นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 3:17 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: มีสติอยู่เสมอ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 20 ธ.ค. 2019 5:56 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4805
” อันว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ และเทวดา ได้ถูกไฟ 11 กองเผาอยู่เสมอ เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์นานาประการ 11 กอง คือ

ราคะ ความกำหนดชอบใจ อยากได้กามคุณ 5 มี รูป เป็นต้น

ไฟโทสะ คือความโกรธ มีความไม่พอใจเป็นลักษณะ

ไฟโมหะ ได้แก่ความลุ่มหลงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ลังเล ใจฟุ้งซ่าน ไปตามอารมณ์

ชาติ คือ ไฟแห่งความเกิดอันเป็นทุกข์

ชรา คือ ไฟแห่งความแก่อันเป็นทุกข์

มรณะ คือ ไฟแห่งความตาย อันเป็นทุกข์

โสกะ คือ ไฟแห่งความเศร้าโศก

ปริเทวะ คือ ไฟบ่นเพ้อร่ำไรรำพัน

ทุกขัง คือ ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ

โทมนัส คือ ไฟแห่งความเสียใจ

อุปายโส คือ ไฟแห่งความคับแค้นใจ

ไฟทั้ง 11กองนี้แหละเผาลนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ต้องพากันงมงาย เวียนว่ายตายเกิด ได้รับทุกข์ต่างๆ”

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ.
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่








“อสุภกรรมฐาน”..
.. เวลาที่เห็นศพท่านก็คิดว่า “เราก็มีสภาพแบบนี้” ให้เห็นตัวเราเป็นศพไปด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นศพคนอื่นแล้ว ก็นึกว่าตัวเราไม่เป็นศพ คิดเปรียบเทียบกันว่า เราถ้าสิ้นลมปราณแล้วก็มีสภาพแบบนี้เหมือนกัน
หรือว่าถ้าเราไปเห็นศพที่ทรุดโทรมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งน่ารัก อสุภต้องคิดว่าน่าเกลียดนะ ถ้าขืนไปน่ารักเข้าละซวยนะ ทีนี้เราก็คิดเทียบกับตัวเรา ตัวเราน่ะ เดินอย่างนี้ไม่กี่วันละไม่ช้าก็เป็นแบบนี้
ถึงที่สุดก็เหลือแต่กระดูก กระดูกเรี่ยรายไป นี่พูดให้ฟังกันย่อๆ ไม่ต้องไปไล่ตามแบบ ให้ใช้อารมณ์ใจเข้าไปคิดว่า “ร่างกายของคนก็คือผีธรรมดาเรานี่เอง” ผีตายเพราะว่าคนที่ตายที่เขาเน่าเหม็นก็มีสภาพเช่นเดียวกับเรา
เวลานี้พอสิ้นลมหายใจเข้าออก ก็มีสภาพแบบนี้ แล้วก็เราล่ะ เรานี่มีอะไรดีไปกว่าเขาบ้าง เกิดมาเขามีธาตุ ๔ เหมือนเรา มีอาการ ๓๒ เหมือนเรา ทำกิจการงานได้ทุกอย่างเหมือนเรา เวลานี้เขาตายไปแล้ว เขาสิ้นลมปราณ
ร่างกายไม่ทรงอยู่ในสภาพเดิม มีอาการเหม็นเน่า อืดพองขึ้นมา สิ่งทั้งหลายที่ปกปิดไว้ในสมัยที่มีลมปราณยังทรงอยู่ หรือว่าในขณะใดที่มีลมหายใจเข้าออก อวัยวะต่างๆ มันปกปิดเข้าไว้ พอลมหายใจไม่มี จิตไม่มีการบังคับได้ จิตเคลื่อนไปจากกาย
ร่างกายก็ปล่อยเป็นปกติ ทวารทั้งหมดมันก็เปิด “สิ่งที่เสียต่างๆ ก็หลั่งไหลออกมา” เมื่อธาตุไฟหมดไป ธาตุลมหมดไป เหลือแต่ธาตุน้ำกับธาตุดิน ไอ้เจ้าธาตุดินนี้ทนน้ำไม่ไหว น้ำก็ละลายตัว ดินก็ละลายน้ำออกมา กลายเป็นร่างกายเน่าเฟะไปหมด ส่งกลิ่นเหม็น
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้วก็มานั่งนึกถึงตัวเรา แล้วก็คิดถึงตัวเขา “ไอ้สิ่งเน่าเหม็นเหล่านี้ สิ่งสกปรกเหล่านี้ ปกติมันอยู่ที่ไหน” มันมาถึงบุคคลผู้นั้นเมื่อเขาตายไปแล้ว หรือว่ามันมาก่อน มันมาก่อนตาย
นั่งนึกกันเอาว่า น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ความเหม็นทั้งหมด สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวเหล่านี้ มันปรากฏกับบุคคลเหล่านี้เมื่อเขาตายไปแล้ว หรือว่ามันอยู่ก่อนตาย เราก็ใช้ปัญญาพิจารณานิดเดียว
เราก็รู้ว่าความจริงไม่ได้มาจากไหน “มันขังอยู่ในร่างกายเรานี่เอง” ขังอยู่ในร่างกายเขานี่เอง เมื่อขังอยู่ในร่างกายเขาฉันใด ร่างกายเราเองก็จะมีสภาพอย่างนั้น ในเมื่อเราเห็นว่าร่างกายมีสภาพเต็มไปด้วยความสกปรกแล้ว เราจะคิดรักร่างกายเราอยู่อีกหรือ เราจะเห็นว่าร่างกายของเราจุดไหนมันเป็นส่วนสะอาด
นี่พระพุทธเจ้าให้คิดแบบนี้นะ “ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา หาความชั่วของร่างกาย” ว่านี่ถ้าสิ้นลมปราณอย่างเดียวสิ่งสกปรกทั้งหลาย มันหลั่งไหลออกมา แล้วก็เราเองเวลานี้ยังมีลมปราณ กำลังของจักรกลทั้งหลายในร่างกายยังมีเครื่องบังคับ ไอ้สิ่งสกปรกทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่ปรากฏ แต่ความจริงมันมีอยู่แล้ว
ฉะนั้นจึงคิดว่า ที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราเห็นว่า “ร่างกายเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นอสุภกรรมฐาน” หาความสะอาดไม่ได้ เป็นสิ่งโสโครกนี่เป็นความจริง ไอ้การพิจารณาเห็นว่าเป็นความจริงนี่ต้องเป็น “เอกัคคตารมณ์” นะ คือ “มีอารมณ์เป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา”
เมื่อเห็นซากศพเป็นของน่าเกลียดฉันใด นึกถึงร่างกายของเราขึ้นมาเมื่อไร ก็คิดว่า “ร่างกายของเรานี่ไม่ช้ามันก็เน่าแบบนั้น” ไม่น่าคบ ถ้าเราจะเกิดมาเอาร่างกายแบบนี้อีก “เราก็โง่เต็มที” ทั้งนี้เพราะร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก
ในเมื่อร่างกายของเราสกปรกเสียอย่างเดียว แล้วร่างกายใครในโลกจะสะอาดบ้าง ให้เห็นตัวเสียก่อน “ถ้าเราเห็นตัวของเราแล้ว คนอื่นไม่สำคัญ” โดยมากเรามักจะเห็นว่าคนอื่นเขาสกปรก แต่มองไม่เห็นความสกปรกของเรา
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เมื่อเห็นว่าร่างกายนี่เป็นสิ่งสกปรก เป็นสิ่งโสโครก ไม่น่าเอามือเข้าไปแตะ แม้แต่เท้าก็ไม่น่าจะเข้าไปแตะ เพราะมันสกปรกมาก ข้อนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็สอนต่อไปว่า เมื่อเธอพิจารณากายแบบนี้แล้ว
จงคิดต่อไปว่า “เราเป็นเพียงสักแต่ผู้เห็น” สักแต่เพียงคิดว่า “นี่ร่างกายมันเป็นเราอยู่ชั่วขณะเดียว” แล้วก็คิดต่อไปว่า ต่อแต่นี้ไป “เราจะไม่ยอมคิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา” ทั้งนี้เพราะเรารังเกียจร่างกายที่มันเต็มไปด้วยความสกปรก
ที่เราเกิดมามั่วสุมอยู่กับความสกปรกของร่างกายก็เพราะเราโง่ คือ “มีกิเลสเป็นปัจจัย ตัณหาเป็นปัจจัย” ต่อไปเบื้องหน้าขึ้นชื่อว่า ร่างกายที่มีความสกปรกอย่างนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก ไอ้จิตที่จะคิดได้อย่างนี้ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาไปนะ อย่าไปทำวันเดียวให้ได้เลย เดี๋ยวจะดีกว่าพระพุทธเจ้า ค่อยๆ คิด ..
.
จาก..รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑ หน้า ๘๑-๘๒ โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี







ในทางปฏิบัติที่ว่า
ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจ
นี้ก็คือ ให้มีสติกำกับใจ ให้เป็นสติถาวร
ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆหลอดไฟที่จวนจะขาด
เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง
แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา
เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว
ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา "
ตัวรู้ก็คือ " สติ " นั่นเอง
หรือจะเรียกว่า " พุทโธ " ก็ได้
พุทโธที่ว่า รู้ตื่น เบิกบาน
ก็คือตัวสตินั่นแหละ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล








#มูลมรดกของบิดามารดา
"มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิต
ต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณ
มิได้มรดกที่ท่านทำให้ กล่าวคือ
รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม
ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของ
ภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง.."
"ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้
ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัว
ของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของ
มารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่าน
จะนับจะประมาณมิได้เลย.."

#พระอาจารย์มั่น_ภูริทัตโต
[วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร]​






"เกิดมาทำไมให้ต้องวนเวียน
เกิดแล้วตายไม่สิ้นสุด จะเอาอีกหรือ?
เราชาวพุทธให้เร่งเจริญอริยมรรค ๔ อริยผล ๔
ศาสนาอยู่ที่ขันธ์ ๕ มิใช่อยู่ที่อื่นเลย"

หลวงปู่บุดดา ถาวโร








...รักก็ทุกข์แบบหนึ่ง
ชังก็ทุกข์แบบหนึ่ง
รักก็ทุกข์ตอนที่เขาจากเราไป
ชังก็ทุกข์ตอนที่เขามาหาเรา
...แต่ถ้าเฉยๆ ไม่รักไม่ชัง
ก็สบาย..เขามาหาเราก็ไม่ทุกข์
เขาไปเราก็ไม่ทุกข์.
...................................
ธรรมะโดนใจเล่ม3 หน้า140
สนทนาธรรมะบนเขา 29/1/25858
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









เรื่อง “อย่าหลงความสุข”
…. ความสุขเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุก็ดี ปัจจัยเป็นสุขของโลกก็ดี เราต้องคิดไว้เสมอว่า “นี่มันหลอกเรา” นี่มีสติคุมเข้าไว้ และมีธัมมวิจยะควบคุมใคร่ครวญ “ถ้าอารมณ์มันหลงความสุข” ก็ต้องใช้วิริยะเข้าโต้ เอาความเพียรเข้าโต้ เอาธัมมวิจยะเป็นเพื่อน ธัมมวิจยะนี่บอกไอ้ตัวสุขระยำตัวนี้มันเป็น “ปัจจัยของความทุกข์” นี่เราจะทำลายความสุขที่เป็นกามารมณ์ เราอาศัยอะไร? เราย่องเข้าไปดูมันสิ นวสี ๙ ใช่ไหม? จะเป็นวัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ดูนวสี ๙ ถ้าตายแล้วพังแล้วเมื่อไหร่ มีอะไรจะเป็นประโยชน์กับเราบ้าง ในเมื่อเราตายแล้ว และเมื่อวัตถุทั้งหลายพังแล้ว จะมีอะไรเป็นประโยชน์ หาประโยชน์ไม่ได้ ทีนี้ “ไอ้ตัวสุขจริงๆ มันไม่มี” มันเป็นตัวหลอกลวง เป็นตัวทุกข์ ..
.
จาก..รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑ หน้า ๒๒๓ โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี








ไปวัด พากันไปทำบุญ
วางกาย วางใจให้มันดี
ขั้นวางกาย วางใจเฮาดีแล้ว
ไปถวาย น้ำขวดเดียวมันก็เป็นบุญ เป็นของเลิศแล้ว
ขั้นไปวัดทำบุญไปแล้วยังไปหาว่าให้ผู้นั้น ให้ผู้นี่ อยู่
แล้วบุญมันสิเหลืออยู่ทอได ให้คิดเอา ลูกหลาน

โอวาทธรรมหลวงปู่คำมา ธมฺมราโม
วัดบุญญานุสรณ์ จังหวัดนครสวรรค์









ปัญญาชั้นหยาบก็พิจารณาสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ มีรูปกายเป็นต้น ปัญญาขั้นกลางขั้นละเอียด ลงไปก็พิจารณานามขันธ์ พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ยังไงก็ตามต้องพิจารณาสัมผัสสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปในขณะเดียวกันนั้น แหละ เมื่อถึงขั้นที่มีเฉพาะนามขันธ์ คือ พวกเวทนาภายในจิต สัญญา สังขาร วิญญาณ มันหากรู้ของมันไปเอง จนกระทั่งรู้รอบขอบชิดเช่นเดียวกับรู้เรื่องส่วนร่างกายนี้ แล้วอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น
ในขันธ์ทั้งสี่นี้จะมีได้อย่างไร เพราะปัญญาตีแตกระจายไปหมดแล้ว คำว่าสัตว์ว่าบุคคล ว่าเราว่าเขา ว่าของเราของเขา ถูกปัญญาทำลายไปหมดแล้ว ก็มีสักแต่ว่าเป็นความจริงๆ แต่ละอย่าง รูปก็สักแต่ว่าเป็นความจริง เวทนาก็สักแต่วาเป็นความจริง สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ สักแต่ว่าเป็นความจริงประจำตนอยู่เท่านั้น เมื่อความสำคัญมั่นหมายที่จะให้ยึดให้ถือ ถูกปัญญาทำลายแตกกระจายไปหมดแล้ว จะสำคัญอะไรก็ไม่มีอะไรจะสำคัญนี่
ในการพิจารณา พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ หลายคร้ังหลายหนหลายตลบทบทวนจนเป็นที่เข้าใจที่แน่ใจแล้วย่อมปล่อยวางเอง เราจะไปบังคับให้ปล่อยให้วางนี้เป็นไปไม่ได้เมื่อไม่พอ เช่นเดียวกับเรารับประทานอาหารเมื่อไม่ถึงกาลจะควรอิ่มก็ไม่อิ่ม รับประทานช้อนหนึ่งสองช้อนจะให้อิ่มเป็นไปไม่ได้ ต้องรับประทานเรื่อยๆ ไป เมื่อถึงขั้นอิ่มแล้ว หยุดเอง พอเอง นี่การพิจารณาก็เหมือนกัน เม่ื่อถึงขั้นรู้รอบขอบชิดแล้ว ปล่อยวางเอง ทั้งอุปาทานในรูปขันธ์ ทั้งอุปาทานในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ เข้าไปโดยลำดับ จนกระทั่งแทงทะลุเข้าไปถึงจิต อันเป็นวัฎจักรวัฎจิตโดยแท้น้ันด้วยปัญญา จนขาดกระเด็นไปหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว นั่นละทีนี่ หมดปัญหาในเรื่องการสู้รบฟันหั่นแหลกกับกิเลส ไปยุติกันที่ตรงน้ัน ทีนี้คำว่าอยากไปนิพพานๆ ก็หมดความอยากที่ตรงนั้น
ความอยากไปนิพพานน้ันเป็นมรรค ไม่ใช่ตัณหา อยากพ้นทุกข์เป็นมรรค ไม่ใช่ตัณหา ความอยากมีสองประเภท อยากเป็นโลก อยากเป็นธรรม อยากเป็นตัณหาอยากเป็นตัณหา อยากเป็นธรรมอยากเป็นมรรค ทีนี้ความอยากหลุดพ้นจากทุกข์ ความอยากไปนิพพาน สร้างกำลังทางด้านอรรถด้านธรรมให้มากขึ้นภายในตนเอง ความอุตส่าห์ก็เป็นมรรค ความเพียรก็เป็นมรรค ความอดความทนเป็นมรรค ความบึกบึนทุกแง่ทุกมุมเพื่อความพ้นทุกข์เป็นมรรคทั้งมวล เมื่อถึงที่ถึงฐานแล้วความอยากก็หายไปนั่น ใครจะไปถามหานิพพานที่ไหนอีก
ทำลายตัววัฎจักรวัฎจิตน้ันออกออกไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่มีองค์ใดบรรดาผู้ที่ทำลายวัฎจักรวัฎจิตนี้ให้ขาดกระเด็นออกไปจากใจแล้วจะอยากไปนิพพานและถามหาพระนิพพานว่าอยุ่ที่ไหน คำว่า นิพพานๆ ก็คือชื่ออันหนึ่งเท่าน้ัน หลักธรรมชาติที่แท้จริงก็ได้เห็นอยู่รู้่อยู่ภายในตัวเองครองอยู่แล้ว
นี่ละการพัฒนาจิต พัฒนาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงขั้นสุดยอดแห่งการพัฒนาจิต เอ้า ทีนี้ อยู่ไหนก็อยู่เถอะ อยู่อย่างพอตัว จิตสร้างความพอตัวให้ตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ว อยู่ไหนสบายทั้งน้ัน เรืองธาตุเรื่องขันธ์จะเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บหัวตัวร้อนหิวกระหาย ก็ทราบตามเรื่องของธาตุของขันธ์ ซึ่ีงอยู่ในกฎแห่ง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ย่อมมีความพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมันอยู่เสมอ แต่ไม่หลง ขันธ์เป็นขันธ์ จิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่บริสุทธ์โดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับบัญชาให้รู้่ให้หลง เมื่อถึงขั้นเป็นจริงโดยสมบูรณ์ทุกแง่แล้ว อะไรก็เป็นจริงทั้งน้ัน ไม่ตำหนิไม่ติไม่ชมเพราะต่างอันต่างจริง เอามากระทบกันทำไม ที่อันหนึ่งจริงอันหนึ่งไม่จริงน่ันซิได้กระทบกันและรบกันอยู่ตลอดเวลา เพราะอันหนึ่งปลอมอันหนึ่งจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วก็ไม่มีปัญหา

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน







" ความรักในทางพระพุทธศาสนานั้น คือความรักที่มาในสิกขาบททั้ง ๕
"รัก" แล้วไม่เบียนเบียนมุ่งร้ายทำลายคนอื่นเขา
"รัก" แล้วไม่ลักเอาสิ่งของคนอื่นเขา
"รัก" แล้วไม่ประพฤติผิดในกาม
"รัก" แล้วไม่พูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย
" รัก" แล้วไม่ดื่มกินของมึนเมาทำให้ขาดสติ
นี่แหละถึงเป็นความรักในทางพุทธศาสนา แต่รักที่เขาสมมติขึ้นมา ที่เค้าเรียกว่า"วันแห่งความรักนั้น" มันเป็นเพียงรักสมมติ "

พระครูสุวรรณโพธิเขต(คูณ อคฺคธมฺโม)
วัดป่าโพธิ์สุวรรณ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
เทศน์ในงานปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าโนนจิก อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี.












เป็นเรื่องของหลวงพ่อวัดหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อลือชากันว่า ท่านเป็นพระที่มีแต่
ความสุข ไม่เคยมีความทุกข์

วันหนึ่งโยมมานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่บ้าน บอกท่านว่าจะมารับแต่เช้า หลวง
พ่อก็นั่งรอจนสาย โยมก็ไม่มาสักที หลวงพ่อก็ว่า " ไม่มาก็ดีเนาะ เราฉัน
ข้าวของเราดีกว่า " ฉันข้าวได้ไม่กี่คำ โยมก็มารับพอดี กราบกรานขอโทษที่
มาช้า เหตุเพราะว่ารถเสีย หลวงพ่อวางช้อน " อือ ก็ดีเนาะ ไปฉันที่งานเนาะ"

นั่งรถไปได้สักพัก เครื่องรถก็ดับอีก คนขับรถบอก " รถเสียครับ " หลวง
พ่อก็บอกว่า " ดีเนาะ ได้หยุดพักชมวิวเนาะ " คนขับซ่อมรถได้สักพัก ก็ออก
ปากขอให้หลวงพ่อช่วยเข็นรถ ความจริงหลวงพ่อก็แก่ ข้าวก็ฉันได้ไม่กี่คำ
แต่ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า " โอ้ดีเนาะ ได้ออกกำลังกายเนาะ "

แล้วก็ขมีขมันออกแรงช่วยเข็นรถ จนวิ่งได้ไปถึงบ้านงาน เวลาเลยเที่ยง
หมดเวลาฉันไปแล้ว เป็นอันว่าวันนั้นหลวงพ่ออดข้าว เจ้าภาพก็ร้อนใจ อะไรๆ
ก็เลยเวลามานาน นิมนต์ท่านขึ้นเทศน์ทันที " ดีเนาะ มาถึงก็ได้ทำงานเลย
เนาะ" หลวงพ่อว่าแล้วก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์จนจบ มีคนชงกาแฟถวาย แต่
เผลอตักเกลือใส่แทนนำ้ตาล หลวงพ่อจิบกาแฟไปหนึ่งคำ แล้วก็บอกโยมว่า
" โอ้ดีเนาะ ดีๆ " แล้วก็วางไว้

ธรรมเนียมของหลวงพ่อที่หลังๆเวลาท่านฉันอะไร ลูกศิษย์ก็อยากได้บ้าง
ว่ากันว่าเป็นสิริมงคลดีนัก เรียงหน้ารอกันเป็นแถว แล้วลูกศิษย์คนแรกก็ดื่ม
กาแฟ ก็พ่นพรวดออกมา " เค็มปี๋เลยหลวงพ่อ ฉันเข้าไปได้ยังไง ! "

หลวงพ่อว่า " ก็ดีเนาะ ฉันกาแฟหวานๆมานาน ฉันเค็มๆมั่งก็ดีเหมือนกัน "

ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ลมแรง นำ้ท่วม หรือคนด่า หลวงพ่อท่านมอง
ไปในแง่ดีได้หมด

มีลูกศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งไปทำผิด ถูกจับไปติดคุก ท่านก็ว่า " ก็ดีเนาะ
มันจะได้ศึกษาชีวิต "

หลวงพ่อดีเนาะ เป็นเกจิอาจารย์มีชื่อที่ใครๆก็รู้จัก ท่านมีลูกศิษย์ลูกหา
และผู้เคารพนับถือ มีเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมี และการประพฤติปฏิบัติ
ตนของหลวงพ่อ และเนื่องจากหลวงพ่อดีมีคนเคารพนับถือมาก จึงมีผู้มา
ถวายจตุปัจจัยข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่าแก่ท่านมากมาย ในกุฏิของหลวงพ่อดี
จึงมีข้าวของเงินทองที่เตะตา ล่อโจรให้อยากลองของมากมาย แต่ดูเหมือน
หลวงพ่อท่านไม่ค่อยจะสนใจวัตถุรอบกายของท่านแต่อย่างใด

อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อดีก็ถูกโจรที่ชอบปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์มากมาย ถือปืน
บุกเข้าประชิดตัวหลวงพ่อบนกุฏิ พร้อมทั้งประกาศว่า " นี่คือการปล้น อย่าได้
ขัดขืนนะหลวงพ่อ " หลวงพ่อก็ยิ้มกับโจรด้วยอารมณ์ดี และไม่มีอาการ
สะทกสะท้าน ท่านกล่าวกับโจรอย่างนิ่มนวลว่า " ปล้นก็ดีเนาะ " โจรชัก
แปลกใจในคำพูดและท่าทีของหลวงพ่อ โจรถามว่า " ถูกปล้น ทำไมว่าดีหละ
หลวงพ่อ " หลวงพ่อตอบว่า " ทำไมจะไม่ดีหละ ก็ข้าต้องทนทุกข์ทรมาน เฝ้า
ไอ้สมบัติบ้าๆนี่ตั้งนานแล้ว เอ็งเอาไปเสียให้หมด ข้าจะได้ไม่ต้องเฝ้ามันอีก "

แต่โจรก็ขู่อีกว่า " ไม่ใช่ปล้นอย่างเดียว ฉันต้องฆ่าหลวงพ่อด้วย เพื่อปิด
ปากเจ้าทรัพย์ " หลวงพ่อดีก็ตอบเหมือนเดิม " ฆ่าก็ดีเนาะ " โจรแปลกใจจึง
ถามว่า " ถูกฆ่ามันจะดีได้อย่างไรหละหลวงพ่อ " หลวงพ่อตอบว่า " ข้ามันแก่
แล้ว ตายเสียได้ก็ดี จะได้ไม่ทุกข์ร้อนอะไร " โจรรู้สึกอ่อนใจเลยบอกว่า
" ถ้าอย่างนั้น ฉันไม่ฆ่าหรอก " หลวงพ่อก็พูดเหมือนเคยว่า " ไม่ฆ่าก็ดีเนาะ "
โจรก็ถามอีกว่า " ทำไมฆ่าก็ดี ไม่ฆ่าก็ดีอีก " หลวงพ่อบอกว่า " การฆ่ามันเป็น
บาป เอ็งจะต้องชดใช้เวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า อย่างน้อยตำรวจจะต้องตาม
จับเอ็งเข้าคุก เข้าตาราง หรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย ตายแล้วก็ยังตกนรกอีก "

โจรเลยเปลี่ยนใจ " ถ้าอย่างนั้น ฉันไม่ปล้นหลวงพ่อแล้ว " หลวงพ่อดีก็
ตอบอีกว่า " ไม่ปล้นก็ดีเนาะ "

ในที่สุดโจรคนนั้นก็สำนึกบาป เข้ามอบตัวกับตำรวจ เมื่อพ้นโทษออกมาก็
ขอให้หลวงพ่อดีบวชให้ และบำเพ็ญศีลภาวนาตลอดมา ส่วนหลวงพ่อมีคนให้
ฉายาท่านว่า " หลวงพ่อดีเนาะ "

หลวงพ่อมองโลกในแง่ดี ไม่เคยจับผิดใคร ไม่เคยว่าใคร เจอปัญหาอะไรๆ
ก็พูดว่า " ดีเนาะ " จนกระทั่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวให้เป็น " พระเทพวิสุทธาจารย์สาธุอุทานธรรมวาที " ซึ่งแปลว่า
" ดีเนาะ "

( จากหนังสือ " จิตสงบ...พบธรรมะ )
ท่านคือ พระเทพวิสุทธาจารย์ ( หลวงปู่ดีเนาะ ) วัดมัชฌิมาวาส
อ. เมือง จ. อุดรธานี









“ โดยธรรมชาติแล้ว จิตใจของคนจะเหมือนกับวัตถุที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยสิ่งที่ไม่ดีมากมาย จนยากที่จะมีสิ่งใดทะลุผ่านเข้าไปได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตใจได้มีการพัฒนาสมาธิ จิตใจจะสามารถเปิดรับสิ่งต่างๆที่ดีได้อย่างง่ายดาย จนทำให้เกิดปัญญาได้ในที่สุด และปัญญาดังกล่าว สามารถที่จะเปลี่ยนนิสัยของคนเราที่ฝังรากลึกมานานได้ ”

#โอวาทธรรม
หลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี










มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง
ข้างบนเทวดา
ข้างล่างอบายภูมิ ๔
มัชเฌมนุส มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง

ธรรมชาติที่เกิด
มนุษย์พออริยสัจจึงปฏิบัติสำเร็จอรหันต์ คล้ายๆแม่ครัว แกงมันพอพริกเกลือ เอร็ดอร่อยมาก

ไม่ควรเหยียบย่ำชาติที่เกิดของตัวให้ตกต่ำ ตกนรก เปรต อสุรกายไปได้ ควรพากันปฏิบัติในศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี
ควรแก่กาลจะได้รับผล

มัชเฌวัน ท่ามกลาง
เดินปฏิบัติสายกลางให้สำเร็จดังนี้

สัตว์ทั้งหลาย รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักทำความดี ความชั่ว ไปนรก สวรรค์ได้ทั้งนั้น

มนุษย์นั้น ระคนด้วย บุญ บาป
ชื่อว่า "คน" ก็ได้ชื่อว่า "มนุษย์" ก็ได้ไม่ผิดแปลกกัน

มนุษย์โอนไปทางโลกีย์
มากกว่าพระพุทธศาสนา
ที่จะเอาตัวรอดจากอบายภูมิทั้ง ๔ ได้

ฉะนั้น นักปราชญ์เลือกค้นเอา ประพฤติปฏิบัติเอา

เอาความดีไปนิพพาน
เอาความชั่วไปนรกอเวจี

มนุษย์เป็นชาติที่สูงสุด
ปรารถนาสมบัติอะไรก็ได้ทั้งสิ้น
ไม่ตกต่ำเหมือนชาติอื่นๆภพอื่นๆ

ภพเหล่านั้น ธาตุไม่พอ เป็นชาติที่ขาดมรรคผลนิพพาน

มนุษย์เป็นฐานะที่จะสร้างบารมีให้สำเร็จได้
ไม่มีความสงสัยด้วยประการใดประการหนึ่ง

หลวงปู่หลุย จันทสาโร










ชีวิตนี้เป็นประดุจผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะที่คอยเก็บอานิสงส์ของกรรมดีชั่ว แล้วก็ให้ผลแก่เราเป็นผู้เสวย ถ้าเรานำชีวิตที่เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว น้อมพิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นภายในใจ ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนั่นแหละจะเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทองขึ้นมาทันที เพราะร่างกายของคนนี้ไม่มีค่า มันมีค่าอยู่ที่หัวใจที่มีธรรมรูปธรรมทุกๆ อย่างจึงเป็นผ้าขี้ริ้ว นามธรรมคือหัวใจ ที่ฝึกปฏิบัติจนได้เห็นธรรมตามความสามารถ นั่นแหละเป็นทอง คือธรรมสมบัติอันล้นค่า ปรากฏเด่นขึ้นมาเป็นสักขีพยาน
.
แต่ถ้าพวกเราไม่สนใจในการฝึกจิตรักษาใจสร้างคุณงามความดีแล้วละก็ คนประเภทนี้ก็อาจเรียกได้ว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อก้อนขี้หมา”เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่รู้จักคุณค่าของคนแล้วยังไม่พอ ยังกลับไม่รูจักค่าของคุณงามความดีด้วย คือการปฏิเสธความดี แต่จิตนี้มั่งมีไปด้วยความชั่วเสีย เกิดเป็นคนแต่ใจไพล่ไปในทางเปรตผี รูปร่างแบ่งแยกมนุษย์ให้รู้ว่าสวยขี้เหร่อย่างใด ใจก็แบ่งแยกมนุษย์เรื่องดี-ชั่ว สะอาด-สกปรก ได้อย่างนั้นเหมือนกัน เกิดเป็นคนเหมือนกันแต่ใจมันไม่เหมือนกัน ใจนี่แหละทำให้คนต่างกัน ไม่ใช่ร่างกาย ทรัพย์สมบัติเงินทองของนอกกาย
.
จากหนังสือประวัติพระครูสุทธิธรรมรังษี หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี









"#การภาวนานี้ไม่ยาก
#แต่ว่าการให้ทานนี้ยากกว่า #ทำไมถึงยากกว่า
#เพราะมันได้ไปแสวงหาจึงมาทานได้
#การภาวนานี้ไม่ได้แสวงหา
#มันอยู่กับเรา #แต่พวกเรานี่มองข้ามกาย "

โอวาทธรรม หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ
วัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว ยโสธร







เรามีสติอยู่เสมอ
ก็เท่ากับเราได้สร้างพระไว้ในตัว

ท่านพ่อลี ธัมมธโร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO