Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

รักษาศีล

ศุกร์ 01 พ.ย. 2019 4:51 am

" เชื้อ...ที่จะพาให้ จิต
ไปเกิด ไปตาย ในภพชาติน้อยใหญ่นั้น
ก็คือ ตัวรู้ หรือผู้รู้ ที่อยู่กับ จิต
กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน อยู่นั้นแล

เมื่อ...ผู้รู้
ถูกถอนพรวดขึ้นมาจาก...จิตแล้ว
เหลือแต่...
วิมุตติจิต การเกิดจึงยุติ ขาดสะบั้นกันลงไป

ผู้รู้ นี้
ก็สักแต่ว่า เรือนร่าง ของจิต
แต่ ไม่ใช่จิต

ร่างกาย นี้
เป็น สักแต่ว่าเรือนร่าง
เป็น ที่อาศัยของ ผู้รู้
หรือ ความรู้ เท่านั้น

เมื่อ...จิต
ขาดจากความสืบต่อ กับสิ่งภายนอก
หรือ ขันธ์แล้ว
จิต...
จึงเป็นอิสระ นอกเหนือไปจากกฏ อนิจฺจํ
ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ตามความจริง ของตน

ไม่ไปเกี่ยวข้อง กับกฏของสมมุติ
เพราะ...เป็นวิมุติแล้ว
นั่นคือ...
ผู้พ้นภัย พ้นโลก พ้นตรงนี้."

(องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)







...ถ้าเรา ”รักษาศีล” ได้
ใจของเราจะรู้สึกเย็นสบาย
ไม่มีความรู้สึกหวั่นไหว
หรือหวาดกลัวกับผลของการกระทํา

เพราะรู้ว่า..
ไม่ได้กระทําอะไรที่เป็นโทษ
ที่เป็นพิษเป็นภัยกับผู้อื่น
และกับตนเองนั่นเอง

“ศีล” นี่แหละที่เป็นเหตุ
ที่จะทําให้เรามีความร่มเย็นเป็นสุข
ถึงแม้ว่าเรา
จะไม่มีเงินทองมากมายก่ายกอง
“แต่ถ้าเรามีศีล “
เราก็มีสมบัติที่มีคุณค่ากว่า
ทรัพย์สิน เงินทองข้าวของต่างๆ.

.................................
.
ธรรมะในศาลา 17/11/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
สัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








หากผู้ใด ได้ถวายอาหาร สิ่งของ แด่พระพุทธเจ้าหรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า บุญที่เกิดจากการถวายทานนั้น มีอานิสงส์มาก ถึงขนาดผู้นั้น ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ได้เป็นสาวก หรือ อัครสาวก หรือ ปราถนาพุทธภูมิ ก็ได้สมดังใจปรารถนา

ตามพระพุทธดำรัส ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น การที่เราดูแลช่วยเหลือ ปรนนิบัติ ต่อ พระภิกษุ ผู้อาพาธเท่ากับว่าเรา ได้สร้างกุศล ต่อพระพุทธองค์ โดยตรง เลยทีเดียว

ดังนี้ ผลบุญมหาศาลจักบังเกิดขึ้นแก่เราผู้ได้ปรนนิบัติอุปัฏฐาก พระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธ เปรียบเสมือนเราได้ถวายทาน ต่อพระพุทธเจ้า นั่นเอง

อานิสงส์ของการบริจาคเงิน เพื่อบำรุงภิกษุ-สามเณรที่อาพาธ

๑. ชื่อว่าเสมือนอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใด ต้องการอุปัฏฐากเรา ตถาคต ผู้นั้น จงไปอุปัฏฐาก ภิกษุไข้เถิด"

๒.อกุศลกรรม ในอดีตชาติ จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ อย่างหนึ่งได้

๓. เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติ เมื่อได้รับส่วนบุญนี้จะเลิกจองเวรจองกรรม ช่วยให้พ้นเวรพ้นกรรม

๔. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เทวดารักษา สรรพวิญญาณเมตตาปราณี

๕.เหล่าวิญญาณร้าย ไม่อาจเบียดเบียนบีฑาได้

๖.จิตใจสงบร่มเย็น ปวงภัยไม่เกิด ฝันร้ายไม่มี มีสง่าราศีผ่องใส สุขภาพเเข็งเเรง กิจการงาน เป็นมงคล
แก่ตัว อายุยืนยาว ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย

๗. คุณธรรม เจริญมั่นคง ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าปัญญาเกิด

๘. ไม่พลัดพราก จากคนรัก ของรัก ก่อนเวลาอันควร

๙.ชื่อว่าได้อุปถัมภ์ บำรุงพระพุทธศาสนา ให้มั่นคง ยั่งยืน

๑๐. ถือเป็นการทำสังฆทานอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการถวายการอุปัฏฐาก บำรุง แก่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก

๑๑. จะไม่ไร้ญาติขาดมิตร เวลาแก่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะมีคนคอยดูเเล ไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว

๑๒. มีเดชบารมีมาก มียศ วาสนา เป็นใหญ่เป็นโตไม่มีใครข่มขี่ เบียดเบียน

๑๓. จะเป็นที่รักแก่คนทั้งปวง ไปที่ใด จะมีผู้คอยช่วยเหลือเกื้อหนุน ไม่ถูกปล่อยให้ขัดข้องในเรื่องทั้งปวง

๑๔.จะมีสมบัติมาก และสมบัติจะไม่ถูกทำลายโดยราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ

๑๕. จะได้พบพระอริยสงฆ์ ได้พบพระอรหันต์
ได้พบพระดี ได้พบพระเครื่องพระบูชา ที่มีความศักดิ์
สิทธิ์ ไม่เจอพระปลอม ไม่เจอพระเก๊ พระทุศีล

๑๖.จะได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า และเข้าถึงธรรมได้โดยง่ายดาย

๑๗.จะได้เจอครูบาอาจารย์ และเพื่อนที่ทรงคุณธรรม

๑๘.ด้วยบุญที่อุปัฏฐากภิกษุอาพาธนี้ จะเป็นปัจจัยแก่สวรรค์ และนิพพาน

๑๙. ด้วยบุญที่ อุปัฏฐากภิกษุอาพาธนี้ สามารถอธิษฐาน ให้เป็นปัจจัย แก่การบรรลุเป็นพระมหาสาวก พระอัครสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า
และ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาลได้

โอวาทธรรม หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่







พยายามสังเกตดูจิต จิตคิดอะไร เรื่องราวทั้งหลายที่เป็นอารมณ์อยู่ในจิต จิตเป็นผู้ผลิตขึ้นมาปรุงขึ้นมาใหพากันเข้า ใจ นีไม่อวด เข้าใจจริง ๆ เพราะได้เคยฟัด กันมาแล้ว แทบไปแทบอยู่ แทบจะไม่ได้มาเห็นหน้าเพื่อนฝูง เวลาเข้าสู่แนวรบบนเวที

อารมณ์นั้นไม่ใช่อะไรนะ เรื่องอารมณ์ของตัวเองนั่นแหละ จิตหลงอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง คือจิตมันออกไปวาดภาพเรื่องนั้นภาพเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ให้คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้เพราะจิตอยู่กับเรื่อง

ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยสกัดลัดกั้นแล้ว มันจะคิดติดต่อเกี่ยวเนื่องกันไป เป็นลูกโซ่โดยลำดับ ๆ ท่านเรียกว่า ธรรมา รมณ์ ทำเราให้หลงเพลินและเศร้าโศกไปกับเรื่องกับราวของตัวที่วาดขึ้นมานั่นแล

หลวงตาเล่าให้ฟัง
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน









ไอ้ความตายนี่
อย่าไปกลัวมันเลย
ไม่ควรกลัวความตาย
คนเราเดินเข้าไปหาความตายทุกวัน
ถ้าขืนไปกลัวความตาย
มันก็หลอกตัวเอง
คนไหนยังหลอกตัวเอง
คนนั้นยังเอาดีไม่ได้
ต้องพยายามรู้ตัวไว้เสมอ
ว่าเราเกิดมาเพื่อตาย
นี้เป็นอันดับแรก
แล้วก่อนที่จะตาย
เราต้องรับผลกรรม
กรรมมีอยู่ ๒ อย่างคือ
กรรมดีอย่างหนึ่ง
กรรมชั่วอย่างหนึ่ง

.. หลวงพ่อปาน​ โสนนฺโท









" เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ทรัพย์สมบัติเราหามาได้ เราหึง เราหวง เราห่วง
เอาบุญมหาชาติๆ นิ แปลว่าชาติสุดท้าย ที่พระพุทธองค์บำเพ็ญบารมี เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ความหมายให้เราน้อมมาเป็นคติสอนใจ ให้เป็นคนใจกว้างใจขวาง เหมือนพระเวสสันดร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนใจกว้างก็เปรียบเหมือนต้นไม้ใกล้ทางใครไปก็ไปพักร่มเงา บริวารมาเพราะน้ำใจมี บริวารหนี้เพราะน้ำใจลด บริวารหมดเพราะน้ำใจแห้ง "

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่ประเวศ ปัญญาธโร
วัดป่าคลองมะลิ อ.มะขาม จ.จันทบุรี







“แผนที่เส้นทางปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เบื้องต้น ถึงปลายทางแห่งพระนิพพาน”

1. ผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพาน จะต้องถือศีลให้บริสุทธิ์ ข้อนี้สำคัญมาก ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ก่อน เรื่องอื่นใด คือ ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงาม อะไรผิดศีล ห้ามทำโดยเด็ดขาด

2. ให้คิดถึงนิพพานทุกขณะ เหมือนนิพพานอยู่ตรงหน้า คือ ระลึกไว้เสมอว่า เราจะไปนิพพานเท่านั้น จุดเดียวที่เดียว อย่างอื่นไม่เอา ให้พุ่งตรง ตัดตรงไปเลย

3. ทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ให้ได้ คือ ถ้าใครบริกรรมพุทโธ ก็ให้ทำไป ใครดูลมหายใจ ก็ให้ดูไป เรื่องนี้เน้นย้ำมาก ให้คุมกรรมฐานไว้ระหว่างวัน ส่วนจะใช้กรรมฐานชนิดใด ตรงนี้ใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในหมวดกรรมฐาน 40 ไม่มีอะไรผิด จุดนี้ให้เน้นไปที่ การทำสมถะก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจวิปัสสนาในช่วงแรกๆ ต้องฝึกให้จิต มีความตั้งมั่นก่อน ให้จิตอยู่กับกรรมฐาน ของตนตลอดเวลาทั้งวัน

ยกเว้นเวลาที่ต้องทำงานเท่านั้น เน้นว่า นี่คือการปฏิบัติเบื้องต้น ไม่ควรทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ควรทำผิดไปจากนี้

4. เมื่อทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ไปจนจิตเข้าสู่สมาธิได้แล้ว ให้สังเกตดู ช่วงนี้จิตจะปรุงกิเลสน้อยลง เพราะจิตมันอิ่มอารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่งมากขึ้น ทำความสงบได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ว่า จิตของเรา เริ่มมีกำลังเกิดความตั้งมั่นได้ง่าย คือ ในชีวิตประจำวัน ก็ทรงอารมณ์อยู่กับกรรมฐานได้

เมื่อทำสมาธิในรูปแบบ ก็มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ อย่างนี้ถือว่า เริ่มใช้ได้แล้ว ตรงนี้ ให้เริ่มพัฒนาในขั้นตอนต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่การทำสมาธิ

5. พอจิตสงบ ตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ท่านให้เริ่มเดินปัญญาต่อไปเลย เพียงแค่สมาธิอย่างเดียวนั้น จิตจะไม่มีความกว้างขวาง จะต้องเดินปัญญาต่อ จึงจะเกิดความกว้างขวาง นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำเอาไว้ ต้องทำตามพระพุทธเจ้าท่านสอน

6. ให้เริ่มต้นพิจารณาร่างกาย โดยให้แยกเป็นส่วนๆ คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

นี่เป็นตำหรับแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า ให้เอามาดูเป็นส่วนๆ ดูสิ เส้นผมของเราเป็นยังไง สะอาดหรือสกปรก เหมือนกันกับขนสัตว์ ชนิดอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่อาบน้ำมันจะเป็นอย่างไร แล้วไล่พิจารณาเรียงไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

กรรมฐาน 5 นี้ เป็นพื้นฐานทางเดินทาง ด้านปัญญา ให้หัดดูไปเรื่อยๆ เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ก็ให้พิจารณาไป ให้เห็นว่า ที่ทำอยู่นี้คือ หินลับปัญญา

7. เมื่อทำจนชำนาญ ต่อไป ก็ลองแยกให้เป็นธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาให้เป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกข์ขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำเช่นนี้ สติปัญญาจะมากขึ้นเป็นลำดับ

8. เมื่อพิจารณาสักพัก ก็ให้ย้อนกลับมา
ทำสมาธิ เอาความสงบ เอากำลังของจิตใหม่ ต่อเมื่อจิตอยู่ในความสงบ เริ่มมีกำลังฟื้นตัว ก็กลับมาเดินไปปัญญาอีกครั้ง ให้ทำเช่นนี้สลับไป ห้ามทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงอย่างเดียว ต้องมีทั้งการทำสมาธิ และเดินปัญญาสลับกันเรื่อยไป

9. เมื่อถึงจุดหนึ่ง คราวนี้ให้กำหนดเป็นอสุภะ อสุภะก็คือ กรรมฐานกองหนึ่ง ที่ทำให้เห็น ธรรมชาติของ ร่างกายคนเรา มีอยู่10 ระยะ คือ -ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด
-ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ คละด้วยสีต่างๆ
-ซากศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้ม (เน่าเฟะ)
-ซากศพที่ขาดออกเป็น ๒ ท่อน
-ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
-ซากศพที่กระจุยกระจาย
-ซากศพที่ถูกฟันบั่นเป็นท่อนๆ
-ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (จมกองเลือด)
-ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำ เต็มไปหมด
-ซากศพที่เหลืออยู่แต่ ร่างกระดูก หรือ เหลือแต่ท่อนกระดูก

ในการกำหนดอสุภะนี้ ให้กำหนดภาพเหล่านี้
ขึ้นมาตรงหน้าเลย ทำให้ภาพนิ่งอยู่ตรงหน้า อย่างนั้น หมั่นเอาภาพอสุภะมาตั้ง ไว้ตรงหน้าเสมอ ตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไร แค่ให้จิตกำหนดภาพเหล่านี้ให้ได้ก็พอ

แล้วดูไป ดูอย่างเดียว เพ่งไปเลยอย่าให้คลาด เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ จิตมันจะรู้ของมันเอง

10. เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ แก่ความต้องการของจิต คราวนี้ธรรมชาติจะหมุน ไปสู่ความจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะเป็นธรรมที่ละเอียดมาก จิตมันจะมีปัญญา ในเรื่องกามราคะ ถึงตอนนั้น จิตมันจะสิ้นข้อสงสัย ในเรื่องกามราคะไปเลย โดยไม่ต้องมีใครบอก
ในขั้นนี้ จะสำเร็จเป็น พระอนาคามีแล้ว

11. เมื่อทำซ้ำๆ จนบรรลุอนาคามี จิตจะไม่กลับมาเกิดอีก เพราะกามราคะมัน ขาดสะบั้นไปสิ้น จิตมันจะหมุนขึ้นสูงอย่างเดียว ไม่ลงต่ำ ไปอยู่ชั้นพรหมสุทธาวาส เวลานั้นจิตจะรู้ความจริงไปตามลำดับ

12.ทบทวนและย้ำอีกรอบว่า "เมื่อทำสมาธิ(สมถะ) ให้พักเรื่องปัญญา(วิปัสสนา)

และเมื่อเดินปัญญา(วิปัสสนา) ก็ให้พักเรื่องสมาธิ(สมถะ) ทั้งสองสิ่งนี้ จะต้องทำสลับกันไปตลอด ห้ามทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อทำสิ่งหนึ่ง ก็ไม่ต้องคิดถึงอีกสิ่ง คือ ทำความสงบ ก็ทำไป พิจารณาความจริง ก็ทำไป ห้ามนำมาปนกัน ให้ทำสลับไปอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดการปฏิบัติ

13. เมื่อก้าวถึงภูมิอนาคามีแล้ว จะมีภูมิของอนาคามี ที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ 5 ระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นขั้นๆ พวกที่ก้าวข้ามขั้นไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่ในช่วงกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ จะหายาก โดยมากแล้วจะไปทีละขั้น เพราะด่านกามราคะมันยากจริงๆ ไม่ใช่ของง่าย

14. ในขั้นนี้ปัญญา จะเดินอัตโนมัติ ตลอดเวลาแล้ว เห็นนิพพานอยู่ตรงหน้า ช่วงนี้ปัญญาจะฆ่ากิเลส ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง ฆ่ากิเลสตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนหลับ ตอนนั้นไม่มีคำว่า เผลอแล้ว เพราะปัญญาจะเกิดอย่างถี่ยิบ

15. สติปัญญาเดินมาก ต้องย้อนสู่สมาธิ ห้ามเดินปัญญา แต่อย่างเดียวเด็ดขาด ต้องทำสลับกันไปเช่นนี้

16. ต่อไปจะก้าวเข้าสู่ มหาสติปัญญา ถึงตรงนี้จะหมดนิมิต ที่เกี่ยวกับจิต เหมือนฟ้าแลบตลอด ไม่ต้องบังคับให้จิตทำงาน กิเลสซ่อนอยู่ตรงไหน ปัญญาจะตามไปฆ่าเชื้อที่นั่น

ส่วนใหญ่ถึงตรงนี้ ทุกข์เวทนาจะน้อยมากๆ เหลือเพียงสุขเวทนาเท่านั้น มันจะเห็นสุขเวทนาชัดเจนมาก จุดนี้เองที่มันจะเข้าไปใน ปราสาทราชวัง ไปเจอนายใหญ่ คือ อวิชชา ค้นพบอริยสัจ 4

มันจะเห็นกษัตริย์แห่งวัฏฏะ คือ ตัวอวิชชา ถึงตรงนั้นทุกสรรพสิ่ง จะว่างไปหมด ยกเว้นเพียงตัวเองที่ยังไม่ว่าง

17. เมื่อถึงจิตตะ คือ อวิชชา พอเปิดอันนี้ออก จิตมันก็จ้าขึ้น ตอนนี้ข้างนอกก็สว่าง ภายในก็สว่าง ว่างทั้งหมด

ตัวเราก็ว่าง เป็นวิมุต คือ ธรรมชาติที่แท้จริง
จิตเป็นธรรมธาตุ เป็นภาวะนิพพาน จิตไม่เคยตาย ถึงธรรมชาติแล้ว หายสงสัยล้านเปอร์เซ็นต์

18. แรกเริ่ม ธาตุขันธ์ เป็นเครื่องมือของกิเลส แต่ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ธาตุขันธ์จะเป็นเครื่องมือ ของธรรมทั้งหมด"

ธรรมเทศนาของ หลวงตามหาบัว







คนเราต่างมีกรรมเป็นของของตน

"มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด
มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจักเป็นทายาท
ให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อ ๆ ไป คือ.. หมายความว่า กรรมต่างจำแนกสัตว์
ให้เป็นไปต่างๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว
ให้ประเสริฐ..”

โอวาทธรรม
หลวงปู่เสาร์_กนฺตสีโล​
วัดเลียบ​ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
[พ.ศ. ๒๔๐๒ – ๒๔๘๔]







"ทุกๆอย่างที่ยึดถือว่าเป็น "ของเรา" นั้น แม้ว่าจะมีสิทธิอยู่ แต่ก็เป็นสิทธิชั่วคราวเท่านั้น ไม่เป็นสิทธิที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นสิทธิที่แท้จริงแล้ว ก็จะต้องไม่มีความพลัดพราก"

สมเด็จพระญาณสังวร








" ไม่มีอะไร
ที่เราสะสมแล้ว
ไม่เป็นภาระ
..ยกเว้น
ความดี "
(โอวาทธรรม หลวงปู่สมเด็จพระสังฆราช)









" ฆ่าอะไรมีความสุข.
ฆ่าความโกรธมีความสุข.
ฆ่าความรักจึงไม่เศร้าโศก
ความรักไม่มี​ ความโศกจะมาที่ไหน."

หลวง​ปู่​ขาว​ อ​นา​ล​โย







ร่างกายสังขารก้อนธาตุ ก้อนธรรม พวกเฮามางมแต่ของบ่เป็นตาสิแตก ของทุกข์ของยากก้อนทุกก้อนยากบ่รู้จักก้อนฟืนก้อนไฟไผหลงไปจับลำบากโลดเหตุนี้ผู้ใดหลงของมวลนี้มันกะเป็นผู้ลำบาก"

(โอวาทธรรม หลวงปู่บุญมี)








เมื่อใดก็ตามที่พบว่าความสุขหาได้ที่ใจ
และมิตรที่ประเสริฐที่สุดก็คือใจของตน
เมื่อนั้นเราก็มีความสุขได้ทุกหนแห่ง
เจออะไรก็ไม่ทุกข์
มีเท่าไรก็ไม่รู้สึกยากไร้
อยู่คนเดียวก็ไม่รู้สึกอ้างว้าง
ใครจะมองเราอย่างไรใจก็ไม่หวั่นไหว
สูญเสียเท่าใดใจก็ไม่เสียศูนย์

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล










“อย่าพะวงถึง “อดีต”
อย่าพะวงถึง “อนาคต”
จัดการให้ถูกต้องกับ “ปัจจุบัน”
แล้วอนาคตมันก็จะคุ้มครองตัวมันเอง
ด้วยการทำถูกต้องในปัจจุบัน”

พุทธทาสภิกขุ










"มรณะคือความตาย
เมื่อระลึกอยู่ในใจอย่างน้อย
ก็ให้ได้วันละ ๕ หนก็ยังดี
ระลึกถึงความตาย จะเป็นการเหยียบเบรกห้ามล้อ
ไม่ให้มันดิ้นรนกวัดแกว่งเอาเสียจนเป็นกงจักร
เผาหัวใจเจ้าของตลอดเวลา"

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน








อย่าสำคัญว่าตนเองเก่งกาจ

"สามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย
ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตา
ทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา
เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจน..
ยิ่งกว่าสัตว์ ยังไม่เตรียมทราบ
ไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะ
อันควร​ เมื่อมีผู้เตือนสติ ควรยึด
มาเป็นธรรมคำสอนจะเป็นคนมี
ขอบเขตมีเหตุผล ไม่ทำตาม
ความอยาก เมื่อพยายามฝ่าฝืน
ให้เป็นไปตามทางของนักปราชญ์
ได้จะประสบผลคือความสุขใน
ปัจจุบันทันตา แม้จะมิได้เป็น
เจ้าของเงินล้านแต่มีทางได้รับ
ความสุขจากสมบัติ และความ
ประพฤติดีของตน..”

โอวาทธรรม
พระครูวินัยธร [มั่น ภูริทตฺโต]​
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
[พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒]








“พวกเรามีบารมี มีทุนเก่า ทำให้พวกเรามาเข้าวัด มาทำบุญเพิ่มมากขึ้น มีสติปัญญาเพิ่มมากขึ้น ครูบาอาจารย์หรือคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่เนืองนิจ ถึงจะมีอายุเยอะหรือเป็นคนเฒ่าคนแก่ เขาก็ยังยิ้มแย้มนั่นเป็นเพราะเขามีจิตใจที่แจ่มใส มีคุณธรรมเป็นของดีติดตัว พวกเราเสียอีกที่เป็นคนหนุ่มคนสาวกับหน้าเหี่ยวยิ้มกันไม่ค่อยออก”

หลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป







“คนกิเลสหนาสอนง่ายกว่าคนกิเลสบาง
เพราะมันเป็นแผ่นหนากระเทาะง่ายถ้าเปลือกบางมันปอกยาก
(คือถือว่าตัวดีเสียแล้วก็ไม่ค่อยจะยอมละ)”

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร









รวมคำสอนของคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

จาก "แนวทางขั้นต้นของผู้ปฏิบัติที่จะเข้าถึงพุทธธรรม" ในหนังสือ "คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม อนุสรณ์"

๏ การทำสมาธิให้ลุล่วงตามแบบของพระพุทธองค์นั้น ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ด้วย แม้แต่ศีล ๕ รับอพรหม ก็จะเป็นเสมือนมีเรือที่จะข้ามโอฆะให้ถึงฝั่งได้แล้ว แต่ถ้าไม่มีกรรมบถ ๑๐ หรือ บารมีทั้ง ๑๐ ให้สมบูรณ์ ก็จะเป็นเสมือนเรือที่ไม่มีพาย ต่อให้นั่งหลับตาทำสมาธิสักเท่าไร ก็จะเกิดผลที่ถูกทางนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีศีลวิสุทธิ จึงนับได้ว่าเสียเวลาเปล่า ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกแล้ว เพียงแต่มีศีลดังกล่าว ก็อาจจะได้รับความสุขได้ เพราะ กาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ เป็นของทำได้ไม่ยากนัก เช่น ถวายชีวิตกับพระรัตนตรัยแล้ว ก็เชื่อฟังถ้อยคำที่พระภิกษุพุทธบริษัทแสดงธรรมคำสอน เมื่อได้สดับแล้ว จงนำมาปฏิบัติลองดูสักครั้ง วิธีง่ายๆ ให้ดูที่สังขารร่างกายของเราว่า มีอะไรเป็นสิ่งที่น่ารักบ้าง มีแต่ขี้ทั้งนั้น ขี้เต็มตัว แต่ขี้เกียจนั่นซิ ร้ายกว่าเพื่อน ถ้าจะสันนิษฐานดูให้ละเอียด จะเห็นได้ที่คนอื่นก่อน อาทิเช่น ผิวหนัง ตามร่างกาย เนื้อดีๆ พอถูกข่วน หนังถลอก ก็อาจจะมีหนองได้ เช่นนี้เห็นง่าย หรือ ผม เล็บ ฟัน หู จมูก เหล่านี้ ควรจะพิจารณาให้เกิดธรรมสังเวชให้ได้ ถ้าเกิดธรรมสังเวชในขณะใด ก็ให้เร่งรีบเพ่งดูให้ชัด เผื่อจะเป็นเหตุให้เห็น “ของจริง” ได้บ้าง

๏ ถ้าจะทำกัมมัฏฐานอย่างสมัยใหม่ จะต้องรู้เท่าว่า ลืมตาเห็นรูป ก็ให้จิตอยู่ในกาย ไม่ให้รับอารมณ์ที่ส่องเข้ามาภายใน พยายามทำสมาธิด้วยจิตที่มีศีล เป็นประดุจนายบ้านที่มีประตูกั้นแข็งแรง และมีกระดิ่งอาณัติสัญญาณเครื่องหมายเปิดประตู เหตุภายนอกเหมือนกับคนที่กดกระดิ่ง อารมณ์เหมือนเสียงกระดิ่งที่แล่นมาตามสายหรือกระดิ่งไฟฟ้าเป็นต้น สติสัมปชัญญะเป็นประดุจนายบ้าน มีสมาธิอยู่ในตัว อาจรู้เท่าว่า ใครคนดีหรือคนชั่วที่จะเข้ามาในบ้านนั้น เพราะเห็นก่อนที่จะเปิดประตูให้ ถ้าคนร้ายก็ไม่ยอมเปิดรับ

๏ การทำความดีนั้นไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ใช้กำลังใจที่เข้มแข็งเหมือนกับจับกังที่ยกของหนักๆ เช่นข้าวสารหนึ่งหรือสองกระสอบเขาก็ยกไหว เพราะอาศัยกำลังกายที่แข็งแรงประกอบด้วยจึงจะได้ ส่วนการเรียนธรรมนั้น ไม่ต้องแบกเหมือนกระสอบข้าวสาร เพียงแต่ “ละ” เท่านั้น เช่นละทิฏฐิอันผิดของตนให้สิ้นไป ก็จะกลายเป็นสัมมาทิฏฐิแท้ ด้วยอำนาจของจิตที่อบรมฝึกฝนแก่กล้า การที่เรียกว่า “แก่กล้า” นั้นหมายถึงอินทรีย์แก่ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นแล้ว “กล้า” นั้นได้แก่ กล้าทำความดีทุกชนิด เมื่อจิตดีมีสมาธิแน่วแน่ กิจการทั้งหลายก็ก้าวหน้า

๏ การเรียนธรรมก็เหมือนกัน ถ้าจะเรียนแต่สมาธิหลับตาอย่างเดียว ก็เท่ากับตาบอดคลำช้าง หรือเรียนดีเกินไปเช่น เรียนอภิธรรมอย่างเดียวโดยศีลไม่บริสุทธิ์ หรือไม่ละ โลภ โกรธ หลง ให้สิ้นเชิงแล้ว ก็จะเป็นเสมือนนักเรียนไทยไปเรียนภาษาคนอื่น โดยลืมภาษาของตนเสียสมมติว่าไปเมืองนอกรู้ภาษาต่างประเทศ เมื่อกลับมานำมาใช้กับชาวนาชาวสวนก็เลยพูดไม่เข้าใจกัน เช่นเดียวกับอภิธรรมสังคหะ ถ้าเรียนตามแบบก็เท่ากับไปเรียนเอายอดของความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมาเรียงไว้ เท่ากับปลูกต้นไม้เอายอดลง ความเป็นจริงในเบื้องต้นในพระปฐมสมโพธิที่ได้เรียนกันเป็นแบบฉบับนั้น ก็มีพระอภิธรรมควบกันมาด้วย ฉะนั้น แม้แต่เรียนปริยัติก็จริง เท่ากับเรียนอภิธรรมไปในตัว ไม่จำเป็นที่จะไปเรียนชั้นสูงสุดลงมา การเห็นจิตเจตสิกของตนนั้นเป็นการเห็นยาก ถ้าจิตไม่สงบจากบาปแล้วจะเห็นจิตที่บริสุทธิ์ไม่ได้เลย แต่จิตดวงเดียวยังคุมไว้ไม่ใคร่จะอยู่ ยังไปแยกเจตสิกซึ่งเป็นของลวงออกมานับด้วยยิ่งไปกันใหญ่ มัวแต่นับและจำไม่รู้จักจบเสียที วิธีง่ายๆ ก็คือ “สมาธิลืมตานั่นเอง” เพียงแต่รู้เท่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ และกองวิญญาณ ๖ รวมเป็น ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘ นี้ถ้ามีสมาธิมั่น และต้องมีอธิวาสนขันติ สติ สมาธิ ปัญญา กำกับอยู่แล้ว ธาตุทั้ง ๑๘ นี้จะดับไปเอง

๏ ไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ ก็ดี ถ้ากลัวทุกข์จะเกิดอยู่เสมอแล้วย่อมเป็นสุข เหมือนกับมีแก้วสารพัดนึกอยู่ในตัว แก้วมีถึง ๖ แห่ง มีตาเป็นแก้ว คือตาใสไม่ใช่ตาที่ขุ่นมัว เพราะเห็นเขาจะทำอะไรก็ให้พิจารณาว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก ถ้าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นมงคลก็ให้นำมาใช้ นึกจะดูหนังสือก็ดูได้เรียกว่าตาใสเป็นแก้ว ไม่เพ่งโทษคนอื่น ไม่มองคนอื่นด้วยการเหยียดหยาม มองแล้วให้เป็นอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย เรียกว่าตาใสเป็นแก้วสารพัดนึก

หูเป็นแก้ว เมื่อฟังคำสอนก็รู้ได้ทันท่วงที และจำมาปฏิบัติ หรือจะฟังเสียงดีดสีตีเป่า ไม่ยินดีในสิ่งเหล่านั้น และไม่ติดในสิ่งเหล่านั้น จึงจะเรียกว่าหูที่เป็นแก้วสารพัดนึก

จมูกเป็นแก้วนั้น คือ หายใจเข้าออก เมื่อสูดกลิ่นหรือหอมก็ไม่ให้ยินดีในสิ่งเหล่านั้น เมื่อครูหรือผู้ปกครองจะสอนก็ไม่ต้องทำจมูกฮึดฮัดในท่าขัดเคือง ดัดจมูกไม่ให้ยินดีในสิ่งต่างๆ ก็เรียกว่า จมูกเป็นแก้วสารพัดนึกต้อง

ปากเป็นแก้ว คือจะพูดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ให้มีสัตย์จริงทุกคำ ตลอดจนกระทั่งรับประทานอาหารก็ไม่ให้ติชม จึงจะเรียกว่า ปากเป็นแก้วสารพัดนึก นึกจะพูดสิ่งใดก็มีแต่ประโยชน์ทั้งสิ้น มีคนเชื่อถือโดยการพูดจริง

มือเป็นแก้ว ไม่แตะต้องของผู้อื่น มือบริสุทธิ์ไม่เป็นโขมยและไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ประทุษร้ายมิตรด้วยการลงมือทำร้ายผู้ใด ได้อาศัยเขียนหนังสือทำการบ้าน หรือเพื่อกิจการที่เป็นสัมมาอาชีวะทุกชนิด จึงจัดว่ามือเนรมิตเป็นมือแก้วสารพัดนึก

กายแก้วนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นที่ตั้งของแก้วทั้ง ๕ ต้องอาศัยส่านรวมของแก้วอยู่ที่กายทั้งสิ้น คือกายนั้นตลอดกระทั่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมรวมอยู่ที่กายทั้งสิ้น ถ้าไม่มีกายแล้วก็จะไม่มีที่ตั้งแห่งแก้วทั้ง ๕ นั้น
ตอบกระทู้