#การเพิ่มคุณภาพจิตโดยการทำสมาธิภาวนา จิตที่มีคุณภาพสูง เป็นจิตที่มีความสุขมากกว่าปกติ เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยกุศล ไม่คิดเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ปรารถนาความสุขให้แกตัวเองและผู้อื่น ตรงกันข้ามกับจิตที่มีคุณภาพต่ำ เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก ทำตนเองให้เป็นทุกข์และก็แผ่ดระจายความทุกข์นั้นไปให้คนอื่น ทั้งที่โดยเจตนาและไม่เจตนา พระอริยเจ้าทุกพระองค์นับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จิตของท่านมีคุณภาพสูงกว่าจิตของปุถุชน เพราะท่านมีเมตตาเป็นวิหารธรรม คือ เป็นเครื่องอยู่
ฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าปุถุชนธรรมดา พวกเราถึงแม้ว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้าเจริญเมตตาพรหมวิหารเป็นประจำ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าปกติ ต่างกันแต่ว่าพระอริยเจ้า ท่านมีเมตตาเป็นอัตโนมัติ เกิดขึ้นเป็นประจำไม่มีการเสื่อม สำหรับปุถุชนต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีขึ้นและต้องพยายามรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมด้วย "เมตตาพรหมวิหารนี้" ถ้าเกิดขึ้นแล้วความเป็นผู้มีศีลคือเป็นผู้ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คิดแรารถนาความสุขแก่ตนเองและบุคคลอื่นก็เกิดขึ้นด้วย อยู่ที่ใดไปที่ใดก็มีแต่ความสุขความเยือกเย็นเป็นสุข
"เมตตาพรหมวิหารนี้" ถ้าทำให้มากถ้าเจริญให้มาก ย่อมแด้กรรมได้ !! กรรมที่ทำแล้วถ้าหนักก็อาจจะเลาบางลงได้ ถ้ากรรมนั้นพอประมาณ ก็อาจจะจางกายไปได้ ผู้ที่จะบำเพ็ญความดีจนบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จำเป็นต้องสร้างบารมี คือ ทำคุณสมบัติ ๑๐ ประการให้เกิดขึ้นมีขึ้นกับตนเองเสียก่อน ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิฐาน, เมตตา, อุเบกขา,
เมตตาเป็นบารมีอันหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นมีขึ้นกับตน การเจริญเมตตาพรหมวิหารทำให้เมตตาบารมีของเราเพิ่มขึ้นๆ เมตตาพรหมวิหารแก้ใช้เอฟเฟกต์ คือ ผลเสียบางประการ ของการภาวนาได้ การทำสมาธิภาวนาในระบบใดก็ตาม จะใช้อะไรเป็นกรรมฐานก็ตาม จะมีจุดหนึ่งที่จิตของเราสงบ ต้องการความสงบและอยากอยู่ในที่สงบ แต่สิ่งแวดล้อมก็เป็นไปตามปกติของเขา เช่นเราอยู่ในบ้าน แต่ก่อนเรายังไม่ภาวนา คนในครอบครัวทำเสียงดัง เราก็รู้สึกเป็นของธรรมดา แต่เมื่อเราภาวนาถึงจุดที่มีความสงบ ต้องการความสงบและอยากอยู่ในที่สงบแล้ว บางครั้งเราจะรู้สึกหงุดงิดรำคาญเสียง และไปโทษสิ่งแวดล้อมว่า ทำให้เกิดความไม่สงบ แต่ถ้าเราเจริญเมตตาพรหมวิหารแล้ว เราจะไม่ไปโทษสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่จะรู้สึกเมตตาต่อทุกคนเสมอกันหมด และสามารถปรับความรู้สึกของเราให้เป็นปกติได้ไม่ยากนัก
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก สังคมที่ขาดเมตตา คือ สังคมของสัตว์ป่า สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงเบียดเบียนสัตว์ที่อ่อนแอ มีแต่ความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ตัวเรา, ครอบครัวและในสังคมส่วนย่อย ถ้าปราศจากเมตตาไปแล้วก็จะเป็นเดือดร้อน เป็นทุกข์ หวาดระแวงเช่นเดียวกัน ถ้ามนุษย์เราขาดเมตตา สังคมของมนุษย์ก็แย่กว่าสังคมของสัตว์เสียอีก เพราะมนุษย์ทุกวันนี้มีอำนาจในทางวัตถุมาก ถ้าเอาอำนาจนี้มาใช้ในทางเบียดเบียนกัน ทำลายกัน โลกนี้ก็คงอยู่ไม่ได้แน่นอน !!
ที่โลกนี้ยังอยู่ได้ก็เพราะมนุษย์ยังมีเมตตาต่อกัน แม้จะอยู่ในวงจำกัดก็ตาม ถ้ามนุษย์เรามีเมตตาแผ่กว้างไปมากเท่าไหร่ โลกก็จะน่าอยู่มากขึ้น สิ่งแวดล้อมต่างๆในโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมตตาจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ค้ำจุนโลกให้อยู่ได้ ฉะนั้นโบราณจารย์ท่านจึงให้แผ่เมตตาทุกค่ำเช้า หลังจากไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว
ถอดจากเทปพระธรรมเทศนา องค์หลวงปู่ทิวา อาภากโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
#งานสวดลักขี_ปี๕๙_ตอนที่๑
เรื่องการปฏิบัติในอิริยาบถทั้ง ๔ นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ การปฏิบัติให้อิริยาบถทั้ง ๔ นี้เป็นสมาธิสม่ำเสมอกันนั้น เป็นการทำได้ยาก ถ้าเราไม่มีความตั้งใจจริงๆ ส่วนมากก็จะอาศัยแค่การนั่งอยู่ในอิริยาบถที่สงบ อยู่ในอิริยาบถที่นิ่ง จิตถึงจะสงบเข้าสู่สมาธิ และเมื่อจิตเข้าสู่ความสงบและเป็นสมาธิในอิริยาบถนั่ง เราทำยังไงในอิริยาบถเดิน เราถึงจะได้รับความสงบเหมือนอย่างอิริยาบถนั่ง เราต้องมีนโยบายที่จะแก้ไขตัวเอง ค่อยสังเกตุดูอารมณ์จิตของตัวเองในขณะที่เรานั่งอยู่ จิตของเราได้รับความสงบแล้ว เราอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ จะลุกขึ้นไปเดินจงกรมในขณะที่เราลุกขึ้น เราก็ค่อยขยับตัวขึ้นแต่สติของเรายังอยู่กับอารมณ์ในสมาธิ จดจ่ออยู่กับอารมณ์สมาธิ . แต่กายของเรานี่เคลื่อนไหว พอเคลื่อนไหวไม่ให้จิตของเรานี่กระเพื่อม ไม่ให้อารมณ์อย่างอื่นขึ้นมาแทรกในจิตของตนเอง เมื่อเราลุกขึ้นยื่นตัวตรงมาแล้ว เราก็ประคองจิตให้สม่ำเสมออยู่นั้นสักพักหนึ่งเสียก่อน แล้วค่อยเดิน ก้าวขาขวาและก็ก้าวขาซ้ายไปเรื่อยๆแต่จิตของเราก็บริกรรม พุทโธๆไปเรื่อยๆ อย่างที่เราก้าวเท้าขวาเราก็บริกรรมว่า พุท ก้าวเท้าซ้ายเราก็บริกรรมว่า โธ ในขณะที่เราก้าวเท้าขวา พุทโธๆไปเรื่อยๆ พุทโธนี้ถึงจะไปตามจังหวะก้าวของขา แต่ก็อยู่ในอารมณ์ของจิตเหมือนเดิม นี้กระแสจิตของเราก็จะประคองอยู่เหมือนเดิม ดิ่งอยู่จุดนี้เหมือนเดิม เราไม่ให้จิตของเรานี้เคลื่อนไหวไปมา ตามร่างกายสังขาร แต่เพียงรู้ในขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถหรือเคลื่อนไหวไปมา มีความรู้รอบอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่กระเพื่อมออกไปจากอารมณ์จิตที่เป็นสมาธิอยู่ . เมื่อเราประคับประคองจิตของเราอยู่ในระดับนี้ เดินจงกรมจิตก็สงบก็เดินได้นาน บางทีมันสงบเข้ามากๆเดินไปจนถึงสว่าง แต่ก่อนเราเดินจงกรมเรายังไม่ได้ประคับประคอง ยังไม่ได้รับความสงบ เราก็อาจจะกำหนดการเดินจงกรมจะต้องเดินสัก ๑ ชม. หรือนั่งสมาธิ เราก็จะนั่งไปสัก ๑ ชม.หรือเรายืนนิ่งๆเราก็ยืนสัก ๑ ชม.นี้เราจะเปลี่ยนอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ไว้ก่อน ส่วนอิริยาบถนอนนั้นเอาไว้ทีหลัง ทำอิริยาบถ ๓ ประการนี้ให้จิตของเราเข้าสู่ความสงบได้อย่างสม่ำเสมอกัน . เมื่อจิตสงบในขณะที่เดินจงกรม ก็มีความสงบอยู่กับเดินจงกรม เราเคยกำหนด ๑ ชม. ถ้าจิตของเราได้รับความสงบ มีความเบิกบาน มีความแจ่มใส่ มีความอิ่ม มีความปิติในขณะที่เดินจงกรม กาลเวลาที่เราเคยกำหนดไว้จะไม่ได้สนใจแล้ว เราจะดูแต่จิตอย่างเดียว ผลสุดท้ายกาลเวลาที่เราเดินนั้นมันก็ผ่านไปโดยอัตโนมัติ จนกว่าจิตของเราจะถอนออกจากสมาธิจุดนี้ก็ถึงสว่าง บางทีถึงสว่างแล้วจิตของเราก็ยังร่วมอยู่อย่างนั้น เมื่อจิตของเรารวมอยู่อย่างนั้น เราก็จะยืนอยู่ตรงนั้น ยืนอยู่ที่ทางจงกรม รวมอยู่ที่การยืนนั้นน่ะ อยู่นิ่งๆจะรวมไปอีกหลาย ชม. จิตถึงจะถอนออกจากสมาธิ . เมื่อจิตถอนออกจาดสมาธิ เราก็ลืมตาขึ้น เมื่อเราลืมตาขึ้น เวลาอาจจะถึงเที่ยววันหรืออาจจะถึงบ่ายโมงอย่สงนี้ ก็เลยเวลาที่เราจะออกบิณฑบาตแล้ว นี้สำหรับพระภิกษุผู้ที่ท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม พอจิตถอนออกจากสมาธิอย่างนี้แล้ว ก็เข้าไปนั่งอีกทีหนึ่ง พอนั่งเข้าไปจิตก็ร่วมต่อไปอีก เมื่อจิตร่วมเข้าไปตอนนี้ ก็อาจจะถึงตกเย็นบ่ายห้าโมง จิตก็จะถอนออกมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจิตถอนออกมา เราก็ทำกิจวัตร อาจจะปัดกวาดเช็คถู ตามสถานที่ที่เราอาศัยอยู่นั้น ในขณะที่ปัดกวาดเช็คถู จิตของเราก็ยังสำรวมอยู่ เปรียบเทียบกับส่วนที่เรากำลังปฏิบัติจิตอยู่นั้น
ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม อินสิริ
วัดป่าภูเขาหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชศรีมา (ในงานพิธีสวดลักขี วัดธรรมมงคล วันที่ 8 ม.ค.59)
“เป็นครูสอนคนอื่นก็ดีอยู่ หากสอนตัวเองด้วย ก็จะดีมากขึ้น เราตรวจคะแนนให้คนอื่น ข้อนี้ถูก ข้อนั้นผิด เราเคยตรวจดูตัวเองบ้างหรือเปล่า
วันเวลาผ่านไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คะแนนฝ่ายดี กับคะแนนฝ่ายชั่วนั้น ข้างไหนมันมากน้อยกว่ากัน กลับไปตรวจตัวเองเด้อ”
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
“ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน เมื่อจิตสงบเป็นปกติแล้ว จึงค่อยพูดค่อยออกความเห็น พูดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยจิตเมตตากรุณา
หลวงพ่อชา สุภัทโท
|