Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

วัตถุภายนอก

จันทร์ 16 ธ.ค. 2019 5:19 am

#บันทึกธรรม
#หลวงปู่​ประเสริฐ​ สิริ​คุต​ฺ​โต​
หนึ่งวันที่​ 24​ ชั่วโมง​ ถ้าปล่อยเวลาไปเปล่า​ ๆ​ กิเลสก็จะมีเวลาเต็มที่​ 24​ ชั่วโมง​ การปฏิบัติ​สู้กับกิเลสก็เหมือนขึ้นเวทีชกมวย​ หากอ่อนซ้อมก็แพ้เขา​ เพราะซ้อมมาน้อย​ หากวันหนึ่งมี 24​ ชั่วโมง​ เราต้องซ้อมมากกว่า​ 12​ ชั่วโมง​ จึงอาจจะมีสิทธิ์​ที่จะชนะ​ เพราะชั่วโมงซ้อมสูง​ ๆ​ การปฏิบัติ​ไม่ใช่จะนั่งวันละ​ 12​ ชั่วโมงเต็มเปรี๊ยะอย่างนั้น​ ปฏิบัติภาวนาให้ได้ทุกอาการ​ กิน​ เดิน​ นั่ง​ นอน​ ทำงาน​ เล่น​ ท่องตำหรับตำรา​ หรือแม้แต่เย็บปักถักร้อย หรือสานตะกร้า ทำให้มีสติ​อย่างงี้ ให้อยู่ในคำบริกรรม​ พุท​ - โธ​ อย่างนี้​อย่าให้หยุด​ อย่าประมาทของหยาบ​ จิตหยาบต้องใช้ของหยาบปราบ ฝึกอย่างหยาบ​ ๆ​ นี้แล้วจิตมันจะละเอียดเองโดยอัติโนมัติ​ อย่าหวรคิดอะไร ให้วันหนึ่งจิตผูกคำบริกรรมนาน​ให้มากกว่าเวลาของกิเลส​ หมั่นขยันทำอย่าหยุด​ สักพักจะเข้าใจว่าอะไร​ เป็นอะไร​ คือหากชั่วโมงซ้อมสูง​ กำลังจิตก็จะแข็งพอสู้กับอะไร​ ๆ​ ได้​ แล้วจะไม่เสียใจที่มาปฏิบัติเลย​ และอย่ารอช้า​ คิดได้ให้รีบทำเลย​ ถ้าปล่อยเลยนานไม่เร่ง​ ระเบิดจะตายด้าน​ เหมือนบวชนานไม่ปฎิบัติภาวนา​ นานไปหลายพรรษาระเบิดตายด้าน​ บวชทำไปไม่ได้อะไรเลย​ เพราะรู้เยอะ​ สัญญาเยอะ​ วิตกวิจารย์เยอะ นี้แหละเค้าเรียกว่าระเบิดตายด้าน​ ทำไปไม่รู้จักแม้จิตรวมเป็นยังไง​ รสแห่งธรรมเป็นยังไง​ เวรกรรมเป็นยังไง​ มีแต่ปล่อยเป็นเวลาทำงานของกิเลส​ ปล่อยไปตามเวรตามกรรมของกิเลส​ ไม่นานก็หลุดออกไปอยู่อย่างโลก​ ๆ​ .

โอวาทธรรมหลวงปู่ประเสริฐ สิริคุตโต
บันทึกคติธรรมโดย
อนิรุทธะปัญญา









บวชมาเป็นพระต้องรู้จักประมาณตน รู้จักคำว่า สละ คำว่า พอดี คำว่า พอประมาณ คำว่าผู้กำจัดแล้วซึ่งกิเลสและความบาป คำเหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อการประพฤติปฏิบัติ แต่ทุกวันนี้ พระกรรมฐานเรา บวชมาแล้ววุ่นวายอยู่แต่กับการก่อสร้าง แล้วเวลามาเจอกันตามงานก็มาพูดอวดกัน ตอนนี้วัดกระผมกำลังสร้างศาลา 10ล้าน วัดกระผมกำลังสร้างเจดีย์ 20ล้าน 100ล้าน วัดกระผมกำลังสร้างวิหาร มีแต่เอาวัตถุ เอาของภายนอกมาอวดมาอ้างกัน แทนที่จะว่า วัดกระผมปลูกป่า รักษาป่า ให้พระอยู่ภาวนาด้วยความสงบ รักษาศีล รักษาใจ ถือข้อวัตรปฏิบัติตามแบบครูบาอาจารย์ก็ไม่พากันเอามาพูด เอาแต่การก่อสร้างความวุ่นวาย ของภายนอกมาพูดกัน สมัยก่อนครูบาอาจารย์ท่านจะสร้างอะไร ท่านพิจารณาดูแล้วดูอีก อย่างท่านหลวงตามหาบัว ศาลาท่านหลังเดี่ยว ท่านก็อยู่ได้แล้ว สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านได้พาสร้างอะไรมั๊ย ปฏิปทาท่านเป็นอย่างไง วัดป่าอุดมสมพรหลวงปู่ฝั้น ก็เหมือนกัน ท่านอาจารย์หลวงปู่แปลง ท่านรักษาข้อวัตรปฏิปทาได้ ท่านทำเป็นตัวอย่างแล้ว ท่านไม่ได้ก่อสร้างอะไรที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น ท่านประมาณตนตลอด ความขยันนี้ท่านก็เป็นแบบอย่างให้พระเณรในวัดได้เลย พระเณรยังขยันสู้ท่านในเรื่องการทำงานไม่ได้ การรักษาข้อวัตรก็เหมือนกัน ความเรียบง่ายก็ยกให้ท่านเลย เจตนาที่หลวงปู่เทศน์เรื่องนี้คือไม่อยากให้พระสงฆ์เรารบกวนญาติโยมมาก การขอเรี่ยไรไม่ได้มีในปฏิปทาพระกรรมฐาน เพราะเงินส่วนใหญ่ที่มาก่อสร้างก็มาจากญาติโยม การก่อสร้างมันก็ถือเป็นการสืบต่อของศาสนาอย่างหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ให้สร้างพอประมาณ พระสงฆ์ต้องรู้จักประมาณตน ทุกวันนี้สิ่งที่ควรนำเงินไปทำบุญทำทานมากที่สุดคือช่วยโรงพยาบาล ญาติโยมที่ขึ้นมากราบหลวงปู่ เขาไม่สบายก็มาเล่าให้ฟังว่า เขานอนโรงพยาบาล เตียงนอนโรงพยาบาลเต็ม ต้องมานอนข้างนอกห้องหน้าระเบียงเตียงเสริม ยุงก็กัด ยุงเยอะ โรงพยาบาลในชนบทก็ลำบากเหมือนกันทั้งเครื่องไม้เครื่องมือที่ขาด พระสงฆ์เราก็อาศัยญาติโยมในการบิณฑบาต อาหารฉัน ปัจจัยในการก่อสร้างนั้นก็ควรสงเคราะห์ช่วยญาติโยมเขาจะไม่ดีกว่าหรอ ถ้าหลวงปู่มีปัจจัยหลวงปู่ก็จะเอาไปบริจาคให้โรงพยาบาลเหมือนกัน เมตตาช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ลำบากนั้น เป็นมหาบุญ มหากุศล หลวงปู่ฝั้น ท่านเมตตามากในเรื่องของโรงพยาบาล ท่านว่าวัดไม่สร้างให้ใหญ่ ให้งามได้ แต่โรงพยาบาลจะขาดแคลนเครื่องมือไม่ได้ ท่านก็เมตตาเป็นประธานสร้างโรงพยาบาลหลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั้นความเมตตาท่านในการสังเคราะห์ญาติโยม เมื่อเราบวชมาแล้วเราสละแล้วซึ่งความสะดวกสบาย ถ้าหากเอาเงินบริจาคญาติโยมที่เขาถวายมาให้ ไปมอบให้โรงพยาบาลจะเกิดประโยชน์มากมายขนาดไหน อันนี้หลวงปู่ดูแล้วพิจารณาแล้ว พระส่วนใหญ่ทั้งจับเงินเอง ถือเงินเอง ศีล10ก็รักษากันไม่ได้ เอาปัจจัยที่ญาติโยมบริจาคให้ ไปใช้กับค่าโทรศัพท์เสียมากกว่าหรือไม่ก็ไปใช้กับกิเลสความติดสบายของตน นอนก็ต้องห้องแอร์ รถก็มีประจำตัว โทรศัพท์ก็ต้องใช้ราคาแพงๆใช้ดีกว่าญาติโยเสียอีกยิ่งกว่านักธุระกิจ หาคำว่า สมณ ผู้สงบกิเลสแล้ว, ผู้ระงับบาป, ผู้สละแล้ว ไม่มีเลย พระที่ศีลไม่บริสุทธิ์ บวชมาเพื่อหาผลประโยชน์เงินทองในพระพุทธศาสนา เวลาจะตายก็ทรมานแสนสาหัส ตายไปแล้วก็เป็นเปรตอสุรกายเฝ้าตามกำแพงวัด ทำทานให้พระที่ศีลไม่บริสุทธิ์หรือพระที่กระทำผิดต่อพระธรรมวินัยก็เหมือนส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้กระทำผิดต่อไป เสมือนส่งเสริมให้เขาทำบาปต่อไป

(โอวาท ณ.ถ้ำพวง พฤษภาคม 2562 )
หลวงปู่ชนะ อุตตมลาโภ











ศาสนาภายนอกและภายใน
ท่านพระอาจารย์สอนว่า อิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นนะสร้างบุญขึ้นมาได้ เช่น เราเดินไปก็ระลึกพุทโธไป เรานั่งอยู่ก็ระลึกพุทโธ เรานอนอยู่ก็ระลึกพุทโธ พยายามทำให้มันติดต่อ ทำการทำงานก็ระลึกพุทโธอยู่ อย่างท่านฯ ไปสอนชาวบ้านนอกนะ ถึงฤดูทำไร่ เขาไปดายหญ้า สับจอบสับเสียมลงดิน ก็ให้ระลึกพุทโธ เวลาเกี่ยวข้าวก็เหมือนกันแหละ เกี่ยวกอหนึ่งก็พุทโธ เกี่ยวกอสองก็พุทโธ หมายความว่า งานที่เราทำก็ได้ บุญเราก็ได้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา ทำการงานทุกอย่าง อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเหตุไร เพราะว่าบุญเกิดทางใจ
บุญนั้นไม่ได้เกิดแต่การบริจาคทานอย่างเดียว บุญเกิดจากการรักษาศีล บุญเกิดจากการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญภาวนา เป็นบุญที่สามารถทำได้ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่าหรือเด็ก หญิงหรือชาย หรือคนเจ็บป่วยก็ตาม สามารถทำได้
คนที่มีสติปัญญา ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นบุญแล้ว ทำการทำงานก็เป็นบุญ ทุกสาขาอาชีพที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ ถ้าเราระลึกพุทโธคราวใด บุญก็เกิดขึ้นคราวนั้น ไม่ต้องหาไกล คนมีปัญญาไม่ต้องหาไกล หาอยู่ในกาย หาอยู่ในวาจา หาอยู่ในจิต
ศาสนานั้นอยู่ในธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ท่านฯ บอกว่า มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วินัย ขันธปัญญธาตุ อายตนะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในตัวเราหรอกหรือ เพราะเหตุนั้นศาสนาจึงอยู่ในตัวเรา สมบูรณ์แบบไม่บกพร่อง นอกจากเราจะเสริมสร้างให้มัน เพื่อให้เรารู้จักศาสนาในตัวของเรา นี่คือบุคคลผู้ที่เป็นพุทธแท้ ท่านบอกอย่างนั้น
ศาสนายังแบ่งออกเป็นศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ศาสนาภายนอก คือ พระสงฆ์ สามเณร วัด กุฎี วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาภายใน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในบุคคล แต่บุคคลไม่รู้ว่า อะไรคือศาสนาภายนอก ภายใน การบำรุงพระพุทธศาสนาเราจะต้องบำรุงไปพร้อมกัน ภายนอกก็บำรุง ภายในก็บำรุง ถ้าเราจะบำรุงแต่ภายนอก ทิ้งภายในเสีย เราก็ไม่รู้จักศาสนาอยู่ในตัวเราเอง
อุปมาเปรียบเหมือน ทุกคนมีสองขา ขาหนึ่งมัดติดไว้เสียไม่ใช่ หมายความว่า เราเดินได้ แต่ไม่สะดวก นั่นคือรักษาแต่ศาสนาภายนอก ศาสนาภายในไม่รักษา
เหมือนกันกับรักษาศาสนาภายใน ภายนอกไม่รักษา ก็เปรียบเหมือนมีสองขา แต่ใช้ขาเดียว
เพราะฉะนั้นการบำรุงศาสนา จึงต้องบำรุงไปพร้อมกัน ทั้งศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจึงว่า ทำอะไรให้มีสติปัญญา

ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ที่มา:จากหนังสือ "รำลึกวันวาน"





" ถ้าเราเข้าถึงพระพุทธเจ้าได้องค์เดียวแล้ว พระองค์อื่นๆ เราก็ถึงได้หมด
เพราะทุกองค์ ท่านก็ขึ้นตรงกับพระพุทธเจ้าองค์เดียวเหมือนกัน มีจุดหมายที่เดียวกัน.."

โอวาท:หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี






" ในเมื่อรู้ว่า...
ต้องตายแน่ และสิ่งที่จะตามไปได้
ไม่ใช่ ทรัพย์สิน หรือยศอำนาจ
แต่...เป็นบุญบารมี ต่างหาก
หมั่นสร้างตรงนี้ไว้ ดีกว่า
ทุกวันนี้ ก็ทำเพื่ออนาคต ของครอบครัว
แต่...ส่วนใหญ่
มองอนาคต เพียงชาตินี้(ชาติเดียว)
อย่าลืมว่า...
ตายแล้ว(จิตใจ) ไม่สูญ
ก็อย่าลืมหาความดี เติมเข้าไปในจิตใจ
เผื่อชาติหน้า...ต่อไปด้วย."

(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง)







"จะภาวนาบทใด พิจารณาข้อไหน อย่างไร มันแล้วแต่อุปนิสัย วาสนา บารมีของตนบำเพ็ญมาแล้วในอดีตกาล แล้วมาปัจจุบันกาล เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เราเจริญสมาธิภาวนา บทนั้น สิ่งนั้น ข้อนั้นแล้วจิตใจของเราซาบซึ้งตรึงใจ ก็ให้จับอุบายนั้นมาภาวนา"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร







เมื่อจิตก้าวเข้าถึงขั้น "ว่าง" ย่อมรู้ชัดว่า ความกลัวเกิดขึ้นจาก "สังขาร" ผู้ปรุงเป็นสัตว์ เป็นเสือ เป็นเปรต เป็นผีต่างๆ ขึ้นหลอกหลอนตนให้กลัว แล้วก้เชื่อสังขารจอมหลอกหลอนจนหาที่ปลงที่วางไม่ได้ จิตที่ว่างย่อมไม่กลัว เพราะรู้สาเหตุและ...รากฐานทีทำให้เกิดความกลัวประจักษ์แล้ว ได้แก่ สังขาร ความคิดปรุง ซึ่งเกิด และดับ อยู่ในใจโดยเฉพาะ ไม่ถึงกับเป็น นโนภาพ ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่น่ากล้า หรือน่ากลัว ขึ้นมาหลอกหลอนตน
คำว่า "จิตว่าง" หมายถึง ว่างจากรูปภาพภายนอก ที่เคยปรุงเป็นคู่กับใจอยู่เสมอ เช่น รัก ชอบ หรือ โกรธเคืองให้ผู้ใด ใจย่อมคิดปรุงเรื่อง และภาพของคนน้ันอยู่เสมอ เป็นต้น เรียกว่า "ภาพภายนอก"
ส่วน "จิตว่าง ทั้่งภายนอก ทั้งภายใน" แม้ตัวจิตเองก็ไม่ยึดไม่ถือ ทั้งว่าง ทั้งปล่อยวาง โดยประการทั้งปวงนี้ คือ จิตหมดอุปาทานทั้งภายนอกและภายใน ถ้าเป็นพระหรือใครก็ตามบรรลุถึงธรรมขั้นนี้ ในคร้ังพุทธกาลเรียกว่า "บรรลุพระอรหัตตผล" เป็นพระอริยบุคคลขั้น " อเสขะ" ไม่ต้องศึกษาเพื่อละเพื่อถอนกิเลสใดๆ อีกต่อไป

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ตอบกระทู้