Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

เปรตอสุรกายต่างกันอย่างไร

พฤหัสฯ. 14 มี.ค. 2019 5:19 am

เปรตกับอสุรกายต่างกันอย่างไร

ความเป็นจริงแล้ว สัตว์ทั้งสองประเภทนี้มีส่วนคล้ายกัน คือล้วนแต่มีความทุกข์ยากแสนสาหัส มีความอดอยากเป็นนิจ

แต่เปรตยังดีกว่าอสุรกาย ตรงที่สามารถรับส่วนบุญที่ญาติมิตรจากโลกมนุษย์นี้อุทิศไปให้ ด้วยการอนุโมทนาพลอยยินดีได้ และเมื่อได้อนุโมทนาพลอยยินดีแล้วก็พ้นจากความอดอยากมีอาหารข้าวน้ำบริโภค บางครั้งเมื่ออนุโมทนาแล้วยังพ้นจากสภาพของเปรต เป็นเทวดาได้อีกด้วย

ส่วนอสุรกายนั้นได้รับความอดอยากแสนสาหัสเช่นเดียวกับเปรต แต่ก็ไม่อาจรับส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศไปให้ได้ ต้องทนทุกข์อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรม

ดังจะยกเรื่องของเปรตและอสุรกาย ตามที่มีกล่าวไว้ในอรรถกถา มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ท่านได้เห็นความแตกต่างกันของสัตว์ ๒ ประเภทนี้ชัดเจนขึ้น
ในอรรถกถาเปตวัตถุ อุตตรมาตุเปติวัตถุ ข้อ ๑๐๗ เล่าไว้ว่า
เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว และการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกสำเร็จแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูปอาศัยอยู่ในราวป่า ไม่ไกลจากกรุงโกสัมพี

ก็สมัยนั้น อำมาตย์ของพระเจ้าอุเทนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดการการงานในพระนครสิ้นชีวิตลง พระราชาจึงทรงตั้งอุตตรมาณพ ซึ่งเป็นบุตรของอำมาตย์นั้นเป็นผู้ทำงานในหน้าที่นั้นแทนบิดา

วันหนึ่ง อุตตรมาณพพานายช่างไม้ไปป่า เพื่อต้องการไม้สำหรับซ่อมแซมพระนคร จึงเข้าไปยังที่อยู่ของท่านพระมหากัจจายนะ เห็นอิริยาบถอันน่าเลื่อมใสของพระเถระแล้วก็เลื่อมใส ได้กระทำปฏิสันถารกับพระเถระ

พระเถระได้แสดงธรรมแก่เขา เขาฟังธรรมแล้วได้ความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ได้นิมนต์พระเถระพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระเถระรับอาราธนาโดยดุณีภาพ เมื่ออุตตรมาณพกลับไปแล้ว เขาได้บอกแก่อุบาสกคนอื่นให้ทราบว่า ได้นิมนต์พระเถระและภิกษุทั้งหลายให้มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายมายังโรงทานของเรา

ครั้นรุ่งเช้าถึงเวลาอาหารแล้ว อุตตรมาณพก็ได้ถวายภัตตาหารที่ตนตระเตรียมไว้แด่พระเถระและภิกษุทั้งหลาย ๑๒ รูป พร้อมทั้งถวายเครื่องบูชามีดอกไม้ ของหอมเป็นอันมาก ฟังคำอนุโมทนาของพระเถระเมื่อฉันเสร็จแล้ว ด้วยความเคารพเลื่อมใส

เมื่อพระเถระจะกลับ ก็ได้นิมนต์ให้พระเถระและภิกษุทั้งหลายมายังเรือนของตนเนืองๆ พระเถระก็ได้มายังเรือนของเขาเนืองๆ เขาอุปัฏฐากบำรุงภิกษุทั้งหลายอยู่อย่างนี้ พร้อมทั้งตั้งอยู่ในคำพร่ำสอนของท่าน จึงได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

ครั้นแล้วได้สร้างวิหารถวายพระเถระ ทั้งกระทำให้ญาติทั้งหลายของตนทั้งหมดเลื่อมใสในพระศาสนาด้วย

ในขณะที่ อุตตรมาณพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จนได้เป็นพระโสดาบันนั้น มารดาของเขากลับเป็นผู้ตระหนี่ ไม่ยินดีในการถวายทานของบุตรชาย ได้ด่าบริภาษอย่างนี้ว่า “เมื่อเรายังมีความต้องการอยู่ เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ ขอสิ่งนั้นจงเป็นเลือดแก่เจ้าในปรโลกเถิด”

นางได้ถวายหางนกยูงกำหนึ่งเท่านั้นในวันฉลองวิหาร ครั้นนางทำกาละตายลงได้เกิดเป็นเปรต แต่ด้วยอำนาจของบุญกรรมที่นางได้ถวายกำหางนกยูง นางจึงมีผมงามดำสนิท ละเอียดและยาว แต่ในเวลาที่นางเปรตลงน้ำเพื่อจะดื่มน้ำ น้ำในแม่น้ำก็เป็นเลือด นางเปรตถูกความหิวกระหายครอบงำเที่ยวไปถึง ๕๕ ปี

วันหนึ่งได้เห็นพระกังขาเรวตะเถระนั่งพักกลางวันอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ จึงเอาผมปิดร่างกายเข้าไปขอน้ำดื่มจากพระเถระ

พระเถระจึงว่า น้ำในแม่น้ำนี้ใสสะอาดไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ “ท่านจงดื่มน้ำในแม่น้ำนั้นเถิดจะมาขอน้ำกะเราทำไม”

นางเปรตก็บอกว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อใดที่ดิฉันตักน้ำในแม่น้ำนี้ดื่ม น้ำนั้นย่อมจะกลายเป็นเลือดไม่อาจดื่มได้ ดิฉันจึงขอน้ำดื่มจากท่าน”

พระเถระฟังแล้วก็ถามว่า “ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาใจหรือ น้ำในแม่น้ำจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ท่าน”

นางเปรตก็เล่าให้ฟังว่า “ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระเป็นอุบาสกมีศรัทธา เขาได้ถวายจีวรบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่พระสมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำ ด่าว่าเขา เจ้าอุตตระ เจ้าถวายจีวรบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่สมณะ ด้วยความไม่พอใจของเรานั้น จงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน”

พระเถระได้ฟังดังนั้น จึงถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์อุทิศให้เปรต เที่ยวบิณฑบาตมาได้แล้วถวายแด่ภิกษุทั้งหลาย ถือผ้าบังสุกุลจากกองหยากเยื่อเป็นต้น ซักให้สะอาดแล้วทำให้เป็นที่นอนและหมอนถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการอุทิศทานที่พระกังขาเรวตะถวายแล้วแก่นางเปรตและนางเปรตอนุโมทนาแล้ว นางเปรตจึงได้ทิพยสมบัติ พ้นจากความเป็นเปรต แล้วได้ไปปรากฏกายให้พระเถระเห็น แสดงทิพยสมบัติแก่พระเถระ

พระเถระเล่าเรื่องของนางเปรตนั้นให้แก่บริษัท ๔ ที่มายังสำนักของท่านฟัง แล้วแสดงธรรม มหาชนฟังแล้วเกิดความสลดสังเวช เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ยินดีในกุศลธรรม มีทานและศีลเป็นต้น นี่เป็นเรื่องของนางเปรตที่พ้นจากความเป็นเปรตด้วยการอนุโมทนา หลังจากต้องอดข้าวอดน้ำอยู่ถึง ๕๕ ปี ด้วยอำนาจกรรมคือผรุสวาจาการด่าลูกชายที่ถวายทานแก่พระมหากัจจายนะและภิกษุทั้งหลาย หากมิได้พบท่านพระกังขาเรวตะ ก็คงยังไม่พ้นจากความเป็นเปรต

--------------------------------------------------------

คราวนี้ขอเชิญฟังเรื่องของอสุรกาย จากอรรถกถาวิภังคปกรณ์ สัมโมหวิโนทนีอรรถกถาบ้าง อรรถกถาท่านเล่าว่า มีอสุรกายพวกกาลกัญชิกะตนหนึ่งไม่อาจจะทนความกระหายน้ำได้ จึงลงไปยังแม่น้ำใหญ่ทั้งลึกทั้งกว้าง ๑ โยชน์ ในที่ที่อสุรกายตนนั้นลงไปแล้ว น้ำจะขาด มีควันพลุ่งขึ้น เป็นเหมือนเดินไปบนหินดาดร้อนๆ ฉะนั้น เมื่ออสุรกายตนนั้นได้ยินเสียงน้ำ แต่พอวิ่งลงไปตรงไหน น้ำก็ขาดหายไปตรงนั้น อสุรกายนั้นเที่ยววิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้อยู่อย่างนั้นตลอดคืนจนรุ่งเช้า

ขณะนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรประมาณ ๓๐ รูปได้ไปยังที่ภิกขาจารแต่เช้าทีเดียว เห็นอสุรกายตนนั้นเข้าจึงถามว่า “ท่านชื่ออะไร สัปปุรุษ”
อสุรกายตอบว่า “ผมเป็นเปรตเจ้าข้า”
จากคำตอบของอสุรกายที่ตอบว่าผมเป็นเปรตนี้แหละ แสดงว่าเปรตกับอสุรกายนี้เป็นพวกเดียวกันใช้แทนกันได้

คราวนี้ขอเชิญฟังเรื่องนี้ต่อไป เมื่ออสุรกายตอบว่า “ผมเป็นเปรต”

ภิกษุทั้งหลายก็ถามว่า “ท่านแสวงหาอะไรเล่า” อสุรกายตอบว่า “ผมแสวงหาน้ำดื่มเจ้าข้า”
ภิกษุก็กล่าวว่า “แม่น้ำนี้มีน้ำเต็มฝั่ง ท่านไม่เห็นหรือ”
อสุรกายตอบว่า “เห็นเจ้าข้า” แต่มันไม่สำเร็จประโยชน์แก่ผมเลย”

ภิกษุทั้งหลายจึงว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงาย พวกอาตมาจะหยอดน้ำดื่มเข้าไปในปากท่าน”

อสุรกายทำตาม นอนหงายลงบนพื้นทราย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงนำบาตรของตนๆ ตักน้ำมาหยอดปากอสุรกายตนนั้น

เมื่อภิกษุทั้งหลายทำอยู่อย่างนั้นก็ได้เวลาบิณฑบาต จึงถามว่า “ท่านได้รับความพอใจบ้างไหม คือได้ดื่มน้ำบ้างไหม”

อสุรกายตอบว่า “ท่านเจ้าข้าถ้าหากว่าน้ำเพียงกึ่งฟายมือ จากบาตรประมาณ ๓๐ ลูกที่พระคุณเจ้าทั้ง ๓๐ รูปหยอดเข้าปากผมนั้น ถ้าน้ำนั้นเข้าไปสู่ลำคอของผมแม้เพียงน้อยนิดแล้วละก็ ขอความพ้นจากอัตภาพเปรตจงอย่าได้มีแก่ผมเลย”

เป็นอันว่าน้ำสักหยดเดียวจากบาตรถึง ๓๐ บาตรมิได้ล่วงลำคอเปรตเข้าไปเลย เปรตคืออสุรกายตนนั้นก็ต้องทนต่อความกระหายน้ำต่อไปอีก เพราะกรรมของเขาหนักมากจนไม่อาจจะรับความกรุณาจากภิกษุทั้งหลายได้

อสุรกายจึงลำบากกว่าเปรต ทั้งรับความกรุณาจากใครก็ไม่ได้ เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้นั้นหนักเกินกว่าที่ใครๆ จะอนุเคราะห์ได้ อสุรกายจึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในภพภูมิที่ตนเกิด นับเป็น ๑-๒ พุทธันดรก็มี

มีท่านผู้รู้ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เปรตและอสุรกายมีข้อแตกต่างกันดังนี้

เปรตทั้งหลายมีความอดอยากอาหารเป็นสัญลักษณ์เครื่องทรมาน

ส่วนอสุรกายทั้งหลายนั้น มีความหิวกระหายน้ำเป็นสัญลักษณ์เครื่องทรมาน

ทั้งหมดนี้ คือแตกต่างกันของเปรตและอสุรกายตามอรรถกถา
________________________________________

ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
อุตตรมาตุเปตวัตถุ
ว่าด้วย บุพกรรมของอุตตรมาตุเปรต
ตอบกระทู้