Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

บุญกรรม

อังคาร 23 ก.ค. 2019 6:58 am

"คนเราเกิดมามีบุพกรรมเนื่องกัน อยู่ไกลแสนไกลก็ต้องได้มาเจอกัน แต่ที่จะสอนกันได้ ทรมานกันได้ ลากกันไปสวรรค์ พรหม นิพพานได้ ต้องเคยเป็นหมู่คณะบำเพ็ญร่วมกันมาเป็นอสงไขยกัป ไม่อย่างนั้นกระทบอะไรหน่อยเดี่ยวก็สะดุด หลุดวงโคจรไป

เคยเห็นไหม มาวัดแต่ไปไม่รอด ไปไม่รอดเพราะอะไร จิตใจมันไม่อยู่กับวัด มันวิ่งไปอยู่กับคนรัก เงินทอง ลูกหลาน วุ่นกับอดีต กับอนาคต รุงรังอย่างนี้แล้ว จะไปนิพพานได้อย่างไร แต่ก็เอาเถอะ ค่อยๆ สั่งสมบุญบารมีไป สะสมนิสัยวาสนาไป บุญบารมีพร้อมเมื่อไหร่จะดำริออกจากกาม มุ่งไปพระนิพพานสถานเดียวเอง..."

บางช่วงบางตอนของธรรมเทศนา เรื่อง ความเกี่ยวข้อง

พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ในหนังสือสวดมนต์ฉบับพิเศษ ฯ วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) ๙๙๙ หมู่ ๑๔ บ้านซับน้ำเย็น ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา










"...มุตโตทัย..." มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน โดยท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ

"...เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นะโม ก่อน จะทิ้ง นะโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นะโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า น คือธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกะสมุภะโว โอทะนะกุมมาสะปัจจะโย สัมภะวะธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นะโม นั้น

เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆะนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจะสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นะโม เป็นเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย นะ มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลยเพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นะโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นะโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ..."

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ









ยุ่งมาก …ก็วุ่น
นิ่งบ้าง …ก็ว่าง

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ตอบกระทู้