สันตุสสโกวาท "อย่าลืมตัว"
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ท่านสอน ไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้พวกเราลืมตัว ถึงจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม ถึงจะมั่งมีศรีสุข ร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์ มีเงินคำทรัพย์สมบัติ ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านเตือน ท่านบอกไว้เลยนะ อภิณหปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาเนืองๆ ๕ อย่าง พระพุทธเจ้าท่านสอน พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เราขอเตือนพวกท่านทั้งหลาย ให้พวกท่านทั้งหลาย สำนึกสำเหนียกไว้ในใจ อย่าไปลุ่มหลงมัวเมาจนเกินไป เพราะชีวิตนี้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ คล้ายๆกับว่าพวกเราที่เป็นหนุ่มสาว ก็จะหลงในความเป็นหนุ่มของตัวเอง หลงในหน้าที่การงาน หลงในสุขภาพของตัวเอง พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า พวกท่านทั้งหลายให้คิดไว้ในใจของตนเองเสมอว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ ให้เรานึกคิดไว้อยู่ อันนี้จะทำให้จิตใจของเราไม่หลง เราจะเตรียมพร้อมอย่างไร ในขณะที่เรายังแข็งแรงอยู่นี้ เราจะเสาะแสวงหาคุณงามความดีอย่างไร เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ คนเราต้องตาย เป็นธรรมดา เกิดมาแล้วก็ต้องตาย แล้วก็ต่อไปอีก พวกท่านทั้งหลาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงอีก ในเมื่อพวกท่าน ถึงจะเสาะแสวงหาเงินคำทรัพย์สมบัติ เพชรนิลจินดา สร้างบ้านหรูหราโอ่อ่าขนาดไหน ถึงจะมีภรรยาสามีลูกเต้าเหล่าหลานน่ารักน่าพอใจขนาดไหน แต่อีกสักวันหนึ่ง พวกท่านจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง ต้องทำใจเอาไว้ ท่านได้เตือนพวกเราอีกเหมือนกัน จากนั้นเมื่อพลัดพรากไปแล้ว เราจะต้องได้รับกรรม คือการกระทำของเรา เมื่อเราทำกรรมอันไหนไว้ เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ถ้าเราทำกรรมดี ผลบุญกุศลก็จะเข้ามาสู่จิตใจของเรา ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็จะเข้าสู่จิตใจของเรา เพราะฉะนั้นต้องใช้ปัญญา สัมมาทิฏฐิ จากนั้นก็ประกอบคุณงามความดี อย่าตั้งอยู่ในความประมาท เพราะเรามีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา จะต้องพลัดพราก จะต้องได้รับผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ นี้ละ อภิณหปัจจเวกขณ์ คณะ ๕ ข้อ ต้องคิดไว้ในใจของพวกเราอยู่เสมอๆนะ
โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา "อยู่สถานะใดขออย่าได้ลืมตัว" แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘
“ควรอธิษฐานก่อนใส่บาตรว่าอะไรดี”
ถาม: กราบนมัสการพระคุณเจ้า เราควรอธิษฐานก่อนใส่บาตรว่าอะไรดีขอรับ
พระอาจารย์: ขอให้ทำอย่างนี้ทุกวันไง อธิษฐานที่เหตุอย่าไปอธิษฐานที่ผล ผลไม่ต้องอธิษฐานเพราะมันตามด้วยเหตุ ถ้ามีเหตุแล้วผลมันก็ตามมา เช่น เราใส่บาตรก็อธิษฐานว่าขอให้ใส่บาตรแบบนี้ทุกเช้า เช้าวันนี้ใส่บาตรแล้ว พรุ่งนี้ขอให้ได้ใส่อีก ไม่ใช่ใส่บาตรแล้วขอให้ไปนิพพาน ขอยังไงมันก็ไม่ได้ ขอให้ถูกหวย บางคนก็ใส่บาตรเช้า เย็นนี้ขอให้ถูกหวย ผลมันอยู่ที่เหตุ ผลของการใส่บาตรก็คือทำให้เรามีความเมตตา มีการเสียสละมีการแบ่งปัน ทำให้เรามีความสุขจากการได้ทำบุญ มันมีแค่นั้นแหละผลจากการทำบุญทำทาน จะขออะไรมันก็ไม่ได้นอกจากนั้น นอกจากที่มันจะให้เราเท่านั้นเอง ฉะนั้นไม่ต้องไปอธิษฐานที่ผล ทุกครั้งที่อธิษฐานนี้อธิษฐานที่เหตุ คือขอให้เราได้มีโอกาสได้ทำบุญอย่างวันนี้ พรุ่งนี้ขอให้ได้ทำอย่างนี้อีก ถ้าเราไม่ได้ขอเดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่ได้ทำ เพราะเราก็จะคิดว่าวันนี้ทำพอแล้ว พรุ่งนี้ไม่ทำแล้ว นี่แสดงว่าไม่ได้อธิษฐาน อย่างวันนี้อธิษฐานมาทำบุญ เดี๋ยวลองอธิษฐานดู พรุ่งนี้ขอทำอีก ถ้าอธิษฐาน พรุ่งนี้ก็จะได้กลับมาเจอกันอีก ถ้าไม่อธิษฐานก็ไปที่อื่นแล้ว
สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
" หากผู้ใดหวังคำอธิษฐาน ก็ต้องมีศีล มีสัจจะกำกับ หากมีศีลคุมใจ จิตจะมีโอกาสเกิดสมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิ จะเกิดพลังมหาศาล สัจจะ คือความจริง ทั้งกาย วาจาใจ กายกับจิตตรงกันเมื่อใด กายนั้นศักดิ์สิทธิ์ จิตนั้นศักดิสิทธิ์
เมื่อใดกายศักดิ์สิทธิ์จิตศักดิ์สิทธิ์ เมื่อนั้นวาจาศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นอธิษฐานถ้ามีศีลและสัจจะกำกับ จิตจะมีกำลังสมาธิกล้าแข็ง เมื่อทำการอธิษฐานแล้วจะได้สมปรารถนา พิจารณาดูว่าเราสร้างเหตุตรงหรือยัง ร่างกายเป็นเครื่องมือให้จิตพัฒนา อย่ารอให้แก่จนร่างกายไม่พร้อม ขอให้เราพัฒนาอธิษฐานบารมีกัน ตั้งแต่ในขณะที่เครื่องมือยังพร้อม อย่าได้ประมาท จงเอาร่างกายนี้มาพัฒนาจิตให้เกิดบารมี นี่คืออธิษฐานบารมีที่มีศีลและสัจจะ"
........ หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ
"...บ่อแห่งบุญกุศล..."
ต่อไปนี้ให้พากันตั้งอกตั้งใจ จะพูดธรรมะย่อๆ ให้ฟังสักเล็กน้อย จะพูดถึงวิชา "เจาะ" วิชานี้เป็นของยาก ไม่เหมือนวิชา "ขุด" และ "ไถ"
คนเราอยากได้ความสุขกันทุกคน แต่ไม่ค่อยจะรู้ว่า สิ่งใดเป็นความสุข ความสุขนี้ก็คือ ตัวบุญกุศลนี่เอง แต่บุญนี้เราจะหาได้จากที่ไหน
บุญนี้เปรียบเหมือนบ่อน้ำ และบ่อบุญหรือบ่อน้ำนี้ก็มีเป็น ๓ บ่อ
บ่อชนิดที่ ๑ ลักษณะตื้นเป็นแอ่งพอน้ำขังได้ อย่างบึงหรือหนอง เป็นต้น บ่อชนิดนี้อาศัยประโยชน์ไม่ได้เท่าใดนัก เพราะบางครั้งวัวควายหรือสัตว์ต่างๆ ก็พากันมาอาบมากินทำให้น้ำนั้นไม่บริสุทธิ์ ถ้าจะใช้ก็ต้องกรองเสียตั้งหลายๆ หนจึงจะใช้ได้
บ่อนี้เปรียบกับการ "บำเพ็ญทาน" ซึ่งมีอานิสงส์เพียงตื้นๆ เหมือนกับน้ำที่ขังอยู่ในแอ่ง
บ่อที่ ๒ มีลักษณะลึกกว่าบ่อชนิดแรกเป็นสระ (หรือสร้างน้ำ) วัวควายลงไปอาบไปกินไม่ได้ จะลงได้ก็แต่สัตว์บางชนิด เช่น กบหรือเขียด แต่ถ้าเราจะนำมาใช้ก็ต้องกรองเสียก่อนเหมือนกัน ท่านเปรียบกับ "การรักษาศีล" ซึ่งมีอานิสงส์ดีกว่าทาน
บ่อที่ ๓ มีลักษณะลึกเป็นบ่อบาดาล มีตาน้ำไหลซึมอยู่เสมอ จะใช้กินใช้อาบสักเท่าไร ก็ไม่หมดไม่สิ้น บ่อนี้ลึกมากจนแม้แต่ยุง (คือกิเลส) ก็ลงไปไม่ได้ การขุดบ่อชนิดนี้ ต้องใช้เหล็กที่แข็งแรง มั่นคง และท่อก็ต้องใช้ท่อเหล็กเจาะลงไป จึงจะถึงน้ำบาดาลนี้ ท่านเปรียบบ่อนี้เท่ากับ "การภาวนา" คือต้องใช้สติปัญญาและความวิริยะขันติ อย่างมาก จึงจะขุดน้ำบ่อนี้สำเร็จ
"สติ" ก็คือ ความแน่นเหนียว "วิริยะ" ก็คือ เหล็กแข็ง เมื่อใช้ "ขันติ" เจาะลงไปถึงพื้นบาดาลแล้ว ผลที่ได้รับก็คือ "บุญกุศล" ซึ่งจะไหลซึมซาบอาบมาไม่ขาดสาย เหมือนน้ำอมฤต ที่ยังความชุ่มชื่น ให้เกิดแก่จิตใจอยู่เสมอทุกกาลเวลา
ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
|