ถ้าจิตใจเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว เราจะอยู่ในบ้านใหญ่โตรโหฐาน หรือในกระต๊อบก็ตาม ย่อมเป็นสวรรค์ในที่นั้นๆ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจถือใจ เป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจ ถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของกาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจ หมดเรื่องหมดราวกันที
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
"..เหตุดีเท่านั้นที่จะให้ผลดี เหตุไม่ดีเท่านั้นที่จะให้ผลไม่ดี ไม่มีเหตุดีใดจะให้ผลไม่ดี และไม่มีเหตุไม่ดีใดจะให้ผลดี ผู้ใดรู้จริงในเหตุในผล..คือคนฉลาดในพระพุทธศาสนา ผู้นั้นไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี จะทำแต่สิ่งที่ดี..เพื่อผลอันเป็นคุณงามความดี เป็นคุณประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตนและส่วนรวม.."
พระโอวาทในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ผู้ใดมี สติ อยู่ทุกเวลาผู้นั้นก็จะได้ ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะว่า เมื่อตามองเห็นรูป...ก็เป็นธรรมะ หูได้ยินเสียง...ก็เป็นธรรมะ จมูกได้กลิ่น...ก็เป็นธรรมะ ลิ้นได้รส...ก็เป็นธรรมะ ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ นึกขึ้นได้เมื่อใด...เป็นธรรมะเมื่อนั้น ฉะนั้นผู้มี สติ จึงได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า อยู่ตลอดเวลา...ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน มันมีอยู่ทุกเวลาเพราะอะไร ? เพราะเรามีความรู้อยู่ ในเวลานี้ เราจึงเรียนอยู่กลางธรรมะ จะเดินไปข้างหน้า...ก็ถูกธรรมะ จะถอยไปข้างหลัง...ก็ถูกธรรมะ ท่านจึงให้มี " สติ " ถ้ามีสติแล้ว มันจะเห็นกำลังใจของตน เห็นจิตของตน ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ รู้ถึงที่แล้ว ก็รู้แจ้งแทงตลอด เมื่อมันรอบรู้อยู่เช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติ มันก็ถูกต้องดีงามเท่านั้นแหละ
หลวงพ่อชา สุภัทโท
พระพุทธเจ้าผูกเรื่องนี้ขึ้น เพื่อจะเป็นข้ออุปมา สอนภิกษุ ดังนี้ “บุรุษนั้นหนีไปทางหนึ่ง มีคนมาบอกว่า มีเพชฌฆาต ๕ คน ตามมาจะฆ่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คือใคร? ก็คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูป (มีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป) เวทะนูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ เวทนา (การเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเฉยๆ) สัญญูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสัญญา (ความจำได้ หมายรู้) สังขารูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สังขาร (สิ่งที่ปรุงแต่งในจิตใจ) ที่เราทุกข์ใจ วุ่นวายใจ กลัวบ้าง โกรธบ้าง เร่าร้อน วิตกกังวล เป็นเพราะสังขารปรุงแต่งจิต จึงเกิดความหวั่นไหว เกิดความกลัว เป็นทุกข์ ที่กลัวนี้ มันก็มาจากความปรุงแต่ง คือ ความคิด ความนึก ปรุงในทางให้กลัวก็กลัว ปรุงในทางให้เกิดความวิตกกังวล ก็วิตกกังวล ฉะนั้น ถ้าเรามีสติรู้เท่าทัน กำหนดรู้สังขาร สิ่งที่มาปรุงแต่งในจิตใจให้ดี รู้เท่ารู้ทัน มันจะปรุงต่อไปไม่ได้ มันก็จะหมดเรื่องกันไป ความกลัวก็จะหายไป ความเร่าร้อนใจก็หายไป ความทุกข์ก็ดับไป ถ้าเรามีสติคอยรู้เท่าทัน แต่เมื่อเผลอมันก็ปรุงอีก เราก็ตามรู้อีก... เพราะฉะนั้น คอยดูจิตใจไว้ คอยพิจารณาเท่าทันจิต จิตมันคอยจะคิดนึกนั่นนี่ ที่เราทุกข์ใจก็เพราะ จิตคิด จิตนึก จิตปรุงแต่ง ถ้ามีสติคอยดู คอยรู้เท่าทัน ความปรุงแต่งก็จะดับ ระงับไป เพราะหมดเหตุ หมดปัจจัย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ทูรงฺคมํ เอกจิรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ สญญเมสฺสนติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา จิตนี้ไปไกล ไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย ชนเหล่าใด สำรวมระวังรักษาจิตได้ ชนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร” เครื่องผูกแห่งมาร คือวัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเรายังเกิดอยู่ เราก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของมาร มารได้ช่อง มารได้โอกาส เราจะพ้นจากวัฏฏสงสาร พ้นจากเงื้อมมือของมาร ก็ต้องรู้เท่าทันจิต สำรวมระวังรักษาจิตไว้ได้ ความสุขความทุกข์มันออกมาจากจิตใจนี่เอง ฉะนั้น ต้องหัดพิจารณา หัดตามดู รู้จิตใจตนเองไว้ จิตคิดก็ให้รู้ จิตนึกก็ให้รู้ จิตรู้สึกอย่างไรให้รู้ทัน ............................ ธัมโมวาท โดยพระวิปัสสนาจารย์ ท่านเจ้าคุณ พระภาวนาเขมคุณ วิ. (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
...แต่ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้เผยแผ่เรื่องของคนดีกัน เผยแผ่แต่เรื่องของคนที่จะว่าไม่ดีก็ไม่เชิง เพียงแต่ว่ามันก็ดีแบบไม่มีประโยชน์ "ดีแบบบันเทิง" พวกมหรสพแบบนี้ แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรทางจิตใจมากนัก เพราะว่าคนก็ชอบเรื่องมหรสพเรื่องบันเทิง พอเอาเรื่องพระมาสอนก็ง่วงนอน ก็เลยไม่มีใครอยากจะดูกัน เพราะใจของคนส่วนใหญ่นั้น ใฝ่ไปในทางบันเทิงมหรสพ ใฝ่ไปในทางกามอารมณ์ ไม่ได้ใฝ่ไปในทางความสงบ พอเอาเรื่องของความสงบมาเผยแผ่ ก็เลยหาวกัน นั่งดูปั๊บ เดี๋ยวก็หลับ แต่ถ้าเอาเรื่องของกามอารมณ์ มาเผยแผ่นี้ตื่นเต้นเร้าใจ อยากจะเป็นเหมือนเขาขึ้นมา. ................................. หนังสือสติธรรม หน้า27 ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
เวลาที่เราเสียใจเวลาที่เราเป็นทุกข์ หาตัวหาตนหาหน้าหาตาให้มันให้เห็นหน้าเห็นตาคำว่า "ทุกข์" หาจริงๆ จังๆ แล้วตัวตนมันไม่มี ก็เพียงแต่ใจของเราไปรับรู้สิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ แล้วมันก็เกิดขึ้นเท่านั้น
โอวาทธรรม หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
#ไปว่าคนอื่น_ตัวเราดีแล้วหรือ? ยิ่งเราเห็นว่ามีคนชั่วมากเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ว่าเรานั่นแหละที่ชั่วเสียเอง เพราะไม่มีคนดีที่ไหน สนใจความชั่วของคนอื่น มากกว่าของตนเอง ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ จงอย่าเพ่งโทษผู้อื่น เพราะนอกจากจะไม่ก่อประโยชน์แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สูบกินเวลาชีวิต ให้สูญไปเปล่า ๆ ถ้าเขาไม่ดี แล้วเราไปวิจารณ์ จิตใจเราจะขุ่นมัว แต่ถ้าเขาดี แล้วเราไปวิจารณ์ เราเองนั่นแหละ ที่จะเป็นคนไม่ดีเสียเอง สรุปแล้ว ไม่ว่าเขาจะดีหรือไม่ เราก็เสีย ทั้งขึ้นทั้งล่อง
โอวาทธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
” เมื่อจิตจะรัก ก็ให้มีสติผลักดันไว้อย่าให้รัก เมื่อจิตจะชัง ก็ให้มีสติผลักดันไว้อย่าให้ชัง เมื่อไม่รักกับไม่ชัง คอยมีสติผลักดันเอาไว้ แล้วประเดี๋ยวจะมีปัญญาโผล่ขึ้นมาเอง ”
ธรรมะคำสอน หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
#เรื่องศิษย์เรื่องอาจารย์อันเป็นบุพเพกตบุญญตา เราจะไปเปลี่ยนไม่ได้ ใครเป็นลูกศิษย์ใคร อาจารย์ใคร ก็เลือกเอาเอง ถ้าอาจารย์ไม่เป็นบัณฑิต ก็ให้รีบตีตัวออกห่าง เพราะถ้าคบอาจารย์ที่เป็นคนลามก เป็นคนเลว ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนคบกับงูพิษ ท่านเปรียบไว้เหมือนงูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้ก็จริง แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถ ให้เปื้อนด้วยคูถได้ด้วยการดิ้นของมัน ยิ่งเป็นงูตัวใหญ่ ๆ ยิ่งสกปรกเยอะ ฉะนั้น จึงให้แสวงหาอาจารย์ที่เป็นบัณฑิต เป็นกัลยาณมิตร เช่นอย่างเรานี้ ก็ได้ท่านพ่อลี ท่านอาจารย์กงมา และท่านพระอาจารย์มั่น เป็นกัลยาณมิตร จึงก้าวเข้าถึงกัลยาณมิตรใหญ่ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ภายในใจ
#โอวาทธรรมองค์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
|