การมี"ความสุขที่สมบูรณ์" ต้องอาศัย "การมีปัญญา" ที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย
"คนที่ทำจิตใจตัวเองให้มีความสุขได้ มีความสุขที่ท่านเรียกว่า "ทางจิตและทางปัญญา" สามารถมีความสงบในใจของตนเองและมีความสุขได้ อย่างที่เรียกว่า"มีสมาธิ" หรือมีความสุขจาก"การรู้เท่าทันเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย" เป็นความสุขทางปัญญาเนื่องจากเห็นแจ้งความจริง เป็นความปลอดโปร่งโล่ง ไม่มีความติดขัดบีบคั้นใจ อันนี้เป็น"ความสุขภายใน"ของบุคคล ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหา"ความสุขทางวัตถุ"มาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณ
ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอกก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ
แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีกคือ...
๑.ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่
๒.เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และ
๓.ประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมาเพื่อหาความสุขเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป
เป็นอันว่า ประการที่หนึ่ง มนุษย์ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกอย่างเดียว เราสามารถมีอิสรภาพของตนเองที่จะมีความสุขภายใน
ประการที่สอง ความสุขภายในทางจิตใจและทางปัญญา กลับมาเป็นฐานที่จะทำให้ความสุขภายนอกที่มนุษย์แสวงหานั้นเป็นความสุขที่เต็มอิ่มในส่วนชีวิตของตน และไม่เกิดโทษในการเบียดเบียนกันในสังคมด้วย
พระพุทธเจ้าก็จึงสอนให้มนุษย์มีดุลยภาพในเรื่องของความสุข
ความสุขทางด้านวัตถุที่บำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการเสพหรือบริโภคนั้น ท่านไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับว่ามนุษย์ต้องอาศัยวัตถุภายนอก แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็จะต้องมีความสุขทางจิตใจและทางปัญญาเป็นฐาน การขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งภายนอกจะได้น้อยลง มนุษย์จะได้อยู่อย่างมีอิสรภาพมากขึ้น
พอมนุษย์มีความสุขในตนเองได้ เขาก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุขเสมอไป ทำให้ไม่เป็นทาสของวัตถุภายนอก จึงเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องพัฒนาตนเอง การที่จะมีความสุขซึ่งเป็นรากฐานทางจิตใจและทางปัญญาได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเองขึ้นไป เมื่อพัฒนาตนเองขึ้นไปแล้ว เขาก็จะมีดุลยภาพในชีวิต มีความสุขที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ เพราะครบทุกด้านหรือครบทุกระดับมาดึงมาดุลและเสริมเติมแก่กัน
ในชีวิตของมนุษย์ ความสุขเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องยอมรับความจริง ถ้าเราจะมีความคิดและชีวิตที่ทวนกระแส เราจะต้องให้ชีวิตที่ทวนกระแสของเรามีความสุขด้วย มิฉะนั้นแล้วการทวนกระแสนั้นจะไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ไม่มีความสุขนั้นไม่ยั่งยืน เราอาจจะทนทำไปด้วยแรงพลุ่งหรือแรงกระทุ้งผลักดัน เช่นความยึดมั่นในอุดมการณ์ หรือความปลุกเร้าอะไรต่างๆ การทำด้วยแรงปลุกเร้านี้ไม่ยั่งยืน มันจะอยู่ได้เพียงระยะหนึ่งถ้าไม่มีความสุขเป็นรากฐาน
ชีวิตที่ดีงามยั่งยืนจะต้องมีความสุขอยู่ด้วย อย่างที่พระท่านเรียกว่า"ไร้ทุกข์" ซึ่งก็เป็นความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า "สุข" นั่นเอง นอกจากจะดีงามแล้ว ก็"มีความเป็นอิสระ" ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นไทแก่ตัวเอง และมีความสุขด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการมีปัญญาที่จะมองเห็นความจริง และคุณค่าของสิ่งทั้งหลายมากขึ้นๆ
เพราะฉะนั้น ในการที่มนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์นั้น องค์ประกอบที่สำคัญก็คือ "การพัฒนาปัญญา" ของตนเอง
ฉะนั้น จุดเริ่มต้นหรือฐานของเรา จึงได้แก่การที่ต้อง "มีปัญญา"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ "ข้อคิด ชีวิตทวนกระแส"
"ในการดำเนินชีวิต ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรค ก็ทำอะไรไม่ได้ คนที่เข้มแข็งย่อมไม่แพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไปด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น"
น้อมถวายอภิสัมมานสักการะแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ด้วยเศียรเกล้า ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ๑๐๖ ปี พระชาตกาล สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน" เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" เหมือน "น้ำ" เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อและเป็นของดื่มกิน เพื่อมีชีวิตช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า" เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชัง ฉันใด ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น
เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด ดังสุภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า "จิตตัง ทันตังสุขาวหัง" จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้ว นำมาซึ่งความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
โอวาทธรรม:พระคุณเจ้าองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย
อย่าไปคิดเรื่องคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี มากยิ่งกว่าความคิดว่าเจ้าของไม่ดี ดูตรงนี้นะ........... ... ธรรมพระพุทธเจ้าท่านสอนตรงนี้ แล้วจะเย็นไปหมด ถ้าออกจากนี้แล้ว...ไม่เย็น ลงในน้ำแช่น้ำแข็งก็กลายเป็นไฟไปเลย หาความเย็นในหัวใจไม่มี
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ถ้าอยากจะทราบความตายเกิด ตายสูญ จริงๆแล้ว กรุณาพิจารณาธรรมชาตินี้ ให้ถึงความจริงของมัน จะไม่มีใครรู้เรื่องความตายเกิดตายสูญได้ยิ่งกว่าเราเป็นผู้รู้เรื่องของเรา
จะถามใครก็เชิญ ไม่มีทางจะให้ความเข้าใจหายสงสัยได้ ไม่ถามตัวเอง ถ้าไม่ดูตัวเอง ซึ่งเป็นตัวเกิดตัวตายอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกว่าวัฏจักร
จะเป็นอะไรล่ะวัฏจักร ถ้าไม่ใช่จิตดวงนี้ที่หมุนไปด้วยอำนาจของอวิชชาพาให้เกิดพาให้ตายอยู่ไม่หยุดยั้ง
เป็นแต่เพียงเราไม่สามารถที่จะรู้เรื่องความเป็นมาของเราเท่านั้น จึงสงสัยเรื่องของเราเมื่อสงสัยเต็มที่แล้ว ไม่มีทางออก ก็ตัดสินเอาเสียเองว่าตายแล้วสูญ แล้วมันสูญไปไหนมัน สูญจริงๆ แล้วใครเล่ามาเกิดอยู่เวลานี้ อะไรพาให้เกิด ถ้าสูญจริงๆ แล้วต้องไม่มีอะไรเป็นเครื่องก่อกำเนิดเกิดได้อีก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏตัวขึ้นมานี้ ต้องปรากฏตัวมาจากสิ่งที่มีอยู่ทั้งนั้น
ใจก็มีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ ที่มาผสมกันเข้า เป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นท่าน ไม่มาจากไหน มาจากสิ่งที่มีอยู่
ใจก็มีอยู่ อวิชชาที่เป็นเชื้อให้พาเกิดพาตายก็มีอยู่ภายในใจ แต่เราไม่ทราบ เพราะอำนาจแห่งความลุ่มหลงนี้เป็นเครื่องบดบัง หรือเหยียบย่ำทำลายความจดจำ และความจริงที่เคยเป็นมา จึงไม่อาจทราบได้ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการอยากจะทราบความจริง จงนำหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปพิสูจน์ด้วยจิตตภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง
อย่ารั้งรอเสียดายกิเลส คือความเกียจคร้านอ่อนแอ และสงสัยไร้ประโยชน์ จะทราบได้อย่างชัดเจนไม่ต้องถามใคร
กิเลสมีมากน้อยจะแตกกระจายไปหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้นล้วนๆ
อันเป็นธรรมะสิ้นภพ จนสิ้นความสงสัยทั้งมวล เมื่อเหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆแล้ว เราเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ เพราะสาเหตุอันใด ทำไมจะทราบไม่ได้.... ว่าบัดนี้เราสิ้นสุดแล้วในเรื่องความเกิดความตาย ที่หมายป่าช้าตรงนั้นตรงนี้ หมายภพนั้นภพนี้ เพราะบรรลุถึงแก่นธรรมะอันเป็นเครื่องสังหารกิเลสทั้งมวล ที่ทำให้เกิดตายโดยสมบูรณ์แล้ว
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
"ในมหาสติปัฏฐาน มีกาย เวทนา จิต ธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นธรรมเครื่องตัดกระแสทั้งหมด ผู้เจริญในมหาสติปัฏฐานวันเดียวสามวัน เจ็ดวันไม่เกินเจ็ดปีได้สำเร็จมรรคผลทั้งนั้น หากตั้งใจทำจริงๆ มหาสติปัฏฐานเป็นธรรมที่จะละเป็นธรรมที่จะปลดปล่อย เป็นธรรมที่จะเปลี้องออกจากโลก โลกก็คือสิ่งที่เกิดดับ ความเกิดดับทั้งหมดเป็นโลกทั้งนั้น จึงเป็นข้อปฏิบัติ เป็นอุบายที่จะถอนออกจากกระแสโลกโดยตรงทีเดียว"
หลวงปู่แบน ธนากโร
หายใจลงไปถึงคอหอยแล้ว ให้กระจายออกไปทางข้างซ้ายข้างขวา ผ่านปอด แล้วก็ถึงหัวใจ แล้วลงไปสู่ส่วนกลาง เหมือนกับเรือยนต์ที่แล่นไปในน้ำเป็นปีก ๒ ข้าง แหวกโปร่งโล่งไปโดยตลอด ถ้าใจยังไม่นิ่ง ให้มองดูแต่ลมเข้า ลมออกอย่างเดียว ไม่ต้องไปดูว่าดีหรือไม่ดี จะทำให้ใจวอกแวกไป เหมือนชาวสวนถางหญ้าไว้มากนัก ปลูกไม่ทัน หญ้าก็จะขึ้นมาอีก ให้ถางเฉพาะตรงที่ที่จะทำการเพาะปลูกนั้นเสียก่อน จึงจะได้ผล
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
|