Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ต้นของศีลคือศีล 5

ศุกร์ 06 ธ.ค. 2019 5:48 am

"ต้นของศีลคือศีลห้า เราสมาทานไปแล้ว เราจะรักษาอยู่ที่ใดก็ได้"

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






"บางเรื่องรู้แล้วมันทุกข์ อย่ารู้ดีกว่า..
ทุกวันนี้มันมีแต่ประเภท..รู้ไปหมดแต่มันอดไม่ได้ รู้ไปทั่วแต่เอาตัวไม่รอด.."

หลวงปู่หา สุภโร






#ภาวนา_คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม
รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งซ่านของใจ
ให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรมภาวนา จึงเปรียบเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัด ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ถึงจะได้รับประโยชน์ตามสมควร
#ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัว
จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ภายนอกภายใน ผู้มีภาวนาเป็นหลัก จะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่เสี่ยงและไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง
#การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต
การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา
จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญ เล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของ กาย วาจา ใจ ไม่เปิดช่องให้ความอยาก อันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่ว พาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วนประมาณ
ไม่ถูก จะเอาโทษมันก็ไม่ได้ ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้ว ของเก่าก็เสียไป ของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันฟื้นคืนตัวได้
#ฉะนั้นการภาวนา_จึงเป็นเครื่องหักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี
วิธีภาวนานั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็น
วิธีบังคับใจ

#พระอาจารย์มั่น_ภูริทัตตเถระ






"มนุษย์อยู่ด้วยกันที่มีคุณค่าคือความให้อภัยกัน
ความไม่ถือสีถือสากันอย่างง่ายดาย นี่สำคัญ
ความเมตตาสงสารเห็นใจเขาใจเรา
แล้วก็อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก
ถ้าคอยเอารัดเอาเปรียบ
คอยเอาแพ้เอาชนะกันอยู่นะ
โลกหาความสุขไม่ได้"

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน







#ควรมีเมตตาสงสารในสัตว์ทั้งหลาย
"ซึ่งมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเช่นเดียว
กับเรา ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ความ
ยิ่งหย่อนแห่งวาสนาบารมีนั้นมีได้ทั้ง
คนและสัตว์ สัตว์บางตัวมีวาสนา บารมี
และอัธยาศัยดีกว่ามนุษย์บางคน แต่เขา
ตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ ก็จำต้องทน
รับเสวยไป สัตว์เดรัจฉานก็ยัง มีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน มิให้ประมาท
ว่าเขาเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดต่ำทราม
ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระ
ที่เวียนมาถึงเท่านั้น เช่นเดียวกับมนุษย์
ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้น
ก็จำต้องทนเอาจนกว่าจะสิ้นกรรม.."

#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต







#บรรดาผู้ที่ล่วงลับ_ไปนั้นท่านสอนไว้
ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่าใครจะอยู่ใกล้
อยู่ไกลที่ไหนประเทศใดเมืองใดก็ตาม เวลาตายแล้วจะต้องกลับเข้าไปถึงบ้านถึงเรือน
ถึงพี่น้องพ่อแม่ญาติมิตรของตนเป็นลำดับ
ลำดา ถ้าไม่ถูกกรรมหนักบังคับให้ไปตกนรกเสียก่อน มีช่องทางที่จะไปหาญาติหาวงศ์ของตนได้ทุกแห่งทุกหน โดยไม่มีคำว่าหลงทาง นี่คือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว แล้วกลับเข้ามาในบ้านญาติมิตรของตน ตายที่ไหนก็มาหาญาติหามิตร เพื่อรับส่วนบุญส่วนกุศลจากพ่อแม่พี่น้องที่เคยเป็นพ่อเป็นแม่มาดั้งเดิม ในเวลาตายแล้วก็ต้องย้อนกลับมา
#ท่านบอกไว้ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่า
เข้ามาแอบอยู่ตามข้างบ้านข้างเรือนบ้าง
เข้ามาอยู่ข้างฝาเรือนบ้าง เข้ามาอยู่ทุกซอกทุกมุมในบ้านเรือนของญาติของมิตร ของพ่อของแม่บ้าง แต่เวลาพ่อแม่พี่น้องซึ่งเคยอยู่
ร่วมกันในเวลามีชีวิตอยู่รับประทานด้วยกัน
มีอะไรถึงกันหมดนั้น พอตายไปแล้วเท่านั้น กลับมาก็มาแอบดูพ่อดูแม่ ดูญาติดูวงศ์ที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่ในนั้น ไม่สามารถที่
จะรับได้เพราะไม่ใช่วิสัยของเปรตผีกับมนุษย์ที่จะมาร่วมกินร่วมอยู่ด้วยกันได้เช่นนั้น ถ้าหากว่าญาติมิตรมีความรู้สึกเป็นห่วงใยใน
ผู้ล้มผู้ตายที่จากไปนั้น ได้ทำบุญทำกุศลอุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่บรรดาเปรตทั้งหลายที่มานั้น เปรตเหล่านั้นก็ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ก่อนจะจากไปก็อนุโมทนาสาธุการแก่ญาติมิตรของตน แล้วไปสวรรค์ได้เพราะอำนาจแห่งส่วนกุศลที่หนุนท่านเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ในความเป็นเปรตเสียได้นี่ท่านแสดงไว้อย่างนี้
#เปรตประเภทที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้นมีมากมายก่ายกอง
ด้วยเหตุนี้จอมปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงสอนไว้ว่าเมื่อล้มหายตายจากไปจากกันแล้ว อย่าลืมบุญลืมคุณ ลืมความระลึกถึงกัน แล้วให้บำเพ็ญส่วนกุศลอุทิศไปให้ ท่านผู้ล้มผู้ตายจะได้รับการสนับสนุนจากการสร้างบุญกุศลอุทิศไปให้นั้น แล้วพ้นทุกข์ไปโดยลำดับ

#หลวงตาพระมหาบัว_ญาณสัมปันโน
#เทศน์อบรมฆราวาส
ณ สวน ๓๖ พรรษา สยามบรมราชกุมารี
ตรงข้ามสุสานทหารสัมพันธมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี







พระ..ถ้าปฏิบัติ
บ่ถึงศีล ถึงธรรม
บ่ว่าแต่ไหว้พญานาค
ไปกราบฮอดฤาษี

หลวงพ่อทองพูน กาญจโน







#ให้มีเฉพาะอารมณ์ปัจจุบัน
"อดีตนี้สำคัญ มันมาแต่ดึกดำบรรพ์
อดีตนี้ท่านหมายเอาทั้งกุศลและ
อกุศลทั้งหมด เมื่อจิตคิดขึ้นมาแล้ว
มันก็ไปยึดไปถือเอาสิ่งนี้บ้างสิ่งนั้นบ้าง
ยึดไปยึดมาก็เดือดร้อน เจ้าของเองนั่น
แหละเดือดร้อน ใจมันจะไปเดือดร้อน
ที่ไหน ใจนี่แหละเป็นตัวเหตุ.."
#กำหนดทุกข์เข้าๆ ให้รู้เท่าถึง
สภาพของเหตุแล้ว อย่านำเอามา
หมักไว้ในจิตในใจ พยายามสลัด
ออก สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายอะไรก็เอา
เข้ามาไว้ในใจ มันเดือดร้อน
#ละอยู่ที่ใจนี่ วางอยู่ที่ใจนี้
ละ วาง รู้อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น
กายอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือกามารมณ์
ทั้ง ๕ มันก็ไหลออกไปจากนี้แหละ
ให้รู้เท่าทันว่าเราจะตั้งอยู่ในศีล ตั้ง
อยู่ในธรรม จะทำกิจของตน จะทำ
จิตของตนให้มันสงบ พิจารณาอยู่
อย่างนี้ อดีต ที่เป็นส่วนดีก็ตาม เป็น
ส่วนชั่วก็ตาม มันก็ผ่านไปแล้ว เรา
จะทำจิตของเราไม่ต้องเกี่ยวกับอดีต
#อดีต_อนาคต มันก็เกิดจากกาย
จากใจของเรานี้แหละ พยายามอย่า
ให้มันเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเรากำจัด
มันได้ เราก็สบาย ให้มีเฉพาะ
อารมณ์ปัจจุบัน

#พระอาจารย์แหวน_สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง
อ.พร้าว จ.เชียงใหม่







"...เลิกยึดกายเสียบ้าง ปล่อยวางเสียที เขาเป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่ตัวเรา เขาไม่เที่ยง เรื่องของเขา ให้เราปล่อยมือ อย่าถือให้หนัก เมื่อรู้จักความจริงว่ามันไม่เที่ยงตามเรื่องของสังขาร ไม่ยึดมันนั้นถูกทางแท้..."

หลวงปู่สาย เขมธมฺโม







"ข้าวของ...พัสดุภายนอก"
เวลาเจ็บ เราไข้ ไม่เป็นประโยชน์เลย จะช่วยเราไม่ได้ แม้แต่น้อยนี้
บ้านจะงาม ก็นอนไม่มีความสุข
ข้าวของมากมายเท่าไหร่ ก็ช่วยบรรเทาความร้อนรน อันเกิดจากทุกข์เวทนา ให้มันน้อยไม่ได้
เวลาเราจะตายจริงๆ ใจของเรา ไม่ได้สนใจกับข้าวของ สมบัติที่เรามีอยู่
มาสนใจกับทุกข์เวทนา คือความเจ็บความปวด แต่อย่างเดียวนี้

โอวาทธรรม : พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร(หลวงปู่แบน ธนากโร)วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร








“ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย”
“...ซึ่งภัยในโลกนี้มีมาก ทั้งภัยใหญ่ ภัยน้อย ภัยที่เกิดจาก ความนึกคิดปรุงแต่ง ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ เป็นสิ่งที่น่ากลัวในโลกนี้ และที่น่ากลัวอย่างยิ่ง คือทะเลแห่งวัฏฏะสงสาร ซึ่งต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว แต่ความเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า สำหรับผู้ประมาทแล้วย่อมเลือกเกิดไม่ได้ กระแสแห่งอารมณ์ บาปอกุศลทั้งหลายนั้น จะสะสมตกตะกอน อยู่ในจิตใจ สร้างเป็นภพ ที่จะนำไปเกิดในอบายภูมิ อันมีสัตว์ใน นรก เปรต อสุรกาย และภูมิของสัตว์ เดรัจฉาน เมื่อมีภูมิของสัตว์ เดรัจฉาน ย่อมมีภูมิของสัตว์อื่นอย่างแน่นอน ไม่ต้องสงสัย เมื่อจิตดวงนี้สะสมอกุศลจิตเอาไว้มากๆ จะรู้สึกหนักเป็นก้อนอยู่ที่หน้าอก ถ้าหนักลงไปเรื่อยๆ จะถ่วงจิตดวงนี้ไปสู่อบายภูมิที่ควบคุมกายใจไม่ได้
สัตว์ทั้งหลายจำต้องเวียนว่ายตายเกิด ตามกระแสแห่งกรรมอีกหลายร้อยชาติ พันชาติ อเนกชาติ ก็เพราะมีมูลฐานมาจากใจ ใจที่มืดมนเศร้าหมอง ก็เกิดทุกข์ ไปสู่ทุกข์คติ ใจที่ซื่อตรง ผุดผ่อง ก็เกิดสุขไปสู่สุคติ และต่อเมื่อมารู้แจ้ง เห็นจริงในอวิชา กิเกลส ตัณหา อุปาทาน จนสิ้นไปจากใจ จิตนั้นก็ย่อมจะหลุดพ้น เป็นอิสระอย่างแท้จริง เหมือนผู้เห็นภัยในวังวน ย่อมยกตนขึ้นเหนือจากวังวนคือ สังสารวัฏอันเวียนเกิดเวียนตาย แสนโหดร้าย ซึ่งเกิดคราวใดก็ต้องตายด้วยความอาลัยทุกครั้งไป เพียงแค่เรานึกถึงความตาย อันมีอยู่เบื้องหน้า ความทุกข์ความเศร้า ความห่วงหาอาลัยก็จะเกิดเป็นอารมณ์ทุกครั้ง
อารมณ์นั้นเหมือนเงาตามตัว เงาในกระจกหรือเงาในน้ำไม่ใช่ของจริงฉันใด สัพพะสังขารทั้งหลายก็ไม่ใช่ของจริงฉันนั้น จะหาความสุขสมหวังที่แท้จริงในสรรพสังขารทั้งหลายนั้นย่อมไม่มีจริง เหมือนหาหนวดที่เต่า หาเขาที่กระต่าย มนุษย์ผู้ตกอยู่ในความไม่รู้จริงเช่นนี้ ย่อมประมาทว่า บาป บุญ อันเราทำไว้แล้วย่อมไม่มีผลในชาตินี้และชาติหน้า บาปบุญไม่อาจ ตามไปชาติหน้าได้ บางคนยิ่งประมาทเสียอีกกลับเห็นว่าชาติหน้าไม่มี มนุษย์ผู้ไม่รู้จริงในกองสังขาร เช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ผู้ไม่ประมาท อยู่ด้วยความว่างย่อมปลอดภัย จากทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่ทำจิตว่างไฉนจะไม่เป็น ทางพระอริยะเจ้า ไฉนเล่าจะไม่ประเสริฐวิเศษ ยิ่งกว่าบุญทั้งหลาย แม้ทำจิตให้ว่าง เพียงแค่ชั่วเวลาไก่กระพือปีก ผลานิสงค์จึงสูงกว่าเทวโลก และพรหมโลกอย่างได้สงสัยเลย..”

ที่มา: ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
หลวงพ่อดาบส สุมโน








..#อย่าเป็นคนเกียจคร้านต้องตั้งใจจริง...
ถ้าบุคคลใด เวลาใกล้จะตาย จิตวิญญาณจะออกจากรูปร่างกายนี้ไป..จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา..จิตใจของบุคคลนั้น มีความเศร้าหมอง มีความทุกข์ อยู่แล้วเป็นเนืองนิตย์ ทุคติเป็นอันต้องหวังของบุคคลนั้น หรือบางคนเกิดตามอำนาจของกรรมที่เสียหายทางทุกข์ที่เขายึดเอาไว้ในจิตใจ ก็ไปเกิดอีกในที่ทุกข์ แหละ
..จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา..เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง จิตมีความสุขแล้ว สุคติเป็นอันต้องหวังของบุคคลนั้น ไปเกิดในภพใหม่ตามภูมิชั้นคุณงามความดี ที่ตนเองสร้างสมอบรมเอาไว้
..เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ขยันหมั่นเพียร เพื่อจะสร้างคุณงามความดีเอาไว้ ตามความตั้งใจของตนเอง อยากมีความสุข อยากพ้นจากความทุกข์ ต้องขยันต้องมีความพากเพียรปฏิบัติ อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ต้องตั้งใจจริง ๆ..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..







อริยทรัพย์ ๗ ประการคือ
๑) ศรัทธา
๒) ศีล
๓) หิริ
๔) โอตตัปปะ
๕) พาหุสัจจะ
๖) จาคะ
๗) ปัญญา
ผู้มีอริยทรัพย์จึงเปรียบเหมือนนักปราชญ์
ผู้มีความฉลาด ในการพัฒนาตนเอง
ศึกษามาแล้ว ปฏิบัติมาแล้วได้ผลได้ประโยชน์
มาแล้วนำความสุขมาให้แล้วทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น
เข้าใจในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จึงเรียกว่า
เป็นผู้มีทรัพย์ภายในบุคคลใดศึกษาและ
เข้าใจในอริยทรัพย์ภายในแล้ว
จะเป็นบุคคลที่มีที่พึ่ง เป็นคนที่มีความอบอุ่น
แช่มชื่น เบิกบานไปไหนมาไหนก็ดีก็อาศัย
ทรัพย์ภายในของเรานี้เป็นเครื่องประกอบ
เป็นที่พึ่งของตนเองได้ เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้
ก็เรียกว่า เป็นคนไปที่ไหนเป็นคนคล่องตัว
เฉลียว ฉลาดรู้เรื่องรู้ราว รู้ถูกรู้ผิด มีความคิด
ความอ่าน สร้างสรรค์พัฒนาไปในทางที่ดี
เราจะได้มีความสุขเกิดขึ้นแก่ตน
เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลาย
ที่เป็นผู้ที่มีการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราควรศึกษาให้เข้าใจทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในทรัพย์ภายนอกมันมีคุณค่ามีประโยชน์อย่างไรเราก็ศึกษาให้เข้าใจเพราะเป็นผู้มีปัญญา
ทรัพย์ภายในนั้น เมื่อเราศึกษา ให้เข้าใจแล้ว
ได้รับผลได้รับประโยชน์ มีความสุขสบายภายในใจ ของเราอย่างไร เราก็ควรที่จะเข้าใจ
ในเรื่องอย่างนั้นด้วย เมื่อเราเข้าใจแล้ว
ก็เรียกว่า บุคคลนั้นมีที่พึ่ง มีทรัพย์สมบัติ
อยู่ประจำตัวแล้วก็จะทำให้มีความสุขความสบายเกิดขึ้นแก่ตนได้ตลอดไป

#โอวาทธรรม
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






" ถ้าส่งจิตออกไป ภายนอกร่างกายแล้ว
เป็นอันผิดมรรคภาวนา
เพราะบรรดาพระธรรม คำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ ได้ทรงสั่งสอน
ประกาศพระศาสนาอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ
ของพระองค์นั้น...
แนวการปฏิบัติไม่พ้น จากกาย
ดังนั้น กายจึงเป็นสนามรบ
กาย จึงเป็นยุทธภูมิ ที่ปัญญาจะต้องค้น
เพื่อ ทำลายกิเลส และกองทุกข์
ซึ่งจิตของเรา ทำเป็นธนาคารเก็บสะสม
(กิเลส และกองทุกข์) ไว้ภายใน
หอบไว้ หาบไว้ หวงไว้จนนับภพนับชาติไม่ได้
สัตว์ทั้งหลาย...
ไม่ว่า ชนิดใดในสังสารวัฏนี้
ล้วนแต่...ติดอยู่กับกายนี้ทั้งสิ้น."
________________________________________
( หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต )








".. พรุ่งนี้มีไหม พรุ่งนี้ไม่มี มีแต่วันนี้
มีใครเห็นพรุ่งนี้ไหม เห็นเดี๋ยวนี้..ปัจจุบัน
ปัจจุบันดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันดี อดีตก็ดี
ชีวิตก็มีเท่านี้ นาทีนี้ วินาทีนี้
เราจะทำอย่างไร เราอยู่ที่ไหนกัน
อยู่ตรงนี้ .... อยู่ตรงความรู้สึกตัว ....."

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ







" มันต้องอาศัยทำบ่อยๆ​ ให้เป็นข้อวัตร​ เดี๋ยวดีจะบวกดีขึ้นทวี.
ผู้พ้นไปแล้วนั้นไม่ใช่ว่าจะทำครั้งเดียวแล้วพ้นจากกิเลสมั้งปวงไปเลย.
เพราะอบรมบ่มนิสัยมาหลายภพจนนับไม่ไหวแล้วจึงพ้นไปได้.
เรามาพูดเอาแต่เบื้องปลายก็คล้ายกับว่าพึ่งเกิดมาพบพระพุทธศาสนาในชาติปัจจุบันเท่านั้น.
อ้ายที่แท้มันมาพบพระพุทธศาสนาจนนับไมไหวแล้ว."

หลวง​ปู่​หล้า​ เ​ขม​ปัตโต








"ลม เราจะเอาเป็นที่พักของใจได้ เป็นที่พิจารณาก็ได้ เวลาจิตไม่ยอมลง ก็แสดงว่ามันอยากจะทำงาน เราก็หางานให้มันทำ คือให้มันเที่ยวพิจารณาลมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ว่าตรงไหนลมเดินสะดวกดี ตรงไหนมันเดินไม่สะดวก แต่อย่าให้ใจหนีออกนอกกายนะ ให้มันวนเวียนอยู่ในนั้น จนมันเหนื่อย พอเหนื่อย แล้วมันจะหาที่พักหยุดกับที่โดยเราไม่ต้องไปกดไปบังคับมัน"
"ทำลมให้เหนียว แล้วนึกให้ระเบิดออกไปในทุกส่วนของร่างกาย"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก









" ทำสมาธิ
โดย การบริกรรมภาวนา
หมายถึง การท่องคำบริกรรมภาวนา อย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหังเป็นต้น
ผู้ภาวนา...
ท่องบริกรรมภาวนา อย่างใดอย่างหนึ่ง
จนจิตสงบ ประกอบด้วยองค์ฌาน
(องค์ฌาน)คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
จิตสงบ จนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างหาย
ไป เหลือแต่...
จิต ที่สงบนิ่งสว่างอยู่
ความนึกคิด ไม่มี
เมื่อ จิตถอนออกจากสมาธิ
พอรู้สึกว่า มีกาย (มี)ความคิด เกิดขึ้น
ให้กำหนดสติตามรู้...ทันที
อย่า รีบออกจากที่นั่งสมาธิ
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ จะได้ปัญญาเร็วขึ้น ในช่วงนี้
ถ้าเรา ไม่รีบออกจากสมาธิ
ออกจากที่นั่ง
เรา ก็ตรวจดูอารมณ์จิตของเรา เรื่อยไป
โดยไม่ต้อง ไปนึกอะไร
เพียงแต่...ปล่อยให้จิต มันคิดของมันเอง
อย่า...ไปตั้งใจคิด
ทีนี้ พอออกจากสมาธิมาแล้ว
พอมันคิดอะไรขึ้นมา ก็ทำใจดูมัน ให้ชัดเจน
ถ้าจิต มันคิดไปเรื่อย ๆ
ก็ดู...มันไปเรื่อย ๆ
จะคิดไปถึงไหน ช่างมัน
ปล่อยให้มันคิด ไปเลย เวลาคิดไป
เราก็ ดูไป ๆ ๆ ๆ
มันจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ในความคิด
แล้วจะเกิด กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ
กายเบา กายสงบ ได้กายวิเวก
จิตเบา จิตสงบ ได้จิตวิเวก
ทีนี้...
จิต สงบแล้ว จิต เป็นปกติได้
ก็ได้...อุปธิวิเวก ในขณะนั้น."
______________________________________
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน)
ตอบกระทู้