Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความเมตตา

อาทิตย์ 29 ก.ย. 2019 6:40 am

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม สอนผู้เฒ่าผู้แก่ว่า “จิตใจไม่ได้มีอะไรมาก มีอยู่อันเดียว ไม่ต้องไปรู้ว่ามีจิตกี่ตัว ให้รู้ว่ามีแค่จิตเดียว เพราะว่ามีจิตหลายตัว จึงได้เป็นบ้าไปหมด แก่แล้ว ทำไมไม่เอาพุธโธ #เป็นพระมาบวชถ้าไม่เอาพุธโธไม่เอาภาวนาแล้วมาบวชทำไม ถ้าไม่เอาภาวนา ก็จะเป็นพระหมา พระแมว พระวัว พระควาย เมื่อร่างกายตายแล้ว เน่าเหม็น เอาไปไม่ได้ เราก็ต้องเอาจิต เอาใจ ของเรา ต้องทำแต่ความดี..."

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป






ความคุ้นเคยกับบุคคลใด
ที่เคยให้ความเมตตาอุปการะช่วยเหลือ
จะทำให้นึกถึงบุคคลนั้นโดยอัตโนมัติ เมื่อถึงคราวคับขัน
ความคุ้นเคยกับความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็เช่นกัน
อบรมไว้คุ้นเคยกัยความรู้สึกใด
เช่น คุ้นเคยกับอารมณ์มีพุทโธ
หรือคุ้นเคยกับการท่องพุทโธ
เมื่อถึงเวลาคับขัน
ใจจะไม่ไปยึดมั่นเกาะเกี่ยวกับอะไรที่ไม่คุ้นเคย
แต่จะไปเกาะอยู่กับพุทโธที่เป็นยอดศิริมงคลทั้งปวง
ย่อมได้รับศิริมงคลนั้น
อันจักนำให้พ้นพาลภัยใหญ่น้อย
ความคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีมีมงคลจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร







“ เรือแห่งชีวิตที่เราเคยขี่มานาน ด้วยอำนาจแห่ง
กิเลส กรรม วิบาก อันเป็นประดุจลูกคลื่นนั้น
เมื่อถึงชายฝั่งแล้ว เราก็ทิ้งเรือไม่แบกเรือ
ขึ้นฝั่งไปด้วย

เรือคืออะไร ...ก็คือศีล คือธรรมทั้งหลาย
ที่ปฏิบัติมา เป็นประดุจลำเรือ
อาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง
อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่องทิศ
อาศัยครูบาอาจารย์เพื่อเดินสู่จุดหมาย
มีพระธรรมวินัยเป็นแผนที่
มีพระสงฆ์เป็นลูกเรือ
เมื่อถึงฝั่งอย่างที่เราต้องการแล้ว
ย่อมทิ้งเรือต่างๆ ไว้เบื้องหลัง
เป็นเอกจิต เอกธรรมชั่วนิรันดร "


โอวาทธรรม
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท





ปัจจุบัน คำว่า "ปฏิบัติธรรม" กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป

"ในปัจจุบัน คำบางคำก็กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป ยกตัวอย่างคำที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า "ปฏิบัติธรรม" เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า "ปฏิบัติธรรม" อย่างไร?

คนจำนวนมากทีเดียวจะเข้าใจคำว่า"ปฏิบัติธรรม"หรือพูดถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ในความหมายว่า..เป็นการปลีกตัวเข้าวัด หรือต้องไปในป่า และไปอยู่เงียบๆสักระยะหนึ่ง ไปนั่งสมาธิ ไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นพิเศษ ไปอยู่ในที่วิเวกห่างไกลจากผู้คน ออกจากสังคมไป จึงเรียกกันว่า"ปฏิบัติธรรม"

ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันอย่างนั้นมากแล้ว ก็แสดงว่า..เดี๋ยวนี้คำว่า "ปฏิบัติธรรม" ก็เป็นคำหนึ่งที่กำลังมีความหมายเพี้ยนไป และเป็นเครื่องแสดงด้วยว่า วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันมีอะไรๆ ที่กำลังผันแปรไปอีก

คำว่า "ปฏิบัติธรรม" นี้คืออะไร
"ปฏิบัติธรรม" ก็คือ การนำเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ
เรามาทำงาน ถ้าทำงานด้วยใจรักงาน ก็เรียกว่ามี ‘ฉันทะ’ ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เรียกว่ามี ‘วิริยะ’ ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ก็เรียกว่ามี ‘จิตตะ’ ทำงานด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ หาทางแก้ไขตรวจสอบ ทำให้งานดียิ่งขึ้น พิจารณาข้อยิ่งข้อหย่อนในการงานนั้น มีการตรวจตราวัดผลต่างๆ ก็เรียกว่ามี ‘วิมังสา’ ถ้าทำครบ ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำงานด้วย "อิทธิบาท ๔"

"อิทธิบาท ๔" ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง เมื่อทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ ก็คือ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

หลายท่านในที่นี้ก็มีรถยนต์ เมื่อขับรถไปในท้องถนนนั้น ถ้าเราขับด้วยความมีสติ ระมัดระวัง มีความไม่ประมาท รักษากฎจราจร อยู่ในระเบียบข้อบังคับและขับด้วยความสุภาพ อย่างนี้ก็เรียกว่า"ปฏิบัติธรรม" แน่นอนไม่มีพลาดเลย

แม้แต่จะกินอาหาร ถ้ากินอย่างรู้จักประมาณ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตะกละมูมมาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยมองถึงการปฏิบัติธรรม ในความหมายอย่างนี้ แม้แต่เพียงเรานั่งอยู่เฉยๆ เราตั้งจิตคิดนึกจะทำความดี ตั้งใจจะทำความดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีหวังดีต่อเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมไปใช้ในความหมายที่แคบลงๆ จนกระทั่งมีความหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและระมัดระวังกัน"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ตอบกระทู้