พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 14 ต.ค. 2019 6:43 am
" การภาวนานี่ก็เหมือนเราขุดน้ำบ่อนั้นแหละ ตาน้ำอยู่ตื้นก็มี อยู่ลึกลงไปๆ ก็มี แต่มีน้ำอยู่ด้วยกัน เป็นแต่เพียงว่าลึกตื้นต่างกัน ผู้ที่รวดเร็วอย่างขิปปาภิญญา พอหยั่งจอบหยั่งเสียมลงจ๊อกๆ เท่านั้น น้ำพุ่งขึ้นมาแล้ว แล้วลึกกว่านั้นไปอีก ขุดลงไปอีก น้ำก็ขึ้น ซัดลงไปจนกระทั่งน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น น้ำเหงื่อไหลเต็มหลังหมดก็มี น้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น แต่มันก็ขึ้นได้ถ้าขุดไม่ถอย ถ้าน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น น้ำบนหลังก็ขึ้นก่อน น้ำเหงื่อ เข้าใจไหม น้ำเหงื่อแตกออกน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้นก็มี มันลึกมันตื้นต่างกัน ท่านจึงบอกไว้หลายประเภท
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทั้งปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว นี่เป็นอันดับหนึ่ง
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
นั่น ๔ ประเภท ท่านแยกไว้หมด สัตว์โลกอยู่ใน ๔ ประเภทนี้ เพราะฉะนั้นจะเอามาวัดมาเทียบกันไม่ได้ ตามแต่จริตนิสัยของใครของเรามันพอดีตัวเอง จะไปเทียบกับใครก็ไม่ได้ ควรจะเร็วมันก็เร็วขึ้นมาตามนิสัยของผู้นั้น ควรจะช้าก็ช้า แต่สำคัญที่ความอุตส่าห์พยายาม อันนี้เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จในธรรมทุกขั้น ไม่ว่าขั้นเร็ว ขั้นหยาบหรือขั้นช้า ความเพียรหนุนตลอด...ได้ ท่านไม่ให้ละความเพียร จึงว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนที่จะล่วงจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งความเพียร ถ้าปล่อยความเพียรเสียไม่ได้เรื่อง ถึงขิปปาภิญญาก็นอนแช่อยู่อย่างนั้น เฝ้ากันอยู่ ไม่เปิดประตูให้ก็ออกไม่ได้ นอนจมอยู่ประตูนั้น พอเปิดคือหมายถึงว่าปฏิบัติปั๊บ เปิดประตูแล้วพุ่งผึงออกเลย ต่างกันอย่างนั้น มีหลายประเภท
เรื่องธรรมในใจนี้เป็นเข้ากับผู้ใดแล้วมันก็แน่ใจๆ แต่ธรรมมีผิดกันกับโลกก็คือว่า ไม่มีผาดโผนโจนทะยาน ไม่มีอยากพูดอยากคุยอยากโม้อยากอวด ต่างกันอย่างนี้กับกิเลส กิเลสมีมากมีน้อยมันออกของมัน มันอยากออกอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่ปฏิบัติ แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมท่านจึงเรียกว่าสุขุม ควรแก่การกราบไหว้บูชาทุกประเภทของธรรม พอดิบพอดีไปตลอดเลย ไม่ผาดโผนโจนทะยานเหมือนกิเลส ต่างกัน"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
ระลึกถึงทาน
“...เราทานทุกวันแต่ไม่รู้เรื่องการทาน คือกินข้าวทุกวันแต่ไม่ทราบว่ากินเพื่ออะไรนั่น!! เราทานทุกวันแต่เราไม่ทราบว่าทานเรื่องอะไร ทานยังไงนั่นจึงสอนทานด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ และก็สอนเรื่องการระลึกถึงทานของตัวเองไม่ได้ด่างพร้อยอยู่ที่ไหนก็ระลึกถึงทานตลอดๆๆ อยู่จุดไหนก็มีความสุขระลึกถึงทาน วันนี้ไม่ได้ทานแต่ระลึกถึงผลทานแล้วก็เหมือนทานวันนี้นั่น นั่นผู้ทานเป็น ระลึกถึงผลทานที่ได้กระทำมาแล้วรู้ระลึกเห็นเมื่อไรก็มีความสุขสบายใจ เราทานมาแล้วเป็นปีเราไม่มีโอกาสไปวัดนั้นอีก เราระลึกถึงเราก็มีความสุขนั่น เราไม่ได้ทานมาแล้วเป็นหลายปีพอระลึกถึงแล้วเราก็มีความสุข ก็เหมือนทานทำวันนี้นะแต่ถ้าทานแล้วที่ไหนก็ตามทานแล้วทิ้งเราก็ไม่ได้อะไรในการทานอีก...”
โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่น้อย ญาณวโร
วัดป่าห้วยริน ต.หัวนาคำ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒
หมอวัฒนาเล่าว่าตอนที่รู้จักหลวงพ่อเทียนใหม่ ๆ กำลังสนใจพระเครื่องมาก วันหนึ่งได้เอาพระนางพญาพิษณุโลกมาให้ท่านดู พร้อมกับอวดว่าพระเครื่ององค์นี้เก่าแก่มากสร้างมาตั้ง 700 ปีแล้ว
“พระองค์นี้ทำจากอะไร” ท่านถาม
หมอวัฒนาอธิบายว่า “ทำจากเนื้อดินเผา แกร่งสีเนื้อมะขามเปียกมีแร่ต่าง ๆ ปรากฏอยู่เต็ม”
ได้ยินเช่นนั้น ท่านก็พูดเรียบ ๆ ว่า “ดินนั้นเกิดมาพร้อมกันตั้งแต่สร้างโลก พระองค์นี้ไม่ได้เก่าแก่ไปกว่าดินที่เราเหยียบก่อนเข้ามาในบ้านนี้หรอก”
เพียงประโยคนี้ประโยคเดียว หมอวัฒนาก็ “ตาสว่าง” ตัดสินใจถอดพระเครื่องออกจากคออย่างไม่ลังเล
เคยมีคนถามท่านว่าแขวนพระดีหรือไม่ ท่านตอบว่า “ดี แต่มีสิ่งที่ดีกว่าแขวนพระจะเอาไหม”
อีกคราวหนึ่งมีคนถามท่านด้วยความสงสัยว่า เครื่องรางของขลังของเขามีอานุภาพตามที่เล่าลือหรือไม่ ท่านไม่ตอบ แต่ถามกับว่า
“คนทำตายหรือยัง”
เมื่อได้คำตอบว่าคนที่ทำได้ตายแล้วเพราะเป็นของมรดกตกทอดกันมา ท่านจึงตอบว่า
“คนที่ทำยังตายเลย แล้วเราจะหวังสิ่งนี้ ช่วยไม่ให้เราตายได้อย่างไร”
แม้หลวงพ่อเทียนเป็นหลวงตาที่พูดน้อย น้ำเสียงเบา แต่ถ้าพูดถึงการสอนธรรมแล้ว ท่านมั่นคง พูดตรง ไม่อ้อมค้อม และไม่ยอมประนีประนอมเลยโดยเฉพาะเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่คนเชื่อ ว่าศักดิ์สิทธิ์ ท่านเห็นว่านั้นกลับทำให้คนมีความหลงงมงายมากขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรม
โอวาทธรรม หลวงพ่อเทียน
ทุกข์ แปลว่า สิ่งที่ดำรงคงอยู่ได้ยาก แต่มีความหมายเป็นปฏิเสธว่าดำรงทนอยู่ไม่ได้ทีเดียวคือต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆเพราะทุกอย่างในโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาล สิ่งที่เคยมี เคยเป็น ต้องแปรเปลี่ยนไป เมื่อจิตใจรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่มีถึง จึงทำให้เกิดความไม่พอใจไม่สบายใจก็เลยกลายเป็นความทุกข์ตามความหมายสามัญคำว่าทุกข์ตามความหมายสามัญ หมายถึงความไม่สบายกาย ไม่สบายใจตรงข้ามกับความสุขฉะนั้นเมื่อพูดถึงความทุกข์จึงมักเข้าใจกันตามหลักสามัญดังกล่าว
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.