“การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
“ธรรมทานนั้นมีผลมากกว่าทานอื่นจริงๆ วัตถุทาน ก็ช่วยกันแต่เรื่องมีชีวิตอยู่รอด, อภัยทาน ก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด แต่มันยังไม่ดับทุกข์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์น่ะ! มันดีอะไร, ให้เขามีชีวิตอยู่ แต่เขาได้รับทุกข์ทรมานอยู่ นี้มันดีอะไร? . เมื่อรอดชีวิตอยู่ แล้วมันจะต้องไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์ ข้อนี้สำคัญกว่าด้วยธรรมทาน มีความรู้ธรรมะแล้วรู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ รู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ ธรรมทานจึงมีผลกว่าในลักษณะอย่างนี้ มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน . วัตถุทาน และ อภัยทาน ช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉยๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามาก็จะสามารถช่วยให้มีผลถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในเรื่องธรรมทาน . ทีนี้ ให้ธรรมทานมีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลส มันก็ไม่มีปัญหา มันก็เสวยความสุขชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นของเหนือกว่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทาน คือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะแล้วก็จะได้ผลชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐ ยิ่งกว่าให้วัตถุทาน. . ให้วัตถุทาน ชื่อว่าให้กำลังแรงกาย ส่งผลให้ร่ำรวย เป็นสุขในสวรรค์ ให้อภัยทาน ชื่อว่าให้ความไม่มีเวร ส่งผลให้ชีวิตสงบ เป็นสุขในสวรรค์ ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้ปัญญา ให้แสงสว่าง ให้ความพ้นทุกข์ ส่งผลให้มีสติปัญญาเห็นแจ้งในมรรค ผล เข้าถึงสุขสูงสุดในนิพพาน”
พุทธทาสภิกขุ
“สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด ถ้าไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้น เกี่ยวกับ "ความดับทุกข์"
การกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความสว่างไสว “ในทางธรรมะ”แก่เพื่อนมนุษย์ นั่นแหละ! “กุศลอันสูงสุด”
พุทธทาสภิกขุ
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
ที่มา:พุทธศาสนสุภาษิต
"การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง"
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสพระคาถานี้แก่ ท้าวสักกะจอมเทพ และเหล่าเทวดา
ที่มา : สักกเทวราชวัตถุ พระไตรปิฎกภาษาไทย ( มจร. ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๖๔/๑๔๔
ธรรมะและปฏิปทาที่ดีๆ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มบุญให้แก่ตนเอง เพิ่มวาสนาบารมีธรรมให้แก่ตนเอง ...”ถึงจะไม่เกิดมา เสียชาติเกิด”
...หลวงปู่ไม อินทสิริ.
ลักษณะของคนเก่งคนมีบุญ จะต้องมีศีลสมาธิปัญญาแก่กล้า เอาตัวเองรอดปลอดภัยได้
...หลวงปู่ไม อินทสิริ.
เรากำหนดลมหายใจเข้า "พุธ" หายใจออก "โธ" มันเริ่มควบคุมทันทีเลย พอใจจะคิดอะไรก็ "พุทโธ" ธรรมดามันก็คิดของมันไปเรื่อย ไม่มีการควบคุม แต่พอเริ่มภาวนา มันจะถูกควบคุมทันที นั่นแหละคือธรรมคุ้มครองใจเรา ถ้าเรายิ่งภาวนา มันก็ยิ่งควบคุมไปเรื่อยๆ หนักเข้าๆก็เคยชินอยู่กับ "พุทโธ" จนเคยชิน มันก็ไม่ค่อยคิดอะไรมากมาย เคยโกรธเคยเกลียดกันก็เลิก มันก็ถูกควบคุมมาอยุ่เป็นหลักเป็นฐานที่ดี
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
(ท่านอาจารย์มั่นว่า) ทำบุญดี ตายไปได้ขึ้นสวรรค์ ครูบาอาจารย์องค์ไหนมีญาณดีๆ เมื่อเราตายไปแล้ว กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็จะได้เป็นลูกศิษย์ท่าน
เป็นมนุษย์มันมีแต่ห่วงบ้าน เดี๋ยวตายไปเป็นเปรต ฟังซิ ต้องถือเป็นคติพระ อย่าไปห่วงมันเยอะ
ข้าวของ เงินทอง ตายแล้วเอาไปไม่ได้หรอก ไปหัดภาวนาให้เป็น ไม่ต้องเอาอะไรมาก เพียงแต่ให้ใจ "พุทโธ" อันเดียวก็พอแล้ว ใจอยู่กับพุทโธ โธๆๆๆ เราก็ได้ไปสู่สวรรค์ ไปสู่สุคติใจสบาย
ท่านพระอาจารย์ท่านเทศน์สอนเสมอว่า "อันนี้เป็นของเราแท้ๆ" เพราะเมื่อใจสงบ ใจไม่กังวล ใจเป็นสมาธิ ตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ เพราะใจโปร่ง ใจใส ใจสวรรค์ ใจคิดใจวุ่นใจวาย ใจนั้นตกนรก ทำให้มันผ่องใส ทำให้มันสะอาด ใจมันหมดจดแล้ว ได้ไปสู่สุคติ ท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ
ท่านเล่าว่า " ถ้าทำสมาธิได้ดี เปรียบเหมือนนั่งเจดีย์ เทวดามีเรือนอยู่บนนี้ มีมาเกาะอยู่บนต้นไม้ต้น ไม้แดง 2 ต้นนั่น ใครไปถูกไม่ได้นะ อันตรายทันที แต่เวลาท่านอยู่ไม่เป็นไร เวลากลางคืนเขาเข้ามากราบ แต่บางพวกท่านบอกว่าเขาทำบุญเหมือนกัน แต่เป็นเทวดาที่อยู่ตามพื้นดิน บางทีก็มีปราสาทบางทีก็ไม่มีปราสาท อยู่บนต้นไม้ อาศัยต้นไม้"
จากประวัติหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
การดูลม
การดูลมหรือที่เรียกว่าอานาปานสตินี่ ต้องเหมือนคนเป็นเศรษฐี ต้องมีทรัพย์สินข้าวของเงินทอง กินไม่หมดแล้ว จึงดูลมได้ นั่นบุคคลนั้นเป็นเศรษฐีแล้ว รวยแล้ว
ถ้าพูดถึงสมมุติ ต้องเป็นอริยเจ้าขั้นสูงแล้ว เป็นพระขีณาสพ นั่นถึงดูลม
ถ้าผู้ไม่เป็นพระขีณาสพ ไปดูลมไม่ได้ สมาธิยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอ ยังไม่สิ้นอาสวะ
ตัวนี้ตัวสำคัญ มีคนมาถามกันเยอะแยะนะ... ถ้าใครไม่เชื่อก็ให้กลับไป คุยกันไม่รู้เรื่อง
มีผู้หญิงมาถาม เราก็นั่งหลับตาคุยด้วย มันเอาตำรามาเปิด
ทีหลังมันถามเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน เปิดตำรา ดูตำรา เลยบอกโยมกลับไปเถอะ เราไม่เป็น ไม่เป็นแล้ว ไล่กลับไปเลย
#การภาวนาต้องบริกรรม
ฉะนั้นพวกเราอย่าไปเสียดายบริกรรม ว่าจนให้มันเหนื่อยที่สุด ให้มันนานเท่าไหร่ได้ยิ่งดี สักประเดี๋ยว จิตมันก็สงบ
มันโหยจากการไม่นึกคิดแล้ว ถ้าเราไม่บริกรรม มันกำลังเเข็งตัว มันก็ต้องออกไปสู้กับเราอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นต้องบริกรรม พุทโธๆ โธๆๆๆๆ ว่าให้เร็ว พอมันหมดลมก็เอาอีก โธๆๆๆๆ แต่อย่าให้ดัง เดี๋ยวเขาว่าบ้า ให้เบาๆ ในใจ ว่าอยู่อย่างนั้นให้เร็วๆ โธๆๆ หยุด โธๆๆ หยุด ถ้าเราโธเข้าโธออก ก็เสร็จฉิบ..หมดสิ หัวใจมันห่าง แล้วมันคิดหมด
ถ้าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันยังมีที่ออก คิดไปโน่นมานี่ได้ทั่วไปหมด เพราะธรรมชาติของจิต จิตมันออกรู้เร็วอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดต้องว่าให้เร็วเข้าไว้ เร็วจนมันหายกลายเป็นความสงบขึ้นมา
แม้มันจะหลับก็อย่าให้มันหลับ มันกินข้าวมาก ก็จะหลับ อย่าให้มันหลับ
พอจิตเกิดความสงบขึ้นมาเราก็จะรู้
การภาวนาต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้ตัวอยู่ไม่มีคำว่าหลับหรอก
พอจิตมันนิ่งเราก็หยุดพุทโธ อันนี้มันจะรู้อยู่ในตัวของมันเอง
พอจิตมันสงบเต็มที่ถึงฐานของมัน ถ้ารู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ท่านก็เรียกว่า "ญาณ" คือการหยั่งรู้
ถ้าจิตออกรู้แล้วก็จะมีสิ่งมาปรากฏให้เราเห็น
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
“จงทำใจให้เหมือนน้ำ เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อ และเป็นของดื่มกินเพื่อมีชีวิตช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก”
โอวาทธรรมองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
|