Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

โลกใบนี้

พฤหัสฯ. 17 ต.ค. 2019 4:40 am

...โลกใบนี้เป็นโลกของ
“ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน”
โลกของความพลัดพรากจากกัน

ได้เงินมากองเท่าภูเขา
“สักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป”
ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด

ได้ร่างกาย...
รูปร่างหน้าตาสวยงามขนาดไหน
“สักวัน..ก็ต้องแก่ ต้องตายไป”.

......................................
.
หนังสือธรรมะโดนใจ2หน้า53
ธรรมะในศาลา 6/7/2551
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







"..ความจริงผ้าป่ากับผ้ากฐิน เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่แต่ว่า อานิสงส์โดยเฉพาะกฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด จะต้องทอดตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 แต่ อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัย ได้หลายสิกขาบททำให้สบายขึ้น

...การทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์ คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า”ปทุมมุตตระ” ท่านเคยเทศน์วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็น”มหาทุกขตะ”

...ท่านกล่าวว่า การทอดกฐินครั้งหนึ่ง จะปรารถนาพุทธภูมิก็ได้ จะปรารถนาเป็นอคัรสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้ จะปรารถนาเป็นอรหันต์ก็ได้ และจะเข้านิพพานก็ได้

...แต่ถ้าหากว่ายังไม่ถึงพระนิพานเพียงใด อานิสงส์กฐินจะให้ผลแก่ท่านผู้นั้น คือ จะเป็นเทวดา 500 ชาติ พอพ้นจากเทวดา 500 ชาติ จะเป็นมหาเศรษฐี 500 ชาติ เลื่อนลงมาเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ พ้นจากอนุเศรษฐี 500 ชาติ ลงมาเป็นคหบดี 500 ชาติ แต่ไม่ถึงนะ ไปนิพพานก่อน นี่อานิสงส์ของกฐิน"

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน







“ญาติแท้ มิตรแท้ จะรู้ได้แน่
ก็ในยามยาก ในยามจน ในยามเจ็บ
จะรู้ว่าใครจริงใจ หรือไม่จริงใจ”

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ








"หลวงพ่อชากับรถยนต์"

ทุกวันนี้รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับคนมีเงินไปแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสเห็นอะไรดีก็อยากถวายให้พระได้ใช้บ้าง เพราะเชื่อว่าจะได้บุญ...มาก

ดังนั้นการถวายรถยนต์แก่พระจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนมีเงิน จนกระทั่งรถกลายเป็นเครื่องแสดงสถานภาพของพระว่าเป็นที่ศรัทธานับถือของญาติโยม

ผลก็คือพระที่มีสมณศักดิ์ท่านใดที่ไม่มีใครถวายรถให้ ก็ต้องถือเป็นกิจที่จะขวานขวายหารถมาประดับบารมี

สำหรับหลวงพ่อชา สุภัทโทนั้น ท่านไม่ต้องขวานขวายหารถเพราะมีคนอยากถวายรถยนต์ให้ท่าน

แต่แทนที่ท่านจะตอบรับ ท่านได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์วัดหนองป่าพงหลังสวดปาฏิโมกข์เพื่อฟังความเห็นพระสงฆ์ ทุกรูปเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะรับด้วยเหตุผลว่า สะดวกแก่หลวงพ่อเวลาไปเยี่ยมสำนักสาขาต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า ๔๐ สาขา ในเวลานั้น

อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธก็จะได้นำส่งหมดได้ทันท่วงที

หลังจากที่หลวงพ่อชารับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแล้ว ท่านก็แสดงทัศนะของท่านว่า

“สำหรับผม มีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ เป็นผู้สงบระงับ เราต้องเป็นผู้มักน้อย สันโดษ

เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิต เพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารจากเขา เรามีรถยนต์แต่เขาไม่มี

นี่ลองคิดดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง

เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นี่ รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่.. อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

เมื่อก่อนนี้ จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ไปธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว

แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยว ดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย

ไม่มีรถก็ช่างเหอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก”

“ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้

อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”

หลวงปู่ชา สุภทฺโท
จากหนังสือลำธารริมลานธรรม – พระไพศาล วิสาโล หน้าที่ ๙๓-๙๕
ตอบกระทู้