เรื่อง "พุทธศาสนาเกิดจากภาคปฏิบัติจิตตภาวนา"
(คติธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร)
เข้าใจหรือเปล่าละโยม เรื่องจำชาติได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองทำดูซิ ภาวนาเข้าไป บริกรรมพุทโธให้อยู่กับพุทโธ จิตมันถึงไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ลงมือทำมันอย่างจริงจังแล้ว มันก็ไม่เห็นนะเรื่องพวกนี้ถ้ามีแต่จะดูจากหนังสือจากตำรา แต่ว่าจิตใจของเรานั้น ไม่ได้ปฏิบัติก็เท่านั้น ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจากใจตัวเราเองแล้ว มันก็เกิดแต่ความโลเลอยู่อย่างนั้นหละ พระพุทธเจ้าภาวนานะ ท่านนั่งอยู่ต้นโพธิ์จนได้ตรัสรู้ ศาสนาเกิดจากการภาวนา เกิดจากความพากความเพียรนะ
ฝนตกตอนนี้ดูแล้ว ทางที่เราอยู่ ฝนคงไม่ตก คงไปตกทางต่างจังหวัดหนองคายแล้ว ทางจังหวัดกาฬสินธุ์เห็นว่าแล้วมากนะ ข้าวร่วงหล่นจากต้นหมดแล้ว ที่นี่มันสงบดีนะ โยมภาวนาหรือปล่า ไปแล้วก็มีแต่ไปคุยกันนะ นอนกุฏิเดียวกัน กุฏิว่างอยู่ ทางนี้นะมีตั้งสี่หลัง ยังไม่มีใครมานอนเลย มีแต่ไปนอนกองรวมกันอยู่แต่กุฏิหลังใหญ่นั่นแหละ เราต้องฝึกหัดเอาเองนะพอมันชินงานแล้วมันก็สบาย ถ้าไม่เคยชินมันก็ลำบากช่วงแรกเท่านั้นแหละ ส่วนมากก็มีแต่หัวใจตัวเอง หลอกตัวเองอยู่อย่างนั้นนะ มีตุ๊กแกไต่ขาเฉยๆ ก็ว่าผีหลอกแล้ว มันหลอกตัวเองอยู่อย่างนั้น ก็ชอบกันจริงนะหลอกตัวเอง แต่ถ้าคนอื่นหลอกนะโกรธ แต่ถ้าตัวเองหลอก ชอบ
ครูบาอาจารย์ท่านภาวนา ท่านเอาแต่พุทโธนะ ไม่ให้จิตส่งออกภายนอก ผีหลอกก็ไม่มี เสือก็ไม่มีเพราะจิตอยู่กับพุทโธนะ ไม่มีอารมณ์มาปรุงแต่งไปต่างๆ นานา อีก ถึงมันจะมีเสียงร้องของสัตว์ที่น่ากลัวอย่างไรก็ตาม ถึงหูจะได้ยินเสียงต่างๆ แต่ใจนั้นอยู่กับพุทโธแล้วใจก็ไม่ส่งออกไปภายนอก ก็ไม่มีความกลัวนะ ก็ฝึกหัดเข้าไปดูซิ
ตั้งแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ขาวท่านอายุมากแล้ว ท่านก็ยังพาไปนะ ตั้งแต่อยู่ถ้ำกลองเพลสมัยนู่นออกจากกุฏิไปหาอยู่กับก้อนหินนะ แต่ก่อนไปก็ไปอยู่แถวเจดีย์ของท่านนะ พากันไปอยู่ ตีสามตีสี่ก็ลงมาวัดแล้ว นั่งอยู่ก้อนหินใครก้อนหินมัน แต่ก่อนมันไม่สนใจนะว่ายุงจะกัด มิน่าล่ะถึงเป็นไข้มาลาเรียอยู่บ่อยๆ แต่มันก็ใจสู้นะ กำลังใจมันเข้มแข็ง ความอดทนสูง ถ้าได้นั่งแล้วก็เป็นหัวตอเลยแหละ ถ้าจิตมันสงบได้แล้ว ความเจ็บปวดมันไม่มีหรอก ถ้าพวกเรานี้ไม่ภาวนา ความสุขนั้นก็มีแต่นอนหลับเท่านั้น ความเจ็บความปวดไม่มี มีแต่ความฝัน ก็ฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ วันไหนไม่ฝันก็นอนหลับสนิทจนไม่รู้เรื่อง แต่ตัวรู้ก็รู้อยู่อย่างนั้นนะ
(จากหนังสือ "๙๐ ปี เศรษฐีธรรม") คติธรรมหลวงปู่ลี
“กรรมทางวาจานี้ ร้ายแรงมาก การที่เราพูดใส่ร้าย หรือพูดไม่ดี จนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเสียใจ หรือพูดไปทำลายความหวังต่างๆ ของเขา ถ้ารู้ตัวให้หยุดเสีย ถ้าไม่หยุด ก็เลิกทำเสีย กรรมไม่สนองแต่ในชาตินี้ พอตายลงไป ยังต้องไปใช้กรรมยังนรก ตามขุมต่างๆ อีก”
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
"ธรรมะแสดงอยู่ทุกเมื่อ เกิดอยู่เสมอ ผู้มีปัญญา ย่อมโอปนยิโก คือ น้อมเข้ามาใส่ตัวเอง น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวเอง เมื่อพิจารณามากเข้า ก็จะปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน"
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
"ผู้ใดรักษาศีล มิขาดตกบกพร่อง ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมถะและวิปัสสนา ตามสมควร ได้ปัญญาตามวาสนา โอกาศที่จะพ้นจากการท่องเที่ยว ไปในภพน้อย ภพใหญ่ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดเป็นวัฏจักร ก็พอจะมองเห็น ทางมรรคผลนิพพาน อยู่ไม่ไกล จงรีบทำความเพียรเสีย เพื่อมรรคผลนิพพานนั้น แล้วจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด"
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
“มีสติรู้ตัว พูดจาให้น้อยลง พูดเท่าที่จำเป็น จะต้องพูด ด้วยความมีสติ รู้ตัวอยู่
การพูดมาก มีโอกาสพูดผิดได้มาก ไม่เกิดประโยชน์ แล้วยังเป็นโทษอีกด้วย เป็นผู้ฟังแล้วตามคิด เลือกจำสิ่งดีๆ มาใช้ จะได้ประโยชน์กว่า
คนพูดมาก มักขาดสติง่าย เป็นผู้ฟังนี่โทษน้อย หรือไม่มีเลย และเป็นผู้ได้รู้ มากกว่าผู้พูด”
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
"คนทั้งโลกจะให้เขาพูดถูกใจเรา มีไหม? จะมาทำถูกใจเราทุกคน มีไหม? เมื่อไม่มี เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ปล่อยวาง"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
"อย่าคิดว่าเราต้องได้ตลอดเวลา เราต้องเป็นผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว การยอมให้คนอื่นได้และชนะดูบ้าง เป็นวิธีสำคัญของการอยู่ร่วมกัน"
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
"ศีลรักษา ๓ ข้อพอ ๑. ปาก เวลาพูดอย่าให้ผิดศีล ๒. กาย อย่าทำให้ผิดศีล ๓. ใจ อย่าคิดให้ผิดศีล เท่านี้พอ"
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
"ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่าที่จะพูดนี้ จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไม่ได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร"
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
"พระ ไม่ใช่ว่าจะดีไปทุกองค์ นักการเมือง ก็ใช่ว่าจะดีไปทุกคน รวมไปถึงข้าราชการ ใช่ว่าจะมีแต่คนดี
ทุกๆ สังคม ทุกๆ วงการ ย่อมมีทั้งคนดี คนชั่ว คนเลว อยู่รวมกัน แต่ทุกวันนี้ ดูๆ แล้ว คนชั่วจะมีมากกว่าคนดี
พระอย่างกู อาจจะไม่ดีกว่าพระองค์อื่นๆ นัก เพียงแต่กู ไม่เก็บสะสมทรัพย์สิน เงินทอง ที่ญาติโยมถวายมา กูก็ไปทำบุญ สร้างสาธารณประโยชน์ อีกทอดหนึ่ง"
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
"การให้ทานรักษาศีลนี้ ไม่ใช่ของใคร คนใดคนหนึ่ง คือ ถ้าใครทำ ก็ได้รับผลด้วยกัน อย่าเลือกเวลาการทำความดี ทำได้ทุกเวลาสถานที่ ทุกเพศวัย ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนหนุ่มคนสาว ทำได้หมด ให้รีบทำความดีเสีย เดี๋ยวจะตายก่อน ไม่ได้ทำนะ"
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
“คนฉลาด ไม่ใช่แค่ฉลาดพูดเท่านั้น ต้องรู้จักนิ่งอย่างมีสติ ให้เป็นด้วย ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ให้มากยิ่งกว่า สิ่งที่ควรพูด”
ท่านพุทธทาสภิกขุ
"เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
"เครื่องประดับใดๆ ในโลก ก็สู้ธรรมะไม่ได้ ถ้ามีธรรมะประดับใจตนแล้ว ย่อมเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองแน่นอน"
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
"การตัดกรรม คือ การหยุดทำความชั่ว หยุดทำบาป การตัดเวร คือ การหยุดการพยาบาท อาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน คือ ไม่แก้แค้น ซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่า ให้อภัยซึ่งกันและกัน และผู้ที่ทำผิด ก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ ผู้ที่ถูกขอโทษ ก็รู้จักคำว่าให้อภัย อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร"
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
"เราก็เกิดมาในโลกนี้ เพื่อมาสร้างบารมี ไม่ใช่เกิดมาเล่น เกิดมาแสวงหาความสุข สนุกชั่วคราวไม่มีประโยชน์อะไร
ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของแน่นอน โลกนี้ เป็นแต่ทางผ่าน เท่านั้นเองล่ะ มาเกิดแล้ว หมดอายุ หมดบุญแล้วก็ผ่านไป ก็หาที่เกิดใหม่ บุญบาปนำไป หมดบุญหมดกรรม ที่นำไปเกิด ในที่นั้นๆ ก็วกกลับมาเกิดบนโลกนี้อีก มาเฝ้าโลกนี้อีกอยู่ มาเฝ้าแล้ว ไม่เห็นมีใครได้อะไร ได้แต่บุญกับบาปที่ทำ
เราก็เกิดในโลกนี้ ไม่ใช่ว่ามาเกิดเล่นนะ ให้คิด ให้พิจารณากันให้ดี เกิดมาเพื่อมาสร้างบารมี อาศัยบุญบารมี นำดวงจิตนี้ให้พ้นจากทุกข์ ไปตามลำดับนะ"
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
"ให้ขยันภาวนา และรักษาศีลให้ดี คนเราโตแล้ว คิดเป็นทำเป็น อย่างอมืองอเท้า ให้ขยันทำงาน ทำงานอะไรก็แล้วแต่ ให้ทำด้วยสติ คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำก่อนคิด ให้รีบทำให้เสร็จ อย่าคั่งค้าง ทำอะไรต้องทำให้รวดเร็ว อย่าชักช้า แม้แต่การตื่นนอน ต้องตื่นก่อนนก กา ไปหากิน ถ้าตื่นสาย จะไปหากินอะไรได้"
หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ
“เลือกคบคนอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าคบคนพาล คนโกง หลงกามคุณ ถ้าสติเราไม่พอ อีกไม่นาน เราก็จะซึมซับ สิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่มีคนมีศีล มีธรรม อยู่รอบตัวเลย จงเลือกเดินคนเดียว และมีสติเป็นเพื่อน”
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"วิธีชนะที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใคร เป็นความดีชั้นตรี ถ้าเป็นการชนะชนิดที่เกื้อกูลเขา ทำให้เขากลับเป็นคนดี ก็นับว่าเป็นความดีชั้นโท ส่วนความดีชั้นเอก ก็คือ ความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
|