นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 2:17 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทางเดินของอวิชชา
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 27 ก.ค. 2019 8:06 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4805
จะยากจนข้นแค้นสักเพียงใด

เราสร้างบุญกุศล

บุญกุศลก็จะเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงน้ำใจของเรานี้

ให้มีความสุขไปในชาตินี้


หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร






การไหว้พระสวดมนต์ทำที่ไหนก็ได้ อยู่ทำตามลำพังก็ได้ ถ้าอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ครูบาอาจารย์เวลาไป ณ สถานที่ใด ท่านไม่เคยขาดเลยนะ ไปอยู่ในป่าดงพงไพร ไปอยู่ในสถานที่เปล่าเปลี่ยวเท่าใหร่ ที่น่ากลัวเท่าไหร่ ท่านยิ่งไหว้พระ ยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง

ลูกหลานก็เหมือนกันไปอยู่ ณ สถานที่ใดที่น่ากลัว ไปต่างประเทศ หรือไปพักที่โรงแรม ไปสถานที่ต่างๆ เวลาก่อนจะหลับนอน ไหว้พระ อะระหัง สวากขาโต สุปฏิปันโน นะโม ตัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ จากนั้นก็แผ่เมตตา ถ้าไม่ได้มาก เอาสั้น ๆ ก็ได้ และให้แผ่เมตตา ข้าพเจ้าจงเป็นสุข ผู้อื่นจงเป็นสุข ข้าพเจ้าต้องการความสุขอย่างไร ผู้อื่น สัตว์อื่น วิญญาณอื่น ดวงใจอื่น ขอให้มีความสุขอย่างที่ข้าพเจ้าปรารถนาทุกดวงใจทุกดวงวิญญาณด้วยเทอญ

อันนี้ก็คือ ก่อนที่เราจะหลับนอนที่ไหน ควรจะไหว้พระและก็แผ่เมตตาด้วย นอนหลับสบาย ผีจะไม่อำว่างั้นเถอะนะลูกหลานนะ ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ผีจะไม่อำ ถ้าพวกเราไม่มีกราบ ไปแล้วนอนตู้ม ระวังให้ดีก็แล้วกัน ไปต่างถิ่นต่างแดนเวลาผีมา มันจะมานั่งตรงนี้ ตรงที่เอวนี่นะ กว่าจะรู้สึกได้ก็พอแรงแล้วว่างั้นเถอะ บางทีเหงื่อแตก ใจจะขาดอีกต่างหาก โดยมากผีอำจะเป็นอย่างนั้นนะลูกหลานนะ มันก็ไม่นั่งที่อื่น บางทีมันก็นั่งตรงหน้าอกก็มีถ้านอนหงายนะ ถ้านอนตะแคงจะมานั่งที่เอวนี่ล่ะ หลวงพ่อเคยเป็น เพราะนั้นหลวงพ่อไปสถานที่ใดที่น่ากลัว หลวงพ่อจะต้องไหว้พระ อะระหัง สวากขาโต สุปฏิปันโน เรียบร้อยแล้วก็แผ่เมตตา นอนหลับสบายเลยไม่มีอะไรนะ

แต่ถ้าหากฝันไม่ดีขึ้นมา ก็ขู่เลย เฮ่ย อย่ามาหาล่อหาเล่นกันนะ เราไม่ใช่เสี่ยวกันนะ เราไม่ใช่เพื่อน อย่ามาหายุ่งนะ ต่างคนต่างอยู่นะ ทำท่าขู่เขาอีกต่างหาก แต่ว่าตามที่จริงขู่ลมขู่แล้งไปงั้น แต่ก็ได้ผลอยู่นะ ได้ผลว่างั้นเถอะ เราไม่ได้เพื่อนกันนี่วะ รู้จักกันที่ไหนวะ อย่ามาหาล่อหาเล่นหาหยอกหาล่อกันไม่ได้นะ เราก็ว่ากันอย่างนั้นใช่มั้ยล่ะ เวลาเราไปพักไปนอนอยู่ที่ไหน มันมีเด้ลูกหลาน บางทีฝัน มันพอคลับคล้ายคลับคลานี่แหละ ถ้าหลับจริงๆก็ไม่เป็นไร ครึ่งหลับครึ่งตื่นกำลังนอนไป บางทีก็นอนตื่นขึ้นมากลางเที่ยงคืน แล้วก็หลับลงไปอีก นั่นแหละพอคลับคล้ายคลับคลา เอาแล้วแบบนี้ โดยมากถ้าเรานอนหงายมันจะมานั่งอก ถ้าหากเรานอนตะแคงมันจะมานั่งตรงสะโพกว่างั้นเถอะ

อันนี้หลวงพ่อไมได้พูดคนอื่นนะ หลวงพ่อพูดเรื่องหลวงพ่อให้พวกลูกหลานฟัง ลูกหลานก็คงจะเคยเป็นมั้ง ที่หลวงพ่อพูดนี่นะ ไปนอนสถานที่แปลกๆ ผีอำ มันแปลกเหมือนกันนะ

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “แก้ความหลงภายใน”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒






"ธรรมะของพระพุทธองค์นี้ไม่ได้เลือกเชื้อชาติชนชั้นวรรณะนะ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ทั้งพระทั้งโยมฆราวาสญาติธรรม อุบาสกอุบาสิกา พุทธบริษัทสี่ สามารถรู้เห็นธรรมของพระพุทธองค์หมด รู้เท่ากัน กิเลสก็กิเลสตัวเดียวกัน ธรรมก็ธรรมเดียวกัน ฉะนั้นการที่จะบรรลุธรรม จึงเหมือนกันทุกประการ"

โอวาทธรรม

หลวงปู่ประสาร สุมโน
วัดป่าหนองไคร้






" เมื่อเราดู...จิต
คือ ตามรู้จิตเรื่อย ๆ ไปนั้น
สิ่ง...ปรุงแต่ง
จะดับไปตามลำดับ
จนถึง...ความว่าง

แต่ใน...ความว่าง นั้น
ยังไม่ว่างจริง มันมี สิ่งละเอียดเหลืออยู่
คือ...วิญญาณ
ให้ตามรู้จิต เรื่อย ๆ ไป

ความยึด ใน...วิญญาณ
จะถูกทำลายออกไปอีก
แล้วจิต...แท้จริง
หรือ พุทธะ จึงปรากฏออกมา."

(หลวงปู่ดุลย์ อตุโล)







ทุกอย่างๆมันลดลง ร่างกายนี่ลดลงทุกอย่างๆ มือสั่นแล้วนะเดี๋ยวนี้ มือเริ่มสั่นแล้ว ทุกปีไม่สั่น ปีนี้เริ่มสั่น จะจับอะไรสั่น มันเป็นของมันแล้ว ปีนี้เห็นชัด มือก็สั่น เรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยนะ เปลี่ยนเพื่อลดลงๆ มีแต่จิตเท่านั้นละ จิตนี้เรียกว่าคงเส้นคงวา แต่สังขารร่างกายนี้เปลี่ยนไปๆ อายุเรามันก็ถึง ๙๖ แล้ว มันก็ควรแล้ว มันก้าวเข้าเขตนั้นแล้ว จะให้มันเป็นธรรมดาไม่ได้ การอยู่นอกพรรษาและในพรรษา ในพรรษานี้เป็นความเข้มงวดกวดขันให้ต่างกันกับนอกพรรษามันถึงถูกต้อง ตามที่ท่านพูดไว้แล้วว่าไม่เข้าพรรษานี้พระเพ่นพ่านๆ เหยียบคันไร่คันนาเขาจนเขาได้บ่น ต่อมาจึงให้เข้าพรรษาในพรรษาสามเดือนนี้ไม่ให้พระออกไปที่ไหน ให้ประกอบความพากเพียรอยู่ตามสถานที่ของตน เป็นอย่างนั้นนะ

จึงได้มีเข้าพรรษา แต่ก่อนไม่มีเข้าพรรษา ข้อตำหนิติเตียนของเขาพระพุทธเจ้าก็นำมาพิจารณา จึงว่าในพรรษาไม่ให้ออกไปไหน เวลานี้เป็นเวลาที่เข้าพรรษา เป็นเวลาที่เข้มงวดกวดขันในทางความพากความเพียร ไปไหนไม่ไปไหนกับอยู่ในพรรษานี้เป็นเวลาที่จะได้เข้มงวดกวดขันในทางความพากเพียร ความพากเพียรเพื่อจะระงับดับความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมภายในจิตนี้เป็นสำคัญมาก จิตใจนี้ดีดดิ้นมากทีเดียว ไม่มีอะไรจะดีดจะดิ้นยิ่งกว่าใจ ใจนี้ดีดดิ้นมาก จึงต้องใช้ความเพียรคือสติครอบมันอยู่เสมอ ถ้าสติดีความเพียรก็ก้าวเดิน ถ้าสติขาดเป็นวรรคเป็นตอนไปนี้ความเพียรก็หยุดๆ ยั้งๆ ไม่ค่อยก้าวเดิน ถ้ามีสติระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาเป็นที่แน่ใจได้ว่าผู้นั้นตั้งตัวได้แน่นอน เราเคยดำเนินมาแล้วเรื่องสติจึงยกให้เป็นอันดับหนึ่งในการประกอบความเพียร จะเป็นที่ธรรมดาก็ตาม เป็นเวลาที่เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ตาม สตินี้เป็นสำคัญมากทีเดียว ถ้าขาดสติเมื่อไรก็ขาดความเพียร ถ้าสติติดแนบกันอยู่แล้วความเพียรก็ก้าวเดิน นี่สำคัญให้จำเอาไว้ทุกคน ตั้งสติไม่ใช่ตั้งธรรมดานะ ผู้ที่จะเร่งรัดให้ถึงมรรคถึงผลจริงๆ สติกับจิตนี้ไม่จากกันละ ขาดเมื่อไรก็เป็นว่าขาดความพากความเพียร ตั้งสติปั๊บตั้งแต่ตื่นนอนไม่ให้เผลอกันเลย อยู่อย่างนั้นละ เพราะไม่มีงานอื่นใดทำ มีแต่งานภาวนาเพื่อจะดูละครลิงซึ่งมันมีอยู่ในจิต เอาธรรมะตีเข้าไปๆ จิตก็สงบได้
ถ้าสติตั้งได้ดีมีทางที่จะตั้งตัวได้พระเราหรือนักภาวนาทั้งหลาย สำหรับฆราวาสญาติโยมเขามีการมีงานหลายด้านหลายทาง สำหรับพระเรามีแต่งานทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา สติกับจิตติดแนบกันอยู่ตลอดเวลา นี่ตั้งได้ไม่สงสัย ถ้าขาดสติแล้วก็ขาดความเพียร จำคำนี้ไว้ให้ดี ขาดสติเมื่อไรความเพียรก็ขาดไป ถ้าสติตั้งตลอดความเพียรก็ก้าวเดินได้ๆ เริ่มตั้งแต่ความสงบ..จิตใจจะฟุ้งซ่านรำคาญไปไหนเอาสติจับติดๆ ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ สตินี้ตามติดกับจิตไม่ให้เผลอไปไหน

#นั่นละผู้จะตั้งตัวได้ ตั้งตัวก็คือเข้าสู่ความสงบ ไม่ค่อยฟุ้งซ่านรำคาญ ตั้งสติจับตลอดเวลาก็สงบไปเรื่อยๆ ต่อจากนั้นสติก็เป็นสมาธิ มีความสงบเย็นภายในตัวเอง แต่ไม่ลดละทางด้านสติ ให้จับติดๆ ตลอดเวลา แล้วจิตใจก็ค่อยสงบเข้าไปๆ ต่อไปจิตก็เป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของจิต นี่เป็นขั้นๆ นะการพิจารณา สติตั้งไว้แล้วตั้งได้ ตั้งจิตตั้งได้ สงบได้ พอสติขาดไปเมื่อไรก็ให้ทราบเสียว่าความเพียรขาดไปเมื่อนั้น ตั้งสติต้องตั้งให้จริงให้จังทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้เผลอ ความเพียรก็เป็นไปตลอดทั้งวันทั้งคืน จากนั้นจิตก็เข้าสู่ความสงบเย็น เย็นลงไปมากๆ สติก็ดีไปเรื่อยๆพอจิตมีความสงบ พอที่จะคิดอ่านไตร่ตรองในอรรถในธรรมภาคปัญญาแล้วก็ให้พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ท่านสอนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นบวชว่าเกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง นี้เรียกว่ากรรมฐานห้า เริ่มต้นในการภาวนาเริ่มด้วยเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์ท่านบวชจึงสอนจุดนี้เป็นสำคัญมาก แล้วเอาอันนี้ไปภาวนาให้มีจิตสงบ ทีแรกเราก็เอาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ย้อนหน้าย้อนหลังไปเสียก่อน ทีนี้จิตก็ค่อยชำนิชำนาญถอยหน้าถอยหลังได้

จากนั้นก็เน้นหนักลงไป กรรมฐานห้าจะเอาอะไรก็แล้วแต่ที่นี่ เราไม่สืบต่อไปให้ครบกรรมฐานทั้งห้า กรรมฐานใดที่ถูกต้องกับจริตนิสัยของเรา เราเอานั้นมาประจำเลยที่นี่ เช่นอย่างเกสาๆ จนชำนาญ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา เป็นภาคพื้นเรียนใหม่ ครั้นต่อมามีความชำนิชำนาญแล้วก็ขึ้นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จิตสงบแล้วเราจะเอาอะไรเป็นคำบริกรรมกับความสงบนั้น เช่นว่าเกสาๆ อย่างนั้นก็ได้ จะเอาโลมาๆ อย่างนั้นก็ได้ ว่าไปตามลำดับก็ได้ ทีนี้เราชอบกรรมฐานบทใดก็เอาแต่บทนั้นย้ำลงบทเดียว เช่นเกสาๆ ก็เกสาไปเรื่อย ให้จิตชำนิชำนาญ นั่นท่านเรียกว่าภาวนาเมื่อชำนิชำนาญแล้วจิตสงบเข้าโดยลำดับเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จากนั้นแยกธาตุแยกขันธ์ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง เข้าไปโดยลำดับ พิจารณาทวนหน้าทวนหลังจนมีความชำนาญ ออกพิจารณาทางด้านปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์แยกออกเป็นสัดเป็นส่วน ตั้งแต่หนังแต่เนื้อดึงออกไปเป็นกองหนัง กองเนื้อ กองเอ็น กองกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ตีกระจายออกไปแล้วตั้งขึ้นมาเป็นสัตว์บุคคลเหมือนเดิม แล้วพยายามพิจารณาอย่างนั้น แต่อย่าพิจารณาให้ครบกำหนดเฉยๆ นะ พิจารณาจนมีความคล่องแคล่ว พิจารณาหนึ่งสองสามไปเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ พิจารณาอะไรก็ให้จดจ่ออยู่กับกรรมฐานบทนั้นๆ ครั้นต่อมาจิตก็ค่อยกระจายออกไปในเรื่องปัญญา

ปัญญาพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับเรื่องสกลกายนี้ มีการยักย้ายเปลี่ยนแปลงกันเรื่อยๆ นะ พิจารณาอย่างนี้แล้วแยกอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้นแยกอย่างนั้น เอาจนกระทั่งสุภะ-อสุภะนี้มันกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน แล้วทีนี้มันหมดสภาพของร่างกาย จิตพิจารณาร่างกายจนครบรอบหมดแล้วอิ่มตัวในการพิจารณาร่างกายแล้วไม่อยากพิจารณา จิตเข้าสู่ความสงบเข้าไป จากนั้นก็ว่างเข้าไปๆ ร่างกายเหล่านี้ก็ค่อยปล่อยไปๆ แต่เอาร่างกายสลับซับซ้อนทบทวนอยู่เสมอนะ จนกระทั่งจิตมันชำนาญ ร่างกายของเรานี้มันก็ปล่อยของมันเอง ทีนี้ยังเหลือแต่ความว่างของจิต สติจับอยู่กับความว่าง ตั้งอันนี้ขึ้นเรื่อย ตั้งสกลกายที่เป็นหินลับปัญญาตั้งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปตั้งขึ้นไปมันก็ดับ ตั้งขึ้นไปก็ดับ ต่อไปมันก็หยุดทางร่างกายมันอิ่มร่างกายแล้วหยุด พิจารณาแต่เรื่องความว่างกับความรู้อยู่ด้วยกัน แต่อาศัยอันนี้ละตั้งอยู่เสมอ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งทีเดียว มันควรจะปล่อยทิ้งได้มันก็รู้เอง ถ้ายังไม่ควรปล่อยก็เอาอันนี้สลับเข้าไป ช้าหรือเร็วมันเกิดแล้วมันดับ ช้าหรือเร็วเกิดแล้วดับ อสุภะอสุภังตามไม่ทันเมื่อถึงขั้นมันเกิดดับๆ แล้วไม่พิจารณาอสุภะอสุภังละ มันอิ่มของมันเอง จากนั้นมีความว่างแล้วนิมิตของร่างกายเข้าไปแทรกซ้อนๆ อยู่เสมอ ต่อไปมันก็ชำนาญ จิตก็เข้าถึงขั้นว่าง นี่ละการพิจารณา มันอิ่มของมันแล้วมันปล่อยเอง ปล่อยแล้วเอาอะไร เมื่อไม่มีร่างกายแล้วเอาอะไร ขั้นว่าง ว่างสลับกับร่างกายต่อไปมันก็ว่างเข้าไปเรื่อยๆ จิตใจก็สง่าผ่าเผยละเอียดลออเข้าไป จนกระทั่งว่างไปหมดในโลกธาตุนี้ กลายเป็นความว่างเปล่าไปเหมือนร่างกายของเรา

นี่ละการพิจารณาภาวนา เมื่อมันอิ่มตรงไหนแล้วมันก็ปล่อย ถ้ายังไม่อิ่มก็ไม่ปล่อย ร่างกายนี้ถ้ามันอิ่มแล้วมันก็วิ่งเข้าไปอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่ว่าอสุภะอสุภังเหล่านี้มันผ่านของมัน มันอิ่มแล้ว เข้าไปหาความเกิดความดับ ความเกิดความดับ พิจารณาอันนั้นต่อไปมันก็ว่าง ว่างก็ยังเอาสิ่งนี้มาสลับอยู่นั้นแล มันหากจะรู้ในตัวเอง เมื่อมีผู้แนะไว้แล้วอย่างนี้ต่อไปมันก็ว่างไปหมด จิตกับความว่างอยู่ด้วยกัน สติกับจิตกับความว่างอยู่ด้วยกันเรื่อยๆ ละเอียดลออเข้าไป มีแต่ยิบแย็บๆ แล้วก็ว่างๆ เข้าไป นั่นจะเข้าถึงจิตเดิจิตเดิมแท้ที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา มันจะเข้าสู่จุดนั้นละ เมื่อพิจารณาพอแล้ว อวิชฺชาปจฺจยา มันก็เบิกตัวมันออกไป ปัญญาอันนี้มันก็บีบกันเข้าไปจนขาดสะบั้นไปหมดเลย ต่อจากนั้นไม่ถามใครก็ได้ มันหากเข้าใจในตัวเอง พิจารณาอะไรถ้าจิตยังดูดดื่มอยู่กับอะไรให้พิจารณาอันนั้นให้มาก เมื่อมันอิ่มแล้วมันก็เคลื่อนย้ายไปจากการพิจารณา สภาพของกรรมฐานที่นำมากำกับใจมันก็เปลี่ยนของมันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันว่างหมด จิตเมื่อถึงขั้นมันว่างว่าง เราจะพิจารณาร่างกายเมื่อไรเกิดพับดับพร้อม เราจะแยกธาตุแยกขันธ์อย่างนี้ไม่ทัน มีแต่เกิดดับ ดับพร้อมๆ พร้อมแล้วก็มาอยู่ความว่าง หากฝึกกันอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเกิดปั๊บนี้เราจะพิจารณาว่าเป็นอย่างไรๆ ไม่ทัน เกิดแล้วดับๆ ทีนี้จิตก็อาศัยอันนี้เป็นอารมณ์ เกิดดับๆ สติจ่อเข้าไปๆ จิตจะเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่ความละเอียดเรื่อยๆ..."

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เนื่องในวันอธิษฐานเข้าพรรษา
เมื่อเย็นวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒





“ไม่เห็นสิ่งใดที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการบำเพ็ญตนให้พ้นจากทุกข์” บรรดาสาวกทั้งหลายเห็นความพ้นทุกข์เท่านั้น ว่าเป็นธรรมอันล้นเหลือค่ายิ่งกว่าการเวียนเกิดเวียนตาย ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกหลอกของอวิชชา อันเป็นโรงงานผลิตทุกข์แก่สัตว์ทั้งโลกธาตุไม่มีวันจบสิ้น

เมื่อสาวกมีความมุ่งมั่นต่อแดนหลุดพ้นเต็มที่แล้ว เรื่องทิฐิมานะที่ถือว่าออกมาจากตระกูลกษัตริย์ก็ดี ทิฐิมานะอันเกิดจากความมั่งคั่งสมบูรณ์ก็ดี และทิฐิมานะอันเกิดจากความเฉลียวฉลาด เพราะการศึกษาเล่าเรียนมามากก็ดี สาวกทั้งหลายไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้าไปเคลือบแฝงในจิตใจได้ นอกจากความสนใจใคร่ต่อปฏิปทาเครื่องดำเนิน "เพื่อยกจิตของตนให้พ้นจากทุกข์เท่านั้น"

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด




เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั่นแหละเป็นผู้ว่า
มันไม่มีตนไม่มีตัวดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสีย ให้ดับวิญญาณเสีย
ครั้นดับวิญญาณแล้วไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพานละ

แน่ะ พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น ให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันเห็นว่าเป็นของสวยของงามของดี ดวงจิตนั้นเมื่อมีสติควบคุม มีสัมชัญญะค้นหาเหตุผลใคร่ครวญอยู่ มันเลยรู้เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตนั่นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่า จิตหลุดพ้น ถึงวิมุตติ วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา

หนังสือ วิมุตติเภท อนาลโยวาท และท่านพระอาจารย์ขาว






" ทางเดินของอวิชชาก็คือ​ ตา​ หู​ จมูก​ ลิ้น​ กาย​ เพื่อไปสู่รูป​ เสียง​ กลิ่น​ รส​ เครื่องสัมผัส.
เมื่อสติปัญญาสามารถตัดขาดสิ่งเหล่านี้เข้าไปได้โดยลำดับๆ​ แล้ว.
อวิชชาไม่มีทางเดิน​ ไม่มีบริษัทบริวาร."

หลวง​ตาพระ​มหา​บัว​ ญาณ​ส​ั​ม​ปัน​โน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 64 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO