พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 06 พ.ค. 2019 7:27 am
อดีตก็ดับ อนาคตก็ดับ
มีสมาธิตั้งมั่นในปัจจุบัน
เดินปัญญารู้เท่าทันปัจจุบัน
แม้ปัจจุบันก็ดับ
จิตอยู่เหนือกาลเวลา
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง นครราชสีมา
#เดินจิตเข้าสู่ฌาน
#ยอดงานของใจ
เดินจิตเข้าสู่ฌานเป็นสิ่งท้าทายมากที่สุด สำหรับคนทำสมาธิทุกคน เหมือนการไต่เส้นด้ายเล็กๆเดินข้ามหน้าผาลึกไปอีกฝั่ง พระพุทธโฆษะ ผู้เขียนคัมภีร์วิสุทธิ์มรรคให้ข้ออุปมาไว้ว่า มีผู้ทำสมาธิพร้อมกัน ๑๐๐,๐๐๐ คน ผู้ฝึกจนสำเร็จคือหนึ่งในแสน และในผู้ได้ฌาน ๑๐๐,๐๐๐ คน ผู้ฝึกได้จนชำนาญ เข้า-ออกฌานได้อย่างต้องการก็หนึ่งในแสนคน
เดินจิตเข้าสู่ฌานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างพูด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ ทุกสิ่งในโลกไม่เหนือความเพียรพยายามของมนุษย์ หากมีความมุ่งมั่นที่แน่วแน่และมีความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องแล้ว ความสำเร็จก็ไม่หนีไปไหน
ผู้ที่ได้ฌานอย่างรวดเร็ว เพราะเขาเคยฝึกฝนมาแล้วในอดีตชาติหลายภพหลายชาติ หลวงพ่อทองใบ ปภัสสโร วัดภูย่าอู่ จังหวัดอุดรธานี เล่าประสบการณ์ของท่านให้ฟังว่า พอกำหนดจิตในอารมณ์ที่เคยได้เท่านั้น จิตก็จะพลันเข้าสู่ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับ ท่านว่าเร็วมาก เหมือนลิ้นแตะรสแกง หรือทารกดื่มนมมารดา พลันที่ลิ้นสัมผัสแกงหรือนมมารดา ก็รู้รสชาติทันที
หลวงพ่อเคยเป็นฤษีมาหลายชาติ
ส่วนผู้ปฏิบัติที่ยังไม่เคยได้ฌานทั้งในชาตินี้และชาติก่อน คงไม่มีวิธีไหนดีกว่าความเพียรพยายาม ฝึกแล้วฝึกอีก ทำแล้วทำอีก กำหนดรู้คำภาวนาที่ตัวเองเลือก จนกระทั่งจิตค่อยๆสงบแน่วแน่ลง แล้วคำบริกรรมจะหายไปอย่างอัตโนมัติของมันเอง จิตที่ปล่อยคำภาวนาได้จะเดินเข้าไปสู่ความสงบจนสุดกำลัง จิตจะสงบนานเท่าใด แบบไหน อย่างไร อย่าเพิ่งสนใจอะไร ปล่อยให้สงบลึกและนานที่สุดเท่าที่มันจะเป็นก่อน
เมื่อถอนจิตออกจากความสงบแล้ว ค่อยมาทบทวนทีหลังว่า อารมณ์ที่ตนเองได้สัมผัสขณะจิตเข้าสู่ความสงบนั้นมีลักษณะเป็นแบบไหนอย่างไร
หากอยากรู้ว่าตัวเองเข้าสู่ฌานที่เท่าไร กำลังได้สัมผัสกับอารมณ์ฌานอะไรบ้าง ผู้ปฏิบัติจะไม่มีทางเดินจิตเข้าสู่ฌานได้ ต้องทำตัวเป็นคนโง่ก่อน แล้วค่อยไปฉลาดเอาทีหลัง
เมื่อฝึกจนได้แล้ว ค่อยมาฝึกให้ชำนาญ ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ศิษย์สำคัญรูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้แนะนำวิธีพิจารณาให้ชำนาญการเข้า-ออกฌานไว้ ๕ ขั้นดังนี้
ขั้นที่๑ นึก
ได้ฌานครั้งแรก ผู้ปฏิบัติควรนึกถึงลักษณะอาการต่างๆที่จิตก้าวเข้าสู่ความสงบ นึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งอยู่ในความสงบได้นาน จนกระทั่งเข้าใจเหตุ-ผลที่จิตสงบอย่างนั้นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจดจำลักษณะอาการและอารมณ์นั้นไว้ให้ดี เมื่อนึกถึงอาการและอารมณ์นั้นครั้งหลัง จิตจะพลันสงบตัวลงทันที
ขั้นที่๒ เข้า
ฝึกหัดเข้าสภาวะที่เคยได้อย่างช้าๆ อย่ารีบเร่ง ค่อยๆเลื่อนความสงบของจิตลงสู่ความสงบที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับ ขณะที่ค่อยๆเคลื่อนตัวเข้าสู่ความสงบนั้น ให้สังเกตความรู้สึกของจิตและอารมณ์ต่างๆที่ปรากฏมาให้สัมผัสตามระยะที่เคลื่อนตัวเข้าไป เมื่อทำได้สำเร็จ ต่อมาให้หัดเลื่อนจิตเข้าสู่ความสงบให้ไวขึ้น จนสามารถเข้าไปสู่จุดสงบนิ่งเป็นหนึ่งได้อย่างทันใจ
ขั้นที่๓พัก
ฝึกให้จิตหยุดพักอยู่ในจุดแห่งความสงบนิ่งเป็นหนึ่งเพียงระยะสั้นๆจนชำนาญดี แล้วค่อยๆลองกำหนดให้จิตทรงตัวนิ่งอยู่อย่างนั้นนานขึ้นทีละน้อย จนจิตสามารถพักตัวในจุดสงบนิ่งเป็นหนึ่งได้อย่างยาวนานหลายชั่วโมง หรือลายวัน เมื่อกำหนดจิตเข้าไปพักในจุดสงบนั้นทีไร ก็เป็นไปอย่างที่ต้องการทุกครั้ง ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ขั้นที่๔ออก
ฝึกออกฌานควรทำเหมือนการเข้า อย่าได้ผลีผลามพรวดพราดออกทันที ควรถอนจิตออกจากความสงบอย่างช้าๆ เมื่อจิตพักอยู่ในจุดสงบนิ่งเป็นหนึ่งเต็มกำลังของมันแล้ว จิตจะไหวตัวเคลื่อนออกจากจุดสงบ ควรหัดเลื่อนจิตออกมาสู่ความรู้สึกปกติธรรมดาอย่างช้าๆ และสังเกตความรู้สึกต่างๆที่ได้สัมผัสขณะเคลื่อนตัวออกมา
เมื่อชำนาญได้ทีแล้ว ต่อไปควรหัดถอนจิตออกจากฌานให้เร็วขึ้น จนทันทีที่นึกว่า “ออก” จิตก็ถอดตัวออกจากจุดนิ่งสงบเป็นหนึ่งได้ทันที ไม่มีอาการกระทบกระเทือนใดๆต่อกายประสาท
ขั้นที่๕ทบทวน
เมื่อจิตถอดตัวออกจากสภาวะที่สงบที่สุดมาสู่ความรู้สึกปกติธรรมดาแล้ว อย่าเพิ่งหุนหันลุกออกจากที่ หรือหันไปสนใจเรื่องอื่น ให้หันมาสนใจกับประสบการณ์ที่ตนเพิ่งได้รับ ทบทวนดูลักษณะอาการที่ตัวเองนึก-เข้า-พัก-ออก จากจุดสงบนิ่งเป็นหนึ่ง พิจารณาลักษณะอารมณ์ต่างๆที่ตนได้สัมผัส ครั้งต่อไปจึงหัดพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นทีละน้อย จนเมื่อนึกปุ๊บก็เข้า-พัก-ออกจากจุดสงบนิ่งเป็นหนึ่งได้ทันที
เมื่อจิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งเป็นหนึ่งได้แล้ว อย่าลืมฝึกให้ชำนาญการนึก-เข้า-พัก-ออก-ทบทวน ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วจะชำนาญในการทำจิตให้สงบเป็นหนึ่งได้
เดินจิตเข้าสู่ฌานจึงเป็นยอดงานของใจ
ส.ชิโนรส (พระอาจารย์มหาสุภา ชิโนรโส) สำนักสงฆ์ภูถ้ำพระ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
"...ไม่มีอะไรในโลก
ที่เป็นความสุขที่แท้จริง
ไม่มีอะไรเป็นสิ่งถาวรที่แท้จริง
ไม่มีอะไร...ที่เป็นสมบัติอันแท้จริงของเรา"
- พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต -
#ทำยังไงให้มันได้เต็ม
การทำบุญหรือการปฏิบัติแบบไหนที่มันจะได้มากที่สุด ได้มากที่สุดไม่ใช่ว่ามีของอยู่ที่บ้านเยอะๆขนมาถวายพระหมดไม่ใช่น่ะ เราเอามาพอดี พอดีเรานั่นแหละ พอดีเลยพอดีกับใจของเรา ใจของเราศรัทธาเท่านี้มีเท่านี้ก็ทำเท่านี้ ดีใจอิ่มใจ จัดสรรไว้แล้ว โอ้ย ได้จัดสรรไว้พอดีแล้ว ดีใจอิ่มใจ เตรียมตัวใช้แล้ว พอเช้ามาก็เอามาถวายบิณฑบาต โอ้ย ดีใจหลาย กลับบ้านไปยังดีใจได้ทำบุญกับหลวงปู่ครูอาจารย์ นั่นละอานิสงส์มันเกิดด้วยศรัทธาที่แท้จริงมันเกิด
ไม่ต้องปรารถนามันก็ได้หรอกทรัพย์สมบัติ
เพราะมันได้อยู่แล้ว บุญมันจะหนุนอยู่แล้ว ทำมาค้าขายก็จะเจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาด้วยบุญมันหนุน ไม่ต้องไปปรารถนามันจะได้เอง เพราะอานิสงส์มันมีอยู่แล้ว บุญมันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีบุญอยู่แล้วนี่
โอ้ย !! อย่าไปคิด เขาขายได้ ตัวเองนั่งดูไล่แมลงวันอยู่ ถ้าขายอาหารนะไล่แมลงวันแว๊บๆอยู่นั้น แต่คนอื่นนี่ขายได้ทั้งวันไม่ได้นั่ง เอาแต่ตังค์ แต่ตัวเองนี่เป็นยังไง นั่งไล่แมลงวันอยู่ ซื้อของมาก็ผลสุดท้ายเป็นไง...ก็เน่า ซื้อผักมาก็เปื่อย คนไม่มีบุญเด้ใช่ไหมล่ะ นั่นละเราต้องคิดแบบนี้ อานิสงส์มันเป็นแบบนี้ นี้ละการประพฤติปฏิบัติในธรรมะ มันมีหลายอย่างหลายประการ
สรุปเข้ามาก็หวังผล คือ บุญ เราจะทำอะไรก็ให้ทานเราก็ต้องการบุญที่มันถูกต้อง เรารักษาศีลเราก็ต้องการบุญ เราภาวนาก็ต้องการบุญ มันก็เป็นอันเดียวกัน แต่ว่าอันไหนมันจะได้มากกว่ากัน มันก็ได้บุญมากทุกอย่างเต็ม 100 นะ ได้มากหมดทุกอย่าง ทำบุญก็ได้มาเต็ม 100 เหมือนกัน ทำบุญทำทานนี้นะ ขอให้ใจเราเต็ม 100 ทำแล้วดีใจ
ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม อินทสิริ
วัดป่าภูเขาหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.