Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ไตรสิกขา

จันทร์ 18 พ.ย. 2019 5:59 am

"ปัญหามันไม่ได้วิ่งมาหาคน คนต่างหากที่วิ่งใส่ปัญหา
คนเราเองต่างหากที่สร้างปัญหา ปัญหามันสร้างเอง
ไม่ได้ถ้าคนไม่สร้างมันขึ้นมา คนนั้นก็บอกว่ามีปัญหา
คนนี้ก็บอกมีปัญหา เนี่ยคนเราสร้างปัญหาขึ้นมาเองทั้ง
นั้น ให้เอาธรรมะแก้ไขปัญหา พุทโธ พุทโธ พุทโธ
เนี่ย...... เข้าใจไหม"

โอวาทธรรม หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
วัดถ้ำสหายธรรมจันทร์นิมิต อ.หนองแสง จ.อุดรธานี







"มีพระกราบเรียนถามหลวงปู่เรื่องของสถานที่ ที่นี่ดีไหมครับ หลวงปู่เมตตาว่าดี...ดี มันไม่เคยด่าใคร ไม่บ่นให้ใคร
ฝนตกก็เฉย แดดออกก็เฉย ใครจะทำความสะอาดก็เฉย ใครทำสกปรกก็เฉยไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่รู้สึกใดๆ กับอะไรทั้งสิ้น"

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร








"สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้”

พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)
วัดรังสีปาลิวัน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์







"ชีวิตจะพ้นภัยอาศัยธรรม...."
ก็พึ่งพากันตั้งใจเกิดมาในโลกนี้มันหาความสะดวกสะบายได้ยากเต็มที ถ้าจะพิจารณาให้เกิดลิขิตทา ความเบื่อหน่าย
อย่าไปเห็นแก่อามิตสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นมาเป็นเครื่องติดเครื่องผูกพันอยู่ในโลกอันนี้
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลายตื่นตัวเห็นว่าภัยมันมีอยู่รอบด้าน เช่น ภัยคือน้ำท่วมก็ปรากฏอยู่แล้ว มันก็นำความเสียหายมาให้แก่ประชาชน
เอ้า! ทำนาไว้นาไว้น้ำท่วมข้าวก็ตาย เลี้ยงปลาไว้ในบ่อ น้ำท่วมนาน้ำท่วมมาปลาก็หนี ปลูกพืชต่างไว้ที่ลุ่ม น้ำท่วมก็ตาย ในบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันต้องอพยพหนีน้ำ นี่เรียกว่า "อุทกภัย" บางรายก็ปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำ น้ำล้นฝังมาอย่างรุนแรง พัดเอาบ้านที่ไม่แข็งแรงให้พังไปเลย
ข้าวของมวลใดก็ไม่มีเหลือ..หมู่นี้นะ..ควรเอามาเป็นอารมณ์พิจารณาให้เห็นว่า ภัยดังกล่าวมานี้ มันมีประจำโลก พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงยกเอามาเปรียบเทียบทางธรรมว่า
คนเรานี่หลับใหลไม่รู้ตื่น ไม่ตื่นกลัวต่อภัยทั้งหลาย เหมือนคนนอนหลับนอนใหลกลางคืนแล้ว น้ำหลากมาพัดพาเอาบ้านเอาช่องเสียหายไป ตัวเองก็จมน้ำตาย
อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ.. ผู้ใดปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง กิเลสต่าง ๆ ท่วมท้นจิตใจแล้วใจก็มืดมนอนธการ ทำคุณงามความดีอะไรก็ไม่ได้ กิเลสมันบังคับไม่ให้ทำความดี ไม่ให้ฝึกตน
กิเลสมันบังคับจิตให้ยึดให้คล่องอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ อันนี้ หรืออยู่ในโลกสงสารอันนี้ ก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลสนั้น

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ









ทาน ศีล ภาวนา ( ปุญญสิกขา )
... กับ ...
ศีล สมาธิ ปัญญา ( ไตรสิกขา )

“ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน แต่ชุดหนึ่งเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ จัดเป็นทาน ศีล และภาวนา โดยขยายด้านนอกเป็น ๒ อย่าง คือ ทาน กับ ศีล เอาข้างใน ๒ อย่าง คือ สมาธิ และปัญญา ไปยุบเป็นภาวนาอย่างเดียว
.
ส่วนชุด ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เอาด้านในคือ ภาวนา ไปแยกละเอียดเป็นจิตใจ (สมาธิ) กับ ปัญญา แต่ด้านนอกคือ ทาน กับ ศีล นั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่าศีลนั้นหลักการก็คืออยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ส่วนทานก็เป็นองค์ประกอบในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่า ศีล

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็ให้ทราบว่า “ที่จริงเป็นระบบอันเดียวกัน” แต่เราแยกเพื่อให้เห็นจุดเน้นที่ต่างกัน
.
สำหรับคฤหัสถ์ จะเน้นด้านนอก จัดเป็น ทาน ศีล ภาวนา
แต่สำหรับพระสงฆ์ จะเน้นด้านใน วางหลักเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
.
อนึ่ง ชื่อเรียกก็คล้ายๆกัน ชุด ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านรู้จักกันดีแล้วว่า “ไตรสิกขา” ไตร แปลว่า ๓ สิกขา คือ การศึกษา รวมเป็น ไตรสิกขา แปลว่า การศึกษา ๓ อย่าง
.
ส่วนชุด ทาน ศีล ภาวนา เรียกชื่อต่างไปนิดหนึ่งว่า “ปุญญสิกขา” หรือ “บุญสิกขา” ก็คือ การฝึกฝนในเรื่องความดี หรือการฝึกหัดทำความดีนั่นเอง ปุญญ=ความดี สิกขา=การฝึกอบรม คือ การฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วย ทาน ศีล ภาวนา
.
รวมแล้วทั้ง ๒ ชุดก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว
.
เมื่อปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขา หรือบุญสิกขา ๓ ประการ อย่างถูกต้องดีแล้ว ก็จะเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขที่แท้จริง โดยเข้าถึงธรรมและความสุขทั้ง ๓ ระดับ ได้จนถึงที่สุด”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ เรื่อง “ธรรมะ ฉบับเรียนลัด”









“ที่แกทำ ๆ ไปน่ะ มันสูญเปล่า ชีวิตจะมีค่าก็ตอนไหว้พระ สวดมนต์ ภาวนาเท่านั้น”
เงินทอง ทรัพย์สมบัติที่หากันมาก็แค่ “หาอยู่ หากิน” เลี้ยงอัตภาพร่างกายเท่านั้น พอหมดลมแล้วก็หมดกัน เอาติดตัวไปไม่ได้ ไม่เหมือนการภาวนาเพื่อพัฒนายกระดับจิตใจให้มันกินลึกไปข้างในและเอาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้
สมบัติทางโลก จะมากมายและวิจิตรประณีตขนาดไหน มันก็เป็นแค่ “สมบัติน้ำแข็ง” อยู่ดีเพราะมันจะค่อยๆ ละลายเรากำมันไว้ได้แค่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
หลวงปู่เคยเล่าว่า
“เด็กทารกทั่วไปเกิดมาก็กำมือมา บ่งบอกการเกิดมาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น”
พวกเราลองพิจารณาดูเถิด สุดท้ายตอนตายทุกคนก็ต้องแบมือหมด แม้น้ำที่คนเขามารดน้ำศพก็ยังกำเอาไว้ไม่อยู่เลย
อาหารที่สุดแสนประณีตก็ได้แค่อิ่ม บ้านที่เป็นดุจคฤหาสน์ก็แค่ที่พักอาศัยหลับนอนไปคืนหนึ่งๆ มนุษย์สร้างสมมุติที่ซับซ้อนหรอกตัวเองเสียจนหลงลืมความจริงพื้นฐานของชีวิต
“สมบัติน้ำแข็ง”
คือข้อที่ควรคิดคำนึงเพื่อเตือนจิตเตือนใจตนเองไว้เสมอ ๆ เพื่อให้ตระหนักว่ากิจกรรมชีวิตอันใดที่เราควรทุ่มเท กิจกรรมชีวิตอันใดที่ทำเพียงแค่พอเป็นเครื่องอาศัย
” เวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว ให้พากันปฏิบัติ ”

โอวาทธรรมหลวงปู่ดู่พรหมปัญโญ








"ให้เราพยายามนึกถึงบั้นปลายของชีวิตว่า ...... เราจะต้องละโลกนี้ไป เรามาอย่างไร เราก็ไปอย่างนั้น
เกิดมาเท่าไหร่ ก็ตายเท่านั้น เมื่อเป็นความจริงปรากฏอยู่อย่างนั้น เราจะพ้นไหม ไม่มีทาง"

หลวงปู่ปิ่น ตนฺติธมฺโม
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ







ความทุกขกายเป็นสัตวทุกข์ มีอยู่เป็นสิ่งธรรมดา ให้เราตั้งสติอบรมจิตใจของเราอย่าให้มันไปยึดถือร่างกาย ถ้าแม้นมันไม่ยึดถือแล้ว ก็จะอบรมจิตใจของเราให้มันสบาย หายใจไม่สบายนี่มันทุกข์หลาย
มันทุกข์ก็เพราะยึดเอาอารมณ์นั่นแหละเข้ามายึดถือ อารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ที่พอใจ มันก็ยึดเข้ามา อารมณ์ที่ไม่พอใจมันก็ยึดเข้ามา ยึดเข้ามาแล้วก็มาเผาใจ ไม่พอใจก็เป็นเหตุให้คับแค้นใจ อารมณ์ที่พอใจนั้น
เมื่อมันพลัดพรากไปก็ใจถูกเผาอีก เป็นเหตุให้โศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ถึงกัน สิ่งที่พลัดพรากเป็นวัตถุภายนอกก็ตามหรือแม้ญาติมิตรก็ตาม พลัดพรากจากไปมันก็เป็นทุกข์ ก็เพราะไม่รู้เท่าอารมณ์
พระพุทธเจ้าว่าของเก่า ของพวกนี้เคยมีมาตั้งแต่เก่า ไม่ใช่จะมีมาเดี๋ยวนี้ เราเกิดมาชาตินี้จึงมาพบปะกันในชาตินี้ สิ่งที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี พบปะอยู่ทุกภพทุกชาติ

หลวงปู่ขาว อนาลโย
ตอบกระทู้