“ กรรมจำแนก”
อย่าไปคิดอิจฉาคนอื่นที่เขารวยกว่า เราก็ต้องมองอดีตด้วย ว่ากรรมของเขา มันไม่เหมือนกัน มันมีอดีตชาติ คนที่รวยมา เขาก็เคยสร้างบุญ ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก เขาทุ่มเทมา สร้างบุญสร้างกุศลมามาก แต่เมื่อมาภพนี้ชาตินี้ เขาลุ่มหลงมัวเมา เกิดภพหน้าชาติหน้า เขาก็ต้องตกต่ำลงไปอีก เพราะเขาทำกรรมชั่วนะ เพราะเขาหลง...หลงลืมตัวเอง เอาเถอะ..เราเกิดมาเป็นคนจน แต่เราพยายามสร้างคุณงามความดี สั่งสมบุญกุศลเอาไว้ พอออกจากชาตินี้ เราก็ไปสู่สุขคติ ไปสู่สวรรค์ อานิสงค์ของเรามี เราไปเกิดในที่รวย เกิดมาก็รวยเลย พอรวยขึ้นมาแล้วอย่าหลงนะที่นี่ ถ้าหลงก็ตกต่ำอีก นี้..ก็เหมือนกันพวกเราท่านทั้งหลาย มาเห็นแต่ในปัจจุบัน เราก็พูดได้ อิจฉาได้ แต่ว่าบุพกรรมของแต่ละคนนั้น มันมาไม่เหมือนกัน เราจะตำหนิกันไม่ได้ เพราะว่าความปรารถนาของคนไม่เหมือนกัน การที่จะคิด เบียดเบียนอิจฉากัน เราต้องคิดดูให้ดี ว่ามีที่ไปที่มา คนเราเกิดมาจึงไม่เหมือนกัน กรรม เป็นผู้จำแนก ให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้พวกเรา อยู่ ณ สถานที่ใด เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนาอย่างนี้ ให้ตั้งจิตตั้งใจ เกิดมาภพใดชาติใด ขอให้ข้าพเจ้าเป็นคนดี ได้พบพระพุทธศาสนา ให้คบคนดี ให้เป็นคนดี อย่าได้หลงทาง ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล เป็นพระอริยบุคคล ไม่ขอมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร ให้ถึงแดนพระนิพพาน โดยเร็วด้วยเถิด ให้เราตั้งปรารถนาอย่างนั้นในใจของเรานะ เราไม่ต้องปรารถนาอย่างอื่นหรอก ไม่ต้องปรารถนาให้ร่ำให้รวย ให้สวยให้งาม ให้มีลูกสามีภรรยา ว่าง่ายสอนง่าย นั้นเป็นปรารถนาในวัฏฏะสงสาร คือเวียนว้ายตายเกิด มันไม่มีที่สิ้นสุดนะ ถ้าหากว่าเกิดมาภพนี้ชาตินี้ สมความมุ่งมาดปรารถนา ลูกหลานอยู่ในโอวาททั้งหมด บางทีบางคนเขามาอิจฉา ก็ดุด่าให้เขา บางทีไปฆ่าไปแกงเขาอีก ไปทำความชั่วเข้าไปอีก ตกนรกหมกไหม้เข้าไปอีก กว่าจะฟื้นคืนมาได้ ลูกหลานของเราไปไหรหมด ผลที่สุดตัวเองนั้น เวียนว้ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เกิดมาในโลกวัฏฏะสงสารนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า ให้เข้าแดนพระนิพพานเลิศประเสริฐที่สุดนะ
โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา “อย่าอิจฉาเขา ถ้าบุญเรายังไม่ถึง” แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๙
ท่านทั้งหลายก็ควรจะได้ฝึกหัดตัวเอง ให้มีสัจจบารมีบ้าง เอาแค่สวดมนต์ ทำวัตรร่วมกันทุกวัน จะนั่งสมาธิทุกวัน เดินจงกรมทุกวัน จะนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง ก็นั่งให้มันได้ ๓๐ นาทีก็นั่งให้มันได้ อย่าไปเหลาะแหละ นี่คือการสร้างบารมี
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
“ ปากกินพริกกินเกลือ มันร้อน อย่าได้พูดกล่าวร้ายคนอื่น เพราะเมื่อเขาไม่รับ คำพูดนั้นก็จะย้อนกลับมาหาตัวเรา ”
หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล สำนักสงฆ์เทพนิมิต อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ถ้าอะไรมันกระเทือนขึ้นในใจให้ดูหัวใจเจ้าของทันที เพราะเรามาแก้ใจ มาระงับดับกิเลสที่ใจ กิเลสแสดงออกมา หือ ออกมาแล้วหรือให้ว่างั้นซิ สมมุติไม่พอใจคนนั้น ความไม่พอใจนี้คือเรื่องของเราเองเป็นผู้ก่อขึ้นมา นี่จับตัวนี้ก่อน ฟาดตัวนี้ให้มันพังลงไปซิ นั่นจึงเรียกว่าผู้มาแก้กิเลส ต้องดูตัวนี้ซิ ไปดูอะไรข้างนอก ต้นเสานี่ก็ไปโกรธมันได้ถ้าใจเลวเสียอย่างเดียว ต้นเสาก็ไปโกรธให้เขาได้ ภูเขาทั้งลูก ดินฟ้าอากาศ โกรธให้เขาไม่พอใจให้เขาได้ ถ้าใจเลวเสียอย่างเดียวว่างั้นเลย ถ้าใจเป็นนักปฏิบัติมีสติสตังกำจัดกิเลสที่แสดงฤทธิ์เดชแห่งความเลวทรามขึ้นมาในใจขนาดไหน จับปุ๊บ ๆ นั่นจึงเรียกว่าผู้มาแก้ตัวเองซิ
อย่าไปถือภายนอกนะ ให้ดูตัวนี้ตัวมันกระเพื่อมนี่ นี่ละการปฏิบัติธรรมต้องเป็นอย่างนั้นนะ ต้องดูจุดต้นเหตุมหาเหตุ มหาเหตุอยู่นี่ อย่างพระอัสสชิเทศน์ให้พระสารีบุตรนั่นละ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ คือใจ มันจะดับ-ดับที่ตรงนี้ก่อน พระสารีบุตรบรรลุธรรมพระโสดาขึ้นทันทีเลยเห็นไหมล่ะ ท่านจ้อเอาตรงนั้นเลยไม่เอาที่อื่น เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตÿ ตถาคโต เตสญฺจ นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ เป็นบาลีว่าอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ เมื่อเหตุนี้ดับมันก็ดับ พระมหาสมณะแสดงอย่างนี้ แปลออกแล้ว
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ "นิสัยวาสนาทางธรรมกับทางโลก
"..สตินี้มันก็ทันน่ะ คิดขึ้นเรื่องใดมันก็ดับ คิดขึ้นเท่าใดมันก็ดับ ถ้ามีสติพร้อมกับ...ปรุงขึ้น...ดับ ปรุงขึ้น...ดับ เรียกว่า สติพร้อมกัน คิดไปก็หลงไปลืมไป แปลว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้ว คิดขึ้นร้ายก็ดี คิดดีก็ดี รู้พร้อมกันนั้นล่ะ สติรู้พร้อมกันดับลงทันทีนั่นล่ะ ฯลฯ
มีสติแล้ว มีปัญญา...เมื่อไม่มีสติมันก็เผลอ เผลอแล้วมันก็หลงไป ครั้นไม่เผลอแล้วมีสติแนบอยู่ทุกเมื่อแล้ว คิดดีก็ดับลง คิดชั่วก็ดับลง พอใจก็ดับลง ไม่พอใจก็ดับลง เอาลงทันทีนั่นล่ะ...มีสติแล้วก็ใช้ได้ ใจเบิกบานขึ้น ปัจจุบันมีสติพร้อมกันกับคิด...คิดผิดก็ดี คิดถูกก็ดี รู้พร้อมกันก็ดับทันที เรียกว่า สติ...สัมมาสติ สติสัมโพฌงค์ ฯลฯ "
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
...ศาสนาแปลว่าอะไร? แปลว่า "ความไม่เห็นแก่ตัว ความเสียสละ" ถ้าใครไม่เห็นแก่ตัว ใครเสียสละเพื่อคนอื่น อย่างนี้เรียกว่า เขามีศาสนา... What is religion? ...Religion means selflessness and renunciation. of a person is unselfish and gives to others,he or she can be said to have a religion.
โอวาทธรรมหลวงพ่อกัณหา สุกาโม คัดลอกมาจากหนังสือสุขกาโมศิโรวาท หน้าที่ 98
"ไฟที่ล้นออกมาจากเตา เผาผลาญทำลายวัตถุสิ่งของให้มอดไหม้เสียหาย กิเลสที่ล้นออกมาจากใจ เผาผลาญทำลายตนและผู้อื่นให้จมลงสู่กองแห่งความทุกข์"
โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม วัดป่าหนองไผ่ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร
คำถาม: เวลาเราเดินจงกรม เราจะรู้ตรงไหนเจ้าค่ะ บอกว่าให้รู้สึกตัว เรารู้ไปที่เท้า หรือเรารู้ไปทั้งตัวเจ้าคะ ถึงจะถูกต้องเจ้าคะ
คำตอบ: ให้รู้รวมๆ รู้ตัวทั่วพร้อมคือรู้รวมๆ หมายความว่า เวลาเดินก็รู้ว่าขาขยับ เท้าสัมผัสพื้น แต่เราไมได้รู้แค่นั้น รู้มากกว่านั้น เช่นรู้ว่าทั้งตัวเคลื่อนขยับ ไม่ว่าเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง ถ้าเรารู้สึกตัวทั่วพร้อม เราก็จะรู้สึกการเคลื่อนขยับทั้งที่ขา ที่เท้า ที่ตัว เป็นการรู้รวมๆ ไม่ได้เจาะจงที่จุดใดจุดหนึ่ง และไม่ชัดเจนเหมือนการเพ่ง
ที่จริงการรู้รวมๆ มันเป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้ว ถ้าหากว่าใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ ก็จะรู้รวมๆ หรือรู้ทุกส่วนของร่างกายเมื่อมีการเคลื่อนขยับ ไม่ใช่แค่เท้า ไม่ใช่แค่ขา ไม่ใช่แค่ตัวเท่านั้นนะ อย่างเช่น เวลากระพริบตา กลืนน้ำลาย ก็รู้สึก
แต่ถ้าเราเอาจิตไปเพ่งที่เท้า เวลากระพริบตากลืนน้ำลายก็จะไม่รู้เลย ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อม เวลาหายใจเราก็รู้เบา ๆ แต่ไม่ได้รู้แบบจดจ่อมัน มันรู้เอง มันมาเอง แต่มันจะมาแบบเบาๆ
ตอบปัญหา รู้สึกตัว จงกรม โดยพระอาจารยไพศาล วิสาโล ตอบในคอร์สภาวนาที่รพ.สมุทรปราการ
"ทุกคนก็จะไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือความตาย เมื่อเราพิจารณาความตาย มรณสติ อยู่สม่ำเสมอ จิตใจเราจะไม่เพลิดเพลินไม่มัวเมาในสิ่งของภายนอก จิตใจจะสงบ จิตใจจะเยือกเย็น จิตใจจะเบื่อหน่ายในภพชาติ"
หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร
สติ_ปัญญา
เรื่องความตายเป็นเรื่องของกายไม่ใช่เรื่องของใจ คนเรามีจิตวิญญาณที่ไม่ตาย จึงกลับมาเกิดได้ ท่านจึงให้ควบคุมจิตวิญญาณ ให้อยู่ใต้อำนาจ "สติ"
ฝึกฝนให้ได้ เมื่อหมดชีวิตไป ก็ไม่ต้องห่วง ตรงนั้นท่านจึงว่า "สุคโต" เป็นที่ตั้ง ถ้าเราฝึกไม่ได้ก็ตกเป็นทาสอารมณ์เพราะขาดสติ หมดชีวิตไป วิญญาณก็เร่ร่อน เป็นสัมภเวสี ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไปตามกรรมที่เราสร้างไว้
กรรมผลักใสไปทางไหน ก็ไปตามนั้นแหละ เหมือนเปลือกผลไม้ จะไม่รู้รสของเนื้อผลไม้ แม้จะอาศัยอยู่ด้วยกันก็ตาม
เหมือนสังขารร่างกายเรา ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะจากเราไปเวลาไหน จะไปเกี่ยวข้องกับภพชาติต่อไปในทางดีทางไม่ดี ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะอะไร อยู่ด้วยกัน ก็ไม่รู้กัน
ท่านจึงว่าไม่ให้ประมาท ให้ศึกษาดูก่อน พิจารณาดูก่อน ติดอันไหน ข้องอันไหน ก็ให้พิจารณาอันนั้น แก้ไขอันนั้น ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ปล่อยวางไม่ได้ ตอนเรามีชีวิตอยู่ โอกาสที่จะผ่านได้ก็ยาก ทำอย่างไรจึงจะผ่านได้ ตรงนี้สำคัญ
เราทำอะไร ให้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก บุญบารมีท่านสูงส่งกว่าพวกเราทุกสิ่งทุกอย่าง รูปธรรม นามธรรม ความสุข ความทุกข์ ทางกาย ทางใจ มีอยู่ด้วยกันทุกคน ท่านฝึกให้ปล่อยวางตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เราปล่อยวางได้ ก็ไปได้ ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ปฏิบัติทางใจไม่ได้ ก็ขอให้ปฏิบัติทางกายให้ได้ อย่างน้อยก็ได้ปฏิบัติบูชาคุณ ที่ท่านพาดำเนินมา
ท่านนั่งภาวนาสามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านนั่งทางกาย แต่เดินทางใจ คือเดินทางสติปัญญา เพื่อแก้ไข เวทนาออกจากกาย ออกจากใจ คือปล่อยวาง แต่เราภาวนา เพื่อจะยึด มันต่างกันตรงนี้ เราทำไม่ได้ เพราะเราทำน้อย ถ้าเราทำมาก ก็จะเข้าใจเอง
๑๐ ก.ค.๒๕๕๗ หลวงพ่อจันมี อนาลโย
“โลกนี้ คือ “โรงละคร” ที่เก็บค่าดูแพงที่สุด ซึ่งบางที ก็เท่ากับ“ชีวิต” ของมนุษย์“ผู้ดู” นั่นเอง”
พุทธทาสภิกขุ ที่มา : จากหนังสือ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์”
|