Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความเมตตา

เสาร์ 12 ต.ค. 2019 5:36 am

“ดูตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง เรียกว่าดูที่ตัวเราก่อน ไม่ต้องไปดูคนอื่น ส่วนมากแล้วคนเรามักชอบโทษคนอื่นไม่ชอบโทษตัวเอง

มันเหมือนกับเรามองดูขนตาของเรา แต่มองเท่าไรก็มองไม่เห็น บอกไม่ถูกว่ามันมีกี่เส้น มันยาวขนาดไหน มันไม่เห็นอะไรเลย การที่เรามองดูตัวเองไม่เห็น เพราะเราขาดสติปัญญา”

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป







ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงธรรมมักชอบเข้าข้างตัวเอง
จึงต้องสำรวมต้องระวังอยู่ตลอดเวลา
ไม่เชื่อความคิดมากเกินไป
เราประมาทไม่ได้แม้วินาทีเดียว
สติย่อหย่อนเมื่อไหร่
sniper (คนลอบดักยิง) คือกิเลสจะจัดการทันทีเมื่อนั้น
เราใช้ความเพียรด้วยปัญญาอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมถอย
ไม่ต้องสงสัย การเจริญในธรรมย่อมเกิดขึ้น

โอวาทธรรมพระอาจารย์ชยสาโร






“..ถ้าเป็นเรื่องจริง เมื่อถึงเวลาที่ควรติก็ต้องติ
เมื่อถึงเวลาที่ควรชมก็ต้องชม
แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็ไม่ควรพูดแท้

และแม้เป็นเรื่องจริง หากไม่ถึงเวลาที่ควรติหรือชม
ก็อย่าไปติหรือชม นิ่งเสียดีกว่า
... ฉะนั้นความมีกาลัญญุตาในที่นั้นๆจึงเป็นหลักสำคัญ

คือเวลาที่ควรนิ่งก็นิ่ง เวลาที่ควรพูดก็พูด
หรือเวลาที่ควรอุเบกขา ก็วางอุเบกขา
เวลาที่ไม่ควรอุเบกขา ก็พูดออกไป
สุดแต่ว่าเวลาไหน จะควรติ หรือชม ...”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก







ผู้ ที่เจริญกายคตาสตินั้น ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน เพราะ พระพุทธเจ่าท่านตรัสไว้ดังนี้ว่า อะมะตันเตสัง ภิกขะเว แน่ะภิกษุทั้งหลาย ใครเจริญกายคตาสติ ผู้นั้นได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน เป็นธรรมอันไม่ตายแล้ว เพราะว่า พระนฤพานเป็นธรรมดับ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ที่เจริญกายคตาสตินี้ ทำให้เกิดปฏิกูลพึงเกลียดระงับดับ ราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ...พระองค์จึงตรัสว่า ดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน

เหตุนั้น เมื่อปรารถนาจะรักษาพรหมจรรย์ของตนให้บริสุทธิ์ และ จะใคร่ดื่ม ซึ่งรส คือ พระนฤพานแล้ว ก็พึงเจริญเถิด ซึ่งกายคตาสติกัมมัฏฐานนี้ เมื่อเจริญก็ให้เกิดปฏิกูลขึ้นในใจของตนให้ได้ ครั้นเกิดแล้ว ให้รักษาปฏิกูลสัญญานั้นไว้ ถ้าเพียรไปก็อาจให้เกิดสมาธิฌานได้ อันนี้ก็เป็นอุบายชำระใจให้บริสุทธิ์ เป็นกุศลอันวิเศษอย่างหนึ่ง

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล







พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาของพวกเราทุกคน ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้อบรมเจริญปัญญา เป็นเป้าหมายเดียวไปสู่ความดับทุกข์ ปัญญาไม่ได้อยู่ที่วัด ปัญญาไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป ปัญญาไม่ได้อยู่ที่หลวงปู่หลวงพ่อรูปหนึ่งรูปใด ปัญญาอยู่ที่การฟัง การคิด และการอบรมสั่งสมให้เจริญขึ้นในตัวของผู้ปฏิบัติเอง จนพบความจริงว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีสัตว์ บุคคล เราเขา มีแต่รูปกับนามเท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

(โอวาทธรรม สมเด็จพระสังฆราช)








ท่านจำไว้นะ เรื่องการภาวนา ฐานสมาธิสำคัญมาก
คำบริกรรมต้องแนบสนิทกับจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน...
เรื่องการสู้เวทนา...
การพิจารณากาย
พิจารณาจิต

ท่านจำไว้
เรื่องจิตอวิชชา หลงร้อยละ 99
ท่านอย่าปล่อย
หรือชะล่าใจในเรื่องนี้

และถ้าใครมาถามท่านให้ถ่ายทอดอย่างนี้ทุกประการ


คุณแม่จันดี โลหิตดี







คนโดยมาก มักเข้าใจผิดในผลของความดี
คือมักไปเข้าใจ "ผลพลอยได้" ว่าเป็น "ผลโดยตรง"
และมักมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ

เมื่อไม่ได้ผลเป็นวัตถุจากการทำความดี
ก็บ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร
... รักษาศีลไม่เห็นร่ำรวยอะไร
เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า ผลของความดีคืออะไร

ผลของความดีคือ "ความหลุดพ้น"
ผู้ทำความดี ย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้น
จากความเห็นแก่ตัว
มีจิตกว้างขวางออกไปโดยลำดับ
และเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ
และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี
มิใช่เพื่อผลตอบแทนใด ๆ เป็นสำคัญ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก







"ไปว่าคนนั้นโลภ คนนี้โลภ
ก็เพราะตัวเอง มีความโลภอยู่
จึงไปเห็นความโลภของคนอื่น

คนที่ไปว่าคนโน้นไม่ดี
ก็เพราะตัวเองยังไม่ดี
จึงมองเห็นความไม่ดีของคนอื่น

ธรรมวินัยนี้ ถ้าจิตมันถึงแล้ว
มันไม่อยากจะไปคิดตำหนิใคร
ธรรมะนี่ ถ้าตั้งใจจะปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว
มันไม่มีที่ไหนจะไปวัดกัน"

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย







"คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น
ผู้อื่นเขาก็จะให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา
ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน
ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธที่จะปกป้องตัวเราเอง
ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ
จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล"

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
ตอบกระทู้