พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 03 ก.ค. 2019 5:32 am
คำถาม : คนสองคนทำบุญด้วยเงินจำนวนไม่เท่ากัน จะได้บุญเท่ากันหรือไม่ ถ้าเขาได้รับความสุขใจเหมือนกัน
คำตอบ : คนที่ทำบุญด้วยกันจะมีเงินมากเงินน้อย ถ้าคนมีมากนั้นเขาทำแต่เขาเฉย ๆ อยู่ เขาไม่ได้คิดถึงบุญอะไร ส่วนคนที่มีเงินน้อยเขาทำ เขาปลื้มใจของเขา เขาจะมีความสุขมากกว่าตรงที่ทำจิตใจให้มีความสุข มันได้บุญมากกว่า เหมือนกับคนที่มีเงินแล้วเขาโยน ๆ ให้ เฉย ๆ ไม่เคารพกองบุญของตัวเอง
เหตุฉะนั้นการทำบุญต้องพร้อม มีศรัทธา มีเจตนาที่ดี ทำจิตใจให้มีความสุขเอิบอิ่มในบุญในกุศล เคารพกองบุญของตนเองด้วย บุญนั้นก็จะได้มาก พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนี้
เมื่อคนที่จนเขาทำอย่างนั้น ในชาติต่อไป พลังของความสุข พลังของบุญก็จะมีมากขึ้นกว่าปกติ ก็คือ ความสุขนั่นเอง เพราะว่าบุญคือความสุขใจ และท่านยังแบ่งการทำบุญไว้ 3 อย่าง
1. ทาสทาน ของกินที่จะทิ้งเข้าป่าแล้ว จึงเอาไปให้คนอื่นเป็นของต่ำ
2. สหายทาน มีอะไรในบ้านของเรา หรืออยู่ในหอพักของเรา เพื่อนไปหาก็ให้กินอันนี้แหละ มีแค่นี้แหละ เราก็กินอันนี้ เพื่อนก็กินอันนี้ เราก็ทานอันนี้ เรียกว่าสหายทาน มันได้บุญมากขึ้นตามลำดับ
3. สามีทาน คือของที่เราซื้อมายังไม่ได้กิน ให้เพื่อนกินก่อน เราค่อยกินทีหลัง อันนั้นเป็น ยอดทาน
ของนั้นเป็นของไม่แพง แต่เป็นยอดของทาน เพราะเราให้เพื่อนกินก่อน เครื่องนุ่งห่มก็เหมือนกัน สมมติว่าได้ผ้ามาไม้หนึ่ง จะเอาไปทำบุญกับพระ หรือว่าจะให้เพื่อนไปตัดเสื้อตัดกางเกงก่อน แล้วเราค่อยเอาผ้าที่เหลือมาตัดทีหลัง ตัดชุดที่เท่ากัน แต่เราเสียสละให้ก่อน อันนี้เป็นยอดความดีในการบริจาคทาน
ถ้าเป็นเพื่อนกัน คนทำมากทำน้อย ถ้าบอกเอาบุญด้วยกันจะได้เท่ากันนะ เหมือนที่นั่งอยู่หมดทุกคนนี้ คนหนึ่งทำบุญสาธุพร้อมกัน อนุโมทนา เอาคนละห้าสิบสตางค์แล้วมารวม ๆ กัน อนุโมทนาได้ด้วยกันก็จะได้บุญเท่ากัน
แต่บางคนเขาบอกว่าทำมากได้มาก ไม่อธิบายเรื่องความพอใจหรือไม่พอใจ อย่างให้มาก ๆ แต่ให้ส่งเดชอย่างนี้ หรือว่าโยนให้เลย ไม่เคารพกองบุญของตน บุญจะไม่ได้มาก เพราะไม่เคารพในกองบุญกุศลของตนเอง
โอวาทธรรมคำสอน : พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก (บ้านปง) ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
เมื่อได้รับพรจากพระแล้วก็ตั้งใจอุทิศบุญ
ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ยาก
ลำบากจิตวิญญาณ ทุกข์ยากมีมากเพราะ
คนทำบาปไว้มาก
ตายไปก็ตกทุกข์มาขอรับส่วนบุญจากเราถึงเรามองไม่เห็นแต่ทางจิตใจนั้นมันส่งถึงกันได้
โอวาทธรรม หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
" สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อจิตจะออกจากร่าง "
เมื่อเวลาตายนั้น จิตก็จะต้องเข้าภวังค์ ต้องอาศัย ความสงบ ถ้าไม่สงบแล้วเข้าไม่ได้ อันนี้แหละที่เราต้องพากันทำสมาธิ ต้องการที่จะให้มีสติ สมาธิที่เราได้ทำไว้ จะเป็น ครั้งหนึ่ง สองครั้ง สิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง ก็ตาม สมาธิเหล่านั้น จะไม่สูญเสียไปในทางใด นอกจากฝังสนิทติดอยู่ในใจของเรา ด้วยเหตุอย่างนี้ เมื่อเวลาที่จิตนี้จะออกจากร่างนี้ไป สมาธิทั้งมวลที่มีอยู่ก็รวบรวมพลังทั้งสิ้น แล้วก็มารวมอยู่ ณ ที่จิตนั้น เมือเป็นเช่นนี้ทางที่ผู้ทำสมาธิจะไปตกนรก หรือไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือจะไปเกิดเป็นเปรตอะไรอย่างนี้ ไปไม่ได้ เพราะเหตุที่ว่าจิตนี้ได้รับการฝึกฝน ชำนาญ แล้ว ยกเว้นแต่ว่าทำไม่ได้จริงได้จัง
เมื่อเวลาจิตจะออกจากร่างนั้นสมาธิเท่าที่เราทำนั้น มันจะเข้ามารวมตัว การรวมตัวนั้นจะรวมเสร็จภายในชั่ววินาทีเท่านั้นเอง เรียกว่า ชวนจิต(ชะ วะ นะ จิต) ถ้าหาก ชวนจิต ที่ยังไปคิดไปนึกอะไรอื่นๆอยู่นั้น มันก็ไม่เกิดความรวดเร็ว ถ้าชวนจิตที่เกิดการฝึกฝนแล้วมันเร็วมาก รวมตัวกันชั่ววินาทีก็พร้อมที่จะเดินทางต่อไป
จิตของบุคคไม่ได้ฝึกฝนในการทำสมาธินั้นก็ต้องไปตาม ยถากรรม ไม่สามารถที่จะควบคุม ขณะที่จิตนั้นออกจากร่างได้ เมื่อควบคุมไม่ได้ก็สุดแล้วแต่ ชวนจิต หรือความคิดความนึกของจิตนั้นจะไปยึดเอาที่ตรงไหน ไปยึดเอาตรงโน้นตรงนี้ ก็ไปเกิดเอาตามภาวะแห่งการยึดถือ ท่านจึงบอกว่า อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ
บุคคลผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมจิตนั้น จำนวนมากเหลือเกิน ทำบุญทำทานไป ก็นึกถึงบุญทานได้ก็ยังดี หรือไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรกับเขามีแต่คิดถึงลูกคิดถึงเต้า ทรัพย์สินสมบัติ นั้นนะ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องไปเกาะเป็นตำแหน่งของสัตว์เดรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นเปรต อสูรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีไปนึกได้ว่าเออ เราเคยไปให้รางวัลคนใช้สักร้อยบาท นึกได้แค่นั้น เขาก็อาจจะไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเปรต ก็ได้ คือการสงเคราะห์ ช่วยเหลือคน
ในเวลาที่จิตจะออกจากร่างนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากเราทำสมาธิไว้อย่างที่พวกเราทำอยู่นี้ อาตมาก็แน่ใจแล้วว่าพวกเราไม่ต้องไปแล้ว ทั้งเปรต ทั้งนรก เพราะว่าจิตของเราได้สงบเป็นสมาธิด้วยกันทุกคน
...............................................
ถอดความจาก พระธรรมเทศนา หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ธรรมะวัดป่า
ผู้เชื่อ " กรรม " ผู้เชื่อผลของกรรม ผู้เชื่อต่อวิบากของกรรม
ผู้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้
ท่านไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเด็ดขาด
ที่แจ้งคือ ไม่ทำบาปด้วยกาย ไม่ทำบาปด้วยวาจา
ที่ลับ ไม่ทำบาปด้วยใจ เพราะท่านเชื่อต่อกรรม
คำว่ากรรม คือการเชื่อว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เชื่อผลของกรรม เมื่อเหตุ คือ การกระทำมี ผลก็ต้องมี
เป็นสิ่งที่เราผู้ทำ ต้องรับเอาผล ส่วนวิบากต้องติดตามไป
เป็นสิ่งที่เราผู้ทำกรรมดี หรือกรรมชั่วต้องเสวย เป็นหน้าที่ของเรา
พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้ เหตุที่พระองค์ตรัสสอนอย่างนี้
เนื่องจากพระองค์ตรัสรู้ตามกฎของกรรมอันแท้จริง ฉะนั้น
ผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรม จึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ท่านทำแต่คุณงามความดี ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
..."ดอกมะลิ"...
ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่า เป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกันกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดเช่นเดียวหรือ ลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าไปเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่า....ดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง ๒-๓ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาไป
ฉะนั้น ขอให้ทำตัวให้ดีที่สุดเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุด เหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น "จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ "
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพ ฯ
จงเอาชนะกิเลส
เพราะว่ากิเลสทำให้จิตคนเราเศร้าหมอง
เมื่อจิตเศร้าหมอง ก็จะเกิดการรับรู้ที่ผิด
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.