..เมื่อกิเลสเครื่องเศร้าหมองเกิด. จงรู้ทันและเอาชนะมัน โดย..ปล่อยให้มันผ่าน-ไปเสีย ...
หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง จ อุบลราชธานี
ให้รู้อยู่เสมอว่า ในอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น เราทำอะไรบ้าง อันนี้ก็เรียกว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
“..อย่ารู้สึกว่า ท่านกำลังฝึกปฏิบัติอยู่เฉพาะเวลานั่งขัดสมาธิเท่านั้น พวกท่านบางคนบ่นว่า ไม่มีเวลาพอที่จะทำสมาธิภาวนา แล้วเวลาหายใจเล่ามีเพียงพอไหม?
การทำสมาธิภาวนาของท่าน คือการมีสติ ระลึกรู้ และการรักษาจิตให้เป็นปกติตามธรรมชาติ ในการกระทำทุกอิริยาบถ..”
หลวงปู่ชา สุภทฺโท
"เปรตกินส่วนต่างวัด"
บุญมีจริงบาปก็มีจริง สองร้อยกว่าปีมาแล้วยังเป็นเปรตอยู่เลย
ปกติหลวงปู่จะนั่งสมาธิทุกวัน วันหนึ่ง หลวงปู่ก็นั่งสมาธิจนเกิอบจะตีหนึ่ง ได้ยินเสียงเหมือนเสียงระเบิดดังตึ้ม เห็นแสงวูบขึ้นไปสูงกว่าตึกสว.ห้าชั้น วูบขึ้นไปสว่างจ้า จิตของเราก็จดจ้องไป
ก็เห็นคนสองคนยืนเคียงคู่กันตรงไปไฟวูบขึ้นไป แล้วคนสองคนก็ขยายตัวออก ยืนเคียงไหล่กัน สูงขึ้นไปเท่ากับตึกสว ไฟก็พุ่งออกตามร่างกาย ลามไปตามเนื้อตามตัว
หลวงปู่คิดสงสารก็เลยถามไปว่า ... "กรรมอะไรจึงได้มาเป็นอย่างนี้"
เขาก็เลยเล่าให้ฟังว่า... ในอดีตชาติ เขาเป็นทายกวัดในคราวที่วัดบวรสร้างโบสถ์ใหม่ ๆ เขาไปสั่งกระเบื้อง มุงหลังคาโบสถ์ เขาตีราคากัน แผ่นละ ๑๒ บาท ทางวัดจ่าย ๑๒ บาท แต่เขาเอาไปจ่ายค่ากระเบื้อง ๖ บาท อีก ๖ บาทแบ่งกันใช้สองคน
หลวงปู่จึงว่า ... โอ! เป็นแบบนี้มันแก้กันไม่ได้หรอก ก็ต้องใช้กรรมไป เขาก็ร้องไห้ครวญครางอยู่ที่วัดบวรนี่ล่ะ
หลวงปู่จึงมาพิจารณา เอาของสงฆ์มานี่มันบาปจริง อย่างที่คนโบราณเขาพูด ไม่ใช่ว่าเขาพูดหลอกหลวง มันบาปจริง ๆ เป็นเปรตจริง ๆ สองร้อยกว่าปีมาแล้วยังเป็นเปรตอยู่เลย
เพราะฉะนั้นให้พวกเราเข้าใจว่า ว่าบาปมีอยู่จริง ไม่ใช่มีแต่บุญนะ บุญมีจริง บาปก็มีจริง สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องก็คือสิ่งที่ผิดศีลห้า พวกเราอุบาสกอุบาสิกาผู้ถือศีลห้าศีลแปด ก็คือผู้ปลดเปลื้องจากการกระทำความชั่ว สิ่งไหนที่เป็นของดี เราก็ปฏิบัติ
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรม สิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมก็มาจากความโลภความโกรธความหลง เมื่อเป็นบาปเป็นกรรมแล้วมันก็แก้กันไม่ได้ อย่างนี้ล่ะ อยู่เป็นเปรตมาเป็นร้อยปี ที่เป็นหมื่นปีพันปีก็มี
พวกเราเมื่อรู้แล้วก็ให้มีความเกรงกลัวละอายต่อบาป มีหิริ โอตตัปปะ ให้เกรงกลัวต่อความชั่วทั้งปวงในจิตในใจตลอดไป
:::โอวาทธรรมคำสอน::: หลวงปู่ไม อินทสิริ
"..ความหลง ความโกรธ นี้มันเป็นมูลรากของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เกิดความพอใจก็เพราะตัณหา เกิดความไม่พอใจก็เพราะตัณหา ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะตัณหานี้แหละ
อดีตที่ล่วงมาแล้วไปกาลนาน จิตมันเอาอารมณ์อันนั้นแหละมาคิด ตัดอดีตอนาคตเสีย เอาอารมณ์ปัจจุบัน ให้จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน.. "
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
"ท่ามกลางสังคมยุคนี้ สมัยนี้ พากันเชิดชู ยกย่องสรรเสริญเรื่องอบายมุข การเล่น การเที่ยว สรรพเพเหระ เรื่องอะไรต่อมิอะไร ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งที่นำมาแห่งความเสื่อมความฉิบหายนั้น พากันยกยอขึ้นมา ชมเชยขึ้นมาว่า เป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ท่ามกลางของสังคม ถ้าปล่อยกายปล่อยใจไปในสิ่งที่มันผิด เมื่อมันผิดอย่างนั้นแล้ว ทุกข์โทษเกิดขึ้นมา แล้วมาบ่นทีหลังว่า โทษอะไรหนอ กรรมอะไรหนอ บาปอะไรหนอ ผลก็คือความเป็นทุกข์"
โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่อุทัย สิริธโร
พิจารณาขันธ์ ๕ ๑. ให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ หรือมันเริ่มป่วยไข้ก็คิดว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไป ถ้าเอาไว้ไม่ได้มันจะผุพัง ก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์ก็เกิดแก่ตัวเองหรือใครอะไรก็ตาม ไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล
๒. จิตต้องยึดเป็นอารมณ์ว่า ถ้าตายคราวนี้เรามุ่งนิพพาน ต้องคอยชำระจิต ก็หมายความว่าอย่าให้ความโลภคลุมใจ อย่าให้กามฉันทะมันคลุมใจ ความโกรธและโมหะอย่าให้คลุมใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหันเข้ามาตัดจุดเดียว คือ ขันธ์ ๕ ของเรา ตัดให้ขาด ทุกอย่างมันจะเกาะไม่ได้
โอวาทธรรมหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
“ไม่มีอะไรที่จะบริสุทธิ์และประเสริฐยิ่งกว่าธรรม ไม่มีอะไรเหนือธรรมเลยในโลกทั้งสามนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมจึงเป็นผู้ประเสริฐ เพราะธรรมพาให้ประเสริฐ ไม่ได้ประเสริฐเพราะสิ่งใดที่มีอยู่ในโลกทั้งสามนี้บันดาล มีธรรมเท่านั้นพาให้พระองค์ประเสริฐ เมื่อใจกับธรรมกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้วย่อมประเสริฐและประเสริฐสุดส่วน ไม่ใช่ประเสริฐด้วยสมมุติต่างๆ ที่เสกสรรปั้นยอกันขึ้น แต่ประเสริฐโดยหลักธรรมชาติของธรรมกับใจซึ่งกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้ว แม้ใจดวงบริสุทธิ์นั้นจะอยู่ในขันธ์ทรงขันธ์อยู่ก็ตาม ใจที่บริสุทธิ์แล้วนั้นย่อมเป็นธรรมชาติที่ประเสริฐอยู่ในตัวโดยอิสระ ซึ่งสมมุติทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นไม่เข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งกวนได้เลย
ที่พระพุทธเจ้ามีพระเมตตาสุดส่วนแก่โลกนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งธรรมเป็นธรรมชาติที่อ่อนโยนนิ่มนวลภายในพระทัยนั่นแล ไม่มีอะไรพาให้เป็น พระทัยที่สัมผัสสัมพันธ์หรือกลมกลืนกับธรรมแล้ว จึงเป็นพระทัยที่อ่อนโยนที่สุดไม่มีอะไรเทียบให้เสมอเหมือนได้ และไม่มีอะไรจะอ่อนโยนยิ่งกว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ ซึมซาบเข้าได้ทุกตัวสัตว์ แทรกเข้าได้ทุกเม็ดหินเม็ดทราย
เมื่อพูดถึงความเมตตาที่ไม่มีโลกามิสใดๆ เข้ามาเคลือบแฝงเลยก็คือเมตตาจิตของท่านที่บริสุทธิ์ มีแต่มุ่งสงเคราะห์โลกให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ตามกำลังของเขาที่จะรับได้มากน้อย แต่ส่วนตามกำลังของท่านที่จะแสดงได้มากน้อยนั้นเราไม่อาจพูดได้ เพราะท่านที่ถึงธรรมขนาดนั้นแล้วไม่มีที่อัดอั้นเลย ใจเปิดโล่งอยู่ตลอดเวลาอกาลิโกในการที่จะสงเคราะห์โลกด้วยอรรถด้วยธรรม เพราะในพระทัยและใจของท่านถ้าพูดตามภาษาโลกๆ ก็เรียกว่า อัดแน่นแล้วด้วยธรรมไม่มีช่องโหว่เลย ถ้าเป็นน้ำก็เต็มถัง พอเปิดเท่านั้นน้ำก็พุ่งกระจายออกมาทันที”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
จิตนี่เป็นของไม่แน่นอน เพราะมีเครื่องหมุนจิตให้เป็นไปในแง่ต่าง ๆ ได้ เครื่องหมุนอันนั้นก็เป็นความชั่วนั่นเอง ที่หมุนไปทางต่ำ ไม่มีความดีที่จะหมุนให้ไปทางสูงเลย มีแต่เหตุชั่วทั้งนั้น แล้วเรามักจะคล้อยตาม สิ่งที่ชั่ว สิ่งที่ไม่ดี อยู่เสมอ ทั้งที่เราไม่ปรารถนาความชั่ว แต่ความคล้อยตามนั้นบ่งบอกอย่างชัดเจน เราควรสังเกตตอนนี้ ระมัดระวังตอนนี้ให้ดี การปฏิบัติใด ๆ ก็ตาม งานใดก็ตามในโลกนี้ ไม่เหมือนกับงานคือ การปฏิบัติต่อจิตใจ ซึ่งเป็นงานละเอียดลออและรวดเร็วที่สุด กำหนดไม่ทัน รู้ไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่ ตัวจิตก็เป็นตัวรู้เป็นตัวปรุง แต่ที่ว่ารู้ไม่ทัน คือ สติรู้ไม่ทัน สติเราต้องผลิตขึ้นมา ต้องพยายามอบรม พยายามตั้งสติ ตั้งท่าตั้งทาง เช่นเดียวกับเราเดินไปในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่เป็นขวากเป็นหนาม เป็นต้น เราต้องระมัดระวัง ความระมัดระวังตั้งจิตตั้งใจเดินนั้นแล ท่านเรียกว่า ‘สติ’ เช่น ระวังจิตไม่ให้คิดไปในแง่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี ขัดกับธรรม คือ ความต้องการของเราที่จะให้จิตสงบในเวลาภาวนา เป็นต้น ความระมัดระวังเช่นนี้ ท่านเรียกว่า ‘สติ’ เราพยายามระมัดระวังเสมอ พยายามอบรมความระวังนี้ให้มากขึ้น ความระวังเรื่อย ๆ ก็เป็นความเคยชินภายในตัวเอง แล้วค่อยรู้เรื่องรู้ราว มีสติเป็นพื้นขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็น ‘มหาสติ มหาปัญญา’ ขึ้นได้ จากสติที่ล้มลุกคลุกคลาน จากปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลาน นี่แหละท่านจึงสอนให้อบรม สอนให้บำรุงสติโดยลำดับ ......
พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
พูดเรื่องแก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครชอบฟัง พูดเรื่องทำยังไงจะไม่แก่ อย่างนี้ชอบ ทำยังไงไม่เจ็บ ชอบ ทำยังไงจะไม่ตาย ชอบฟัง
ชอบแล้วมันสมหวังไหม? ผิดหวังหมดเลย
หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ
บางคนเข้าใจว่า ภาวนาในห้องน้ำห้องส้วม มันจะไม่บาปหรือ ? ไม่บาป..ธรรมะ...เป็นอกาลิโก...ไม่เลือกกาล เลือกเวลา พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ยิ่งถ้าเข้าห้องน้ำห้องส้วม ยิ่งภาวนาดีเพราะมันมีสิ่งประกอบ สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็น สิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก มันก็แสดงออกมาให้เราเห็น แล้วเราก็ภาวนา พุทโธ ๆ แปลว่ารู้ รู้ในสิ่งที่เราทำอะไรอยู่ขณะนั้น "
โอวาทธรรม : องค์หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ดีชั่วมิได้เกิดขึ้นมาเอง..
"แต่อาศัยการทำบ่อยก็ชินไปเอง เมื่อชินแล้วก็กลายเป็นนิสัย ถ้า เป็นฝ่ายชั่วก็แก้ไขยาก คอยแต่ จะไหลลงไปตามนิสัยที่เคยทำ อยู่เสมอ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็นับวัน.. คล่องแคล่วแกล้วกล้าขึ้นเป็นลำดับ ถ้าลงได้เป็นนิสัยแล้ว ไม่ว่าทางชั่ว ทางดีย่อมมีทางระบายออกได้ทาง "ไตรทวาร" ไม่ยากเย็นอะไร ที่คนชั่ว ทำชั่วได้ง่ายและติดใจไม่ยอมลดละ แก้ไขก็ดี คนดีทำดีได้ง่ายและติดใจ กลายเป็นคนรักศีลรักธรรมไป.. ตลอดชีวิตก็ดี ก็เพราะหลักนิสัย เป็นสำคัญ ลำพังการฝืนทำทั้งที่นิสัย ไม่อำนวยมาก่อน ย่อมลดละปล่อยวาง ได้ง่าย จนกว่าจะปรากฏผลเป็นน้ำเชื่อม ที่มีรสดื่มด่ำแก่ใจแล้วนั่นแล จึงจะเกิด ความพอใจในงานนั้น ๆ ทั้งชั่วและดี ไม่.. ยอมปล่อยวางอย่างง่ายดาย ฉะนั้น.. หลักนิสัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในตัว บุคคลและสัตว์ การทำอะไรจนกลาย เป็นนิสัยแล้วเป็นสิ่งแก้ไขได้ยาก จึง ไม่ควรทำแบบสุ่มเดา โดยมิได้ใคร่ครวญ ให้รอบคอบก่อน..”
โอวาทธรรม พระครูวินัยธร_มั่น_ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร [พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒] จากหนังสือประวัติ ท่าน.. [พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ] โดย..[หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน]
"...การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีโทษมีแต่คุณ คือจิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความสุขไม่มีความทุกข์ จะเข้าสู่สังคมใด ๆ ก็องอาจกล้าหาญ..."
โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ต.โนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
เราเกิดมาเพื่อประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนจะไม่มีทุกข์เป็นไม่มีถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเราอารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่าอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมแปดประการ คือมีลาภดีใจ ลาภสลายตัวไปเสียใจ มียศดีใจ ยศสลายตัวไปเสียใจ มีความสุขในกามดีใจ ความสุขหมดไปร้อนใจ ได้รับคำนินทาเดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญมีสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้พวกเราใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า ทุกข์นี้เป็นกฎธรรมดาของโลก ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่
โอวาทธรรม:หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
เรื่อง "รูปร่างกายนี้ล้วนเป็นสมบัติของพ่อแม่" ธาตุดิน เป็นสมบัติของบิดา ธาตุน้ำ เป็นสมบัติของมารดา พวกเราไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวนี้เราใช้สมบัติของบิดามารดา เพราะฉะนั้นผู้ใช้เป็น เป็นบุญเป็นกุศลแก่ตน ผู้ใช้ไม่เป็น เป็นบาปเป็นกรรมเป็นโทษ ท่านจึงให้รักษา รักษาสมบัติของบิดามารดาไม่ให้ทำความชั่วช้าเสียหาย ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปดมดเท็จ ดื่มสุราเมรัย ถ้าใครรักษาได้แสดงว่ารักษาสมบัติของบิดามารดา ย่อมเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ตนทุกภพทุกชาติ
คติธรรม หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
ความจริงการภาวนาเพื่อให้ใจสงบ ถ้าสงบด้วยวิธีปลอบโยนโดยทางบริกรรมไม่ได้ ต้องภาวนาด้วยวิธีปราบปราม ขู่เข็ญ คือค้นคิดหาเหตุผลในสิ่งที่จิตติดข้องด้วยปัญญา
แล้วแต่ความแยบคายของปัญญา จะหาอุบายทรมานจิตดวงพยศ จนปรากฏใจยอมจำนนตามปัญญาว่า เป็นความจริงอย่างนั้นแล้ว ใจจะฟุ้งซ่านไปไหนไม่ได้ ต้องหยั่งเข้าสู่ความสงบเช่นเดียวกับสัตว์พาหนะตัวคะนอง ต้องฝึกฝนทรมานอย่างหนักจึงจะยอมจำนนต่อเจ้าของ
ฉะนั้น ในเรื่องนี้ จะขอยกอุปมาเป็นหลักเทียบเคียง เช่น ต้นไม้บางประเภท ตั้งอยู่โดดเดี่ยวไม่มีสิ่งเกี่ยวข้อง ผู้ต้องการต้นไม้นั้นก็ต้องตัดด้วยมีดหรือขวาน
เมื่อขาดแล้ว ไม้ต้นนั้นก็ล้มลงสู่จุดที่หมาย แล้วนำไปได้ตามต้องการ ไม่มีความยากเย็นอะไรนัก แต่ไม้อีกบางประเภท ไม่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ยังเกี่ยวข้องอยู่กับกิ่งแขนงของต้นอื่นๆอีกมาก ยากที่จะตัดให้ลงสู่ที่หมายได้
ต้องใช้ปัญญาหรือสายตาตรวจดู สิ่งเกี่ยวข้องของต้นไม้นั้นโดยถี่ถ้วน แล้วจึงตัดต้นไม้นั้นให้ขาด พร้อมทั้งตัดสิ่งเกี่ยวข้องจนหมดสิ้นไป ไม้ย่อมตกหรือล้มลงสู่ที่หมายและนำไปได้ตามความต้องการฉันใด จริตนิสัยของคนเราก็ฉันนั้น
คนบางประเภท ไม่ค่อยมีสิ่งแวดล้อมเป็นภาระกดถ่วงใจมาก เพียงใช้คำบริกรรมภาวนา
พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เป็นต้น บทใดบทหนึ่งเข้าเท่านั้น ใจก็ได้รับความสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิลงได้ กลายเป็นต้นทุนหนุนปัญญา ให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างสบายที่เรียกว่า สมาธิอบรมปัญญา
แต่คนบางประเภทมีสิ่งแวดล้อมเป็นภาระกดถ่วงใจมาก และเป็นนิสัยชอบคิดอะไรมากอย่างนี้ จะอบรมด้วยคำบริกรรมอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่สามารถที่จะยังจิตให้หยั่งลงสู่ความสงบเป็นสมาธิได้ ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเหตุผล ตัดต้นเหตุของความฟุ้งซ่านด้วยปัญญา
เมื่อปัญญาได้หว่านล้อมในสิ่งที่จิตติดข้องนั้นไว้อย่างหนาแน่นแล้ว จิตจะมีความรู้เหนือปัญญาไปไม่ได้ และจะหยั่งลงสู่ความสงบเป็นสมาธิได้
ฉะนั้น คนประเภทนี้ จะต้องฝึกฝนจิตให้เป็นสมาธิได้ด้วยปัญญา ที่เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ ตามชื่อหัวเรื่องที่ให้ไว้แล้วในเบื้องต้นนั้น เมื่อสมาธิเกิดมีขึ้นด้วยอำนาจปัญญา
อันดับต่อไป สมาธิก็กลายเป็นต้นทุนหนุนปัญญาให้มีกำลังก้าวหน้า สุดท้ายก็ลงรอยเดียวกันกับหลักเดิมที่ว่า สมาธิอบรมปัญญา
ผู้ต้องการอบรมใจให้เป็นไปเพื่อความฉลาด รู้เท่าทันกลมายาของกิเลส อย่ายึดปริยัติจนเกิดกิเลส แต่ก็อย่าปล่อยวางปริยัติจนเลยศาสดา ผิดพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งสองนัย
คือ ในขณะที่ทำสมาธิภาวนา อย่าส่งใจไปยึดปริยัติจนกลายเป็นอดีตอนาคตไป ให้ตั้งจิตลงสู่ปัจจุบัน คือ เฉพาะหน้า มีธรรมที่ตนเกี่ยวข้องเป็นอารมณ์เท่านั้น
เมื่อมีข้อข้องใจ ตัดสินใจลงไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เวลาออกจากที่ภาวนาแล้ว จึงตรวจสอบกับปริยัติ แต่จะตรวจสอบทุกขณะไปก็ผิด เพราะจะกลายเป็นความรู้ในแบบ ไม่ใช่ความรู้เกิดจากภาวนา ใช้ไม่ได้
สรุปความ ถ้าจิตสงบได้ด้วยอารมณ์สมถะ คือ คำบริกรรมด้วยธรรมบทใด ก็บริกรรมบทนั้น ถ้าจะสงบได้ด้วยปัญญาสกัดกั้นโดยอุบายต่างๆ ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อความสงบเสมอไป ผลรายได้จากการอบรมทั้งสองวิธีนี้ คือ ความสงบและปัญญา อันจะมีรัศมีแฝงขึ้นจากความสงบนั้นๆ
พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์ (ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา) ก็ เพื่อจะตัดสาเหตุการหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ไปยึดไตรลักษณ์มาเป็นตนเป็นของตน เสียได้ กลายเป็นความรู้เท่าทันตามหลักความจริงและถอดถอนอุปาทานความ ยึดมั่นสำคัญผิดอันเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงหัวใจให้หมดไป บรรดาสัตว์บุคคล ตลอดทวยเทพที่มีรูปร่าง แง่ความคิด ภูมิที่อยู่ และนิสัยวาสนา จำต้องยอมรับ กฎของไตรลักษณ์อันเป็นกฎของวัฏฏะอันเดียวกัน
ทุกขัง คือความทุกข์กายไม่สบายใจ ใครจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับทุกข์อันเกิด ขึ้นกับตนผู้เป็นต้นเหตุของทุกข์ไปไม่ได้ อนิจจัง คือความแปรปรวนนั้น มีอยู่ รอบตัวทั่วสรรพางค์ร่างกาย ไตร่ตรองไปตามสภาวะซึ่งมีอยู่ในตัวอย่างสมบูรณ์ให้ เห็นชัด แม้ทุกข์ ความบีบคั้นก็มีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่เพียงแต่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทาง ใจที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ต่างๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน จงกำหนดให้เห็นชัด คำว่า อนัตตา ก็ปฏิเสธในความเป็นสัตว์ เป็นสังขาร เป็นเรา เป็นเขาอยู่ทุกขณะ เมื่อ พิจารณาจนมีความชำนาญ กายก็จะรู้สึกว่าเบา ใจก็มีความอัศจรรย์และสว่าง กระจ่างแจ้งไปโดยลำดับ
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน (ที่มา :: หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ชีวประวัติหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
|