พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 19 ก.ย. 2019 5:45 am
"อย่าละ ศีล ทาน ภาวนา
รักษาจิตรักษาใจ๋หื้อดี
จะไปสวรรค์จะตกหม้อนรกก่มีที่จิตที่ใจ๋เน่อ"
หลวงปู่ครูบาดวงดี ยติโก
วัดบ้านฟ่อน อ.หางดง จ.เชียงใหม่
พระอริยสงฆ์แห่งล้านนาผู้มีพรรษากาลสูงสุด
เรื่อง "หลวงปู่มั่นเทศน์สอนพญานาค"
ขณะที่อยู่บ้านหนองผือ
หลวงปู่ใหญ่ปู่มั่นท่านเล่าว่า
“มีพวกเทวดา อินทร์ พรหม นาค หรือพวกกายเทพกายทิพย์เหล่าอื่นมาไม่หยุด มาเป็นหมู่ ๆ มาแล้วหัวหน้าจะสั่งนั่งพับเพียบกราบ ๆ พร้อมกัน แล้วก็อาราธนา เขาไม่ว่า พฺรหฺมา จ โลกา เหมือนพวกเราหรอก เขาสงสัยธรรมะข้อไหนก็ถามขึ้นเลย ถามแล้วท่านก็อธิบายให้ฟัง เขาจะมารายงานก่อนทีแรก ว่ามาจากทิศไหนเขาไหน มามีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ วันนี้อยากมาฟังธรรมะหมวดนี้หมู่นี้ ก็จะว่ามาเลย ท่านเทศน์ให้ฟังจบแล้ว กราบพร้อมกันไปเลย เทศน์ให้เทวดาฟังนี่ง่าย ไม่เหมือนมนุษย์ขี้เหม็น” ท่านว่าอย่างนั้นแหละ และท่านยังเล่าเรื่องน้องชายท่านในอดีตชาติ ตายไปเกิดเป็นพญานาค ที่ภูเขาบริเวณไม่ห่างไกลจากวัดหนองผือให้ฟังว่า
“แม้แต่น้องชายคนหนึ่งของท่านก็ยังมา อยู่เขาใกล้ ๆ กันนั่นแหละ เป็นพญานาค หมอนี่เคยเป็นน้องชายมาชาติหนึ่ง มาฟังเทศน์ท่านนั่นล่ะ เห็นรอยอยู่ หมู่พระท่านปัดกวาดตอนเช้าก็เห็นรอยใหญ่ ๆ อยู่ใต้ถุนกุฏิท่าน แต่ว่าท่านยังไม่ออกจากห้อง ท่านออกมาท่านก็บอกว่า
“เมื่อคืนนี้พญานาคมาฟังเทศน์นะ”
ท่านรู้จักถึงขนาดนั้นนะ คือ มนุษย์เขาไม่รู้จักเรื่อง แต่เรื่องเหล่านี้เราก็เชื่ออยู่ ท่านแนะนำมา โอ้ย! อยู่กับท่านนาน แนะนำมาเป็นแนวทางให้นอบให้น้อมมาเป็นโยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญดู ถ้าเห็นว่าเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติยกระดับฐานะของจิตให้สูงขึ้นก็เป็นบุญเป็นกุศลของแต่ละบุคคล"
โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เล่าโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร
รูปที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี
ถ้าเราหลงกาย มันก็มักเกิดความชั่ว
ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลมากมายเหมือนของภิกษุ
ก็ต้องรักษาตานี้แหละ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวเหตุ มันไหลเข้ามา
ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ
กำหนดเข้า กำหนดเข้า รู้เท่าทันเหตุ
เหตุดับ มันก็ถึงความสุข
เพราะวางอุปาทาน เหตุจึงดับไป
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
เมื่อสมาธิธรรมปรากฏแล้ว เอาแค่นี้ล่ะ ไม่ต้องเอาอะไรมาก แค่นี้ก็พออยู่พอกิน พอเป็นพอไป ใจมีเครื่องอยู่แล้ว ถ้าเราหาความสงบไม่ได้ ยังไงก็ไม่มีที่อยู่ อยู่ที่ไหนก็รำคาญ อยู่ที่ไหนก็มีแต่ทุกข์ อยู่ที่ไหนก็มีแต่สิ่งเหล่านี้ไปก่อกวน เราต้องหาที่พักของใจ หาเครื่องอยู่ให้จิตให้ได้ ก็คือการฝึกสมถะให้ใจแน่นหนามั่นคง ถ้าความสงบไม่ปรากฏ เราจะเอาอะไรเป็นรางวัลชีวิต เราจะเอาอะไรเป็นความภาคภูมิใจ มันก็มีแต่ความหดหู่ ขี้เกียจขี้คร้าน มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายจึงปฏิบัติในด้านจิตตภาวนา มันถึงขี้เกียจ มันถึงเลิกไป มันถึงไม่เอาไหน เพราะปฏิบัติไป ผลมันไม่ปรากฏ มันปรากฏแต่ทุกข์ เลยเกิดความท้อแท้ ลองให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏมาดูสิ จากคนที่ไม่เชื่อในศาสนา จากคนที่ปฏิบัติแบบไม่อดทน จากคนที่ไม่มีความพากความเพียร จากคนที่มีใจหลักลอย มันจะเข้าใจขึ้นมาทันที นั่งอยู่ไหนก็นั่งได้ ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่ห่อเหี่ยว ไม่เอือมระอา ไม่ถูกความฟุ้งซ่านรำคาญไปยุแหย่ก่อกวน เพราะใจข้ามตรงนี้ไปแล้ว นั่งตรงไหนก็นั่งได้ เวล่ำเวลาไม่ต้องไปพูด กี่ชั่วโมงก็นั่งได้
คนที่นั่งไม่ได้เพราะใจหาความสงบไม่ได้ นักภาวนาทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายกัน เห็นธรรมเป็นปรปักษ์ เห็นการปฏิบัติแก้กิเลสเป็นเรื่องทุกข์ไป คนทั้งหลายจึงไม่คิดจะต่อสู้ ไม่คิดจะปฏิบัติ นอนเฝ้ากิเลส นั่งเฝ้ากิเลส ยืนเฝ้ากิเลส อยู่กับกิเลส กิเลสจึงไม่ถูกชำระ ยิ่งหมักหมมขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งหนาขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนาก็แทบจะไม่มี นานเข้า ๆ ก็ไม่มีศรัทธาในศาสนาเลย เมื่อก่อนไปที่ไหนก็คิดจะปฏิบัติ แต่พอกิเลสหนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็ลืมแม้แต่ตัวเจ้าของ เลยหาทางออกให้จิตไม่ได้ สุดท้ายมาก็จมอยู่กับกิเลส ก็เพราะไม่เปิดใจดวงนี้ออกจากวงล้อมของกิเลส
พระอาจารย์โสภา สมโณ
๕ มกราคม ๒๕๖๒
เป็นผัวเมียกัน นั่นแหละมันทุกข์..เข้าใจบ่ ?
“..ทุกข์ทั้งนั้นแหละ เป็นผัวเมียกัน
บอกฮักกันๆ มันกะดีแต่..ตอนใหม่ๆ นั่นละ
กินข้าวเปล่า..ใส่น้ำปลา มันยังว่า..อร่อยเลย
พอนานไป ทีนี้บ่..อร่อยแล้ว ทำมาแค่ไหน
กะบ่อร่อยแล้ว เข้าใจไหม..มันเบื่อ มันนาน
จิตดวงนี้มัน..บ่ตายเด้อมันออกจากร่างนี้กะไปสิงอยู่กับร่างใหม่..มนุษย์เฮาบ่ว่ารวยหรือจนกะกินข้าววันละสามครั้งคือกัน..กินกะได้แค่อิ่ม..ตอนเป็นมนุษย์อยู่นี้ให้พากันสร้างไว้หลายๆ กรรมดี เพราะว่าตอนเป็นมนุษย์นี้คนบ่มีกะยืมกันกินได้ ขอกันกินได้ หาเก็บผัก หาปลา มากินได้..เดินบ่ได้กะแบกกะหามกันไปนั้นมานี้ได้..แต่ข้างหน้านั้นมันขอกันกินบ่ได้ ยืมกันกินบ่ได้เป็นไปตามกรรมไผมันเด้อ..
เป็นฆราวาสมีครอบครัวบ่ต้องเอาหยังหลาย..สวดมนต์ไหว้พระทุกวันก่อนนอนแล้วกะตอนเช้าตื่นนอน..นั่งภาวนาเช้าแลงให้ได้วันละ 20 นาทีแค่นี้เหลือกินแล้ว...เฮ็ดไปทุกวันๆ แบบนี้คือเฮากินข้าวทุกวัน บางวันกะกินกับพริกกับกินเกลือ..กินไปทุกๆวันมันสิเจอเองของดี..”
โอวาทธรรมหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
เรื่อง "อย่าให้ใจเราเป็นสุญญกัป ว่างจากความดี"
(คติธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “สุญญกัป” คือระยะที่ว่างเปล่าจากศาสนา ไม่มีอรรถไม่มีธรรม คำว่า “ศีล” ว่า “ธรรม” ว่า “บาป” ว่า “บุญ” นี้ไม่ปรากฏในความรู้สึกของประชาชนทั้งหลาย คงไม่มีความสนใจกันและไม่ทราบว่า ศีลธรรม หรือ บาป-บุญ-คุณ-โทษ เป็นประการใดบ้าง ท่านว่าเป็นระยะที่ร้อนมาก แต่ไม่ได้หมายถึงดินฟ้าอากาศร้อนผิดปกติธรรมดาที่เคยเป็น แต่มันร้อนภายในจิตใจของสัตว์โลกที่เต็มไปด้วยกิเลสซึ่งเป็นธรรมชาติที่เผาลนใจสัตว์ เพราะเป็นธรรมชาติที่ร้อนอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปสิงในสถานที่ใดจุดใด จุดนั้นต้องร้อน ในหัวใจใดหัวใจนั้นต้องร้อน เพราะไม่มีน้ำดับคือ ศาสนธรรม
คำว่า “น้ำ” ก็ได้แก่ “ศีลธรรม” เป็นเครื่องดับความรุ่มร้อนภายใน คือกิเลสที่สุมใจ แม้ศาสนามีอยู่เช่นทุกวันนี้ ถ้าไม่สนใจนำ “น้ำศีลธรรม” เข้ามาชะล้างเข้ามาดับความรุ่มร้อนนี้ก็ไม่วายที่จะร้อน เช่นเดียวกับ “สุญญกัป” คำว่า “สุญญกัป” ในครั้งโน้นกับ “สุญญกัป” ของเราในบางเวลา หรือของบุคคลบางคนนั้น มีอยู่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่เคยสนใจกับศีลกับธรรม หรือกับคุณงามความดีอะไรเลยนั้นน่ะ เป็น “สุญญกัป” ผู้ไม่สนใจอย่างนั้นเราอย่าเข้าใจว่าเขามีเกียรติมีคุณงามความดี เขาเป็นคนเฉลียวฉลาด เขาเป็นคนมีฐานะดี เขาเป็นมนุษย์ที่มีสง่าราศี ตรงกันข้ามหมด! คือภายในจิตใจที่ไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและเป็นน้ำดับไฟแล้ว จะให้ความร่มเย็นเกิดขึ้นได้อย่างไร
เพราะกิเลสมันฝังลึกอยู่ภายในจิตใจนั้นเป็นประจำ แม้มีสิ่งที่จะดับแต่ไม่สนใจที่จะนำมาดับ แล้วจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน โลกเรามองกันส่วนมาก มองอย่างเผินๆ คือมองตามความคาดความหมาย ตามความรู้สึกของโลกและของตัวเอง โดยไม่ได้นำเหตุนำผลนำอรรถนำธรรมเข้ามาเทียบเคียง หรือวัดตวงกับคนและสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากเราไม่มีความรู้และมีปัญญาลึกซึ้งทางด้านธรรมซึ่งเป็นความจริง และเป็นหลักเกณฑ์อันตายตัว มาทดสอบกับเรื่องทั้งหลาย จึงไม่ทราบความจริงซึ่งมีอยู่ในหัวใจด้วยกันทุกคน
ที่ล้วนแล้วแต่ความจริงคือธรรม ท่านสอนอรรถสอนธรรมแก่สัตว์โลกนั้น ท่านสอนความจริงไม่ได้สอนความปลอม แต่จิตใจของเรามันชอบปลอมกับธรรมอยู่เสมอ เป็นข้าศึกต่อตัวเองอยู่เรื่อยๆ เวลาจะประกอบศีลธรรมคุณงามความดีเข้าสู่จิตใจ มักจะหาเรื่องหาราวก่ออุปสรรคให้ขัดข้องต่อการประกอบความดีนั้นๆ กลายเป็นมารสังหารตนเองโดยไม่รู้สึก โดยที่เราก็คิดว่าเป็นทางออกของเราอย่างดี นี่ก็เป็นเรื่องไฟที่จะทำความรุ่มร้อนให้แก่เราแง่หนึ่ง
เพราะฉะนั้นคำว่า “สุญญกัป” อันเป็นเรื่องใหญ่นั้น จึงมาเป็นได้กับเรื่องย่อยๆ ในบรรดาเราทั้งหลาย แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ก็ตาม ระยะใดที่ห่างเหินจากศีลธรรม จากการประกอบคุณงามความดี เฉพาะอย่างยิ่งคือการอบรมจิตใจให้มีความร่มเย็น ระยะนั้นมันก็เป็น “สุญญกัป” ได้ ระยะใดที่เป็นสุญญกัปภายในใจ ระยะนั้นใจก็ร้อน ความร้อนนั้นมันเป็น “สุญญกัป” ในหัวใจคน มันจะร้อนของมันไปเรื่อยๆ
คำว่า “สุญญกัป” คือว่างเปล่าจากเหตุจากผล จากคำว่า “อรรถ” ว่า “ธรรม” คำว่า “บาป” ว่า “บุญ” ไม่ได้ระลึกพอที่จะหาทางแก้ไขและส่งเสริมเลย ท่านเรียกว่า “สุญญกัปภายในจิตใจของสัตว์โลก” และ เมื่อ “สุญญกัป” เข้าสู่จิตใจได้ แม้จะมีศาสนาอยู่โดยที่ตนก็ปฏิญาณตนว่านับถือศาสนาก็ตาม แต่ขณะที่ไม่มีศาสนา ไม่มีเหตุมีผลเป็นเครื่องยับยั้งชั่งตวงทดสอบตนเองว่าผิดหรือถูกประการใดบ้าง ระยะนั้นเป็นความวุ่นวายรุ่มร้อนของจิตไม่น้อย ที่เรียกว่า “สุญญกัป” ฉะนั้นสุญญกัป คือความว่างเปล่าจากศีลธรรมเครื่องให้ความร่มเย็น จึงมักเด่นอยู่ที่จิตใจคนไม่เลือกกาลว่าเข้าถึงสุญญกัปหรือไม่ นี่เราเทียบเข้ามาให้ทราบเรื่อง “สุญญกัป” ตามหลักธรรมที่ท่านกล่าวไว้ พอเลยจากนั้นก็มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ และทรงสั่งสอนธรรมแก่โลก โลกก็เริ่มรู้ศีลรู้ธรรมแล้วปรับตัวเป็นคนดี มีความร่มเย็นไปโดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งศีลธรรมเป็น “น้ำ” สำหรับดับไฟกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเป็นความรุ่มร้อนโดยหลักธรรมชาติของมัน
ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น นี่เราย่นเข้ามาด้วย “โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของเรา” ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดือนหนึ่งปีหนึ่ง ตั้งแต่วันเกิดมานี้ กี่วันกี่คืน กี่เดือนกี่ปี กี่ชั่วโมงนาที ระยะใดบ้างในช่วงที่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ซึ่งเป็น “สุญญกัป” ภายในตัวเรา? ในระยะใดบ้างที่มีศาสนาประจำใจ เฉพาะอย่างยิ่งแม้ในขณะที่นั่งภาวนามันก็เป็น “สุญญกัป” ได้อีก นั่งภาวนา “พุทโธๆ” สักประเดี๋ยวเผลอไปลงนรกแล้ว คือยุ่งกับเรื่องนั้น ยุ่งกับเรื่องนี้ วุ่นวายกับอารมณ์นั้น วุ่นวายกับอารมณ์นี้ นั่นแหละมันเป็น “สุญญกัป” แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่เราก็ว่าเรานั่งภาวนานี่ แต่มันนั่งวุ่นนั่น นั่งวุ่นนี่ จึงกลายเป็นนั่ง นั่งสุญญกัปไป! ในหัวใจของนักภาวนาที่ชอบนั่งสัปหงกงกงัน และจิตใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ โดยไม่มีสติปัญญาตามรักษาและแก้ไข
เพื่อให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และเพื่อให้ทันกับกลมารยาของกิเลส คือความลุ่มหลงอันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง จำต้องตั้งสติตั้งท่าตั้งทางระมัดระวังและพินิจพิจารณา มีเจตนามุ่งหน้าต่อการงานของตนในขณะที่ทำ อย่าให้ความพลั้งเผลอเหล่านั้นเข้ามาแบ่งสันปันส่วนเอาไปกิน และเอาไปกินเสียหมดกระทั่งไม่มีอะไรเหลือติดตัว
พอออกมาจากที่ภาวนา “เฮ้อ! ทำไมนั่งภาวนาจึงไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลยวันนี้!” สิ่งที่ได้เรื่องไม่พูดได้เรื่องอะไร? ก็เรื่องยุ่งเรื่องวุ่นวายนะซี เรื่องไปตกนรกทั้งเป็นที่ไหนบ้างนั้นไม่พูด แล้วจะมาทวงเอาหนี้เอาสินจากอรรถจากธรรม เหมือนศาสนาเป็นหนี้สินของตน ทำเหมือนเราเป็นเจ้าหนี้ศาสนา ทวงอรรถทวงธรรมเอากับท่าน มันก็ไม่ได้น่ะซี เพราะเราทำเหตุไม่ดีให้แก่ตัวต่างหากนี่
“นั่งภาวนาตั้งนมตั้งนานไม่เห็นเกิดผลเกิดประโยชน์อะไร! วาสนาน้อย เรานี่อยู่เฉยๆ ไม่ทำเสียดีกว่า นั่น! เอาอีกแล้วนั่น หลอกไปเรื่อยๆ
แต่นั่งภาวนาอยู่มันยังไม่ได้เรื่อง สิ่งที่ต้องการมันไม่ได้เพราะเหตุไร? เพราะเป็นเพียงเจตนาขณะหนึ่งเท่านั้นที่ว่าต้องการจะทำภาวนา แต่เจตนาที่แฝงขึ้นมาและเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับๆ จนถึงฉุดลากจิตไปสู่ที่ไหนๆ ไม่รู้ ไม่มีศีลมีธรรมประจำจิตใจในขณะนั้นเลย ใจไปตกนรกทั้งเป็นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นั่นเราไม่คิดไม่เอามาบวกมาลบ ไม่เอามาเทียบเคียงดูทดลองดูพอให้ทราบข้อเท็จจริงกัน แล้วก็ไปทวง “เอาหนี้เอาสิน” จากอรรถจากธรรมว่า “ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดความสุขความสบาย ไม่เกิดความสงบเย็นใจ” แน่ะ ก็เราไม่หาความสงบ หาแต่ความวุ่น ผลมันก็ได้แต่ความทุกข์ความวุ่นนั่นน่ะซี
ความจริงตามหลักธรรมที่ท่านแสดง ที่ท่านสอนไว้โดยถูกต้องนั้น ท่านไม่ได้สอน “ของปลอม” ให้พวกเราเลย สิ่งใดที่มีอยู่ภายในจิตใจเราทั้งดีทั้งชั่ว ท่านสอนให้เข้าใจดังที่กล่าวมา ซึ่งมีอยู่กับจิตใจของทุกคนที่เรียกว่า “สุญญกัป”ๆ น่ะ ความว่างเปล่าจากอรรถจากธรรม ทั้งๆที่นั่งภาวนาอยู่แต่ใจเผลอไปไหนก็ไม่รู้ ปล่อยไปเรื่อยๆ แล้วว่าตนนั่งภาวนา ผลก็ไม่ปรากฏอยู่โดยดี เพราะใจเป็น “สุญญกัป”
คติธรรมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.