู่
ถ้าหากเราพิจารณาด้วยความรู้ เป็นผู้มีสติปัญญาเข้าใจก็จะรู้ได้ว่า คนเราเกิดขึ้นมานั้นเป็นไปตามกาลตามสมัย ย่อมมีความเฒ่าแก่ไปเรื่อยๆ ชราภาพไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดก็คือความแตกดับหักพัง ความแตกสลาย ความทำลายชีวิตลงไปก็คือความตายนั่นเอง
ถ้าหากบุคคลเป็นผู้มีสติปัญญาพินิจพิจารณาถึงมรณานุสติเป็นอารมณ์เอาไว้ในใจ ก็จะเข้าใจได้ว่าความตายนั้นอยู่ใกล้ตน
คติธรรมคำสอน
หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
คำถาม
การที่ดิฉันออกไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดโดยที่พ่อแม่ไม่ยินดี และไม่เห็นด้วย จะเป็นบาปกับดิฉันไหมเจ้าค่ะ ดิฉันยังไม่ได้แต่งงาน พ่อแม่ของดิฉันไม่ค่อยเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะทำบุญกับโรงพยาบาลเท่านั้น
คำตอบ
ลูกๆ ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนานั้น ส่วนบิดามารดาไม่เลื่อมใสเรื่องเหล่านี้ มันเป็นมาแต่ดึกดำบรรพ์ คือเรื่องพระโมคคัลลาน์ มารดาขององค์ท่านไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเลย เคยเป็นมารดาของพระอรหันต์มาตั้ง 7 ชาติแล้ว ก็ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ส่วนท่านพระโมคคัลลาน์ ท่านก็หาวิธีปลอบโยนให้มารดาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผลเลย องค์ท่านก็หมดปัญญา ครั้นมารดาสิ้นลมปราณแล้ว องค์ท่านก็เข้าฌาน เหาะไปในที่ต่างๆ เพื่อจะไปเจอมารดาทั่วพิภพ ก็ไม่เห็น จึงมากราบทูลพระบรมศาสดาว่า "เกล้าไปหาพระมารดาด้วยฤทธิ์กำลังฌาน ไปหาที่ไหนก็ไม่เจอเลย"
พระบรมศาสดาตอบว่า "ถ้าเธอต้องการเห็นมารดาของเธอ เธอก็จงไปดูห้องถ่าย" เพราะห้องถ่ายแต่โบราณมันเป็นหลุมปล่อย องค์ท่านบอกว่า "มารดาของเธอเป็นหนอนอยู่ในหลุมถ่ายนั้น" เมื่อองค์ท่านได้ฟังแล้วก็หมดปัญญา ก็เลยใช้อุเบกขาตามบุญตามกรรม
แต่เราปัจจุบันนี้ถ้าเจออย่างนั้นจะปฏิบัติอย่างใด ส่วนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ใจของใครของมัน ไม่เป็นของสำคัญอะไรนัก
ส่วนเราจะไปมาหาสู่หมู่เพื่อนตลอดพระภิกษุสามเณรอันเป็นชาวพุทธ ถ้าหากว่าท่านห้าม ความไม่เป็นธรรมก็อยู่กับท่าน แต่เราอย่าไปโกรธให้ท่าน หาอุบายเคารพ ขอกราบไหว้ให้ทรงอนุญาต ถ้าไม่ทรงอนุญาตแท้ๆ เราก็ไม่ฝืน แต่จิตใจของเราอุทิศยอมเป็นยอมตายต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน
และเราก็พยายามไม่ให้กระทบกระเทือนท่าน พูดจาปราศรัยด้วยความเคารพอ่อนน้อม บอกว่าจิตอารมณ์ของลูกเป็นอารมณ์อยู่กับ พุทธ ธรรม สงฆ์ แกะไม่ได้คลายไม่ออก บิดามารดาผู้ทรงคุณล้นเกล้า จะดุด่าว่ากล่าวยังไงก็ขอกราบเท้าทูลถวายอย่าให้ลูกๆ ได้เป็นบาปเป็นกรรมอันใดเทอญ
เราต้องไปแถวนี้ เรียกว่าเอาใจดีฆ่าเสือ ได้ผลหรือไม่ได้ผลเราก็พยายามอย่างนั้น สุดท้ายก็คงลงเอยกับเรา เพราะเราเคารพท่านอยู่ ไม่ได้ทำแข็งกระด้าง ด้วยกาย วาจา ใจ และขอจงเชื่อว่าบาปไม่ชนะบุญแต่ไรๆ แล้ว
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
คัดจาก หนังสือหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมะ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.