พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 27 ก.ย. 2019 5:50 am
เวลาหายใจเข้า บริกรรมว่า พุธ
เวลาหายใจออก บริกรรมว่า โธ
พุทโธ พุทโธ
แต่อย่าไปเกร็ง อย่าไปกลึง อย่าไปเครียด
อย่าไปตั้งจ่อจนเกินไป
คือให้มีสติสัมปชัญญะ
แต่ว่าสติตัวนี้จะทำเลื่อนลอยไม่ได้
ต้องเข้มแข็งว่างั้นเถอะ
ต้องเข้มแข็ง ต้องจดจ่อพอสมควร
ใหม่ๆจ่ออยู่จุดนั้นหล่ะ
กำหนดอยู่จุดนั้น
หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ
ไม่ให้จิตคิดไปทางอื่น
นี่แหละวิธีการทำสมาธิ
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
เรื่อง "คนไม่สิ้นสุดทุกข์ เพราะจิตติดสุภะ"
"สุภะ" เป็นธาตุบูดเน่า เป็นธรรมชาติของเขา ร้ายแต่มนุษย์ จิตติดสุภะ ดื่มสุรา ท่านยกพระโพธิสัตว์ยกเป็นกษัตริย์ มีเมีย ๕ หมื่น บุตรราหุลท่านก็ไม่เมา ไหนเรามีเมียตาเปียกคนเดียว ติดกันจนตาย ธาตุเมาอันนี้เป็นธรรมชาติไม่ให้คนสิ้นสุดทุกข์ไปได้ บุคคลรักษาจิต ได้แล้วทั้งศีล แม้รักษาทางปัญญา ได้แล้วทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ดุจข้าวสุกที่สำเร็จแล้ว เราจะตวงกิน ไม่ต้องไปกังวลทำนาเก็บเกี่ยว และข้าวเปลือกข้าวสารเลย กินข้าวสุกแล้วก็เป็นพอนี้ ก็ฉันได้ เป็นสถานที่สำรวม ภายนอกให้ละเอียดเสียก่อน แล้วภายในจึงละเอียด
คติธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"สัมมาปฏิปทา"
" .. "ปฏิปทา" ถ้าถือว่าไม่สำคัญก็ไม่สำเร็จ "สัมมาปฏิปทานี่สำคัญมากจริง ๆ" คือ เราทำเรื่อย ๆ อย่าไปว่ามันได้อารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี "ดีก็ช่างไม่ดีก็ช่าง ช่างมัน" พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สนใจใครหรอก ท่านผ่านมาหมดของดีไม่ดี ของชอบไม่ชอบเหล่านี้ นั่นแหละจึงเป็นการปฏิบัติ
"การปฏิบัติที่จะเอาแต่ของชอบ ของไม่ชอบไม่เอา อย่างนี้ไม่เป็นการปฏิบัติ มันเป็นวิบัติ" ไปที่ไหนก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย เป็นทุกข์อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา "กระทำเพียรอย่างนี้ก็เหมือนกันกับพราหมณ์บูชายัญ" ทำไมบูชายัญ "ก็เพราะเขาต้องการสิ่งที่เขาปรารถนา"
เรากระทำเพียรก็เหมือนกัน "ทำไมเราจึงทำความเพียรล่ะ ทำเพื่อมีภพมีชาติ ต้องการตามใจตามปรารถนาจึงเอา ไม่ได้ตามปรารถนาก็ไม่เอา" เหมือนกับพราหมณ์บูชายัญ เขาต้องการเขาจึงบูชายัญ
"พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น การกระทำเพียรก็เพื่อละ เพื่อปล่อย เพื่อเลิกเพื่อถอน ไม่ต้องการภพชาติ ไม่ต้องการเอานั่นเอานี่" กว่าที่ท่านจะมาถูกทาง ท่านก็ปฏิบัติมาไม่รู้กี่อย่างต่อกี่อย่าง .. "
"๘๔ พระธรรมเทศนา"
โอวาทธรรมหลวงปู่ชา สุภัทโท
ความรู้ตัวจริงนั้น ย่อมเป็นตัวที่อยู่คงที่ ไม่มีอาการยืน เดิน ไปมา
ส่วนจิต ก็คือ “ตัวรู้” ซึ่งไม่มีอาการไปอาการมา ไม่มีไปข้างหน้า ไม่มีมาข้างหลัง มันก็สงบเฉยอยู่ และเมื่อตัวจิตราบเรียบอยู่ในปกติไม่มีความคิดนึกวอกแวกไปอย่างนี้ ตัวเราก็ย่อมสบาย คือ จิตไม่มีเงา
ถ้าจิตของเราไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไหวตัวไปมาอยู่ก็ย่อมจะเกิดสัญญาขึ้นมา และเมื่อสัญญาเกิดขึ้น มันก็ฉายแสงออกมา และเราก็จะไหลไปตามมัน จะไปเหนี่ยวดึงเข้ามา การที่เราไปตามเข้ามานั่นแหละมันเสีย ใช้ไม่ได้ จึงให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า “ตัวรู้” นั้น ไม่เป็นไรดอก แต่ “เงา” สัญญานั้นแหละสำคัญ
เราจะมุ่งไปทำให้ “เงา” มันดีขึ้นก็ไม่ได้ เช่น “เงา” มันดำเราจะเอาสบู่ไปขัดฟอกจนตายมันก็ไม่หายดำเพราะเงามันไม่มีตัว ฉะนั้น สัญญาความคิดนึกต่าง ๆ เราจะทำให้ดีเลว ย่อมได้ เพราะมันเป็นเพียง “หุ่น” หลอกเราเท่านั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า ใครไม่รู้จัก ตัว ไม่รู้จัก กาย ไม่รู้จัก ใจ ไม่รู้จัก เงา ของตัวเอง นั่นคือ อวิชชา
คนที่สำคัญว่าจิต เป็นตน ตนเป็นจิต จิตเป็นสัญญา ปนเปกันไปหมดเช่นนี้ เขาเรียกว่า “คนหลง” คือเหมือนกับคนที่หลงป่า
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
คือธรรมะที่จะเกิด....จะไม่เกิดอยู่กับคนพูดมากๆ หรอก
ชอบคนหุบปากนานๆ ชอบเกิด
พูดน้ำไหลไฟดับไป ไม่ค่อยเกิดหรอก สมาธิไม่ค่อยเกิดหรอก
ลมมันออกไปซะหมด
ลมไม่ขังในท้อง สมาธิก็ไม่เกิด ลมก็ไม่ละเอียด
ได้พูดมากลมหยาบใหญ่ จริงหรือเปล่า จริงไหมโยม?
มันหยาบพูดมาก ลมหยาบ
แล้วกิเลสก็ไม่กลัวคนพูดมาก
กิเลสนี่มันกลัวคนนิ่งเฉย
จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ
หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
"คนเราทุกวันนี้ ถ้าเป็นคนที่มีธรรม จะคิด จะพูด จะทำอะไรก็เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นคนไม่มีธรรม เอาเรื่องโลกมาคิด มาพูด มาทำ ก็มีแต่โลกทั้งนั้น ให้เราทั้งหลายช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เห็นการกระทำอะไรที่ไม่ดีให้ช่วยกันบอกส...อนแก้ไขให้ถูกให้ควร อย่าปล่อยให้คนทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่อาตมาพูดว่าดี ว่าถูก ว่าควรแล้ว ให้นำไปไตร่ตรองดูเสียก่อน หากพิจารณาว่าดี ว่าถูก ว่าควร แล้วจึงค่อยเชื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ พ่อแม่ครูจารย์ก็เคยเตือนให้พึงระวังเรื่องอายตนะ ๖ กาย ใจ ตา หู จมูก และลิ้น ไม่ให้นำสิ่งไม่ดีเข้ามา ให้คะลำ ภาษาอีสาน คะลำ หมายถึง หลีกเลี่ยง อย่าเอาสิ่งไม่ดีเข้ามาในตัว หากรู้ว่าไม่ดีให้หลีกหนีให้ไกล"
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ
ใจนี้เป็นของไม่ตาย ให้พากันทราบเอาไว้นะ ว่าตายที่นี่ไปเกิดที่นั่นก็เหมือนกับว่าบ้านเรือนเราพังอยู่ไม่ได้แล้วก็ออกจากบ้านนี้ไปปลูกหลังใหม่สร้างขึ้นมา ถ้ามีเงินมีทองมีข้าวมีของสมบัติดีงามมากเราก็สร้างที่อยู่ที่กินที่อาศัยทุกสิ่งทุกอย่างได้ดี ถ้าไม่มีบุญมีกุศลบ้านหลังเก่าพังลงไป หลังใหม่ไม่ปรากฏที่จะมีขึ้นมาตอบแทนเพราะไม่มีสมบัติ อย่างนี้ก็แย่คนเรา ต้องได้เสาะแสวงหาไว้เสมอ
บุญนี้พากันตกแต่งไปเถอะ ถ้าไม่มีบุญแล้วหมดหวังนะคนเรา ความสมหวังอยู่กับที่บุญของเรานั้นแหละ ไม่ได้อยู่ที่บาปนะ บาปมีแต่ทำให้ผิดหวังทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะสัตว์จะบุคคลไปเกิดในภพใดแดนใดไปเกิดด้วยความผิดหวัง ความสมหวังไม่ค่อยมี ถ้าเราได้สร้างบุญสร้างกุศลไว้แล้วก็เกิดในที่สมหวัง อายุยืนนาน สิ่งเสวยทิพสมบัติก็มีมากมูนไพศาล ถ้าไม่มีบุญมีกรรมเสียอย่างเดียวอดยากขาดแคลนจนจะเป็นจะตายก็ไม่ได้กิน ทุกข์ยากลำบากอยู่เช่นนั้น เรียกว่าคนไม่มีบุญ คนมีบุญอยู่ที่ไหนสิ่งที่จะมาสนองความต้องการนี้ดีทั้งนั้นละ เพราะฉะนั้นเราต้องการของดีก็ขอให้พากันแสวงหาบุญกุศล หาความดีงามใส่ตน อย่าหาแต่ความชั่วช้าลามกใส่ตน ตายแล้วจะจม อันนี้ก็พากันจำไว้ทุกคนนะ
______________________
หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๑
อาจริยวัตร
"กล่าวต่อไปในวาระที่อยู่ในยุคหนองผือ
ข้อวัตรส่วนตัวขององค์ท่านที่ท่านทำอะไร
บ้างเหล่านี้เป็นต้น และสอนลูกศิษย์ขนาดใด
สอนญาติโยมขนาดใด จะได้กล่าวปะปนกันไป เพราะมิได้ชำนาญในการเขียนและการเรียง
ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ นั้น ข้อวัตร
ประจำตัวองค์ท่าน ตอนกลางคืนตีสาม ล้างหน้า
บ้วนปากใส่กระโถนปากกว้างแบบเงียบๆ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ไว้พระสวดมนต์เงียบๆ ในห้องของ
องค์ท่าน บางวันก็สวดนานประมาณสามสิบนาที ได้ยินเสียงอยู่บ้างแต่ไม่รู้ว่าสูตรใดแท้ เพราะเป็นขโมยแอบฟังทั้งกลัวด้วย"
#ครั้นสวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งภาวนา..
"ตะเกียงเล็กๆ จุดไว้นอกมุ้งกลด ภาวนาไปจน
สว่างเป็นวันใหม่ได้อรุณ ลูกศิษย์ที่ไปรวมกัน
คอยรับเพื่อเอาข้อวัตรเช้า ในยามจะออกจาก
ห้องไปคอยอยู่แบบเงียบๆ มิได้พูดกันซุบๆ ซิบๆ
เลย พอองค์ท่านกระแอมเสียงเบาๆ ก็เป็นประตูค่อยๆ เมื่อองค์ท่านเดินออกมาที่ระเบียง ต่างก็
เอาข้อวัตรของใครของมัน ผู้เอาบาตรก็เอาแต่
บาตร ผู้เอาจีวร ผู้นุ่งผ้าถวาย ผู้รัดประคตเอว
ผู้รับผ้าเช็ดหน้าออกจากมือองค์ท่าน ผลัดผ้านุ่ง
แล้วยื่นถวายคืน ผู้เอากระโถนไปล้าง ผู้กวาดกุฏิ
ผู้กวาดทางข้างล่างชายคา ระเบียงจงกรม ผู้คอย
ใส่รองเท้าสวมถวายใกล้ที่ลงบันไป ผู้เอาไม้เท้า
ไปรอไว้ที่ศาลาฉัน เพื่อจะรอถวายในเวลาบิณฑบาต ผู้เอาไฟถ่านอั้งโล่ไปวางไว้ที่ทางจงกรมหัวท้าย
แห่งละอัน แล้วคอยสังเกตการณ์อยู่ตามบริเวณ
แถบนั้น เพราะเมื่อองค์ท่านไปศาลา จะได้เอาตาม
ไปถวายที่ศาลาฉันอันหนึ่ง เตาหนึ่งจะได้รีบเก็บไว้ องค์ท่านเดินจงกรมก่อนไปบิณฑบาตไม่ขาด ได้เวลาก็เดินไปศาลาไกลจากกุฏิองค์ท่านประมาณหนึ่งเส้น ผู้รักษาไฟอั้งโล่ก็ยกไฟตามหลังขึ้นไปไว้
ที่ใกล้องค์ท่านนั่งฉัน เพราะธาตุไฟอ่อนมีอาการหนาว และจะได้เอาผ้าอาบและผ้าคลุมตักมาอัง
และผึ่ง เพื่อได้รับไออุ่นเพิ่มขึ้น"
ให้เข้าใจว่าลูกศิษย์ที่ถือนิสัยมีอยู่กี่องค์..
"ก็ต้องมีข้อวัตรกับองค์ท่านทุกๆ รูป ไม่สับสน
ก้าวก่ายกัน ของใครของมัน ทั้งตรงต่อเวลาด้วย
เป็นระเบียบเรียบร้อย เงียบสงัดไม่เกรียวกราว
เว้นไว้แต่องค์นั้นๆ ป่วยก็มอบให้องค์อื่นชั่วคราว
เมื่อหายป่วยแล้วก็เข้าทำหน้าที่ตามเคย ส่วน..!
งานส่วนรวม เช่น กวาดลานวัด ตักน้ำ รักษาโรงไฟ โรงฉันต่างๆ ต้องเอาใจใส่พร้อมเพรียงกันทั้งนั้น
ไม่ต้องมีการตีระฆังนัดหมายให้เป็นการบังคับร้องเรียกมา เวลาของใครของมันแล้วแต่จะสังเกตไว้ ใครอ่อนแอเหลาะแหละต้องถูกเข่นต่อหน้าสงฆ์
และต่อหน้าญาติโยมเสมอๆ องค์ท่านไม่ไว้หน้า
ใครเลย"
[ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต]
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.