นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:11 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: รู้ธรรม เห็นธรรม
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 19 ส.ค. 2019 4:10 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4805
“ทำบุญสุนทานแล้วก็ อธิฐานให้ถึงนิพพานเทอญ
นี้ดอกบัวพ้นน้ำ”

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต




...เวลาเราแก่ เราจะรู้สึกว่าเราปฏิบัติยาก
เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยิ่งยากใหญ่
แล้วเวลาตาย ก็ยิ่งปฏิบัติไม่ได้เลย
.
เราจึงควรที่จะรำลึกถึงความแก่
ความเจ็บ ความตาย อยู่เรื่อยๆ
เพื่อ..”เป็นการกระตุ้นความเพียรของเรา”
ไม่ให้เรานิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ.

.............................
.
ธรรมะบนเขา 13/12/2557
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาชีโอน





“ถ้าจิตใจมีศีลมีธรรม ก็เป็นพระ คำว่าพระบ่แมนหัวโล้นๆห่มเหลืองนิเด้ คำว่าพระก็เป็นผู้ฮู้ศีล ฮู้ธรรม มีศีล มีธรรม ฆราวาสญาติโยมกะเป็นพระได้คือกัน ในเมื่อฆราวาสมีศีลกะเป็นพระ เมื่อพระมีศีลก็เป็นพระ คือกัน คุณธรรมมันขึ้นอยู่กับจิตกับใจ บ่ได้อยู่กับหัวโล้นๆห่มเหลือง อยู่กับผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น”

องค์หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม






“กิริยาจิต” ที่แฝงอยู่ตาม “อายตนะ” หรือ “ทวารทั้ง ๕” มีดังนี้

“ตา” ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

“หู” ไปกระทบกับเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

“จมูก” ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่นจะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

“ลิ้น” ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

“กาย” ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัสจะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

“วิญญาณทั้ง ๕” อย่างนี้ เป็น “กิริยาแฝงอยู่” ในกาย ตามทวาร ทำหน้าที่ “รับรู้สิ่งต่างๆ” ที่มากระทบ เป็น”สภาวะแห่งธรรมชาติ” ของมัน “เป็นอยู่เช่นนั้น”

ก็ “สักแต่ว่า” เมื่อ “จิต” “อาศัยทวารทั้ง ๕” เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอก ที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยัง “สำนักงานจิตกลาง” เพื่อรับรู้ เราจะ “ห้ามมิให้เกิด” “มีเป็น” เช่นนั้น “ย่อมกระทำไม่ได้”

“การป้องกัน” “ทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น” เราจะต้อง “สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕” ไม่เพลิดเพลินใน “อายตนะ” เหล่านั้น

หาก”จำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น” ประกอบการงานทางกาย
ก็ควรจะ “กำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต” เช่น “เมื่อเห็น” ก็ “สักแต่ว่าเห็น” “ไม่คิดปรุง” “ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน” “ไม่คิดปรุง” ดังนี้เป็นต้น

(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้"จิตเอนเอียง" ไปในความเห็น ทั้งดี ทั้งชั่ว)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์





ถ้าจิตใจมีศีลมีธรรม ก็เป็นพระ คำว่าพระบ่แมนหัวโล้นๆห่มเหลืองนิเด้ คำว่าพระก็เป็นผู้ฮู้ศีล ฮู้ธรรม มีศีล มีธรรม ฆราวาสญาติโยมกะเป็นพระได้คือกัน ในเมื่อฆราวาสมีศีลกะเป็นพระ เมื่อพระมีศีลก็เป็นพระ คือกัน คุณธรรมมันขึ้นอยู่กับจิตกับใจ บ่ได้อยู่กับหัวโล้นๆห่มเหลือง อยู่กับผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น


คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม





“วิปัสสนา” จริงๆ นั้น ก็คือการพินิจพิจารณา เมื่อจิตมีความสงบเย็นแล้วจิตย่อมมีอุบายต่างๆ ในเมื่อเราพาคิดพาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ เรื่อง“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เราเคยได้อ่านจากตำรับตำราว่า “อนิจจังอยู่ที่ไหน ทุกขังอยู่ที่นั่น ทุกขังอยู่ที่ไหน อนัตตาก็อยู่ที่นั่น” เห็นแต่คนนั้นแก่ คนนี้ตาย เห็นแต่คนนั้นพลัดพราก ล้มหายตายจากกัน ตัวของเราก็คือตัวพลัดพราก ตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํอนตฺตา เหมือนกัน “โอปนยิโก” น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งแก่ขึ้นมาทุกวันๆ นับแต่วันตกคลอดออกมา แก่ขึ้นเรื่อยๆ แก่ขึ้นมาโดยลำดับ แปรสภาพขึ้นมาเรื่อยๆ นี้เรียกว่า “อนิจฺจํ ”
.
ความทุกข์ก็ติดแนบมาตั้งแต่วันเกิด ขณะที่ตกคลอดออกมานั้นสลบไสล ตัวของเด็กนั้นไม่รู้ตัวเลย ความทุกข์เหลือประมาณ บางรายก็ตายไปเสียตั้งแต่อยู่ในท้อง ขณะตกคลอดออกมาตายก็มี เพราะทนทุกข์ที่สาหัสไม่ไหว เรื่องความทุกข์มันติดแนบมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งบัดนี้ เรายังจะสงสัยเรื่อง “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ที่ไหนไปอีก กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่กับเราอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วตลอดเวลา
.
อนิจจัง คือ ความแปรสภาพไปทุกขณะ แม้แต่เวลานี้ นั่งอยู่สักครู่เดียวมันก็เหนื่อยแล้วล่ะ มันแปรแล้ว ธาตุขันธ์ มันแปรเป็นอย่างอื่น เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว
.
อนัตตา เราจะถือเป็นสาระแก่นสารอะไรในธาตุในขันธ์อันนี้ มันก็เป็นแต่กองดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประชุมกันอยู่อย่างธาตุเท่านั้น เรียกว่า “ธาตุสี่” ขันธ์ก็เรียกว่า “ขันธ์ห้า” คือ รูป ได้แก่ร่างกายของเรานี้ เป็นขันธ์ หมายถึงกอง หรือหมวด เป็นหมวดๆ เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์เฉยๆ หรือความเป็นหมวด เป็นกองอันหนึ่ง สัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้ สังขาร คือ ความคิดความปรุง วิญญาณ คือ ความรับทราบ เมื่อตาสัมผัสรูป ฯลฯ ทั้งห้านี้ ท่านเรียกว่า “ขันธ์ห้า”
.
เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้านี้ มันมีสาระอะไรอยู่ภายในตัวของมัน พอจะไปยึดไปถือว่า “สิ่งนี้เป็นเรา” นี่หมายถึงเรื่อง “วิปัสสนา” นี่คือการแยกหาความจริง แยกให้เห็นความจริงที่มีอยู่ในตัวเราเอง แต่เราโง่ ไม่สามารถที่จะมองเห็นความจริงนี้ได้ จึงเรียกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา” พออะไรมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เกิดความสลดหดหู่ เสียอกเสียใจ กลายเป็นโรคจิตขึ้นมาภายในตนก็มีแยะ เพราะความคิดปรุงเลยเถิด
.
โรคจิต ก็คือ โรควุ่นวาย โรคความทุกข์ เดือดร้อน นั่นเอง ยังไม่ถึงกับว่า“โรคจิต” จนกระทั่งถึงกับเป็นบ้า นั่นมันหนักมากไป ถึงกับไม่มีสติ มันก็เป็นบ้า
.
เมื่อพิจารณาแยกแยะดูด้วยปัญญาอย่างนี้ เราจะเห็นอุบายของปัญญา มีความสามารถที่จะตัดกิเลสออกได้เป็นตอนๆ เป็นระยะๆ จนกระทั่งสามารถตัดขาดออกได้หมดภายในขันธ์ห้า
.
ที่ว่า อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นเรา จิตกับขันธ์ห้า เป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออก เวลาปัญญาได้แยกแยะพินิจพิจารณาด้วยอำนาจของความฉลาด ที่ฝึกหัดมาจนชำนิชำนาญ สามารถแยกออกได้ นี่ทราบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็รูป สิ่งนั้นๆ ก็เป็นสิ่งนั้นๆ แต่เราไม่ใช่สิ่งนั้นๆ มันแยกกันได้โดยลำดับๆ จนกระทั่งสามารถแยกจิตออกจากอาสวะกิเลส ที่ฝังจมอยู่ในจิตนั้นออกได้ เลยไม่มีอะไรเหลือภายในจิต นั่นแลท่านเรียกว่า “พุทโธ” แท้
.
ผลของการปฏิบัติจิตตภาวนา เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ได้เป็น “พุทโธ” แท้ เช่นเดียวกับ “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้หมายถึง “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้าองค์นั้นแท้ แต่หมายถึง “พุทโธ” ของเรา เทียบเคียงกัน ความบริสุทธิ์นี้เสมอกันกับของพระพุทธเจ้า แต่ “พุทธวิสัย” และ “สาวกวิสัย” นี้ผิดกันไปตามอำนาจวาสนา ซึ่งนอกไปจากความบริสุทธิ์
.
ความสามารถอาจรู้ด้วยการแนะนำสั่งสอน ความเฉลียวฉลาดของพระพุทธเจ้าต้องสมภูมิพระองค์ท่าน แค่พวกสาวกก็เต็มตามภูมิของตน สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเสมอกันท่านว่า “นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย” นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา จนถึงพระสาวกองค์สุดท้ายบรรดาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ความบริสุทธิ์เสมอกัน ไม่มียิ่งหย่อนต่างกันเลย นี่ เหมือนกันตรงนี้
.
นี้แล คือ ผลที่เกิดจากการที่ทำจิตด้วยการภาวนา ทำไปโดยลำดับ แก้กิเลสไปโดยลำดับ จนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นแลผู้ทรงความสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีอันใดเหนือกว่าความสุขประเภทนี้ ท่านเรียกว่า“โลกุตรธรรมอันสูงสุด” คือ ธรรมเหนือโลก
.
เหนือโลก คือ เหนือธาตุ เหนือขันธ์ เหนือสิ่งใดทั้งหมด ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าสิ่งที่บริสุทธิ์นี้ นี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทำก่อนใครในโลกสมัยนั้น และพาดำเนินมาก่อน จนถึงสมัยปัจจุบันถึงพวกเราชาวพุทธ ที่บำเพ็ญตามพระองค์อยู่เวลานี้

.........................................................................

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
“ศาสนาทำให้คนต่างกับสัตว์”




ส่งจิตออกนอกกาย ทำให้เผลอสติ
กาลใดที่ขาดสติ กาลนั้นเรียกว่า ขาดความเพียร
ความไม่มีสติ ไม่มีการสำรวม
เป็นทางของกิเลสและบาปกรรม
เป็นทางของวัฏฏะล้วน ๆ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




“มนุษย์และสัตว์สับเปลี่ยนภพชาติเป็นอื่นได้หรือไม่” ก็เราผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าและผลัดเปลี่ยนกางเกงก็ยังได้ จิตจะผลัดเปลี่ยนภพชาติของตนไม่ได้อย่างไร การผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเราถือเป็นของธรรมดา ว่าต้องผลัดเปลี่ยนกันได้ทั่วโลก การผลัดเปลี่ยนภพชาติของใจก็เป็นกฎธรรมดาของกรรมที่ตนทำไว้ ให้ผลัดเปลี่ยนไปได้ตามสิ่งผลักดันอันเป็นเจ้าของผู้มีอำนาจเหนือจิต ในระยะที่กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และวิปากวัฏฏะ เรืองอำนาจครองใจอยู่ สิ่งทั้งนี้มีอำนาจผลักดันจิตให้เกิดได้ในกำเนิดต่าง ๆ โดยไม่รอให้จิตได้มีเวลาพิจารณาและตัดสินใจเลย เพราะความกดดันของกรรมที่ครองจิต ส่วนไหนมีกำลังมาก ส่วนนั้นต้องเข้าทำหน้าที่ควบคุมจิตให้เป็นไปตามอำนาจของตน
.
ฉะนั้นจิตจึงไม่มีโอกาสจะใคร่ครวญไตร่ตรองดูสถานที่เกิด และภพกำเนิดของตน จนปรากฏตัวออกมาซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยจะแก้ไขแล้ว จึงจะทราบได้ว่าตนเกิดเป็นอะไร แต่สัตว์บางจำพวกก็ไม่มีโอกาสจะทราบได้ว่าตนเป็นสัตว์ประเภทไร นอกจากมนุษย์และภูมิที่สูงกว่ามนุษย์เท่านั้นจะพอทราบได้ในภพกำเนิดของตน ๆ
.
พระพุทธเจ้าท่านเล็งเห็นการจุติ คือเคลื่อนจากร่าง และการปฏิสนธิ คือการเข้าสู่ภพชาติของมวลสัตว์ว่า เป็นไปไม่มีประมาณทั้งภูมิสูง ภูมิต่ำ และการสับเปลี่ยนแห่งภพชาติสู่ความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นต้น และเป็นไปได้ทุก ๆ ภายในบรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสเป็นเจ้าครองใจ จึงทรงสั่งสอนให้อบรมจิตไปในทางที่ดี คือทาน ศีล ภาวนา เสียตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงคราวจวนตัวใจจะมีที่พึ่ง ไม่กระสับกระส่ายและเขวไปในทางผิด โดยไม่คว้าเอากำเนิดตุ๊กแกมาครองเสียบ้าง นับว่าเป็นกำเนิดที่ขาดทุนอย่างย่อยยับในภพเช่นนั้น
.
เราเป็นพุทธศาสนิกชนและเป็นนักปฏิบัติ เพื่อรู้สาเหตุของการเกิดการตาย ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแห่งจิตของผู้ยังไม่หมดเชื้อของความหมุนเวียน จึงควรถือเป็นกิจจำเป็นอย่างยิ่งเหนืองานใด ๆ คือพยายามอบรมจิตให้มีความสงบเยือกเย็นและฉลาดแยบคาย เพื่อให้ทันความเคลื่อนไหวของจิตที่จะออกทำการติดต่อกับเรื่องต่าง ๆ และพยายามรื้อฟื้นสิ่งที่ติดแนบอยู่กับใจและแก้ไขด้วยปัญญา อย่านิ่งนอนใจ ความเป็นอยู่แห่งภพชาติของเรา มีความสุข ความทุกข์ ขนาดไหนที่เคยเป็นมา โปรดประมวลมาพิจารณาโดยตลอด อย่ายอมหมักหมมเอาไว้ จะเป็นเชื้อต่อทุกข์ภัยมาถึงตัว เช่นที่เคยเป็นมาตามภพชาติต่าง ๆ จงพยายามพิจารณาและถอดถอนออกให้หมดด้วยความเพียร
.
ถ้าจิตหมดเชื้อโดยสิ้นเชิงแล้ว เรื่องทุกข์ในภพไหน ๆ จะไม่มีอีกต่อไป นั่นแล ท่านเรียกว่า ผู้หมดทุกข์โดยประการทั้งปวง คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ โปรดทราบว่า คือ สูญทุกข์ทั้งมวลภายในใจนั่นเอง แต่ผู้ที่รู้ว่าทุกข์สูญสิ้นไปนั้นคือผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง มิได้สูญไปด้วย เช่นเดียวกับหัวกลอยหัวมันที่ถูกต้มจนจืดสนิทดีแล้ว ไม่มีรสคันฝังเหลืออยู่ ย่อมทรงรสชาติอันดีไว้ในหัวของมันอย่างสมบูรณ์ มิได้สูญไปตามรสคันอันเป็นพิษ รับประทานย่อมมีรสเอร็ดอร่อยดีฉะนั้น

...................................................................

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖
"ยึดหลักมัชฌิมาไว้ให้ดี"





ตอน "จิตไม่รู้"

เพราะจิตไม่รู้ จิตไม่ตั้งมั่น จึงได้หลงใหลมัวเมาไป ความทุกข์ความเร่าร้อนต่างๆ ก็บังเกิดมีขึ้นในใจของผู้หลงนั้น ความหลงเหล่านี้ไม่ใช่มันอยู่ที่อื่น อยู่ที่จิตใจมันขาดสติ ขาดสมาธิจิตตั้งมั่น ขาดปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร ขาดญานอันวิเศษละกิเลสในใจของตนไม่หมดไปสิ้นไป ก็เลยเป็นทุกข์เป็นร้อนกับกิเลสตัณหามานะทิฏฐิในจิตใจนั่นเอง มันจึงได้ร้อนด้วยราคะ ตัณหา ร้อนด้วยโทสะ ร้อนด้วยโมหะร้อนมาอย่างนี้ ตั้งแต่ภพก่อนหนหลังก็ร้อนมาจนตาย ตายก็มาเกิด เกิดมาอีก ก็มาร้อนมาไหม้ มาดิ้นรนวุ่นวายไปตามอำนาจกิเลสตัณหาอย่างนี้ต่อไปอีก ไม่มีที่จบที่สิ้น

คัดลอกจากหนังสือ 109 คำสอนหลวงปู่สิมพุทธาจาโร บทที่ 18





สมาธิไม่ใช่เป็นแหล่งที่จะผลิตปัญญา

ถาม: กราบนมัสการเรียนถามพระอาจารย์ครับ การเจริญสมาธิภาวนาทำให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาในที่นี้หมายถึงอะไรครับ แล้วปัญญานี้เกี่ยวข้องกับการมีสมองดีเรียนหนังสือเก่งหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: คือปัญญานี้มันไม่ได้เกิดจากสมาธิ สมาธิไม่ใช่เป็นแหล่งที่จะผลิตปัญญา สมาธิเป็นเพียงแต่เป็นสภาพของจิตที่พร้อมที่จะศึกษาให้เกิดปัญญา เพราะว่าจิตที่สงบนี้จะเป็นจิตที่สามารถเรียนรู้อะไรได้ง่ายกว่าจิตที่ไม่สงบ เวลาจิตไม่สงบจิตจะวุ่นวายไปกับเรื่องต่างๆ นานา ทำให้เวลาเรียนหนังสือหรือคิดอะไรมันคิดไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น ความรู้ไม่ว่าความรู้ที่เราเรียนจากหนังสือ หรือความรู้ที่เราเรียนจากธรรมะนี่ก็เป็นความรู้เหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันเป็นคนละวิชา ความรู้ที่เราเรียนทางโรงเรียนเป็นวิชาเกี่ยวกับการทำมาหากินต่างๆ แต่ความรู้ที่เราเรียนทางธรรมนี้เป็นความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่ทางโลกไม่ได้สอน แต่มันก็เรียกว่าเป็นปัญญาเหมือนกัน

จากธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน





คำว่า รู้ธรรม เห็นธรรม ไม่ใช่คิดเอาเอง
จิตต้องเข้าถึงอย่างแท้จริง จิตเกิดศรัทธา
คำว่า ศรัทธา มันลืมความเหน็ดเหนื่อย
มีแต่ความขยัน ความตั้งใจ
จิตเข้าถึงธรรมมันเป็นอย่างนี้

หลวงปู่ไม อินทสิริ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO