Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อย่าประมาทในเรื่องบุญกุศล

พุธ 27 พ.ย. 2019 5:49 am

...อย่าประมาทในเรื่องบุญเรื่องกุศล
เรื่องบาปเรื่องกรรม
และอย่าประมาทในเรื่องกาลเวลา
เพราะว่า เวลานั้นเป็นของมีค่า
ไหลไปเหมือนกับกระแสน้ำ
จะค่อยๆ หมดไปๆ
วันหนึ่งผ่านไป ชีวิตก็สั้นลงไปเรื่อยๆ
ไม่มีใครรู้ว่า...
ชีวิตของตนจะเหลืออยู่อีกกี่วัน.
........................................
ธรรมะโดนใจเล่ม3 หน้า4
ธรรมะบนเขา 14/1/2544
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







เพ่งจิต ดูจิต
ถ้าเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาเวทนานั้น คือ ความเจ็บ ความปวด ให้ถามมันดูว่า มันปวดอะไร อะไรมันปวด "กาย หรือ จิต"
มีแต่จิตเท่านั้นแหละปวด กายเขาเป็นของเขาอย่างนั้นแหละ ไม่รู้หรอกเจ็บ-ปวด
ก็มีแต่ใจนั่นแหละ เจ็บ-ปวด
ให้ดูจิตเมื่อมันปวด
ตามรู้ตามดูให้มันเห็น พิจารณาให้ชัดๆว่าอะไรมันปวด มีแต่จิตเท่านั้นแหละไปสำคัญมั่นหมาย คาดนั่นปรุงนี่ไม่ได้หยุด เรื่องนั้นแล้วก็ไปเรื่องนี้ มันไม่อยู่กับตัวเรา ไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปคิดมาก ถามมันดูซิว่า คิดมาตั้งนานแล้ว คิดแล้วได้อะไร พ้นทุกข์ไหม เป็นอย่างนั้นล่ะสังขาร
การคิดมานั้นเป็นสังขารนะ ไม่เป็นธรรม เพราะไปปรุงเรื่องสังขาร
ไม่ได้ดูจิตของตัวเอง
มันส่งออกนอกไม่ได้อยู่กับธรรมะ การคิดมากนั้นมันทำให้ฟุ้งซ่าน แล้วจะทำให้เราเป็นบ้านะ คิดมาก
เมื่อมันปวดมา ก็อย่าไปสนใจกับมัน ความปวด ให้เพ่งจิต ดูจิต ถามดูว่ามันปวดอะไร ปวดกายหรือใจ
ให้แยกกาย แยกเวทนา แยกจิตออกจากกัน มันจึงละเอียด
ถ้าเราดูความเจ็บความปวด มันก็ยิ่งปวดมาก เป็นอย่างนั้นล่ะ ไปกดไปข่มมัน ความปวดมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปสนใจมันล่ะ
ปล่อยไปเลย ให้ดูใจอย่างเดียว
ก็จะสงบไปเองหรอก
#การแยกกายแยกเวทนาแยกจิตนั้น
ต้องแยกให้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด คือไม่สนใจกับมันเลย
กายมันปวดก็ช่าง จิตอย่าไปมั่นหมาย ไม่ต้องสนใจว่ากายจะเป็นอย่างไร ภาวนาไปๆ
#เมื่อกายมันเห็นจิตไม่สนใจกับมัน
#นานๆเข้ามันก็จะหยุดไปเองหรอก อย่างนั้นล่ะ หยุดหายไปเอง
ถ้ามันหยุด จิตมันก็รวม ก็สงบเท่านั้นแหละ
ภาวนาไป เกิดนิมิต มันก็ดีเท่านั้นล่ะ จิตมันก็รวม ก็สงบ แต่อย่าไปยึดไปถือนะ ให้มีสติรู้มันอยู่ อย่าไปตามมัน ให้รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปมั่นไปหมาย มันไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าเราไปยึดไปถือ มันก็เป็นสังขาร ไม่เป็นธรรม มันก็จะตรงต่อไปเรื่อยๆไม่จบ ถ้าเราไปยึด ถ้าไม่ยึดไม่ถือมันก็จะหยุดไปเอง
นิมิตก็เหมือนกัน ให้มันรู้เฉยๆ แต่ว่าอย่าคาดอย่าหมายอย่ายึดอย่าถือ
ดังนั้น มันเกิดเจ็บปวดขึ้นมา ก็ให้พิจารณาดูมัน ดีไม่ดีอาจจะหายเลยก็ได้ ไม่ต้องกลัวมันนะ ภาวนามันไม่เป็นอะไรหรอก เราเองเคยนั่งเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เจ็บก้นปวดมากๆ กำหนดพิจารณาดูว่ามันปวดอะไรมันเจ็บอะไร พิจารณาจิตดู ถามมันว่าอะไรมันเจ็บ พิจารณาไป พิจารณาไปไม่รู้ว่ามันหายไปตอนไหน
เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ฝืนมันไม่ได้หรอก ถ้ามันจะเป็น ไปห้ามมันไม่ได้ ความเจ็บ ความตาย ชาติ ชรา มรณะ
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้เลือกกาลเวลานะว่าอยู่ที่ไหน
ให้เราอยู่กับคำภาวนา มีสติรู้พร้อม
#เวลาธาตุขันธ์จะแตกดับจิตมันก็รู้
#มันก็ไม่ต้องลงอบายเท่านั้นล่ะ
มันมีที่หวังของจิต ถ้าเราภาวนา ไม่ต้องกลัวมันหรอก ความเจ็บความตาย เกิดแล้วไม่ตายไม่มี ตายหมดสัตว์โลก ใช้คำที่พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้นะ มันเป็นของใช้ ใช้กินใช้อยู่ใช้ภาวนาไปด้วย จึงไม่ต้องห่วงกับมัน ไม่ต้องกลัวกับความตาย ถ้าเราภาวนาไม่ต้องกลัวมัน มันไม่ตายง่ายหรอกถ้าเรามีสติ
ให้มีสติดูจิตไป กำหนดไป ความเจ็บความปวด มันก็หายไปเองหรอก
เอ้อ... ธาตุขันธ์นะ แก่มาแล้วมันเป็นไปทุกอย่าง เดี๋ยวอันนั้นเดี๋ยวอันนี้เจ็บนั่นปวดนี่หาเรื่องไปเรื่อยๆไม่หยุด มันเป็นไปตามสังขาร ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิทุกขัง
ความเกิด ความแก่ ความตายมันเป็นทุกข์ ให้ดูมันนั่นล่ะ ดูใจนั่นล่ะ
เผื่อบางทีจิตมันรวม ดูมันเข้า พระพุทธเจ้าท่านว่า ธาตุขันธ์มันเป็นก้อนโรคเว่ย พิจารณามันนั่นล่ะ

หลวงปู่เพียร วิริโย








#ดูตัวเองนั่นแหละไม่ทุกข์
คิดมากฟุ้งซ่านมาก คิดออกไป ไม่คิดเข้ามาหาตัวเอง คิดส่งออกไปข้างนอก มันไม่ดี มันคิดมาก มันก็ไม่หยุดล่ะ ตัวเรามันมีแต่เรื่องไม่ดีคิดถึงเขา คิดถึงลูก
ทำไมมันไม่คิดเรื่องเกิด เรื่องตาย คิดอะไรมากมาย
โอ่ย... มันมีแต่เรื่องไม่ดี คิดตั้งแต่เกิดมันเป็นแต่โลกนะ โอ่ย...คิดมาก คิดมากมันก็ไม่เห็นพ้นทุกข์ คิดมากมันก็ทุกข์มาก ทำไมไม่ดูตัวเองว่ามันคิดอะไรมาก มันมีแต่เรื่องไม่ดี คิดมากมันมีแต่ใจเท่านั้นแหละเว่ย คิด
กายมันไม่ได้คิด กายมันก็เป็นของมันอย่างนั้น คิดออกไปมาก
ไม่คิดเข้ามาหาใจของตัวเอง ว่ามันจะตายเมื่อไหร่ จะอยู่อีกนานแค่ไหน คิดมาตั้งแต่เกิด มันมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่หยุด คิดมากก็ฟุ้งซ่านมาก
คิดมากมันมีแต่โลก มันไม่มีธรรมแหละเว่ย
ก็คิดเข้ามาดูกายดูใจ ดูขน ผม เล็บ ฟัน หนัง มันก็ดีอยู่
มันมีแต่ทางพ้นทุกข์ ทางอื่นมันไม่พ้นทุกข์เว่ย
"ดูตัวเองทำตัวเอง ทำตัวเองนี่แหละมันจึงพ้นทุกข์"
ดูตัวเองซิล่ะ ว่ามันมีทางไหนเป็นของตัวเองบ้าง
นั่งภาวนาปวด ดูซิว่าตรงไหนที่ไหนมันปวดมันเจ็บ ใครเจ็บ กายเจ็บ หรือใจเจ็บ กระดูกเจ็บหรือหนังเจ็บ เอ็นเจ็บหรืออะไร
ดูมันซิ อันไหนมันของเรา
มันไม่มีของใครสักหน่อย
มีแต่กองธาตุ มันประกอบไปด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่เห็นมีเจ้าของ
เขาสมมติ มันมองไม่เห็น
ตัวเรามันหลงนี่เว่ย ว่าเป็นเราเป็นเขา โอ่ย...
มันดูไม่เห็น มันจึงทุกข์ มันดูไม่ออก ถ้าดูออกทุกข์มันก็ไม่มาก พิจารณามันลงมาเป็นธรรมะซะมันก็เบา
ดูให้มันเป็นกองธาตุกองขันธ์ รวมลงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาซะ มันก็วาง มันก็หยุดหรอก ถ้ายังมีเรามีเขามันก็ยังทุกข์มาก
มันยังหนุ่มยังแน่น มันก็คิดถึงสาว คิดถึงเขา รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่ดูอสุภะ ว่าอันไหนมันก็ไม่จีรัง มันมีแต่ทางเสื่อม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันมีแต่จะเสื่อมไป เสื่อมไป มันอยู่ไม่ได้ โอ่ย...
มันจะดียังไง
บวชเป็นพระนี่แหละเว่ยมันดี มันไม่ต้องวุ่นกับโลก ไม่ต้องสร้างโลก สร้างทุกข์ อะไรๆ เขาก็จัดก็ทำไว้ให้พร้อม เราอยู่ไปตามมีตามได้ พอใจแล้วเว่ย ตัวเองมันก็ไม่ต้องทุกข์มาก
โลกมันมีแต่เรื่องทุกข์ไม่หยุดสักที เรามันยังมีทางหยุด ดูตัวเองนั่นแหละ ว่าหนุ่มมันก็เป็นอย่างหนึ่ง กลางคนมันก็เป็นอย่างหนึ่ง แก่มันก็เป็นอย่างหนึ่ง
ดูให้มันเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงไม่ทุกข์

หลวงปู่เพียร วิริโย






"ธรรมดานายโคบาล ผู้ฉลาดย่อมต้อนฝูงโคของเขา ไปยังที่ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำและหญ้า ตามวิสัยของผู้ฉลาดฉันใด ชีวิตคือความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ก็ฉันนั้น นับแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เดินทางไปสู่ความแก่ทุกวันทุกคืน จนเป็นเดือนเป็นปี และเป็นหลายๆ ปี"
"เมื่อถึงสถานีของความแก่แล้ว สถานีแห่งความแก่ก็ส่งไปสู่สถานีแห่งความเจ็บ มีเจ็บหลังบ้าง เจ็บเอว เจ็บตา เจ็บแข้ง เจ็บขาบ้าง แล้วสถานีนี้ก็ส่งไปยังสถานีแห่งความตาย มาสิ้นสุดเพียงสถานีของความตายนี้ทั้งนั้น"

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ









#ในสมัยปัจจุบันนี้
"สิ่งที่เด่นมากที่สุด ซึ่งจะทำให้แตก
ให้แยกอยู่ทุกเวล่ำเวลาไม่ว่ากลางวัน
กลางคืนยืนเดินนั่งนอน นั่นก็คือเรื่อง
ราคะตัณหา ขอให้พี่น้องทั้งหลายจำ
คำนี้ไว้ให้ดี นี้คือไฟเผาโลก ราคะตัณหา
นี้เคยมีมาดั้งเดิมตั้งแต่แดนสมมุติมีมาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ปราชญ์ทั้งหลายท่าน..
รักษาสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในขอบเขตเหตุผล
ให้อยู่ในความพอดิบพอดี โลกแม้จะมี
ราคะตัณหาอยู่ก็ตาม ก็ไม่แสดงความ
เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ซึ่งกันและกันอย่าง
ออกหน้าออกตาหน้าดื้อหน้าด้านเหมือน
อย่างทุกวันนี้"
#เพราะท่านมีธรรมเป็นเครื่องกำกับรักษา
"มีเขามีเรา มีใกล้มีไกล มีพ่อมีแม่มีลูกมีเต้า
มีญาติมีมิตร มีใกล้มีไกล มีสามีภรรยาไม่ใช่สามีภรรยารู้จักกันหมด แล้วต่างคนต่าง
ปฏิบัติตามที่รู้แล้วนั้น ไม่ก้าวก่ายซึ่งกัน
และกัน โลกจึงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ราคะตัณหา
ก็มีอยู่กับทุกตัวสัตว์ เว้นพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นมีด้วยกัน แต่ต่างคนต่างรักษาอย่างนี้ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่าปราชญ์ทั้งหลายท่านนำกันมาด้วยความสงบร่มเย็น เพราะมีธรรมเป็นเครื่องเยียวยา เป็นเครื่องรักษา"

#หลวงตาพระมหาบัว_ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล สกลนคร
เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖








..ชีวิตคนเราก็มีแค่นี้นะ มีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก มันมีแค่นี้ แต่ที่มันเยอะ เพราะเราไปวิ่งตามอารมณ์ โลภ โกรธ หลง...

#หลวงพ่อกานต์_วรธัมโม
วัดอุตรดิตถ์ธรรมาราม อำเภอเมือง ตำบลบ้านด่านนาขาม จังหวัด อุตรดิตถ์









เรื่อง "การเดินธุดงค์ที่แท้จริง"
(ปกิณกธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
นานมาแล้วในอดีต มีพระอาจารย์รูปหนึ่งเข้ามาถามถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตว่า จะปฏิบัติด้วยวิธีใดจึงจะเป็นการถูกต้อง พระอาจารย์รูปนั้นได้เน้นว่า ผมเห็นพระธุดงค์ที่ไปปักกลดตามที่ชุมนุมชน หรือธุดงค์ไปไหว้พระเจดีย์ พระพุทธบาท บางกลดถึงกับเขียนประกาศติดไว้ที่มุ้งกลดว่ามีของดีใครต้องการ ให้มารับ
พระอาจารย์มั่น ได้ให้คำตอบและอธิบายเรื่องนี้ให้พระรูปนั้นฟังอย่างแจ่มแจ้ง โดยใจความว่า
การธุดงค์นั้นมุ่งหมายเพื่อถ่ายถอนกิเลส กำจัดกิเลส การที่ออกธุดงค์โดยการโฆษณาหรือประกาศโฆษณาว่าจะออกไปทางโน้นทางนี้ โดยต้องการว่าจะให้คนไปหามากๆ นั้นไม่ชื่อว่าเป็นการถูกต้อง ธุดงค์ก็แปลว่าเครื่องกำจัดความอยาก มีการฉันหนเดียว ฉันในบาตรไม่มีภาชนะอื่น การบิณฑบาต การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ป่า การปฏิบัติอย่างนี้ชื่อว่าเป็นธุดงค์ เช่นการฉันหนเดียวเป็นการตัดความอยากที่จะต้องการฉันอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อฉันแล้วก็แล้วกัน ในวันนั้นตัดการกังวลทั้งปวง หรือเช่นการฉันในบาตร ก็ไม่ต้องคิดถึงรสชาติ หรือต้องหาภาชนะให้เป็นการกังวล ที่จะคิดว่าจะแบ่งกับข้าว และข้าวไว้ต่างกันเพื่อหารสชาติแปลกๆ ต่างๆ รวมกันหมดในบาตรเป็นการขจัดความอยากอย่างหนึ่ง หรือเช่นการไปอยู่ในป่าที่ไกลจากบ้านพอควร หรือในถ้ำภูเขานี้ก็เป็นการหาสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน แสวงหาความสงบเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
การแสวงหาแหล่งที่เป็นป่า
ภูเขาถ้ำนี้ต้องหาสถานที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณกิจ สมณธรรมจริง อย่าไปหาถ้ำภูเขาที่ประชาชนไปกันมาก เป็นการผิด และไม่เป็นการดำเนินธุดงค์ หรือจะไปแสวงหาแหล่งที่เป็นภูเขา ถ้ำ ที่เป็นแหล่งเหมาะแก่การที่ประชาชนจะไปให้มาก และอยู่นานๆ จนประชาชนรู้จักแล้วก็จัดการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นที่จูงใจนักท่องเที่ยว มิหนำซ้ำยังมีการชักชวนประชาชนให้มาดูมาชม เขาไม่มาก็ไปหาเขา เขามาก็ต้อนรับด้วยวิธีการต่างๆ จนประชาขนติดใจ ชักชวนกันมา พระธุดงค์เหล่านั้นกลับดีใจว่าประชาชนขึ้นตัวมาก ไม่พยายามที่จะคิดหนีหรือไม่หาวิเวกทางอื่นอีก บางแห่งทำสถานที่โอ่อ่ายิ่งกว่าในบ้านในเมืองเขาเสียอีกอย่างนี้
เมื่อพระอาจารย์มั่นได้พรรณนาถึงความเป็นเช่นนี้เกี่ยวกับการธุดงค์ ท่านจึงให้หลีกจากความเป็นดังกล่าวเสีย เมื่ออยู่นานจะเป็นการเคยชินแล้วก็พยายามหาหนทางไปทางอื่น เมื่อรู้ว่ามีคนมามาก ก็รีบหลีกเลี่ยงไปเสีย การธุดงค์จึงจะถูก และเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสได้จริง เมื่อจะอยู่ที่ใดอันเป็นแหล่งของการวิเวกสงบสงัดแล้ว ก็พึงอยู่ที่นั่นแล้วบำเพ็ญประโยชน์แก่ตน ยิ่งสงบเท่าใดยิ่งดี ยิ่งปราศจากผู้คนเท่าไรยิ่งดี ยิ่งอยู่ในดงสัตว์ร้ายเท่าไรยิ่งดี และพยายามอย่าอยู่แห่งเดียว เปลี่ยนที่อยู่เสมอๆ เพื่อแก้ความเคยชินต่อสถานที่ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านเตือนหนักเตือนหนาว่าอย่าเอาการอยู่ป่า อยู่บนภูเขา อยู่ในถ้ำ เป็นเครื่องมือโฆษณาเป็นอันขาด เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการทำให้คนแตกตื่น เพราะคนชอบแตกตื่นกันอยู่แล้ว พอเห็นของแปลกเข้า ก็เลยแตกตื่นกันใหญ่ หากทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการปลอมแปลงการถือธุดงค์ จะไม่ได้รับผลจากการรักษาปฏิบัติธุดงค์ตามความมุ่งหมาย

ปกิณกธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต








"สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ถ้าเราไม่มีปัญญา จะทำให้เราทุกข์นะ ถ้าเรามีปัญญา นำออกจากทุกข์ ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของดีนะ ถ้าเราใจไม่ดี ไปมองบางคน ไปเกลียดเขาอีกแล้ว มานอนเป็นทุกข์อีกแล้ว ไปมองคนบางคน ไปรักเขาอีกแล้ว รักเป็นทุกข์อีกแล้ว มันไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เกลียดก็เป็นทุกข์ รักก็เป็นทุกข์ เพราะมันอยากได้ อยากได้ก็เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ก็เป็นทุกข์
ของที่ไม่ชอบใจ อยากทิ้งมันไป อยากได้ของที่ชอบเข้ามามันก็ทุกข์ ของที่ชอบใจได้มาแล้ว กลัวมันจะหาย อีกแล้ว มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร"

หลวงพ่อชา สุภทฺโท








ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย
คำว่าตายในที่นี้
ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย
หมายถึงจิตใจคนเราตาย
คือ ตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก
ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย
คือ ไม่ประมาทต่อการทำดี
ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์ พรหมโลก
หรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง
ตลอดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน
ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมี
หรือความพากเพียรของตนเอง
ความไม่ประมาท คือ
เป็นผู้มีสติจดจ่ออยู่ที่กายและใจ
ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
ไม่มีการเผลอสติจากอิริยาบถทั้งสี่
จึงจัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใจไหม?
คำว่าประมาทนั้นคือ
เป็นคนเลินเล่อเผลอสติ
นึกคิดออกไปนอกกายและใจของตนเอง
ตามอารมณ์ของโลกเขา
คือ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น
ท่านถือว่าเป็นผู้ประมาททั้งนั้น
ถึงมีร่างกายอยู่
ท่านก็เปรียบเหมือนคนที่ตายแล้ว เอวัง

หลวงปู่คำดี ปภาโส
ตอบกระทู้