การฝึกหัดกัมมัฏฐานคือ ฝึกหัดจิตของตนให้อยู่ในความสงบ จิตของคนเราไม่สงบ ชอบส่งส่ายปรุงแต่งไปในที่ต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ถ้าชั่วมันก็เศร้าหมอง ถ้าดีมันก็ผ่องใสเบิกบาน พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตากรุณาแก่เหล่ามนุษย์ จึงได้ทรงสอนให้ทำจิตสงบอยู่ในความดี คือ จาคะ และรักษาศีล อย่าได้ส่งส่ายออกไปภายนอกหาความไม่ดี จิตจะเศร้าหมอง
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ศรัทธา มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น“งมงาย”
ปัญญา มีมากเกินไป ขาดศรัทธา กลายเป็น“ทิฏฐิมานะ”
สมาธิ มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น“โมหะ”
ปัญญา มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น“ฟุ้งซ่าน”
วิริยะ มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น“เหน็ดเหนื่อย”
สมาธิ มีมากเกินไป ขาดวิริยะ กลายเป็น“เกียจคร้าน”
"สติ" มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี มีแต่คุณไม่มีโทษ
คำสอน... หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
" พูดเรื่องคนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี ตัวที่พูดนั้นแหละมันไม่ดี อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเอาเรื่องคนนั้น มาพูดคนนี้มาพูด ไปนั่งที่ไหนปากแม็บๆๆ ปากเปราะ นี่เป็นนิสัยไม่ดี ให้รีบแก้ไข การได้ยิน ได้ฟังอะไรอย่าด่วนโต้ด่วนตอบกัน เก็บไว้พินิจพิจารณาทุกอย่าง อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้าจะเคย ต่อนิสัย แล้วไม่มาแก้นิสัยตัวเองจะไปแก้อะไร.... "
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ให้เร่งความขยันหมั่นเพียร ตามแบบของหลวงพ่อไว้ ให้หัดลุกแต่ดื่น ตื่นแต่เช้า อย่าทรนงตน เดี๋ยวธรรมะจะหนี เมื่อธรรมะหนี หน้าจะดำปิ๊ดปี๋ อย่าว่าแต่คนไม่แลดูเลย หมาก็ยังไม่แล อย่าด่วนคุยว่าตนเองดี ว่าตนเองเก่ง เดี๋ยวจะเหลิง ฟังแล้วก็เอาไปตรึกตรองด้วย หลวงพ่อก็จะตายแล้วลูกทั้งหลาย
คติธรรม หลวงพ่อคง จตตมโล
เรื่อง “ตัวกู” ทั้งนั้น
“ขอให้มาสนใจเรื่อง“จิต” ที่ไม่มีอะไรเป็น“ตัวเรา”หรือเป็น“ของเรา”เสีย แล้วอย่างนี้จะไม่เป็นอะไรที่เป็นทุกข์ได้เลย
เดี๋ยวนี้มันยกหู ชูหาง กูเป็นพระ กูเป็นเณร นั่นเป็นฆราวาส กูเป็นธรรมยุติ กูเป็นมหานิกาย กูเคร่ง มึงไม่เคร่ง ก็เลยยกหู ชูหาง เรื่อง“ตัวกู”ทั้งนั้น
ถ้าอยากจะให้เคร่ง ก็ให้เคร่งไปในทางที่จะไม่มี “ตัวกู” ให้ถูกวิธี แล้วจะเป็นทางลัดที่ไปเร็ว ไปถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้เร็ว
ถ้าไปมัวเคร่งครัดในทางที่มี“ตัวกู” แม้โดยไม่รู้สึกตัวก็ตาม ก็ปักหลักขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ที่นี่ ในวัฏฏสงสารนี้” พุทธทาสภิกขุ ที่มา : หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “ธรรมปาฏิโมกข์” เล่ม ๑
นี่เรื่องของจิตของเราก็เหมือนกัน ถึงจะออกจากร่างนี้แล้ว ไปเกิดที่ใดก็คือจิตดวงนี้ ไม่มีคำว่าฉิบหาย ไปเข้าร่างใดก็คือจิตอันนี้อยู่นั่นแล จึงต้องระวัง
ให้เราได้เห็นนรกทั้ง 25 หลุมแล้วออกจากนั้นมา แล้วเห็นเปรตเห็นผีสัตว์ประเภทต่างๆ ที่เสวยกรรมตามอำนาจแห่งวิบากกรรมของตนที่สร้างเอาไว้นั้นน่ะสัก 5 นาที เปิดดูให้ชัดเจนตั้งแต่นรกหลุมแรกขึ้นมา สัตว์ตกนรกนั้นเสวยกรรมอย่างไร ประเภทที่ 1 เสวยกรรมอย่างไรนรกที่ 1 ไฟนรกเผาประเภทที่ 1 นั้นเผาแบบไหน มีความร้อนชนิดไหนมีความร้อนประมาณเท่าไรแล้วคำว่าหลุมนรกขุมที่ 1 นั้นเป็นหลุมประเภทใด ให้เห็นอย่างชัดเจนในเวลา 5 นาทีแล้วก็ย้อนดูขึ้นมาๆ นรกจนกระทั่งถึงมนุษย์เราได้ 5 นาที
แล้วก็ให้ดูตั้งแต่มนุษย์นี้ขึ้นไปสวรรค์ 6 ชั้นพรหมโลก 16 ชั้นตลอดถึงนิพพานให้เห็นประจักษ์เช่นเดียวกับฝ่ายชั่ว 5 นาทีแล้วก็ปิดกึ๊ก เหมือนกระทะครอบหัวนั่นแหละ พอปิดกึ๊กแล้วประหนึ่งว่าสะดุ้งตัวกลับฟื้นขึ้นมา
เพราะตอนนั้นญาณหยั่งทราบเปิดโอกาสให้โลกธาตุได้เปิดเผยหมด ให้เราเห็นตามสิ่งที่มีที่เป็นทั้งหลาย ที่โลกว่าไม่มีไม่มีนั่นน่ะ ให้ได้เห็นประจักษ์กับตาของเราแต่ละดวงๆ อย่างละ 5 นาที ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วแล้วตัวของเราจะเป็นยังไง อย่างน้อยต้องสลบ ดีไม่ดี ตาย เพราะไม่เคยเห็นประเภทอย่างนั้น ถ้าว่าสัตว์นรกก็สลบไปเลยแหละ เมื่อไปเห็นแล้วมันไม่เหมือนกับที่เราคาดเอาไว้
คาดเอาไว้ส่วนมากว่านรกไม่มี หรือคาดเอาไว้ว่านรกคงจะเหมือนเรือนจำเขาขังนักโทษในเรือนจำนี้เท่านั้น ไม่ได้เห็นว่ามีความทุกข์ความทรมานขนาดไหน พอจะถึงใจ ต่อเมื่อเราไปเจอด้วยตาของเราจริงๆแล้วเป็นอย่างนั้นสัก 5 นาทีแล้วก็ดูตั้งแต่มนุษย์เรา ถึงพวกรุกขเทวดา อากาศเทวดา จนกระทั่งถึงเทวดา 6 ชั้นถึงพรหม 16 ชั้น ตลอดถึงนิพพานให้ประจักษ์ใจอีก 5 นาที
พอกลับมาแล้วคนๆ ที่เห็นนั้นแล จ้างให้ทำบาปทำกรรมอีกก็ไม่ทำ คอขาดก็ยอมตาย ถึงใครๆเขาจะฆ่า ว่าถ้าไม่ทำบาปเสียอย่างเดียวเท่านั้นเขาจะฆ่าก็ยอมตายไปเลย ยังไงก็ไม่ยอมทำบาป เพราะได้เห็นแล้วโทษแห่งการทำบาปนั้นเป็นอย่างไรๆ ได้เห็นแล้วในแดนนรกทุกขั้นทุกภูมิมาโดยลำดับลำดา แล้วตัวของเราเองจะไปเป็นตัวประกันในนรกเหล่านั้นเป็นไปไม่ได้ ถึงตายในชาตินี้ชั่วระยะคอขาดเท่านั้น 1 นาทีไม่นาน ความทุกข์ทรมานในเวลาคอขาดเพราะถูกเขาตัดคอ คอขาดเพียง 1 นาที ก็หมดปัญหาไป ส่วนไปจมอยู่ในนรกนั้นกี่กัปกี่กัลป์ไม่มีหมดปัญหา ไม่ให้ตายด้วยนะ จะตายก็ไม่ให้ตาย ให้ทรมานอยู่อย่างนั้น เหมือนจะตายแต่ไม่ตายอยู่ตลอดเวลา กี่กัปกี่กัลป์ จนกว่าจะสิ้นโทษสิ้นกรรมนั้น เมื่อไหร่แล้ว ก็เลื่อนขึ้นมานรกอันดับ 2 อันดับ 3 เลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆไม่ใช่จะผุดโผล่ขึ้นมาทีเดียวเลยนะ ไม่เหมือนคนติดคุกติดตะราง ติดกี่ปีกี่เดือนก็ตาม เมื่อหมดโทษแล้ว เขาตัดออกจากเรือนจำทันที ถึงบ้านเลย ไม่ต้องไปติดอยู่ที่ไหนอีก แต่ส่วนสัตว์ทั้งหลายที่ตกนรกนี้ ตกในขั้นนี้แล้ว ภูมินี้แล้ว ก็เลื่อนขึ้นมาตามอำนาจแห่งกรรมของตน จนกระทั่งถึงมาเป็นเปรตเป็นผีอีกเป็นลำดับๆ จนกว่าจะมาเป็นมนุษย์นี้นานแสนนานขนาดไหน
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
พระพุทธศาสนา มีลักษณะ... คำสอนเป็นกลาง เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ปฏิบัติสายกลาง เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” . “พระพุทธศาสนาสอนความเป็นกลางในทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ส่วนได้แง่ของความจริงหรือทัศนะเกี่ยวกับสัจธรรมก็เป็นกลางอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นกลางๆ เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” หรือ “มัชเฌนเทศนา” . ตกลงว่า ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ว่าจะในแง่ของ“การปฏิบัติ” หรือ ในแง่ของความคิดเกี่ยวกับสัจธรรมก็ตาม เป็นสายกลางทั้งหมด คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” อย่างหนึ่ง และเป็น “มัชเฌนธรรมเทศนา” อย่างหนึ่ง . หลักนี้ อาจเปรียบกับการยิงลูกศร ลูกศรที่ยิงไปไม่ถูกเป้าก็จะอยู่ข้างๆ ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง คือ มันไม่พอดี ไม่ตรง“กลาง” ส่วนลูกที่ยิงตรงกับจุดเป้าพอดีนั้น ก็เป็นอันกลาง จึงเรียกว่า “ทางสายกลาง” สายกลางก็คือพอดี ตรงความจริง ที่จะให้เข้าถึงจุดหมาย และเท่ากันพอดีกับความจริงที่เป็น“สัจจธรรม” . “มัชฌิมาปฏิปทา” ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกลางๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่เอียงออกไปข้างโน้น ไม่เอียงออกไปข้างนี้ “พอดี”ที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความมีชีวิตที่ดีงาม . ส่วน “มัชเฌนธรรมเทศนา” ก็ได้แก่ หลักธรรมที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” หรือเรียกเต็มว่า “อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเป็นหลักธรรมที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ตามเหตุปัจจัย หรือเป็นกลางอยู่ตามสภาวะของมัน ไม่เอาใจใคร ไม่ขึ้นกับใคร ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใครๆ แต่พอดีกับความเป็นจริงที่ว่า “สิ่งทั้งหลายนั้นอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย” เหตุปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้น ผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มิใช่ดำรงอยู่โดยลำพังตัวมันเอง อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นหลักสายกลาง . เป็นอันว่า หลักพระพุทธศาสนานั้น เป็นสายกลางทั้งในทางปฏิบัติและในทางความคิด มี “มัชฌิมาปฏิปทา” และ “มัชเฌนธรรมเทศนา” . อีกอย่างหนึ่ง สายกลางนั้นมีความหมายว่า “พอดี” นั่นเอง ตรงกับที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบันว่า “ดุลยภาพ” หรือ “สมดุล” ในพระพุทธศาสนานั้นข้อปฏิบัติต่างๆมักจะมีลักษณะอย่างนี้ คือ มีความพอดี หรือความสมดุล” . สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : ปาฐกถาธรรม ณ สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๒ พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ลักษณะแห่งพระพุทธศานา” (ลักษณะที่ ๑)
|