"..มาถวายแต่ใบปวารณาหรือ ทำไมไม่ถวายตัวเข้าพรรษาด้วยหล่ะ เราไม่ได้ดูถูกญาติโยมนะ เราไม่ได้ภูมิใจที่ญาติโยมถวายใบปวารณา แต่เราภูมิใจกว่าถ้าญาติโยมเอาใจเข้าหาอรรถเข้าหาธรรมจนได้ธรรมะ ถ้าเราหาเงิน เราก็ทุกข์เพราะเงิน แต่ถ้าเราหาธรรม เราจะไม่ทุกข์เพราะธรรม.."
โอวาทธรรม หลวงพ่อจันมี อนาลโย วัดป่าแก้งใหม่ จ.หนองคาย
นั่งสมาธิไม่เป็นก็หัดนั่ง ลองมาดูใจตัวเองว่า วันหนึ่งๆมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ฝึกไม่ซ้อม จะไม่รู้เลยว่าความสงบเป็นอย่างไร พอทำสมาธิเกิดขึ้น จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นของประเสริฐดีกว่าสิ่งอื่น ถึงแม้จะมีเงินทอง ก็ไม่ได้ให้ความสุขแก่ใจเรา แต่ความสงบนี่ให้ความสุขแก่ใจเราทุกเวลา
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
บุญกุศล ติดตามข้ามภพข้ามชาติ...ข้าวสุกปั้นเดียวนี้ ถ้าเอาไปขายได้ ๑๐ บาท ถ้าเอาไปใส่บาตร ปรารถนาให้มีอาหารทุกชาติ ข้าวปั้นเดียวนั้นจะกิน ไม่หมด ทั้งชาตินี้ และชาติหน้าทุกชาติ...
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
#อานิสงส์ของศีล_๕_เมื่อรักษาได้ ๑.ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย
๓. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภริยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำ กล้ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความผาสุข
๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์ เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ ด้วยศีล
๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่ เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#ให้ตั้งใจรักษาศีล
"ศีล เป็นของเลิศ ของประเสริฐ การที่เราอยู่รวมกันได้ก็เพราะมี เมตตา มีธรรมต่อกัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ต่อกัน มีเมตตา กรุณา สงสารซึ่งกันและกัน ว่าเกิดมา ในโลกแตกต่างกันหลายอย่าง ทรัพย์รูปพรรณสัณฐาน ความดี ก็ไม่เหมือนกัน
#ท่านจึงให้ทำความดีให้ได้
"ความดี" ก็คือ ศีล นั่นเอง ใคร ทำได้ก็จะปิดอบายภูมิได้ ไม่ต้อง ลงอบายภูมิ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้น พยายามรักษาศีลให้ได้ ตั้งใจให้ เป็นอริยกันตศีลตั้งใจไม่ฆ่า ไม่คิด ทำลายสิ่งที่มีชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ฯลฯ
#ศีลห้า ถ้าใครทำได้ เรียกว่า "ดับเวร ๕ อย่าง" ได้ คือ ดับทุกข์ ๕ อย่าง เวรก็จะไม่เกิด ภัยอันตราย ก็จะไม่เกิด "เวรมณี" คือ เว้นจาก ความชั่วได้ เป็นผู้พ้น เป็นผู้ละได้ ผ่านได้ ผ่าน ๕ ข้อนี้ได้ ก็ผ่านนรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน [อบายภูมิ ๔] ได้เด็ดขาด.."
#โอวาทธรรมคำสอน #หลวงปู่คำบ่อ_ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล จ.สกลนคร
#นับแต่ตื่นจากหลับนอน ครูตากระทบรูป แม่ได้เรียน ครูหูกระทบเสียง แม่ได้เรียน ครูจมูกกระทบกลิ่น แม่ได้เรียน ครูปากลิ้นกระทบรสชาติ แม่ได้เรียน ครูกายได้สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นุ่มนวล แม่ได้เรียน ครูใจกระทบอารมณ์ แม่ได้เรียน #แม่จึงว่า "แม่ได้เรียนธรรมอยู่ตลอดทั้งวัน" ไม่มีเวลาพัก ต่างครู ก็ต่างหน้าที่ ตามปกติของเขาไป เป็นแต่ใจของ เรานี้เอง จะเกาะเกี่ยวอย่างใด อย่าง ชอบ หรืออย่างไม่ชอบ แต่แม่เรียนรู้ อย่างรู้เท่ารู้ทัน ครูบาอาจารย์ท่านบอก ท่านสอนมาอย่างนี้ แต่ก่อนเคยมีผู้ถาม อัญญาท่านมั่นว่า #พระธุดงค์_พระป่า เรียนหนังสืออย่างไรกัน..? เพิ่นตอบว่า #เรียนด้วยการหลับตา_แต่ตื่นใจ.
#คุณแม่ชีแก้ว_เสียงล้ำ
สติปัฏฐาน ๕ คือ ลมหายใจเป็น..กาย สบายไม่สบายเป็น..เวทนา ความบริสุทธิ์ผ่องใสเป็น..จิต ความตั้งเที่ยงของจิตเป็น..ธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
อีกเรื่องหนึ่ง ยังมีเทพยดาองค์หนึ่ง แต่ก่อนเป็นผู้หญิง ในสมัยครั้งหนึ่งแกไปวัดไปเห็นมันรกในทางจงกรมของพระ แกก็ไปเขี่ยขี้ฝอยในทางจงกรมนั้น เพื่อให้ความสะดวกในการเดินจงกรมของพระครั้งเดียวเท่านั้น แต่แกทำด้วยความรัก แกทำด้วยความเชื่อ ทำด้วยความนับถือ ทำด้วยความบริสุทธิ์จิต เพราะของที่รกรุงรังสกปรกนั้น ยังความเศร้าใจให้เกิดขึ้นท่านเห็นเป็นเช่นนี้จึงได้เก็บขี้ฝอยออกจากที่ทาง แล้วก็หาน้ำล้างเท้ามาไว้ในที่นั้น เก็บขี้ฝอยขี้เศษต่างๆ รกรุงรังออกหมด แกก็รู้สึกว่า ใจสบายผ่องแผ้ว กลับไปบ้าน บังเอิญไปเกิดเป็นลมตาย ตายจากโลกนี้ก็ไปเกิดเป็นเทวดา มีบริษัทบริวาร มีอาหารทิพย์ มีปราสาท มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากมาย เมื่อไปอยู่ที่นั้น ระลึกชาติได้ เมื่อระลึกชาติได้อย่างนี้ ก็นึกในใจว่า ถ้าเราทำบุญมากๆ ก็จะได้ดีมากกว่านี้ จะขอไปทำความดีอีกสักหน่อยเถอะ เพื่อให้มันยิ่งกว่าที่ได้ผลอยู่ขณะนี้ แต่ก่อนไม่ยักรู้ว่ามันจะได้รับผลอย่างนี้ ก็ได้ลงมาจากสวรรค์ ไปเที่ยวหาพระอยู่ตามป่าตามพง พอไปเห็นพระองค์หนึ่งท่านกำลังเข้าสมาธิ ฝ่ายเทวดาก็มายืนจ้อง คอยปฏิบัติอุปัฏฐากพระ ท่านเลยตะเพิดไป “เทวดาทำไมมาแย่งบุญมนุษย์ แต่ก่อนนี้มันประมาท เมื่อไปเสวยผล ได้รับผลดีแล้ว ยังจะอยากโลภมาก ไม่เอา ไม่ให้ท่านให้มนุษย์เขามาทำ คนที่ยังไม่ได้รับความดีอย่างแกนั้นยังมีอยู่อีกมาก ไม่ต้องมาแย่งเขา” เปิดเลย เทวดานั้นขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ ก็ได้ผลแค่นั้น บุญใหม่ควรทำต่อ เขาไม่ให้ทำ นี่เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า คนเราประมาทในบุญเล็กน้อย เมื่อตายไปแล้ว จะมาทำบุญกุศลน่ะ มันยากนัก ยากยังไง กายก็ไม่เหมือนกายมนุษย์ จะมาพูดกับมนุษย์ก็ไม่ได้ จะมาใส่บาตรทำบุญก็ไม่ได้ อย่างดีก็เพียงมายืนคอยอนุโมทนาเท่านั้น ถ้าใครตาดีก็เห็น ใครตาไม่ดีก็ไม่พบพาน ถ้าใครมีภูมิรู้ในทางจิต ก็พอจะแนะนำสั่งสอนกันบ้าง ถ้าไม่มีคนเช่นนั้น เทวดาก็ไม่มีหนทางที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีต่อได้เลย นี่มันเป็นอย่างนี้
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
...ถ้าเราทำบาปแล้วไม่มีใครเห็นไม่มีใครรู้ ก็อาจจะไม่ได้รับการลงโทษ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเราไปลงโทษ แต่ผลที่เกิดทางใจนี้.."มันเกิดขึ้นแล้ว" ใจของเรานี้จะเสื่อมลงจากมนุษย์ ไปเป็นเดรัจฉานบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง ไปเป็นสัตว์นรกบ้าง ทั้งๆ ที่เรายังมีร่างกายอยู่มีชีวิตอยู่ "แต่ใจของเรานี้ ได้เปลี่ยนไปแล้ว" เปลี่ยนด้วย..”การกระทำบาปนี่เอง “ แล้วพอร่างกายเราตายไป ถ้าใจเรายังเป็นเดรัจฉาน ใจก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉานต่อไป ถ้าใจเป็นเปรต ใจก็จะเกิดเป็นเปรตต่อไป ถ้าใจเป็นสัตว์นรกก็จะไปตกนรกต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่... "ไม่มีใครมายับยั้ง มาแก้ไขได้". ........................................ ธรรมะโดนใจเล่ม4 หน้า86 ธรรมะในศาลา 10/10/2558 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สมบัติในโลกนี้ ตายแล้ว ก็เอาไปไม่ได้
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
กาย และ ใจ ในตัวของเรามี2อย่างคือ 1.รูป 2.นาม รูปธรรม นามธรรม รูปธรรมคือร่างกายของเราคือตัวของเรานี้สมมุติขึ้นมานี่เป็นหญิงเป็นชาย ชื่อโน่นชื่อนี่สมมุติว่าเป็นตนเป็นตัว รูปได้มาจากคุณพ่อคุณแม่น่ะรูปน่ะ ส่วนนามธรรมคือใจ ใจเป็นตัวตนของเราที่แท้จริง ใจของเราไปจองปฏิสนธิก่อน ใจไปจองที่เกิดก่อน อย่างที่เราเคยได้ยินเสมอว่า.ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจตายไม่เป็น ส่วนสังขารร่างกายปู่ย่า ตายายไปไหนแล้ว ไปก่อนแล้ว(ตาย)เอาอะไรไปด้วยผมเส้นเดียวก็เอาไปด้วยไม่ได้
หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง) ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด
ถ้าเราเอาไปใคร่ครวญ เอาไปเป็นคติตัวอย่าง เอาความพากความเพียร ฟังไปก็ไม่เอาไปพิจารณาไปกำกับจิตเจ้าของนั้นมันก็ไม่เกิดผลนะ มันเอาแต่ความจำความจริงมันไม่เกิดกับใจเจ้าของมันก็ไม่สิ้นสงสัย เหมือนกับเราเดินทางนั่นล่ะ เราไปเห็นแล้วใครจะมาเถียงคัดค้านไม่ได้ เพราะได้ไปเห็นมาแล้ว . หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
พวกเราซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาส ได้ฟังคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน และเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความสุขความทุกข์ต่างๆ เกิดจากกรรมที่ตนกระทำไว้ เราทุกคนจึงพยายามหลีกเลี่ยง บาปกรรมทั้งหลาย บำเพ็ญกุศลต่างๆ ที่สำคัญคือ ทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้แสดง โอวาทปาฏิโมกข์ไว้ในวันมาฆบูชาว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺต ปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ท่านทั้งหลายต้องทำให้ได้ทั้ง ๓ ประการนี้ เพราะทาน...ทำให้รวย ศีล.....ทำให้สวย ภาวนา......ทำให้มีปัญญา การจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องเจริญภาวนา คบบัณฑิต ฟังธรรม สอบถามปัญหาธรรม ศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรม ส่วนการทำจิตให้ขาวรอบ ก็คือทำจิตให้บริสุทธิ์ ละความชั่วทั้งทางกาย วาจา และทางใจ เราทุกคนจึงต้องละเว้นความชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำกายให้สุจริต ทำวาจาให้สุจริต ทำมโนให้สุจริต กายก็เว้นเสียจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม วาจาก็พูดแต่คำจริง พูดคำไพเราะ พูดสมานสามัคคี พูดแต่คำที่มีสารประโยชน์ ทางใจก็มีจิตที่ไม่คิดเบียดเบียน ไม่คิดพยาบาท รู้จักให้อภัย แล้วก็สร้างสัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นชอบให้เกิดขึ้น ด้วยการทำกุศลให้ถึงพร้อม บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล ภาวนาเนกขัมมะ บำเพ็ญขันติความอดทน อดกลั้น บำเพ็ญความเพียร บำเพ็ญสัจจะ บำเพ็ญอธิษฐานจิตมุ่งมั่นสู่ความพ้นทุกข์ บำเพ็ญการเจริญเมตตา บำเพ็ญอุเบกขา ทำกุศลของตนเองให้ถึงพร้อม โดยย่อก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ............................ ธัมโมวาท โดยพระวิปัสสนาจารย์ ท่านเจ้าคุณ พระภาวนาเขมคุณ วิ. (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้ มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ ตัว "สติ" มันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามี "สติ" อยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันแหละ ครั้นเกิดขึ้น "รู้ทันมันก็ดับ" "รู้ทันก็ดับ คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอใจ ไม่พอใจ ก็ดับลงทันทีที่ "สติ"
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
เทคนิคเจริญสติหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์ สอนการปฏิบัติ มี 4 ข้อ 1. ให้รักษาศีลข้อเดียว คือ รักษาใจให้ปกติ 2. อย่าส่งจิตออกนอก คือ อย่าส่งออกไปปรุงแต่งเรื่องคนโน้น คนนี้หรือเรื่องภายนอก ถึงไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีสิ่งใดทำอันตรายได้ ถ้าเราไม่ส่งจิตออกนอก 3. อยู่กับผู้รู้อยู่เสมอๆ ไปอยู่ป่าเขามันว้าเหว่ ก็ให้รู้ให้ดูว่าใครมันว้าเหว่ จะกวาดลาน ถูพื้น อาบน้ำ ทำทุกอย่างให้อยู่กับผู้รู้ แม้แต่คิดก็ให้ดูว่า ใครเป็นผู้รู้ ผู้คิด แม้แต่ปวดหัว ก็เอาไว้ดูว่าใครเป็นผู้ปวด 4. หาใจให้เจอ ใจคือความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทาง ชอบ ชัง ถูก ผิด ดี ชั่ว เจอใจที่เป็นกลาง ศาสนาพุทธจบลงเท่านี้
โอวาทธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เรียนไปถึงไหนจนกระทั่งถึงอวกาศโน่นก็สามารถเรียนได้ อย่าว่าแต่ในพื้นแผ่นดินมนุษย์นี้เลย ดูซิจรวดดาวเทียมสกายแลปนั่นละจากความรู้ของคนเขาทำ ความรู้ทางโลกล้วน ๆ นี้เป็นอย่างนั้น จะสูงขนาดไหนก็ไม่มีการที่จะลดหรือบรรเทาความทุกข์ความลำบากของโลกลงได้ เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ของโลกไม่ใช่ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรม ธรรมมีให้ความร่มเย็นถ่ายเดียว โลกถ้าไม่มีธรรมเลยก็ให้ความเดือดร้อนโดยถ่ายเดียว แม้เจ้าตัวจะรู้ขนาดไหนก็ไม่สามารถจะระงับดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในตัวภายในใจได้ เพราะนั้นไม่ใช่วิชาดับทุกข์ วิชาดับทุกข์คือวิชาธรรม วิชาธรรมนี้ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสอนเป็นวิชาดับทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ใดเรียนผู้ใดประพฤติปฏิบัติเพื่อธรรมจริง ๆ จะเห็นผลปรากฏขึ้นกับตนของผู้ปฏิบัติโดยไม่ต้องสงสัย .............................................................................. หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
เรื่อง "แสงของจิต บอกลักษณะผู้มีบุญวาสนา" อุบาสก อุบาสิกาคนไหนจะเลื่อมใสศาสนา พระเถระท่านดูลักษณะ ลัทธิ และวาจา ท่านรู้ทันที คนมีบุญ คนไม่มีบุญ ท่านรู้ "แสงของจิต" ของคนนั้นแสดงออกมา จะรู้ข้อวัตร ดีหรือไม่ดี ภูมิจิตต่ำและภูมิจิตสูงนั้น ต้องอยู่ร่วมกันนาน รู้ลัทธิ รู้อัธยาศัยกันได้ทุกอย่าง ความผ่องใสเกิดด้วยธรรม ความเศร้าโศก เศร้าหมอง เกิดด้วยกิเลสของตน ภาวนาออกมาภายนอก นักปราชญ์ท่าน "รู้ " ในตอนนี้ วาจาคำพูดออกมามีรัศมี กุศล รู้ขึ้นมาให้เห็นไม่ปิดบัง กิเลสนั้นจิตเศร้าหมอง พูดออกมาไม่มีรัศมี ทั้งไหวพริบไม่พอ อัดอั้นตันใจ แสดงออกมาให้ปรากฏเช่นนั้น คนนั้นเป็นหญิง คนนั้นเป็นชาย ว่าเป็นคนมีวาสนาหรือไม่มี ดังนี้ นักปราชญ์ท่าน "รู้" ความลึกลับด้วยวาระจิตของท่าน ไม่เหมือนปุถุชน ไม่อาจคำนวณได้ว่าร้ายหรือดี
คติธรรมหลวงปู่หลุย จันทสาโร
เรื่อง "ผู้ฉลาดมีสติปัญญา ท่านย่อมมองเห็นคุณค่าและไม่ประมาทในบุญแม้เพียงเล็กน้อย" ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้ง ทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้า เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
คติธรรม สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19
.“ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งของตน” ความจริงอันนี้ก็ใช่แล้ว ให้พากันเร่งความเพียร อย่าไปนอนใจนะ ทำเอา ทำใครทำมันอยู่อย่างนั้น สมบัติใครสมบัติมัน ผู้ใดขี้เกียจขี้คร้านก็เท่านั้นแหละ มีแต่กิเลสนะที่มันเหยียบหัวอยู่นั่น อะไรก็ต้องให้ถูกใจตัวเองหมด ผู้อื่นก็ต้องให้ถูกใจตัวเองหมด แต่หัวใจตัวเองก็ยังไม่ถูก . หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี คัดจากหนังสือ “ ๙๐ ปี เศรษฐีธรรม”
#อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน
ผู้ถาม - คำว่า ..สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มีความหมายแตกต่างกันอย่างไรครับ?
หลวงพ่อ – สมถะ..นี่เป็นจุดเริ่มต้นทำจิตให้เป็นสมาธิ ท่านมีความหมายว่า ทำจิตให้สงบจาก นิวรณ์ ๕... สำหรับ ..วิปัสสนา..เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาร่างกายเพื่อตัดกิเลสมันต่างกันตรงนี้
การทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็เพื่อไม่ให้จิตวุ่นวาย เมื่อจิตไม่วุ่นวายแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณา คือ ..ยอมรับนับถือกฏของความเป็นจริง.. เกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่ เมื่อทรงชีวิตอยู่มันก็ป่วยไข้ไม่สบาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เมื่อมีชีวิตอยู่ต้องมีการนินทาสรรเสริญ กระทบกระทั่ง และในที่สุดเราก็ตาย นี่เป็นของธรรมดา ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นกับเรา เราจะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ถือว่ามันเป็นธรรมดาของการเกิด..
ผู้ถาม - สมถะนี่ตัดกิเลสได้ไหมครับ..? หลวงพ่อ - ยังตัดกิเลสไม่ได้ แต่ว่าระงับได้ ผู้ถาม - มันแตกต่างกันอย่างไรครับ..? หลวงพ่อ - คำว่า..ระงับ..ก็เปรียบเหมือนกับเรามีสัตว์ร้ายอยู่ตัวหนึ่ง ถ้ามันจะกัดเรา วิธีระงับก็คือ จับมันมัดหรือกดมันไว้ไม่ให้ทำร้าย .. ส่วนคำว่า ...ตัด...หรือ ..วิปัสสนาญาณ..นั้น ก็หมายถึงฆ่าสัตว์ร้ายนั้นไม่ให้มีฤทธิ์ต่อไป เข้าใจไหม..?
ผู้ถาม - ครับ..ทีนี่กระผมได้ยินมาจากคุยกันกับพวกนักปฏิบัตินักสมถะก็ตัดกิเลสได้ ปัญญาไม่เกี่ยว ส่วนพวกเจริญวิปัสสนาญาณนั้นบอกว่า วิปัสสนาณาณเป็นส่วนที่ตัดกิเลสได้ สมถะไม่เกี่ยว ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถะก็ได้ เลยไม่รู้ว่าความเห็นของฝ่ายไหนที่ถูก
หลวงพ่อ - ก็เป็นไปตามความเห็นของเขา อาตมาเคยคุยมาหลายราย มีอยู่รายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ ท่านบอกว่าสมัยก่อนผมเจริญสมถะจนกระทั่งมีจิตสงบมาก แต่มาตอนหลังเห็นว่าไม่เป็นการตัดกิเลสได้เลยเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็เลยบอกกับท่านว่า ถึงแม้จะเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็ต้องมีสมถะร่วมด้วย คืออันดับแรก จะต้องมีจิตเรียบร้อยในด้านศีล และประการที่สอง เวลาที่ใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อการตัดกิเลสนี่นะเวลานั้นอารมณ์อื่นไม่เข้ามารบกวน ไอ้ตัวที่อารมณืไม่เข้ามารบกวน หรือไอ้ตัวที่สงบจากอารมณ์อื่น มันเป็นสมถะหรือท่านเรียกว่า ..สมาธิ..ซึ่งมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ท่านจึงเข้าใจ
ผู้ถาม – ก็เป็นอันว่าทั้งสองอย่าง จะต้องร่วมกันแยกกันไม่ได้ใช่ไหมครับ..?
หลวงพ่อ - ใช่...ถ้าจะเจริญวิปัสสนาณาณอย่างเดียว แต่ขาดสมถะ ก็ไปไม่รอด ท่านเปรียบไว้แบบนี้นะว่า ...สมถะ..นี่ก็เหมือนกับคนที่เพาะกำลังกายให้แข็งแรง ส่วน ..วิปัสสนาญาณ..ก็เหมือนกับอาวุธที่คมกล้า..ถ้าคนไม่มีแรงหยิบอาวุธ จะฆ่าข้าศึกได้ไหม..?
ผู้ถาม - ไม่ได้แน่ๆ ครับ
หลวงพ่อ - เพราะฉะนั้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา ๒ อย่างนี้จะต้องคู่กัน นี่เป็นแบบของพระพุทธเจ้านะ
ผู้ถาม - การเจริญสมถะก็ดี เจริญวิปัสสนาญาณก็ดี จะต้องปฏิบัติในเรื่องศีลไหมครับ?
หลวงพ่อ - คือการทำสมถะ หรือสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี ทั้งหมดนี้จะต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการร่วมกัน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ... ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์จิตก็ไม่เป็นสมาธิ ถ้าศีลบริสุทธิ์แล้วจิตจึงจะเกิดสมาธิ เมื่อจิตสงบจากอารมณ์ต่างๆ ปัญญามันจึงจะเกิด มันต้องร่วมกัน ๓ อย่าง
อ้างอิง - หนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑ หน้า ๔๘-๕๐ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
|