กรณีที่เราเคยทำบาปกรรมไว้ในชาติปัจจุบัน พุทธองค์ก็ตรัสหลักไว้ว่า ๑. ต้องรับผิด ยอมรับว่าผิด ๒. เปิดเผย อย่าปิดบังอำพราง เปิดเผยกับใคร ? เปิดเผยกับผู้เป็นกัลยาณมิตร จะเป็นการเปิดเผยกับครูบาอาจารย์ เพื่อนที่เราไว้ใจ เคารพนับถือก็ได้ ๓.ที่สำคัญที่สุด ต้องมีความตั้งอกตั้งใจว่าจะเพียรพยายามที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป นี่คือการชำระกรรมในชีวิตประจำวัน
โอวาทธรรม พระอาจารย์ชยสาโร
...เมื่อบุญวาสนาบารมีแก่กล้า มันจะทิ้งได้หมด ทิ้งกิเลส ทิ้งสมบัติภายนอก ทิ้งความเจ็บปวดในเวลาภาวนา ทิ้งคู่บารมีได้เหมือนพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะทิ้งพระนางพิมพาออกบวช ...เมื่อทิ้งภาระภายนอกได้แล้ว ก็จะมาภาวนาทิ้งความเจ็บปวดที่เป็นภาระในส่วนทางร่างกาย แล้วก็ทิ้งกิเลสที่เป็นภาระในส่วนทางจิตใจ ...จิตใจก็จะน้อมเข้ามา น้อมเข้ามาอยู่กับ"พุทโธ"ล้วนๆ น้อมเข้ามาอยู่กับ"อานาปานะสติ"ล้วนๆ ...นี้แหละจิตใจของผู้มีบารมีที่จะได้รู้ธรรม จะแก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ
...หลวงปู่ไม อินทสิริ.
"อย่าไปมองคนอื่น อย่าไปดูคนอื่น คนอื่นจะผิดจะดีจะถูกก็เป็นเรื่องของเขา เราอย่าไปเอาดีเอาชั่วเอาผิดเอาถูกของคนอื่นมาใส่ใจของเรา มันเป็นทุกข์ หมดศรัทธา เราพยายามให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับความสงบ อยู่กับศีล อยู่กับคุณงามความดี มีความสุขกับการทำความดี กับการเสียสละ ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดไป"
โอวาทธรรม:องค์หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม วัดป่าทรัพย์ทวี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
สติปัฏฐาน มีกระบวนการอย่างไร? สติจับ ปัญญาดู ปัญญาดู รู้ เห็น เข้าใจ ตามเป็นจริงในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
"พอได้"สมาธิ"ที่ถูกต้อง ก็มาเป็นตัวเอื้อแก่"ปัญญา"
จุดหมายของธรรมะในพุทธศาสนานั้นอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา "สมาธิเพื่อเป็นปัจจัยแก่การใช้ปัญญา" เราก็ก้าวจาก "สมถะ"หรือสมาธิ ไปสู่ "วิปัสสนา"
"วิปัสสนา"มีวิธีปฏิบัติสำคัญที่เรียกว่า"สติปัฏฐาน" คือ การเอาสติมาใช้ในการจับตาประดาปรากฏการณ์ที่ภาษาพระเรียกว่า"อารมณ์"ต่างๆ หรือตามดูรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตจิตใจของเรา เอาสติไปจับให้ทันหมด แล้วส่งให้ปัญญารู้ เห็น เข้าใจ
สติ กับ ปัญญา ทำงานคู่กัน (ปัญญาในที่นี้ เรียกว่า “สัมปชัญญะ”) ขอเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับตาเรานี้เป็นปัญญา เราจะมองอะไรสิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า ถ้าสิ่งนั้นหลุดลอยไปเราก็มองไม่ได้ ปัญญาก็ต้องมองสิ่งที่อยู่ต่อหน้าจิต สิ่งนั้นจะอยู่ต่อหน้าจิตได้อย่างไรก็ต้องจับหรือกำกับไว้ สิ่งที่จับไว้ก็คือสติ สติจับสิ่งนั้นไว้ต่อหน้าแล้วปัญญาก็เหมือนตาที่มองดูสิ่งนั้น
ในวิธีปฏิบัติวิปัสสนาจะมีสติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวจับสิ่งนั้นไว้ให้ปัญญาดู สติกับปัญญาจึงทำงานคู่กัน สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายจิต คืออยู่ในหมวดสมาธิ ก็มาทำงานประสานกับปัญญา เหมือนกับรับใช้ปัญญา
สติตามทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ให้พลาดไป สติจับ ปัญญาก็ดู ปัญญาดูรู้ตามเป็นจริง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในด้านร่างกาย ความเคลื่อนไหว การยืน การนั่ง การนอน การกิน การดื่ม การรับประทานอาหาร สติจับทันหมด ปัญญาก็ดูรู้ตามเป็นจริง
อาการที่เกิดขึ้นเป็นไปในจิตใจ เช่น ความรู้สึกสุขทุกข์ และความคิดอะไรต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของเราทุกอย่าง สติจับให้ปัญญาดูหมด ทันกับปัจจุบัน
เมื่อดูไปๆ ปัญญาก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะสิ่งทั้งหลาย เมื่อเรามองตามที่มันเป็น ตามดูต่อเนื่องไปและไม่ขาดตอน ก็จะเห็นการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป ซึ่งเป็นอาการของอนิจจังตลอดเวลา
พอเราดูโดยไม่มีอะไรมาบังตา ก็เห็นตามเป็นจริง เห็นสภาพที่เป็นอย่างนั้น คือเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นต้น ตามที่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้คือเรื่องของ "สติปัฏฐาน"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : ธรรมบรรยาย "สมาธิแบบพุทธ"
"..ของเก่ามาดีแล้ว ก็อย่ากินแต่ของเก่า ความสวย ความงาม ฐานะ มันมี มันก็หมดได้ ดี-ชั่ว นี่แหละ มันติดตัวเราข้ามภพข้ามชาติ ดี ไม่ดี มันอยู่ที่เราทำนะ อย่าประมาท.."
หลวงปู่อร่าม ชินวังโส
"ถ้าเราเผลอไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันมัน กิเลสเข้าได้ทุกแง่ทุกมุมโดยไม่อ้างกาลอ้างเวลา อ้างสถานที่อิริยาบถใด ๆ ทั้งสิ้น มันเกิดได้ทุกระยะ ขอแต่ความเคลื่อนไหวของจิตแสดงออกโดยไม่มีสติ ปัญญาก็กลายเป็นสัญญา จิตจึงกลายเป็นเรื่องของกิเลส ช่วยกิเลสโดยไม่รู้ตัว"
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
"...ไม่มีห่วง ไม่มีดีใจ ไม่มีเสียใจ ไม่มีพอใจ ไม่มีหัวเราะ ไม่มีร้องไห้ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีดี ไม่มีเลว จึงใกล้นิพพาน ถ้ายังห่วงแสดงว่ายังไกลอยู่ ยังเก็บ ยังกอบ ยังกำ ยังโกยอยู่ แสดงว่ายังห่างอยู่มาก... "
โอวาทธรรม หลวงปู่ท่อน
|