พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 08 ก.ย. 2019 7:27 am
ชีวิตไม่เป็นทุกข์ เมื่อมีความถูกต้องเป็นพื้นฐานของชีวิต
“เดี๋ยวความบ้ารักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลทางอนาคตกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์ข้างหลังกัด อิจฉาริษยากัด ความหวงกัด ความหึงกัดจนถึงฆ่ากันตาย
สิ่งเหล่านี้ที่กัดเจ้าของทำให้กลายเป็นชีวิตที่โง่ เจ้าของชีวิตที่โง่เขลานั้นจึงหาสันติภาพไม่ได้ จึงต้องทำให้มันถูกต้อง จนไม่กัดเจ้าของนั่นแหละ พื้นฐานของธรรมะพื้นฐานชีวิตก็คือความรู้ที่ถูกต้องที่นำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว แต่ว่าเห็นแก่ความถูกต้อง ซึ่งช่วยให้เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ความถูกต้องจึงรักผู้อื่น ถ้ามันเห็นแก่ตัวมากมันก็จะเอาตามกิเลสของมันเสมอไป ดังนั้นเราจึงต้องฝึกฝนการจับกิเลสกัน
เมื่ออยู่ที่บ้านเป็นฆราวาสก็มีการกำจัดกิเลส มาบวชเป็นนักบวชที่วัดก็มีการกำจัดกิเลสจึงจะเข้ารูปเข้ารอยของพระศาสนา ที่จะทำให้ชีวิตนี้มีพื้นฐานอันถูกต้องไม่เห็นแก่ตัว ศึกษาวิปัสสนาให้เห็นว่าความจริงของธรรมชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร และก็ไม่โง่ไม่ไปหลงในสิ่งใดให้เกิดเป็นกิเลสขึ้นมา
กิเลสนั้นมี 3 ประเภท
ประเภทหนึ่งเป็นกิเลสบวก ทำให้ต้องการ ต้องเอาเข้ามายึดครองไว้ นี่คือกิเลสบวก ได้แก่ โลภะ
กิเลสอีกประเภทหนึ่งมันเป็นลบ ต้องการจะฆ่า ต้องการจะทำลาย ก็คือโทสะ
และกิเลสหมวดที่ยังไม่แน่ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็โง่สงสัยอยู่นั่น มัวเมาในสิ่งที่ไม่รู้จัก นี่เป็นกิเลสประเภทโมหะ
เรามีกิเลส 3 หมวดด้วยกัน หมวดโลภะมันจะเอา หมวดโทสะมันจะทำลาย หมวดโมหะมันจะวิ่งตามอยู่อย่างไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน นี้คือกิเลส คือศึกษาเห็นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง มันก็ไม่เกิดความเป็นบวกไม่เกิดความเป็นลบ
เพราะฉะนั้น เราต้องมีความฉลาดอยู่เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบของปัจจัยที่มาปรุงแต่ง ประโยคนี้ขอให้ช่วยจำให้ดีว่า พื้นฐานที่ถูกต้องของชีวิตนั้น คือความมีจิตชนิดที่ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบไปตามสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้มันจะมีสิ่งเข้ามาปรุงแต่งจิตใจให้เป็นบวกและเป็นลบ ทำให้มีความทุกข์ทรมาน
การมีความคงที่อยู่ในความถูกต้องเรียกว่า “อตัมมยตา” คงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่ไปโง่ให้เป็นบวก ไม่ไปโง่ให้เป็นลบ นั่นคือมาตรฐาน หรือพื้นฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต
มันมีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ไม่ถูกหลอกให้เป็นบวก ไม่ถูกหลอกให้เป็นลบ”
พุทธทาสภิกขุ
เรื่อง "โทษของมิจฉาสมาธิ"
การทำสมาธินี้ อาจให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติได้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ใช้ ปัญญา และก็ย่อมให้คุณแก่ผู้ปฏิบัติได้มาก ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้มี ปัญญา สมาธิก็จะส่งจิตไปสู่วิปัสสนา
สิ่งที่เป็นโทษแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ก็คือการที่ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ใน อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบลึก และมีกำลังอยู่นานที่สุด เมื่อจิต สงบก็เป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้วก็เกิดอุปาทาน ยึดสุขนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ อยากจะพิจารณาอย่างอื่น อยากมีสุขอยู่อย่างนั้น
เมื่อเรานั่งสมาธิอยู่ นานๆ จิตมันจะถลำเข้าไปง่าย พอเริ่มกำหนดมันก็สงบ แล้วก็ไม่ อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพิจารณาอะไร อาศัย ความสุขนั้นเป็นอยู่ อันนี้เป็นอันตรายแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง จิตต้องอาศัยอุปจารสมาธิ คือกำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้ว พอสมควร ก็ถอนออกมารู้อาการภายนอก ดูอาการภายนอกให้เกิด ปัญญา
อันนี้ดูยากสักหน่อยหนึ่ง เพราะมันคล้ายๆ จะเป็นสังขาร ความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา เราอาจจะเห็นว่าอันนี้มันไม่ สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้น มันรู้สึกอยู่ในความ สงบ พิจารณาอยู่ในความสงบ แล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้น มาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้น ไม่ใช่ว่าคิดเอา หรือเดาเอา
มันเป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่า ความรู้อยู่ใน ความสงบ ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่ง จิต มันไม่สงบ มันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง มันเป็นความรู้สึก ของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่าการพิจารณา นี่ปัญญาเกิด ตรงนี้ สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็น สมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ ถูกต้อง นี้ก็ให้สังเกตให้ดี
มิจฉาสมาธิ คือความที่จิตเข้าสู่สมาธิ เงียบ...หมด...ไม่รู้อะไร เลย ปราศจากความรู้ นั่งอยู่สองชั้วโมงก็ได้ กระทั่งวันก็ได้ แต่จิตไม่รู้ ว่ามันจะไปถึงไหน มันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่อง นี่สมาธิอันนี้เป็น "มิจฉาสมาธิ"
มันก็เหมือนมีดที่เราลับไห้คมดีแล้วแต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่เอาไปใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนั้น ความสงบอันนั้นเป็นความสงบที่ หลง คือว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีก ต่อไป จึงเป็นอันตราย เป็นข้าศึกในขั้นนั้น อันนี้เป็นอันตราย ห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ
ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์ รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไป ในทางอื่นได้ นี่ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้ จะ ต้องรู้แต่ต้นจนปลายทีเดียว จึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้ มาก สมาธิชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย
เมื่อเราเจริญสมาธิที่ถูกต้องแล้ว อาจจะสงสัยว่ามันได้ผลที่ ตรงไหน มันจะเกิดปัญญาที่ตรงไหน เพราะท่านตรัสว่า สมาธิเป็น เหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา สมาธิที่ถูกต้อง เมื่อเจริญแล้วมันจะมี กำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ
ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูก ดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์เกิด กับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จิตจะไม่เป็นไปตามอารมณ์ แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ
ฉะนั้นการปฏิบัตินี้ เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เลือก สถานที่ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม จิตมันเกิดปัญญาแล้ว เมื่อมีสุขเกิดขึ้นมาก็รู้เท่า มีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้เท่า สุขก็สักว่าสุข ทุกข์ก็ สักว่าทุกข์เท่านั้น แล้วก็ปล่อยทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
เมื่อสมาธิถูกต้องแล้ว มันทำจิตให้เกิดปัญญา อย่างนี้เรียก ว่า วิปัสสนา มันก็เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริง นี้เรียกว่า สัมมาปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีอิริยาบถ สม่ำเสมอกัน คำว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันนี้
ท่านไม่ได้หมายเอา อิริยาบถภายนอกที่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ท่านหมายเอาทางจิตที่มี สติสัมปชัญญะอยู่นั่นเอง แล้วก็รู้เห็นตามเป็นจริงทุกขณะ คือมันไม่ หลง
ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบหนึ่ง และความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือเกิดจาก สมาธิ ที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ
อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญา นี้ไม่ได้ถือเอาความสุข เป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ เพราะว่าความสุขความทุกข์นี้ เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน จะไม่ พ้นจากวัฏฏสงสาร เพราะติดสุข ติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข
ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้น จึง ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุข ความทุกข์ แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำ จิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธ ศาสนาอย่างแท้จริง
โอวาท หลวงพ่อชา
ความตั้งมั่นนั้นได้ชื่อว่าสมาธิ ท่านก็บอกอยู่อย่างนั้น
ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารนั่น
สังขารคือความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่ง
คิดในอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเรียกว่าสังขาร
เรามีสติรู้เท่าทัน สังขารเหล่านี้มันปรุงขึ้นมา
เราระงับ เราตัดออกไม่ให้มันเกิด ไม่ให้มันมีในใจเรา
ให้ใจเราตั้งอยู่มั่นอยู่ในสมาธินั่นแหละ
มรรคผลมันจะเกิดขึ้นที่ไหน มันก็เกิดในใจนั่นแหละ
ก็ปรากฏอยู่ที่นั่น จะไปหาเอาที่ไหน
มรรคผลไม่ได้อยู่นอกเหนือจากใจของตน
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.