การละกิเลสเป็นของง่าย การเอากิเลสเป็นของยาก คนทุกคนที่เกิดมา หาเอาแต่กิเลสใหม่ ๆ มาเพิ่มเรื่อย ๆ เมื่อเราเกิดมามีกิเลสตัวเดียว ผู้เป็นชายก็ชายคนเดียว ไม่ได้กอดคอหญิงมาแต่เมื่อเกิด
... ผู้หญิงเมื่อเกิดมาเป็นหญิงคนเดียว ไม่ได้กอดคอชายมาแต่เกิด ทั้งชายและหญิงเมื่อคลอดออกจากท้องแม่ก็เปลือยกายออกมาทุกคน ในเวลานั้นยังไม่มีสมบัติในโลกใด ๆ เป็นของตัว
เมื่อใหญ่แล้วจึงดิ้นรนวุ่นวายหาเอาสมบัติในโลกนี้ จึงได้เกิดความยุ่งยากร้อยแปดพันประการอย่างนี้แหละเราท่านทั้งหลาย อาจารย์จึงแสดงธรรมว่า ละกิเลสเป็นของง่าย ให้ดูตัวอย่างที่อ้างมาให้เห็น เมื่อพิจารณาเห็นแจ้งดังที่สอนมาแล้ว จงพากันตื่นขึ้นลุกขึ้น กราบพระ 3 หน ไหว้พระสวดมนต์ เข้าที่นั่งสมาธิ ละกิเลส ที่พ่วงเข้ามาใหม่นี้ออกไปให้หมด ถ้ายังไม่หมด ให้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับกิเลสให้หมดไป ในขณะที่ยืนอยู่นี้ ถ้ายังไม่หมดไปอีก ให้ก้าวเท้าเดินจงกรม ภาวนาต่อสู้กับกิเลส และกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปในขณะนี้ ถ้ากิเลสยังไม่ตาย เราผู้เดินจงกรม ภาวนาก็ให้ก้าวเดินต่อไป จนหมดลมหายใจ ล้มตายลง ตรงทางเดินจงกรมนี้แหละ...... โดยความเมตตาถึงทุกคน
โอวาทธรรมพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
"เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องเจอความทุกข์รุมเร้า ต้องอดทนต่อทุกข์นั้น และเอาการภาวนานี่แหละเป็นตัวช่วยให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่ใช่ว่าพอเจอทุกข์รุมเร้าแล้วต้องเที่ยวไปหาคนอื่นให้ช่วยอยู่ทุกทีไป นักภาวนาต้องภาวนาสู้กับวิกฤติ ปัญหาและทุกข์ต่างๆ ถ้าจะหลบก็ต้องหลบไปภาวนา"
ธรรมะคำสอน หลวงปู่ไม อินทสิริ
สงบไม่ได้.. ก็ให้พิจารณา
กิเลสตัณหามันคล้ายกับไม้ซุง ธรรมคล้ายกับไม้ไผ่ งัดไม้ซุง ก็ยาก ถ้าไม่ใช้อุบายต่างๆ แล้ว ไม้ซุงก็ยากที่จะเคลื่อนได้ ทำอย่างไรเราจึงจะเอาไม้ไผ่งัดไม้ซุงให้เคลื่อนได้ นอกจากเราจะใช้มีด ใช้ขวาน หรือใช้ไฟเผา
อันนี้กิเลสตัณหามันครองใจเรามาเท่าไรแล้ว แล้วทีนี้ธรรมจะเกิดขึ้นได้ไหม บอกว่ายาก ถ้าเราไม่ถี่ใจจริงๆ ให้เราวิเคราะห์เอา ศึกษาเอา เรื่องของพวกนี้ ไม่มีใครตักเตือนเราได้
เมื่อเราหมดชีวิตไป ถ้าเราไม่เปิดใจรับแต่เดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องของเรา
ท่านจึงให้ปล่อยให้วาง ถ้าปล่อยวางได้ ก็ไปได้ ถ้าปล่อยวางไม่ได้ ก็ไปไม่ได้ เป็นเรื่องของเราที่จะวิเคราะห์ ให้ใคร่ครวญเอา พิจารณาเอา
ไม่มีใครทำให้เราได้ นอกจากเราจะทำเอาเอง
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ หลวงพ่อจันมี อนาลโย
“ลมปากคน เขารักเราก็ยกย่องสรรเสริญเยินยอ เขาชังเรา เราดีทุกอย่าง เขาก็ยังอุตส่าห์นินทา คนพูดมากก็ถูกตำหนิ คนพูดน้อยก็ถูกตำหนิ คนพูดกลางๆก็ถูกตำหนิ นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก เพราะฉะนั้นอย่าไปหวั่นไหวกับลมปากคน เขารักเราก็สรรเสริญเราทั้งวันนั่นแหละ"
โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงพ่อสามดง จันทโชโต วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา
"ให้รู้จักใจให้ได้" . เอา "ความรู้สึก" ให้นิ่ง อยู่ใน "จุดเดียว"อยู่ใน"จุดนั้น" เท่านั้น, ให้ "รู้" อยู่ "ตรงนั้น" อะไรจะเกิด, อะไรจะมา มีหน้าที่อย่างเดียวก็คือ "รู้" . "ทำใจ" ให้เป็น "กลาง" "รู้อยู่" อะไรเกิด เราก็ไม่ได้ห้าม อะไรมันเกิดขึ้น ก็ให้มันเกิดอยู่ เรามี "สติรู้" อยู่ใน "จุดนั้น" . "ทุกข์" เกิดขึ้นมาก็รู้ "อาการสังขาร" ก็รู้ มีหน้าที่ "รู้" แต่ไม่ได้ไป "ส่งเสริม" ไม่ได้ไป "ตามอาการ" นั้นๆที่มันเกิดขึ้น . ดู "อาการ" ดู "อารมณ์" ดู "สิ่งที่มันมีในใจ" "อะไรเกิด" ขึ้นมาก็รู้ ให้ "ใจมันนิ่ง" ให้รู้อยู่ใน "จุดเดียว" เท่านั้น . พยายาม "แยกแยะ" อยู่ใน "จุดเดียว" อย่าหนีไปจุดอื่น, เพราะมันมีอยู่ที่นั่นแล้ว กำหนดรู้ขึ้นมา อันไหนที่เรียกว่า "ใจ" . อย่าไป "รู้อย่างอื่น" ว่าเป็น "ใจ" นะ. "เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ" ว่าเป็น "ใจ" ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ให้รู้จัก "ใจ" ให้ได้ "กำหนดรู้ให้ได้" ประคองเข้าไป ประครองเข้าหา "จุดนั้น" ให้ได้ . โอวาทธรรมพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
ผู้ใดขยี้กามราคะตัณหาอันเป็นเหมือนเปือกตมไปได้ ขยี้หนาม คือกามราคะตัณหาไปเสียได้ ผู้นั้นนับได้ว่าเป็นผู้หมดโมหะ ไม่สะทกสะท้านในนินทา สรรเสริญ ทุกข์หรือสุข
ถ้าใครปฏิบัติได้ มันเป็นอย่างนั้น
คำว่าหนาม หมายถึงสิ่งที่เสียดแทงจิตใจให้ตกต่ำ
โอวาทธรรมหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
เป็นมนุษย์ต้องเป็นคนจริง ต้องซื่อสัตย์ ถ้าก้าวขึ้นศีลห้าแล้ว เลิศทันที ศีลห้านี้ถ้าบริสุทธิ์แล้วสมหวังหมดทั้งรูปร่างกาย ทั้งสติปัญญา ท่านจึงกล่าวว่า สีเลนะสุคะติงยันติ ยังไม่ตายก็มีความสุข เพราะไม่มีเวรไม่มีภัย จิตดวงนี้ไม่ได้ทำกรรมทำเวรทั้งห้าเลย ไม่ทำอย่างเด็ดขาด จนศีลอยู่ในจิตนั้น
เบื้องต้นก็ต้องระวังระแวง เพราะจิตอันนี้เป็นอำนาจอันหนึ่ง บังคับสัตว์โลกทั้งหลายให้ทำทุกสิ่งทำอย่าง พอเอาศีลห้ามาเป็นพี่เลี้ยงของจิต จนอยู่ในจิต เป็นสมบัติของจิต เกิดในสวรรค์ก็มีความสุข กลับมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์จนที่สุดคือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะนึกอะไรได้หมด จนจิตพอตัว มีการตามรู้เกิดขึ้น เกิดทิพเนตร มองเห็นร่างกายนี้เป็นร่างกระดูก
สมัยที่หลวงปู่ไปอยู่กับหลวงปู่หนองแซง เดินบิณบาตตามท่านไป ท่านไม่พูดนะ พระปฏิบัติท่านไม่พูดไม่คุย พระแต่ก่อนท่านเดินนิ่งภาวนาไป ตาในท่านมองเห็นพวกเราเป็นร่างกระดูกทั้งร่าง ไปถึงวัดท่านว่า โอ้ย คนมานี้ มีแต่ร่างกระดูก นี่คือตาใน ต้องสร้างตรงนี้ ทำศีลห้าให้บริสุทธิ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วตาในจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เราเป็นฆราวาส ห้าตัวนี้พอแล้ว ไม่ต้องไปขอกับพระ ให้สังวรณ์ระวัง สิ่งที่ทำผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องคำนึง นับแต่วันนี้ต่อไปจะสังวรณ์ระวังให้สะอาด ไม่มีใครช่วยเราได้เวลาเราจะตาย มีเราตัวคนเดียว ผัวก็ไม่ได้ เมียก็ไม่ได้ ลูกก็ไม่ได้ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
แต่พระพุทธเจ้าไม่บังคับใครนะ ของดีไม่ต้องบังคับ พระพุทธเจ้าสอนความจริงล้วน ๆ ไม่บังคับใครให้นับถือ ใครอยากดีก็เอา ใครชอบขี้เกียจพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่า เอาเลย เดี๋ยวเจอเอง กุศลนี่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้นึกไว้เป็นประจำ จะชะล้างจิตใจ จิตใจจะผ่องใสฉาบล้างอยู่ตลอด กรรมห้าเวรห้า เราเป็นผู้ชำระเอง ไม่ต้องไปเขียนนะเจ้ากรรมนายเวร เจ้าของเป็นผู้ทำเอง ไม่มีใครทำให้หรอก หยุดทำซะ แค่นี้ก็พอ . โอวาทธรรม หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
"เมื่อเราเอาตัวเอง เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เราก็จะต้องทุกข์ทุกครั้ง ที่สิ่งต่างๆและคน ไม่ยอมโคจรรอบตนเอง"
หลวงพ่อชยสาโร ภิกขุ
"เมื่อกรรมจะให้ผล คือ เมื่อกรรมตามมาทัน ก็ไม่มีอะไรจะยับยั้งได้ นอกจากกรรมด้วยกัน คือ เมื่ออกุศลกรรมตามทัน ก็ต้องกุศลกรรมที่ใหญ่ยิ่งกว่าเท่านั้น ที่จะตัดรอนอกุศลกรรมได้ ช่วยให้สวัสดีไปได้ครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง"
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ ที่ ๑๙
วิปัสสนาญาณอย่างแท้จริง (หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ)
ไม่มีความรู้ของ "สัญญา"เข้ามาแอบแฝง ไม่เอาความรู้ใน "ตำรา"เข้ามาเปรียบเทียบ เป็นญาณที่ตัดความลังเลสงสัย ในความรู้เห็นด้วยตนเอง และไม่ไปหาใครมาตัดสินใจให้
ไม่ต้องไปหาเอาคำพยากรณ์จากใครๆ ทั้งสิ้น เพราะความรู้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นในความถูกต้องเฉพาะตน จึงเรียกว่า “ปัจจัตตัง” จะเป็นญาณที่ตัดสินที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติ
เป็น “มัคคามัคญาณทัสสนะวิสุทธิ” จะรู้เห็นเส้นทางอันบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างชัดเจน จึงไม่ได้ไปหาถามใคร เพราะไม่มีความลังเลสงสัย ในความรู้เห็นของตนเอง
โอวาทธรรมหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
"ลาภยศสรรเสริญ...ได้มา แล้วดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆ เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจว่า มันจะสูญเสียไป กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้ไม่สงบ บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่หมายความว่า ถึงจะสุขก็จริง...แต่ก็มีทุกข์...ซ่อนอยู่ในนั้นด้วย"
พระธรรมคำสอน หลวงพ่อชา สุภัทโท
"การไม่กระทำบาปนั้นมันเลิศที่สุด บางคนบางคราว โจรมันก็ให้ได้ มันก็แจกได้ แต่ว่าจะพยายามสอนให้มันหยุดเป็นโจรนั้นนะ มันยากที่สุด
การจะละความชั่วไม่กระทำผิดมันยาก การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาปทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะเป็น ต้นเหตุ"
...โอวาทธรรม... หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
เป็นมนุษย์ต้องเป็นคนจริง ต้องซื่อสัตย์ ถ้าก้าวขึ้นศีลห้าแล้ว เลิศทันที ศีลห้านี้ถ้าบริสุทธิ์แล้วสมหวังหมดทั้งรูปร่างกาย ทั้งสติปัญญา ท่านจึงกล่าวว่า สีเลนะสุคะติงยันติ ยังไม่ตายก็มีความสุข เพราะไม่มีเวรไม่มีภัย จิตดวงนี้ไม่ได้ทำกรรมทำเวรทั้งห้าเลย ไม่ทำอย่างเด็ดขาด จนศีลอยู่ในจิตนั้น
เบื้องต้นก็ต้องระวังระแวง เพราะจิตอันนี้เป็นอำนาจอันหนึ่ง บังคับสัตว์โลกทั้งหลายให้ทำทุกสิ่งทำอย่าง พอเอาศีลห้ามาเป็นพี่เลี้ยงของจิต จนอยู่ในจิต เป็นสมบัติของจิต เกิดในสวรรค์ก็มีความสุข กลับมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์จนที่สุดคือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะนึกอะไรได้หมด จนจิตพอตัว มีการตามรู้เกิดขึ้น เกิดทิพเนตร มองเห็นร่างกายนี้เป็นร่างกระดูก
สมัยที่หลวงปู่ไปอยู่กับหลวงปู่หนองแซง เดินบิณบาตตามท่านไป ท่านไม่พูดนะ พระปฏิบัติท่านไม่พูดไม่คุย พระแต่ก่อนท่านเดินนิ่งภาวนาไป ตาในท่านมองเห็นพวกเราเป็นร่างกระดูกทั้งร่าง ไปถึงวัดท่านว่า โอ้ย คนมานี้ มีแต่ร่างกระดูก นี่คือตาใน ต้องสร้างตรงนี้ ทำศีลห้าให้บริสุทธิ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วตาในจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เราเป็นฆราวาส ห้าตัวนี้พอแล้ว ไม่ต้องไปขอกับพระ ให้สังวรณ์ระวัง สิ่งที่ทำผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องคำนึง นับแต่วันนี้ต่อไปจะสังวรณ์ระวังให้สะอาด ไม่มีใครช่วยเราได้เวลาเราจะตาย มีเราตัวคนเดียว ผัวก็ไม่ได้ เมียก็ไม่ได้ ลูกก็ไม่ได้ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
แต่พระพุทธเจ้าไม่บังคับใครนะ ของดีไม่ต้องบังคับ พระพุทธเจ้าสอนความจริงล้วน ๆ ไม่บังคับใครให้นับถือ ใครอยากดีก็เอา ใครชอบขี้เกียจพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่า เอาเลย เดี๋ยวเจอเอง กุศลนี่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้นึกไว้เป็นประจำ จะชะล้างจิตใจ จิตใจจะผ่องใสฉาบล้างอยู่ตลอด กรรมห้าเวรห้า เราเป็นผู้ชำระเอง ไม่ต้องไปเขียนนะเจ้ากรรมนายเวร เจ้าของเป็นผู้ทำเอง ไม่มีใครทำให้หรอก หยุดทำซะ แค่นี้ก็พอ . โอวาทธรรม หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
ผู้ถาม: คนที่ตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่ ถ้าคนที่ตายยังไม่ถึงขั้นพระนิพพานจะไปเกิดที่ใด
หลวงปู่ :คนที่ตายแล้ว ถ้ายังไม่พ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงนั้น ก็ต้องไปเกิดอีกแท้ๆ ส่วนจะไปเกิดเป็นอะไรนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมที่ตนทำไว้ ตามสติกำลังของแต่ละคน
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
การให้ทาน ถวายทาน เมื่อเราให้แล้ว ถวายแล้ว ทำด้วยดีและถูกต้องแล้ว แต่หากยังคิดว่าทานนั้นเราเป็นผู้ให้ หรือทานนั้นเป็นของเรา หรือชื่อเราจะปรากฏเพราะทานนั้น ยังคงเป็นการให้ แต่ว่าใจยังยึดไว้อยู่ เหมือนปล่อยวัวแต่ผูกเชือก
แต่หากเมื่อให้แล้ว ละแล้ว สละแล้ว ปล่อยวางแล้ว ไม่มีเรา ของเรา หรือความหวังอามิสจากการให้นั้นแล้ว ย่อมเป็นใจที่สละ ละ วาง และเต็มเปี่ยมบริบูรณ์กับคำว่าให้ทาน ถวายทานอย่างแท้จริง เหมือนวัวที่ปล่อยเป็นอิสระ ฉันนั้น
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
อย่าลดละท้อถอย
ความเพียร "ธรรม" เป็นสมบัติกลาง และ เป็นสมบัติของทุกคน ที่ ใคร่ต่อธรม.
พระพุทธเจ้า
"มิได้ผูกขาดไว้ แก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยเฉพาะ.. ต่างมีสิทธิ์ ครอบครองเป็นเจ้าของ ได้ด้วย การปฏิบัติดี ของตนด้วยกัน"
ท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตตเถระ
ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย
"ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอา ความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้อง จัดว่าลืมตัวมัวประมาทและชอบผัดเพี้ยน เลื่อนเวลาว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตนในเวลาที่เป็น ฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาททั้งนี้ยังจะ พาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่ายังอีกนานเท่าไร จึง จะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมาน ไปได้ จึงขอฝากปัญหาธรรมเหล่านี้ไว้กับ ท่านทั้งหลายนำไปขบคิดด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายคืบหน้ากล้าตายด้วยความเพียรหมาย พึ่งธรรม ไม่เหลียวหลังไปดูทุกข์ที่เคยเป็นภาระให้แบกหาม ด้วยความเจ็บแสบและ ปวดร้าวในหัวใจมาเป็นเวลานาน หรือยังจะ เป็นฝ่ายเสียดายความตายแล้วกลับมาเกิด อีก อันเป็นตัวมหันตทุกข์ที่แสนทรมานอีก ต่อไป รีบพากันนำไปพิจารณา อย่ามัวเมา เฝ้าทุกข์และหายใจทิ้งเปล่า ๆ ดังที่เป็นมา และเป็นอยู่เวลานี้ จะช้าทางและเสียใจไป นาน เพราะโรงดัดสันดานกิเลส ตัวพาให้ ว่ายบกอกแตกแบกกองทุกข์ไม่มีเวลาปลง วางนั้น มิได้มีอยู่ในที่อื่นใดและโลกไหน ๆ แต่มีอยู่กับผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญด้วยการใช้หัว คิดปัญญาศรัทธาความเพียร เป็นเครื่องมือบุกเบิกเพื่อพ้นไปนี้เท่านั้น ไม่หยุดหย่อนนอนใจว่ากาลเวลายังอีกนาน สังขารยัง.. ไม่ตายร่างกายยังไม่แก่ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้แย่ลงโดยถ่ายเดียว ผู้เป็นนักบวชและนักปฏิบัติจึงไม่ควรคิดอย่างยิ่ง..”
พระครูวินัยธร [มั่น ภูริทตฺโต] วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒) จากหนังสือประวัติท่าน พระอาจารย์มั่น_ภูริทัตตเถระ โดยหลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
สันตุสสโกวาท "นาทีสุดท้าย ก่อนตาย"
เพราะพวกเราเกิดมาในโลก บางทีก็ไม่คาดคิด ทั้งที่สร้างบุญสร้างกุศลมานมนาน แต่โค้งสุดท้าย จิตอกุศล คิดไปในทางที่ไม่ดี อารมณ์โมโหโกรธา โลภ โกรธ หลง จิตใจไปข้องแวะกับทางอกุศล มันก็ต้องไปสู่ทางอกุศลก่อน จากนั้นเมื่อพ้นจุดนั้นแล้ว จึงค่อยไปทางกุศลได้ อันนี้ในหลักของพระพุทธศาสนา ที่ท่านได้ตรัสได้พูดไว้ทั้งหมด คนโบราณเขาจึงสอนต่อๆกันมา ก่อนที่จะจากไป หรือก่อนที่จะตาย ให้ระลึกถึงคุณงามความดีเน้อ ให้ระลึกถึงบุญกุศลเน้อ ให้ระลึกพุทโธ พุทโธ ไว้ในใจเน้อ เป็นการกล่าวเตือนให้มีสติสัมปชัญญะ ถ้าหากว่าเราคิดไปในทางที่ไม่ดี ในโค้งสุดท้าย เราอาจจะไปทางอกุศลได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้คิดไปในทางกุศล แต่บางคน ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยสร้างบุญสร้างกุศลสักที ไม่รู้จะคิดถึงอะไร มีแต่คิดถึงความชั่วที่ตัวเองได้กระทำเอาไว้ มันก็ไปทางชั่วนะสิ เพราะเราไม่ได้ทำคุณงามความดี เพราะฉะนั้นพวกเราทุกๆท่าน ก่อนที่จะถึงจุดนั้น ท่านจึงให้ฝึกหัดภาวนาทางด้านจิตใจเอาไว้ ในโค้งสุดท้ายอย่างนั้น ให้ระลึกถึงคุณงามความดี ความชั่วเอาเถอะ มันผ่านไปแล้ว เราก็ยอมรับที่เราทำว่าไม่ดี แต่เราจะไปคิดวิตกกังวลแต่ในเรื่องนั้นไม่ได้ มันดี มันก็ดีไปแล้ว มันชั่ว มันก็ชั่วไปแล้ว อย่าไปคิดถึงมัน ถ้าคิดถึงมันจิตใจห่อเหี่ยว จิตใจมีความทุกข์ อันนั้นล่ะ นรกเป็นทางไป เราต้องคิดถึงแต่คุณงามความดีเรา คุณงามความดีของเราที่ทำไว้ก็มากมายมหาศาลไม่ใช่หรอ บุญคุณงามความดีของเรา จะเข้ามาประคับประคอง ในช่วงที่เราคิดถึงความดี เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ความชั่วที่มันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว ดี มันก็ดีมาแล้ว ชั่ว มันก็ชั่วมาแล้ว แต่อย่าไปคิดถึงมัน คิดถึงคุณงามความดี แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ข้าพเจ้าจะทำดีเท่านั้น ข้าพเจ้าจะสร้างบุญสร้างกุศลเท่านั้น สิ่งที่มันชั่ว ข้าพเจ้าจะไม่คิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว แล้วก็บุญกุศลที่เราได้คิดรำลึกถึง ก็เป็นเครื่องเกื้อกูลหนุนเรา ไปสู่ความสุขความเจริญ เพราะฉะนั้นให้พวกเราท่านทั้งหลาย ประกอบคุณงามความดี อยู่ ณ สถานที่ใดร่มเย็นเป็นสุขทั้งนั้นแหละ ถ้าประกอบคุณงามความดีนะ
โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา "วินาทีสุดท้าย" แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
...สมัยที่เราเริ่มปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติคนเดียว ไม่ได้ไปเข้าคอร์สที่ไหน
อาศัยอ่านหนังสือ อ่านหนังสือเราก็เข้าใจว่า “ต้องทำใจให้สงบ” “ให้นั่งสมาธิ ให้เจริญสติ “ เราก็พยายามทำไปตามที่อ่านหนังสือ
. ว่า..ต้องอยู่คนเดียวถึงจะสะดวก ไม่มีอะไรมารบกวน จะได้ ”ฝึกสติควบคุมใจ ควบคุมความคิด “
. เพราะ”ความคิด”นี่ ที่ทำให้ใจเราวุ่นวาย คิดแล้วเดี๋ยวก็กังวล..เดี๋ยวก็ห่วง เดี๋ยวก็กลัว..เดี๋ยวก็อยาก “มาจากความคิดทั้งนั้น”
. ถ้า”เราควบคุมความคิดได้ “ ไม่ให้มันคิด ... “อารมณ์ต่างๆ ก็จะไม่เกิด “ แล้วเวลานั่ง ก็สามารถทำให้มันนิ่ง ทำให้มันสงบได้.
................................... . คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 7/3/2561 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับ พุทธศาสนา . "ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นโบราณเขามีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ถ้าศาสนาเป็นได้แค่ที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดพุทธศาสนา เพราะคนอินเดียเขามีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีเทวดาให้นับถือเยอะแยะ มีแม้แต่พระพรหมที่ว่าดลบันดาลทุกอย่างได้ จนคนพากันเชื่อใน "พรหมลิขิต" . การที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็เพราะศาสนาก่อนนั้นมัวเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชนิดเหนี่ยวแล้วดึงลง ให้หลง ให้จมให้หมกอยู่ในการพึ่งพาอำนาจภายนอก รอผลดลบันดาล พระพุทธศาสนาก็เลยเกิดขึ้นมาแก้ไข โดยมาเหนี่ยวแล้วดึงขึ้น เพื่อจะให้ประชาชนได้พัฒนาในเรื่องความประพฤติ ทั้งกาย วาจา แล้วก็พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ให้พึ่งตนเองได้ดีขึ้นจนเป็นอิสระต่อไป อันนี้จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา . ชาวพุทธเรานับถือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เอาแค่ว่ายึดเหนี่ยวจิตใจ ให้สบายแล้วก็จบ แต่ต้องเอามาใช้ปฏิบัติ เอามาใช้พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม ทั้งกายวาจาและจิตใจพร้อมทั้งปัญญา ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะในที่สุดเราต้องเป็นอิสระพึ่งตนเองได้" . สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : ธรรมนิพนธ์ "ถ้าอยากพ้นวิกฤตต้องเลิกติดไสยศาสตร์"
“ ความโกรธ ” ผลเสีย และ โทษ ของ“ความเป็นคนมักโกรธ” . “สอนตนเองให้นึกว่า พระพุทธเจ้าของเราทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและทรงสอนชาวพุทธให้เป็นคนมีเมตตา เรามัวมาโกรธอยู่ ไม่ระงับความโกรธเสีย เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ไม่ทำตามอย่างพระศาสดา ไม่สมกับเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า
จงรีบทำตัวให้สมกับที่เป็นศิษย์ของพระองค์ และจงเป็นชาวพุทธที่ดี
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่โกรธเขาก่อนก็นับว่าเลวอยู่แล้ว คนที่ไม่มีสติรู้เท่าทัน หลงโกรธตอบเขาไปอีก ก็เท่ากับสร้างความเลวให้ยืดยาวเพิ่มมากขึ้น นับว่าเลวหนักลงไปกว่าคนที่โกรธก่อนนั้นอีก
เราอย่าเป็นทั้งคนเลว ทั้งคนเลวกว่านั้นเลย
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนต่อไปอีกว่า เขาโกรธมา เราไม่โกรธตอบไป อย่างนี้เรียกว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก เมื่อรู้ทันว่าคนอื่นหรืออีกฝ่ายหนึ่งเขาขุ่นเคืองขึ้นมาแล้ว เรามีสติระงับใจไว้เสีย ไม่เคืองตอบ จะชื่อว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ช่วยไว้ทั้งเขาและทั้งตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น เราอย่าทำตัวเป็นผู้แพ้สงครามเลย จงเป็นผู้ชนะสงคราม และเป็นผู้สร้างประโยชน์เถิด อย่าเป็นผู้สร้างความพินาศวอดวายเลย ( สํ.ส. ๑๕/๘๗๕/๓๒๕ )
มีพุทธพจน์ตรัสสอนไว้มากมาย เช่นว่า
“คนขี้โกรธจะมีผิวพรรณไม่งาม คนขี้โกรธนอนก็เป็นทุกข์ ฯลฯ คนโกรธไม่รู้เท่าทันว่า ความโกรธนั้นแหละ คือภัยที่เกิดขึ้นข้างในตัวเอง “พอโกรธเข้าแล้วก็ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ โกรธเข้าแล้วมองไม่เห็นธรรม เวลาถูกความโกรธครอบงำ มีแต่ความมืดตื้อ คนโกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย แต่ภายหลังพอหายโกรธแล้ว ต้องเดือดร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา”
“แรกจะโกรธนั้น ก็แสดงความหน้าด้านออกมาก่อนเหมือนมีควันก่อนจะเกิดไฟ พอความโกรธแสดงเดชทำให้คนดาลเดือดได้ คราวนี้ละไม่มีกลัวอะไร ยางอายก็ไม่มี ถ้อยคำ ไม่มีคารวะ ฯลฯ “คนโกรธฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเองก็ได้ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าคนสามัญก็ได้ทั้งนั้น ลูกที่แม่เลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองดูโลกนี้ แต่มีกิเลสหนา พอโกรธขึ้นมาก็ฆ่าได้แม้แต่แม่ผู้ให้ชีวิตนั้น ฯลฯ” ( องฺ.สตฺตก. ๒๓/๖๑/๙๘ )
“กาลีใดไม่มีเท่าโทสะ ฯลฯ เคราะห์อะไรเท่าโทสะไม่มี” ( ขุ.ธ. ๒๕/๒๕/๔๒;๒๘/๔๘ )
ความโกรธมีโทษก่อผลร้ายให้มากมาย อย่างพุทธพจน์นี้เป็นตัวอย่าง แม้เรื่องราวในนิทานต่างๆ และชีวิตจริงก็มีมากมาย ล้วนแสดงให้เห็นว่าความโกรธมีแต่ทำให้เกิดความเสียหายและความพินาศ ไม่มีผลดีอะไรเลย จึงควรฆ่ามันทิ้งเสีย อย่าเก็บเอาไว้เลย
ฆ่าอะไรอื่นแล้วอาจจะต้องมานอนเป็นทุกข์ ฆ่าอะไรอื่นแล้วอาจจะต้องโศกเศร้าเสียใจ แต่ “ฆ่าความโกรธแล้วนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้วไม่โศกเศร้าเลย” ( สํ.ส. ๑๕/๑๙๙/๕๗ )
พิจารณาโทษของความโกรธทำนองนี้แล้ว ก็น่าจะบรรเทาความโกรธได้” . สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “ทำอย่างไรจะหายโกรธ”
การสั่งสอนหมู่คณะ..
"ผมก็ได้คุ้ยเขี่ยธรรมมาสอน อย่างเปิดเผยไม่มีปิดบังลี้ลับเลย บรรดาธรรมที่ควรแก่การรู้เห็นใน วงสัจธรรมหรือสติปัฏฐานสี่ เว้นแต่ธรรมที่เป็นไปตามนิสัย วาสนาโดยเฉพาะเป็นราย ๆ ไม่เกี่ยวแก่การบรรลุ เช่น ความรู้ ปลีกย่อยต่าง ๆ ดังที่เคยเล่าให้ฟัง เป็นกรณีพิเศษเสมอมา ใครจะรู้ เห็นอะไรขึ้นมาผมยินดีฟังและ แก้ไขเต็มกำลังอยู่เสมอ เวลาผม ตายไปแล้วจะลำบาก หาผู้แก้ไข ได้ยากมากนะ ธรรมทางด้านปฏิบัติ ไม่เหมือนทางด้านปริยัติ ผิดกันอยู่มาก ผู้ไม่เคยรู้เคยเห็น สมาธิ_ปัญญา_มรรค_ผล_นิพพานมาก่อน แต่จะมาสามารถสั่งสอนคนอื่น ให้ถูกต้องเพื่อมรรค ผล นิพพาน นั้นไม่ได้..”
พระครูวินัยธร [มั่น ภูริทตฺโต] วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร {พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒} จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตตเถระ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ธรรมะของเรา มีไม้เดียว 10 ปีก็อย่างเก่า ไม่มีอย่างอื่นเลย
ให้สักหัวกะโหลก ผ่าไส้ผ่าท้อง เพราะวิธีที่เราปฏิบัติได้ผลมา จะเอาอย่างอื่นไปสอนไม่ได้ การสอนเราต้องเอาปฏิปทาที่เราดำเนินมาจนบางครั้งได้ทะเลาะกับท่านเรื่องทะเลาะก็ทะเลาะแบบพระไม่เหมือนชาวบ้านเขาทะเลาะกัน
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
สุข ทุกข์ เกิดมาจากอะไร? กรรมเก่า กรรมใหม่ ควรใส่ใจกรรมไหนมากกว่ากัน . “สุข ทุกข์ เกิดมาจากอะไร? หรือ ความทุกข์เกิดมาจากอะไร? มักจะพูดกันว่า สุข ทุกข์ เกิดมาจากกรรมหนหลัง นี้เป็นคำตอบที่ถูกน้อยที่สุด เพราะว่าทุกข์ก็เป็นสิ่งที่มาจากเหตุปัจจัย ทีนี้ เหตุปัจจัยนั้นมีหลายแบบ หลายชนิด หลายอย่าง อวิชชาก็เป็นเหตุ ตัณหาก็เป็นเหตุ อุปาทานก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยด้วยกันได้ทั้งนั้น . ที่ว่ามาจากกรรมนี้ มันน่าจะนึกถึงกรรมใหม่ๆ ในปัจจุบันชาตินี้ นึกถึงอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใหม่ๆในปัจจุบันชาตินี้ ว่านี่เป็นตัวการแห่งทุกข์ เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ก็จะต้องนึกว่า“กรรมเก่า”นั้นสู้“กรรมใหม่”ไม่ได้ เพราะว่า เราสามารถสร้างกรรมใหม่ คือ กรรมที่ ๓ เพื่อเลิกล้างกรรมเก่าเสีย เพราะว่ากรรมเก่านั้น มีแต่กรรมดี กรรมชั่ว เท่านั้นเอง ไม่มีกรรมอะไรมากกว่านั้น . ที่นี้ กรรมใหม่นี้ เรามีกรรมที่ ๓ คือ “อริยมรรค” เมื่อเราทำขึ้นมามันระงับกรรมที่ ๑ ที่ ๒ ถ้าทำถึงที่สุดคือหมดกิเลสแล้ว กรรมใหม่คืออริยมรรคนี้ก็ระงับกรรมเก่า ทั้งดี ทั้งชั่ว เสียได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่ากรรมเก่านี้มันสู้กรรมใหม่ไม่ได้ เพราะกรรมใหม่มันเป็นกรรมที่ ๓ ส่วนกรรมเก่าเป็นเพียงกรรมที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้น ฉะนั้น เราจงสนใจในสิ่งที่เรียกว่า “อริยมรรค” อย่างที่ได้กล่าวมาทีแรก ว่าถ้าปฏิบัติตามธรรมดาเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติตามทางลัดเป็นอย่างไร . ปฏิบัติตามทางลัด ก็คือ ตรงไปยังการพิจารณาเพื่อ “ทำลายความยึดมั่น ว่าตัวตน ว่าของตน” กรรมนั้นแหละจะเป็นกรรมใหม่ที่รุนแรงที่สุด ที่เกิดขึ้นแล้วจะคมกริบ สามารถจะทำลายกรรมเก่าที่มากมายยืดยาวได้ . ความทุกข์ มันเกิดมาจากกรรมใหม่ๆ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใหม่ๆ หยกๆ วันนี้ ที่เกิดขึ้นเพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส เมื่อวาน เมื่อวานซืน นี้เอง . ฉะนั้น เราก็ต้องสร้างกรรมใหม่ๆ หยกๆ เหมือนกัน ทำลายมันถึงจะได้ ไปมัวหลงว่าเป็นกรรมเก่า แล้วกรรมเก่ามันก็มีเหตุของมันที่จะถอยหลังจากนั้นไปอีก แล้วจะไปตัดมันได้อย่างไร ฉะนั้น จึงสู้มารู้เรื่องกรรมใหม่ คือกรรมที่ ๓ นี้ไม่ได้ จะระงับกรรมเก่าเสียได้สิ้นเชิง . เรื่องนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาถามว่า “เราจะดับทุกข์ที่ไหน?” เราไม่ดับทุกข์ที่วัด ที่ป่า ที่บ้าน ที่ภูเขา ต้องดับทุกข์ที่เหตุของความทุกข์นั่นเอง ฉะนั้น เราจึงต้องพิจารณาให้รู้ว่า ความทุกข์ที่เกิดอยู่แก่เราเป็นประจำวันนี้คืออย่างไร มาจากเหตุอะไร แล้วก็ต้องตัดต้นเหตุนั้นโดยเฉพาะ . ส่วนทุกข์นั้นแล้วไปแล้วแต่หลังเมื่อวานนี้ มันจะมาอีกไม่ได้ มันเลิกกันไปแล้ว แต่..ทุกข์ที่มันจะเกิดวันนี้หรือเวลานี้มันมีปัญหา ทุกข์พรุ่งนี้ก็ยังไม่มีปัญหา เพราะว่ามันยังไม่เกิด ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก แต่ทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่นี้จะต้องดับ ทีนี้จะถามต่อไปว่า “ทุกข์นั้นจะดับที่ไหน?” ก็ต้องดับที่เหตุของมัน ฉะนั้น ต้องศึกษาจนให้รู้ว่า ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าความทุกข์แล้ว เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น” . พุทธทาสภิกขุ ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “พระพุทธเจ้าสอนอะไร หลักธรรมสำหรับนักศึกษาปัญญาชน” ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม.
ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามหนทางสายกลางนั้น ต้องเป็นผู้สำรวมระวังจิต ย่อมรักษาจิตไม่ให้จิตเกิดอภิชฌา คือความยินดีในความรักใคร่ชอบใจ และโทมนัส คือความยินร้ายในอารมณ์ที่น่าเกลียดที่น่าชัง ต้องเป็นผู้มีสมาธิจิตอันสมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ตั้งมั่นอยู่ในท่ามกลางปริมณฑลแห่งศาสนา
อยู่ตรงไหนปริมณฑลของศาสนา วัดจากไหนไปถึงไหน ท่านบอกว่าปริมณฑลของศาสนานั้นส่วนกว้างศอกกำมา ยาววา หนาคืบ คือเบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไปถึงสุดปลายเท้า ส่วนเบื้องบนก็ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงปลายผม ด้านข้างขวาก็ไปสุดปลายมือขวา ด้านซ้ายก็ไปสุดปลายมือซ้าย ด้านข้างหน้าก็ไปสุดที่กระดูกหน้าอก ด้านหลังก็ไปสุดที่กระดูกสันหลัง
นี้เป็นปริมณฑลของศาสนามีอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นที่ไกล ศาสนาอยู่ในร่างกายของเรานี้ ที่เขาว่าศาสนาอยู่ที่เมืองลังกา ไม่ใช่เมืองลังกาโน้น อยู่ในเมืองคือร่างกายของเรานี้ ให้พวกเราภาวนาพิจารณากายอันนี้ จนให้เป็นกายปัสสัทธิจิตปัสสัทธิ คือสงบกายและสงบจิต ที่เรียกว่ากายวิเวก จิตวิเวก
เมื่อเราอบรมอยู่ในกายวิเวก จิตวิเวก ทำให้มากเจริญให้ยิ่งด้วยความไม่ประมาทในการประกอบกายวิเวกและจิตวิเวก เราก็จะได้ลุถึงซึ่งอุปธิวิเวกซึ่งเป็นความสงบอันยอดเยี่ยม เราควรปฏิบัติอย่างนี้ในหนทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิบัติ
คือปฏิบัติตามหนทางสายกลาง จิตของเราจึงจะไม่หลงติดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในภพทั้ง ๓ อันเป็นที่ท่องเที่ยวเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ที่ยังมีความหลงติดอยู่ในกามารมณ์ รูปารมณ์ และอรูปารมณ์ สัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวถือเอากำเนิดเกิดอยู่ในกามภพก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกามารมณ์เป็นที่อยู่อาศัย
สัตว์ทั้งหลายที่มีความประมาท เมาเพลิดเพลินหลงติดอยู่ในอารมณ์อันใด อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม สัตว์เกิดอยู่ด้วยอันใด ความแก่ของสัตว์ทั้งหลายก็แก่ด้วยอารมณ์อันนั้น เจ็บก็เจ็บด้วยอารมณ์อันนั้น ตายก็ตายด้วยอารมณ์อันที่ตนหลงนั้น
ถ้ากิเลสความหลงตัวนี้ยังมีอยู่ตราบใด ความเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เวียนว่ายวนเวียน ไม่รู้แล้วสิ้นสุดลงได้ เมื่อความเกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีก ยังเป็นไปอยู่อย่างนี้
ทุกข์ทั้งหลายอันอาศัยความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วเกิดขึ้น ที่เรียกว่าชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ก็ย่อมติดตามทรมานสัตว์ทั้งหลายไปทุกภพทุกชาติไม่มีที่จะสิ้นสุดลงได้
เพราะฉะนั้นเมื่อเราทั้งหลายมามองเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่ในตัวของเรา อันตัวของเรานี้ตกอยู่ในกองทุกข์ ที่อาศัยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำเราแล้ว ควรแล้วหรือ
เราจะมามัวหลงประมาทอยู่ ไม่รีบทำความเพียรในทางอันเป็นหนทางให้พ้นไปจากทุกข์ อันเป็นทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา เราควรประพฤติและปฏิบัติตามและพึงเว้น อันที่ภิกษุไม่ควรเสพสองฝั่ง คือความรักและความชัง
แล้วมาตั้งอยู่ในความวิเวก คือกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ให้พากันทำให้มาก เจริญให้ยิ่งในความวิเวกเหล่านั้นโดยแยบคายในอุบายอันอาศัยความไม่ประมาท ปฏิบัติอย่างนี้อยู่ทุกวันทุกเวลา เราก็จะมีแต่ความสุขเกษมสันติตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
________________________________________
|