พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 11 ธ.ค. 2019 5:23 am
"ให้อดทน ให้ต่อสู้ ทางเดินย่อมมีอุปสรรคขวากหนาม อย่าไปคิดว่ามันยาก มันลำบาก ให้สร้างบารมี เมื่อมีบารมีแล้วต่อสู้อะไรก็สำเร็จ อย่าท้อแท้ อย่าทิ้งความเพียร"
หลวงปู่อว้าน เขมโก
ทุกวันที่ตื่นขึ้นมา เราต้องคิดว่า
จะทำอะไรดีๆให้คนที่เรารัก
สิ่งดีๆที่ทำให้ได้ก็คือ
การทำให้เขาเข้าถึงหลักธรรมให้ได้
ดังนั้น เราเองต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน
ต้องทำดีก่อน
เมื่อเราทำดีแล้ว
เราก็จะสามารถสร้างสิ่งที่ดีให้คนที่เรารักได้
เราเริ่มจากการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก่อน
เวลาปฏิบัติ เราต้องติดตามดูว่า
ทำไมเราจึงรักษาศีลไม่ได้
ติดขัดอะไรให้แก้ไป
ทำไมเราเจริญปัญญาไม่ได้
แล้วจะได้หาทางปรับปรุงวิธีการใหม่ให้เหมาะสม
คนที่จะช่วยผู้อื่น ต้องมีกำลังมากพอ
ไม่เช่นนั้นจะช่วยไม่ได้
ให้ดูตัวอย่างพระโพธิสัตว์นกคุ่ม
ขณะเป็นลูกนกยังเล็กอยู่
ไม่มีกำลังจะดับไฟ
จึงใช้วิธีทำสัจกิริยา
( ด้วยคุณความดีคุณแห่งศีลที่ท่านได้สะสมมานาน )
ขอให้ไฟเลี่ยงไป
จึงไม่เกิดอันตราย
พระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต
วัดป่าตอสีเสียด อ.เมือง จ.อุดรธานี
#การดูกิเลสและแสวงธรรม
"ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามใจ
ซึ่งเป็นที่อยู่ของกิเลสและเป็น
ที่สถิตอยู่แห่งธรรมทั้งหลาย
กิเลสก็ดี ธรรมก็ดี มิได้อยู่กับ
กาลสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น
แต่อยู่ที่ใจ คือเกิดขึ้นที่ใจ
เจริญขึ้นที่ใจ และดับลงที่ใจ
ดวงรู้ๆ นี้เท่านั้น การแก้กิเลส
ที่อื่นและแสวงธรรมที่อื่นแม้
จนวันตายก็ไม่พบสิ่งดังกล่าว
ตายแล้วเกิดเล่าก็จะพบแต่
กิเลสที่เกิดจากใจซึ่งกำลัง
เสวยทุกข์เพราะมันนี้เท่านั้น
แม้ธรรมถ้าแสวงหาที่ใจก็จะ
มีวันพบโดยลำดับของความ
พยายาม สถานที่ กาลเวลานั้น
เป็นเพียงเครื่องส่งเสริมและ
เครื่องกดถ่วงกิเลสและธรรม
ให้เจริญขึ้นและเสื่อมไปเท่านั้น
เช่น รูปเสียงเป็นต้น เป็นเครื่อง
ส่งเสริมกิเลสที่มีอยู่ในใจให้เจริญยิ่งขึ้น.."
#พระครูวินัยธร [มั่น ภูริทตฺโต]
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง
จ. สกลนคร [พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒]
ผู้ใดที่คิดว่าเกิดมาแล้วจะต้องมีความสุข อย่างนั้นอย่างนี้
คนผู้นั้นจะต้องผิดหวังอย่างที่สุด เพราะความจริงแล้ว
ในโลกนี้เขาไม่มีความสุขให้แก่ใครเลย
จึงให้ปล่อยปลดเปลื้องเครื่องรกรุงรังในหัวใจเสียให้หมด
ปล่อยเสีย วางเสีย จะได้เบาสบายขึ้นบ้าง
(โอวาทธรรม หลวงปู่แบน)
“ศรัทธาคือความเชื่อ”
ให้เชื่อตามเหตุตามผลตามกฏของสัจจะธรรม
...ตอนนี้หลวงปู่ป่วยหนัก
ชีวิตร่างกายของหลวงปู่ก็จะเป็นไป
ตามอายุขัย เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรม
เพราะ สมัยเป็นเด็กเคยฆ่าสัตว์มาเยอะ
จึงทำให้เจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ และก็
จะต้องตายเร็ว
ไม่ว่าใครก็ตายทั้งนั้นแหละ ...จึงขอให้
ลูกศิษย์ของหลวงปู่ ทุกๆคน
ทำความดีไว้ก่อนตาย
เหมือนหลวงปู่พาทำ
โอวาทธรรม หลวงปู่ไม
" กัลยาณมิตร " คบคนดีเป็นเพื่อน คนดีอยู่ด้วยกันก็ไม่มีปัญหาอะไร กายก็ทำความดีอยู่ วาจาก็พูดสิ่งที่ดีอยู่ จิตใจก็คิดสิ่งที่ดีอยู่ มีแต่สิ่งที่ดีๆก็มีความสุข ไปไหนอยู่ไหนทำอะไรก็มีความสุข ไม่มีภัย ไม่มีเวรเกิดขึ้นได้ ทำใจภาวนาอย่างนี้แหละ จิตใจสงบแล้ว สิ่งที่ไม่มีก็เกิดขึ้นได้นะ สิ่งที่มีมันดีอยู่แล้วยั่งยืนนาน
โอวาทธรรม องค์หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ
วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
“เอาจิตพิจารณาอาการ ๓๒ น้อมเข้าสู่ไตรลักษณ์ ความเป็นไปตามธรรมชาติ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง ใช้จิตพิจารณาให้เห็นขึ้นมา พิจารณาแยกกายเป็นกายคตาสติตลอดเวลา ให้ครองจิตดวงนี้ไว้ในอำนาจ ช่วงชิงจิตไม่ให้อยู่ข้างนอก ภาพของตัวเองให้แจ้งออกมา ทำอยู่เนืองๆทั้งกลางคืนและกลางวัน ราคะที่ยังไม่เกิดจะไม่เกิด และราคะที่เกิดแล้วจะบรรเทาลง ทำให้เห็นแจ้งเป็น ความเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน ๔ ว่าด้วยความเพียรชอบ เพื่อละอกุศลเก่า ไม่ทำอกุศลใหม่ ทำกุศลใหม่ และเพิ่มพูนกุศลเก่า กุศลที่เกิดแล้วต้องรักษาไว้”
พระธรรมคำสอน. หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน
ถ้าคนมีที่ธรรมะ
คนนั้นจะเป็นคนที่พอเพียง
ทุกอย่างจะเป็นความพอเพียง
-----------------
หลวงพ่อทองพูน กาญจโน
"...กรรมฐาน ๕..."
"...พระอุปัชฌายะสอนกรรมฐาน ๕ คือ เกสา-ผม โลมา-ขน นขา- เล็บ ทันตา-ฟัน ตโจ-หนัง
ในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้ มีหนังเป็นที่สุด ทำไมจึงสอนถึงหนังเท่านั้น ? เพราะเหตุว่า หนัง มันเป็นอาการใหญ่ คนเราทุกคนต้องมีหนังหุ้มห่อ ถ้าไม่มีหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน ก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดหล่นทำลายไป เนื้อ กระดูก เอ็น และอาการทั้งหมดในร่างกายนี้ ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องแตกต้องทำลายไป
คนเราจะหลงรูปก็มาหลง หนัง หมายความสวยๆ งามๆ เกิดความรักใคร่แล้วก็ปรารถนาเพราะมาหมายอยู่ที่หนัง เมื่อเห็นแล้วก็สำคัญเอาผิวพรรณของมัน คือผิว ดำ-ขาว-แดง-ดำแดง-ขาวแดง ผิวอะไรต่ออะไร ก็เพราะหมายสีหนัง ถ้าไม่มีหนังแล้ว ใครเล่าจะหมายว่าสวยงาม ? ใครเล่าจะรักจะชอบจะปรารถนา ? มีแต่จะเกลียดหน่ายไม่ปรารถนา ถ้าหนังไม่หุ้มห่ออยู่แล้ว เนื้อเอ็นและอาการอื่นๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ ทั้งจะประกอบกิจการอะไรก็ไม่ได้
จึงว่าหนังเป็นของสำคัญนัก จะเป็นอยู่ได้กินก็เพราะหนัง จะเกิดความหลงสวยหลงงามก็เพราะมีหนัง ฉะนั้นพระอุปัชฌายะท่านจึงสอนถึงแต่หนังเป็นที่สุด
ถ้าเรามาตั้งใจพิจารณา จนให้เห็นความเปื่อยเน่าเกิดอสุภนิมิต ปรากฏแน่แก่ใจแล้ว ย่อมจะเห็นอนิจจสัจจธรรม ทุกขสัจจธรรม อนัตตาสัจจธรรม จึงจะแก้ความหลงสวยหลงงามอันมั่นหมายอยู่ที่หนัง ย่อมไม่สำคัญหมายและไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนาเอา เพราะเห็นตามความเป็นจริง
เมื่อใดเชื่อคำสอนของพระอุปัชฌายะไม่ประมาทแล้ว จึงจะได้เห็นสัจจธรรม ถ้าไม่เชื่อคำสอนพระอุปัชฌายะ ย่อมแก้ความหลงของตนไม่ได้ ย่อมตกอยู่ในบ่วงแห่งรัชชนิอารมณ์ ตกอยู่ในวัฏจักร
เพราะฉะนั้น คำสอนที่พระอุปัชฌายะได้สอนแล้วแต่ก่อนบวชนั้น เป็นคำสอนที่จริงที่ดีแล้วเราไม่ต้องไปหาทางอื่นอีก ถ้ายังสงสัย ยังหาไปทางอื่นอีกชื่อว่ายังหลงงมงาย ถ้าไม่หลงจะไปหาทำไม คนไม่หลงก็ไม่มีการหา คนที่หลงจึงมีการหา หาเท่าไรยิ่งหลงไปไกลเท่านั้น ใครเป็นผู้ไม่หา มาพิจารณาอยู่ในของที่มีอยู่นี้ ก็จะเห็นแจ้งซึ่งภูตธรรม ฐีติธรรม อันเกษมจากโยคาสวะทั้งหลาย..."
โอวาทธรรมคำสอนองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
๙ ธันวาคม ๒๕๖๒
หากว่าเราได้ฝึกเอาไว้ ผมว่าสติของเราจะต้องเขม็งเกลียวเข้าไป สติปัญญาของเราคงจะเขม็งเกลียวเข้าไป เรื่อยๆ ให้สติอยู่กับจิต ให้จิตอยู่กับจิต ให้ใจอยู่กับใจ ให้รู้ใจของตนเองอยู่เสมอ ให้มีสติอยู่กับใจของตัวเอง เดี๊ยวนี้ใจของเรา อยู่ด้วยอาการอย่า...งไร วิตกกังวลเรื่องอะไร พยายามทำใจให้ว่าง ปล่อยวางที่ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นไหม สมัยเมื่อเรามีความสุขว่าสิ่งนั้นคือของเรา สิ่งนี้คือของเรามาถึงจุดนี้แล้วร่างกายมันทุกข์ทรมานอย่างนี้จะเป็นของเราได้อยู่หรือ ใจต้องรู้นะ ใจต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างนะ สิ่งไหนไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งไหนเป็นทุกสิ่งนั้นเป็ฯอนัตตาไม่ใช่ตัวตนของเรา
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
“...ความสำคัญของทุกสิ่งในโลกก็คือใจ ถ้าใจหยาบทุกสิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็กลายเป็นของหยาบไปด้วย เช่นเดียวกับร่างกายสกปรก แม้สิ่งที่มาคละเคล้ากับกายจะเป็นของสะอาดสวยงามเพียงไร ก็กลายเป็นของสกปรกไปตามร่างกายที่สกปรกอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมจึงอดจะหยาบไปตามใจที่สกปรกไม่ได้ ถึงจะเป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจด แต่พอคนมีใจโสมมเข้าไปเกี่ยวข้อง ธรรมก็กลายเป็นธรรมอับเฉาไปตาม เหมือนผ้าที่สะอาดตกลงไปคลุกฝุ่น หรือคนชั่วแบกคัมภีร์ธรรมอวดโลกให้เขารับนับถือ ซึ่งทั้งสองนี้ไม่มีผลดีต่างกันเลย คนที่มีใจหยาบกระด้างต่อศาสนาก็เป็นคนในลักษณะนี้เหมือนกัน จึงไม่มีทางได้รับประโยชน์จากศาสนธรรม แม้เป็นของวิเศษเพียงไรเท่าที่ควร เอาแต่ชื่อออกประกาศกันว่าตนนับถือศาสนา แต่ไม่ทราบว่าศาสนาคืออะไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้นับถืออย่างไรบ้าง ถ้าประสงค์อยากทราบข้อเท็จจริงจากศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว ตนกับศาสนาก็เป็นอันเดียวกัน ความสุขทุกข์ที่เกิดกับตนย่อมกระเทือนถึงศาสนาด้วย ความประพฤติดีชั่วก็กระเทือนถึงศาสนาเช่นกัน คำว่าศาสนา คือแนวทางที่ถูกต้องแห่งการดำเนินชีวิตนั่นแล จะเป็นอื่นมาจากไหน ถ้าคิดว่าศาสนาอยู่ที่อื่นนอกจากตัว ก็ชื่อว่าเข้าใจศาสนาผิดจากความจริง...”
พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒) จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
..พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ว่า ถ้าหากบุคคลใดจิตใจมีอุปาทานความยึดมั่นอยู่ที่ไหน กับอะไร ก็ไปติดอยู่กับสิ่งนั้น วนเวียนอยู่ที่นั่นแหละ หากตนเองมีอุปาทานเป็นอารมณ์ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในจิตใจ เช่น บุคคลใดเวลาใกล้จะตาย จิตใจไปยึดติดอยู่กับลูก ก็คอยไปเกิดเป็นลูกของลูกตนเอง จิตใจไปยึดติดกับหลาน ก็ไปคอยเกิดเป็นลูกของหลาน จิตใจไปยึดติดกับภรรยาของตน ก็ไปเกิดเป็นลูกของภรรยา จิตใจไปยึดติดกับสามี ก็ไปคอยเกิดเป็นลูกของสามีของตน
..ถ้าหากว่าเรามีจิตใจไปยึดติดอยู่กับบุคคลอื่นๆนั้น เราก็จะไปคอยเกิดกับบุคคลอื่นๆเหล่านั้น แต่ก็ต้องไปเกิดได้ตามกรรมและบุญวาสนาบารมีของตนที่ได้สร้างเอาไว้กับบุคคลที่เราจะไปเกิดเป็นลูกของเขา เราทุกๆคนก็จะมองเห็นได้ว่า คนเราที่เขาเกิดกันมาอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้ เขาก็หาเกิดตามบุคคลที่มีฐานะบุญวาสนาบารมีของตนเองที่สร้างมาแต่ชาติอดีตปางก่อนทั้งนั้น
..เราทุกๆคนไม่ใช่จะไปเลือกเกิดที่ไหน กับบุคคลใดตามชอบใจของตนได้ง่ายๆนะ ต้องหาเกิดตามฐานะของกรรม เช่น ฐานะของกรรมที่จะไปเกิดนั้น ถ้าหากเราทำความดีเอาไว้น้อยเมื่อเรามาเกิดเป็นมนุษย์ เราก็ไปเกิดกับบุคคลที่มีฐานะทุกข์จนหน่อย เห็นไหม คนเขาเกิดมาเป็นลูกคนจนทุกวันนี้
..ถ้าเรากระทำความดีมากขึ้นนั้น เราก็พากันไปเกิดเป็นลูกคนพลเรือน ลูกคหบดี ลูกกฎุมพี ลูกอนุเศรษฐี ลูกเศรษฐี ลูกมหาเศรษฐี ลูกพราหมณ์มหาศาล ลูกพระราชามหากษัตริยาธิราชเจ้า ลูกพระเจ้าจักรพรรดิราชเจ้า ตามกำลังบุญวาสนาบารมีของตน ที่เราทุกคนได้สร้างได้กระทำเอาไว้..
..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาทีโป..
"ทิฏฐิกับสัจจะ มันคนละอย่างกันนะ ถ้ารักษาคำพูดด้วยใจขุ่นมัว คิดจะเอาชนะเขา นั่นคือตัวทิฏฐิ ถ้ารักษาด้วยใจปลอดโปร่ง สงบเยือกเย็น นั่นคือสัจจะ ถ้าเวลารักษาสัจจะเราก็สงบเบาสบาย"
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
" กัลยาณมิตร " คบคนดีเป็นเพื่อน คนดีอยู่ด้วยกันก็ไม่มีปัญหาอะไร กายก็ทำความดีอยู่ วาจาก็พูดสิ่งที่ดีอยู่ จิตใจก็คิดสิ่งที่ดีอยู่ มีแต่สิ่งที่ดีๆก็มีความสุข ไปไหนอยู่ไหนทำอะไรก็มีความสุข ไม่มีภัย ไม่มีเวรเกิดขึ้นได้ ทำใจภาวนาอย่างนี้แหละ จิตใจสงบแล้ว สิ่งที่ไม่มีก็เกิดขึ้นได้นะ สิ่งที่มีมันดีอยู่แล้วยั่งยืนนาน
โอวาทธรรม องค์หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ
วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
โลกอันนี้...เหมือนความฝัน
ชีวิตนี้...เหมือนความฝัน
ระหว่างฝันนั้น...อะไรก็เป็นเรื่องเป็นราว
พอตื่นขึ้น...เรื่องราวทั้งหมดก็หายไป
ระหว่างมีชีวิต..อะไรต่อมิอะไรทั้งหมด
เหมือนเป็นของเราไปเสียทั้งนั้น
ในเมื่อตายลงไปเมื่อใด...อะไรๆที่ว่าของเรา
มันก็หมดไป...เหมือนความฝัน...
โอวาทธรรม
หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดธรรมดอยเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
เพียรรักษาความดี
อนุรักขนาปธาน คือการรักษาความดีที่เกิดมีขึ้นในตนไว้ไม่ให้เสื่อมสูญไป อุปมาเหมือนปิดกั้นสระใหญ่ไม่ให้น้ำไหลออกจากสระนั้น พอฝนตกมามันก็จะเก็บน้ำไว้ให้เต็มเปี่ยม ผู้สร้างคุณงามความดีคือสร้างกุศลทั้งปวงนั้น เรียกว่าสะสมคุณงามความดี มีน้อยก็เก็บไว้ มีมากก็เก็บไว้ เหมือนฝนที่ตกลงมา ไม่ว่าห่าใหญ่ห่าน้อย ตกลงมากแล้วไม่รั่วไหลไปไหน มีแต่จะมากขึ้น
การที่จะรักษาคุณงามความดีของตนไว้ได้ จะต้องเห็นคุณค่าของคุณงามความดีที่เราสร้างนั้นก่อน เห็นเป็นของมีค่ามีประโยชน์ยิ่ง เมื่อได้มาแล้วก็ยินดีพอใจในการที่ได้กุศลนั้น เช่น เรายังไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ไม่เคยทำบุญทำทาน และไม่เคยรู้จักรสชาติของสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อเราเข้าวัดจิตใจเบิกบาน แช่มชื่นปลอดโปร่ง เพราะได้เห็นได้ฟังแต่สิ่งที่ดีที่งาม วัดเป็นที่บำเพ็ญกุศล เป ็นที่อบรมจิตใจ เป็นที่ระงับดับเสียซึ่งความเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นสถานที่ที่สงบ เมื่อเข้าไปถึงวัดเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้ เราก็พยายามที่จะรักษาคุณงามความดีไว้ คือหมั่นเข้าวัด บางคนถึงจะไม่หมั่นก็ช่างเถิด แต่พอได้รับความเดือดร้อน จนใจเป็นทุกข์ จะต้องดิ่งเข้าวัด พอก้าวย่างเข้าไปในเขตวัดเท่านั้น ยังไม่ทันทำอะไรเลย จิตใจจะสงบเยือกเย็น ถ้าได้ไปคบค้าสมาคมกับพระสงฆ์ผู้มีศีลมีธรรมคุณงามความดีของท่านเหนือจากเรา เราเห็นแล้วก็อดที่จะละอายความชั่วของเราไม่ได้ หรือหากเข้าไปหาท่านผู้รู้ผู้ฉลาดครูบาอาจารย์ผู้มีความสามารถ ท่านแนะนำให้เราเข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเดือดร้อนกังวลทั้งหลายจะหายไปอย่างเด็ดขาด ถ้าเห็นคุณค่าประโยชน์เช่นนี้ เรียกว่าคุณงามความดีได้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว
เมื่อเราทำกุศลแล้ว เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ พอใจ ยินดีปีติ เราจะรักษาคุณงามความดี คือรักษาวัตรปฏิปทาของการทำดีนั้น เช่น เช้าตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตร หรือก่อนจะหลับจะนอนก็ไหว้พระสวดมนต์ ตื่นขึ้นกลางคืนดึกดื่นสงบสงัดก็ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา พิจารณาสังขารร่างกายหรือจวนจะสว่างก่อนไปทำการทำงานไหว้พระสวดมนต์ ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา จิตใจของเราก็มีความสงบ ได้รับความเยือกเย็น หากผู้ใดทำจนเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้แล้วผู้นั้นจะต้องรักษากิจวัตรอันนั้นไว้ประจำในใจของตนเรียกว่า “ อนุรักขนา ” เพียรพยายามรักษาความดีไม่ได้เสื่อม เหตุนั้นท่านจึงสอนให้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักผิด รู้จักถูก ให้มันหายจากโมหะคือความหลง อวิชชาคือความไม่รู้ และเห็นความจริงขึ้นมาว่า ดีเป็นของดีจริง ชั่วเป็นของชั่วจริง ที่ชั่วก็ละเสีย ที่ดีก็รักษาไว้จริง ๆ
ธรรมดาทุกคนไม่ว่าใครถ้าไม่เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่เห็นคุณค่าประโยชน์ในสมบัติที่ตนได้ เหมือนไก่เห็นพลอยเหมือนลิงได้แก้ว ไก่เห็นพลอยมันจะมีประโยชน์อะไรแก่ไก่ เพราะนำไปใช้อะไรไม่ได้ ไม่รู้จักคุณค่าของพลอยนั้น ลิงเห็นแก้วก็เหมือนกัน ลิงจะไปประดับที่ตัวมันตรงไหนกัน ก็ไม่มีคุณค่าประโยชน์อะไร คนเราถ้าหากมีของดีคือบุญกุศลคุณงามความดีที่เราบำเพ็ญอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว ก็ไม่รู้จักจะรักษา เมื่อไม่รู้จักจะรักษาก็หายไปเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย เปรียบเหมือนเราทำสวนหรือไร่นา เมื่อถากถางและขุดไถให้เรียบร้อยแล้วจึงปลูกพืชลงไปนั้น แล้วจำเป็นจะต้องรักษาโดยทำรั้วกั้น ป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปกินไปเหยียบย่ำจึงจะได้รับผล มิใช่ว่าปลูกแล้วทอดทิ้ง ถ้าปลูกแล้วทอดทิ้งไม่มีหวังได้กินเลย เราสร้างคุณงามความดีมาแต่ไหนแต่ไรก็เพราะต้องการคุณงามความดีบุญกุศลเวลาได้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วกลับไม่รู้จักของดีนั้น ทิ้งขว้างไม่รู้จักของมีค่า จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่อย่าให้เสื่อมหายไป
คนที่ทำทานแล้วทอดทิ้งปล่อยวาง โดยคิดว่าตนทำทาน แล้วก็แล้วไปหมดเรื่อง แบบนี้ก็ได้ผลอยู่แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากหมั่นพิจารณาถึงการทำทาน การสละจาคะของตน ฝึกคิดจนเป็นอนุสสติ เรียกว่า จาคานุสสติเห็นประโยชน์ในการทำทาน การสละนั้นจริง ๆ แล้ว จะได้ประโยชน์มากมาย จิตใจจะเบิกบานอิ่มเอิบปลื้มปีติอยู่ตลอดเวลา จะมากน้อยเท่าใดเห็นได้ที่ใจของตน แม้กาลเวลาล่วงไปแล้วเมื่อมาระลึกถึงเรื่องเหล่านั้น จิตใจก็จะแช่มชื่นยินดีด้วยการทานนี่ก็เป็น “ อนุรักขนา ” เหมือนกัน เมื่อผู้รับได้ประโยชน์จากทานนั้น เราจึงจะได้รับสุข เป็นอานิสงส์จากไทยทานของตน เช่นให้ข้าว น้ำ หรืออาหารไป จากทานนั้นเขาก็จะได้มีชีวิตยืนยาวสืบไป มีสุขภาพดี หรือเรามีผ้าผ่อน ผ้านุ่งผ้าห่ม ให้ทานเขาไป เขาจะได้หุ้มห่อร่างกาย ปกปิดไม่ให้เกิดความละอายเพื่อกันแดดกันฝน กันร้อนกันหนาว เราเห็นคุณประโยชน์เพียงแค่นี้ก็จะเกิดปลื้มปีติขึ้นในใจว่าเราได้ช่วยคนมีทุกข์ให้พ้นทุกข์ได้ชั่วระยะหนึ่ง เราให้ทานความสุขแก่คนอื่นให้ทานชีวิตแก่เขา
เมื่อเราได้ทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น มากน้อยก็ตาม มีเท่าไรเราสะสมไว้ ของเล็กของน้อยนาน ๆ เข้ามันค่อยเพิ่มขึ้น ผู้พิจารณาเห็นประโยชน์แล้วรักษาจริยาวัตรคือประพฤติคุณงามความดีนั้นไว้ให้ติดต่อสืบเนื่องกันไปเรียกว่า “ อนุรักขนาปธาน ” ถ้าหากว่านำเอาคุณความดีที่ตนได้ปฏิบัติมาพิจารณากำหนดสติ ก็จะได้ความปีติอิ่มใจ จิตสงบเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
บุญกุศลจากการทำทานนั้น ก่อนหน้าที่จะลงมือทำทานได้เกิดคิดนึกที่จะทำทานก่อน จึงแสวงหาปัจจัยไทยทานต่าง ๆ เวลานั้นก็เกิดความปลื้มปีติแล้วจึงเป็นบุญมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ทำทานอยู่นั้นถ้าทำแก่ผู้มีศีล เช่น ภิกษุ สามเณร เป็นต้น จิตใจเบิกบานอิ่มอยู่ตลอดเวลาก็เป็นบุญเป็นกุศล หลังจากนั้นเสร็จธุระแล้ว ก็ยังมีความอิ่มเอิบเบิกบานในการที่ได้ทำทานอยู่อีก เป็นการได้กุศลทั้ง ๓ สมัยอย่างเต็มที่ คือ ก่อนทำทาน ขณะทำ และหลังจากได้ทำแล้ว ทำมากหรือน้อยก็อิ่มอกอิ่มใจ ทำน้อยกลับกลายได้ผลมากกว่าคนที่ทำบุญมาก ๆ แล้วไม่รักษา ไม่ได้พยายามรักษา
คนที่เคยสร้างความดีนั้นรู้สึกเป็นของง่ายแต่แท้ที่จริงไม่ใช่ของง่าย คนที่ไม่เคยสร้างความดียิ่งมองไม่เห็น แม้คนที่เคยสร้างความดีแล้วก็ตาม ถ้าไม่รักษาไว้ให้ดี เมื่อสูญเสียไปแล้วจะทำใหม่ก็ไม่ใช่ของง่าย เช่น คนดื่มสุราพยายามละสุรา พยายามยากแสนยาก ร้อยทั้งร้อยเกือบจะไม่ได้ หากว่าละได้แล้ว ถ้าไม่ตามระวังรักษาความดีนั้นไว้ ไปคบค้าสมาคมกับเพื่อนนักดื่มกลับติดสุราอีก ทีนี้ยิ่งร้ายกว่าเก่า หากคบค้าเพื่อนฝูงอันธพาลยิ่งไปใหญ่โต
ความดีนั้นเป็นของสร้างได้ยาก ความชั่วสร้างได้ง่ายที่สุด ทำเมื่อไรก็ได้ ความชั่วนั้นมีผลให้ได้รับความทุกข์ ผลของความดีเท่านั้นนำให้เกิดความสุข คนไม่ต้องการทุกข์ต้องการความสุข แต่ไม่อยากสร้างความดี คนเราเป็นอย่างนี้ อยากได้แต่ผล ต้นเหตุไม่สร้าง ถ้าหากรู้จักว่า ผลของความสุขเกิดจากเหตุที่สร้างความดี เราก็มาสร้างความดีผลคือความสุขมันเกิดขึ้นเอง เราอยากได้แต่ความสุข แต่เราไม่สร้างความดีให้เกิด ไปกินเหล้าเมาสุรา เกกมะเหรกใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณ ขี้เกียจขี้คร้าน แล้วจะได้ความสุขมาจากไหน เรารู้จักแต่ “ อบายมุข ” ที่แปลว่า ทางเสื่อม ทางให้ถึงความฉิบหาย ให้ถึงความล่มจม ให้ถึงความชั่วนั่นเอง มันเป็นของน่ากลัว แต่เราพากันทำชั่วทั้งหมดโดยไม่รู้จักกลัวกัน กลับชอบอบายมุขด้วยซ้ำ ส่วนอุบายที่ทำให้เกิดความเจริญไม่เอา แต่ว่าชอบความเจริญ
เมื่อเข้าใจตามนี้และเห็นชัดด้วยตนเอง มั่นใจด้วยตนเองด้วย ละความชั่วได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีใครบังคับเลย ความดีก็เหมือนกัน บุญกุศลก็เหมือนกัน ถ้าหากเราเห็นอำนาจอานิสงส์ของการสร้างความดีว่านำให้เกิดความสุขจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนากัมมัฏฐานทำแล้วจิตใจเบิกบานสงบเยือกเย็น เห็นประโยชน์อย่างชัดเจนด้วยตนเองแล้ว มันขยันทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ตนเห็นด้วยตนเองนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันเป็นของสบาย ไม่ต้องมีใครบังคับ แต่ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตนเองแล้วบังคับมันยากเหลือเกิน คิดดูตามภาษาคำพูดก็แล้วกัน “ บัง และ “ คับ ” นี่มันบังไว้ไม่ให้เห็น มันคับจริง ๆ มันไม่ใช่การตักเตือนว่ากล่าวแนะนำเสียแล้ว มันเป็นเรื่องบีบคั้นหัวใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้กลับเป็นทุกข์จากการบังคับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความสุขจะมาจากไหนแต่การเห็นด้วยตนเองไม่ต้องบังคับ ทำด้วยความเต็มใจแล้วจิตใจจะเบิกบาน
การรักษาศีลก็เหมือนกัน เมื่อเห็นด้วยปัญญาของตนว่าศีลเป็นของดีมีค่า ระลึกถึงศีลแล้วจิตใจจะเบิกบานเปรียบเหมือนเวลาที่หิว จะนึกถึงอาหารที่เคยรับประทานเคยชอบ พอนึกแล้วจิตใจมันเบิกบาน นำลายมันฟูออกมาแล้ว รสชาติมันเอร็ดอร่อยขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราเข้าใจหลักในการสร้างคุณงามความดีให้มันเจริญให้มีขึ้นมา ถ้าสิ่งที่ตนต้องการและปรารถนามากที่สุดคือความดีและผลคือความสุขแล้วก็ต้องมีอนุรักขนาปธาน การรักษาคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วในตนของตน เพียรให้เกิดมีอยู่เสมอ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
เวลามีชีวิตอยู่ เราพึ่งอะไร เวลาตายไปเราจะพึ่งอะไร เวลาตายไปโลกหน้าไม่มีการทำไร่ ทำนา หรือว่าทำไร่ ทำสวน ซื้อถูก ขายแพง แต่อาศัยคุณงามความดีที่สร้างไว้ เป็นอาหารทิพย์ เป็นเครื่องเสวย นั่นแหละให้เราสร้างเอาไว้ นั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง และเป็นคู่พึ่งเป็นพึ่งตนหนึ่งพึ่งไปตลอดจนถึงอวสาน ได้ถึงนิพพาน ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา เป็นผู้พึ่งตัวเองได้โดยสมบูรณ์
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ทาน คือเครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยการให้ การเสียสละแบ่งปัน มากน้อยตามกำลังวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากกุศล คือความดีที่ได้จากทานนั้น
ศีล คือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยม ที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไป… แม้โลกเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์ แต่ควา
มรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์ ถ้ามัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม
ภาวนา… วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยมีสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นคำบริกรรมเพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา
จุดที่ยอดเยี่ยมของโลกคือ ใจ การบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นตน ถึงใจแล้วคือถึงนิพพาน
โอวาทธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.