นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 2:25 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทวนกระแส
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 26 ธ.ค. 2019 5:30 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4805
"ลมหายใจเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าสมบัติใดๆ" ....

โอวาทธรรม หลวงปู่สุทัศน์ โกสโล (อายุ ๘๕ ปี)
วัดกระโจมทอง จ.นนทบุรี











"...พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เกิดสติขึ้นว่า ความทุกข์นี้มีเพราะความรัก มีรักมากก็เป็นทุกข์มาก มีรักน้อยก็เป็นทุกข์น้อย จนถึงไม่มีรักเลย จึงไม่ต้องเป็นทุกข์เลย
แต่ตามวิสัยโลกจะต้องมีความรัก มีบุคคลและสิ่งที่รัก ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีสติควบคุมใจ มิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ แต่ให้สติมีอำนาจควบคุมความรัก
ให้ดำเนินในทางที่ถูกและให้มีความรู้เท่าทัน ว่าจะต้องพลัดพรากรักสักวันหนึ่ง อย่างแน่นอน เมื่อถึงคราวเช่นนั้นจักได้ระงับใจลงได้..."

พระโอวาทธรรมคำสอน..
องค์สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์









" นิพพานที่เป็นระยะ ๆ นั้น หล่อเลี้ยงชีวิตไว้ "
นิพพาน คือ ความเย็นที่เป็นผลแห่งความดับของกิเลส ไม่ว่ามันจะดับของมันเอง หรือใครทำให้ดับ
การที่กิเลสก็เป็นสังขารธรรม คือ เกิดดับ ตามภาษาบาลีว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธ ธมฺมํ
...ก็แสดงว่า กิเลสเกิดแล้วก็ดับเมื่อมันหมดเหตุปัจจัย แม้จะเป็นการดับชั่วคราว หรือ มีความเย็นชั่วคราว มันก็มีความหมายแห่งนิพพาน แม้จะเป็นการชั่วคราว
ดังนั้น จึงมีนิพพานชั่วคราว สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอย่างที่จะหลีกเลี่ยงเสียมิได้ นี่แหละ คือ นิพพานชั่วคราว ใคร ๆ ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ถ้ามีกิเลสทั้งกลางวันกลางคืน ทุกวินาที โดยไม่มีเวลาระงับแล้ว ชีวิตไหนจะทนไหว ไม่ตายก็บ้า ... นิพพานที่เป็นระยะ ๆ นั้น หล่อเลี้ยงชีวิตไว้

ท่านพุทธทาสภิกขุ









#ท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านมักมีปกติแสดงธรรม
เรื่องจิตล้วนๆ​ เช่นว่า...
"ปัญญา กับสติให้รู้เท่าทันกัน
ทำจิต..ให้เสมอ​อย่าขึ้นอย่าลง
อย่าไปอย่ามา​ ให้รู้เฉพาะ..
ปกติของจิต​ ให้เห็นอยู่...กับ
ปัจจุบันธรรม​ อย่าส่งจิตไปอดีต
อนาคต"
ธาตุ ๘๔,๐๐๐ ธาตุ ออกมา
จากจิตหมดให้เอากาย วาจา
ใจนี้ ยกขึ้นมาพิจารณา
อย่าเพิ่ม อย่าเอาออก ให้เห็น
เป็นปกติเมื่อใดก็ตามที่เรา
ส่งจิตออกนอกเป็น"มิจฉาทิฏฐิ"
ให้รู้เห็นอยู่ในกาย และจิต
เป็น"สัมมาทิฏฐิ"
การแก้จิตใจ ให้แก้ในปัจจุบัน
เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้วภพทั้ง ๓
นั้น จะหลุดออกไปหมดไม่ต้อง
ส่งใจไปในอดีต อนาคต
ให้ลบอารมณ์ภายนอก ออก
ให้หมดจึงจะ เข้าอารมณ์ภายในได้
เพ่งนอก...
เป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์และ
เป็นตัว"มิจฉาทิฏฐิ"เพ่ง​ ใน..
เป็น"สัมมาทิฏฐิ"
#จะเป็นนักปฏิบัติ​ ต้องเด็ดเดี่ยว
กล้าหาญที่สุดจึงจะรู้ธรรม เห็นธรรม.
"นี้แหละท่าน..คือ หัวข้อธรรม
โดยย่นย่อที่ท่านพระอาจารย์มั่น
แสดง​ ช่างไพเราะจับใจ ไม่รู้ลืม
สำหรับพระผู้พิจารณาธรรม
และผมก็จำไม่ลืม จนเท่าทุกวันนี้"

#ธรรมคำสอนหลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#จากหนังสือ_พระศรี_มหาวีโร










พระพุทธศาสนานี้สอนธรรม คือ สอนให้ทำเอา ปฏิบัติเอา ไม่ใช่คิดเอา...

โอวาทธรรม
หลวงพ่อพระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร











#หลวงปู่ขาว_อนาลโย
แนะนำพระภิกษุรูปหนึ่ง
ที่กำลังจะหมดลม..?
"ตั้งใจ ดี ๆ นะ​ อารมณ์อดีต
อนาคต ปล่อยวางให้หมด
เอาปัจจุบันธรรมพิจารณาทุกข์
ทุกลมหายใจเข้า - ออก
เกิดก็ทุกข์ ตั้งอยู่ดับไปก็ทุกข์
มีแต่ทุกข์เท่านั้น​ ในโลกทั้งสาม
นอกจากทุกข์ไปแล้ว ไม่มีนั่นแหละ
มีสติปัญญากำกับจิตให้รู้​ ทุกข์อย่างนั้น
มันจะได้เกิด.. ความเบื่อหน่าย
ภพ ชาติ สังขาร(ร่างกาย)
เมื่อ..จะสิ้นลมนั้นจิต​ มันจะรื้อถอน
เครื่องร้อยรัดอวิชชา ตัณหา สังโยชน์
ปัจจัยให้หมดเสียสิ้นในขณะนั้น..
#พระอริยเจ้าทั้งหลาย
ในครั้งพุทธกาลโน้นท่านก็ได้
สำเร็จอรหันต์ในขณะ..?
ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็มากได้สำเร็จอรหันต์
ในระยะที่จะสิ้นลมหายใจ​ ก็นับไม่ถ้วน.."

#หลวงปู่ขาว_อนาลโย










การปฏิบัตินั้นคือทวนกระแส ทวนกระแสน้ำใจของเราเอง
ทวนกระแสของกิเลส อะไรที่เป็นของทวนกระแสแล้ว มันลำบาก
พายเรือทวนกระแสก็ลำบาก
สร้างคุณงามความดีนั้นก็ลำบากเสียหน่อยหนึ่งเพราะว่าคนเรามีกิเลส
ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะยุ่งยาก ไม่อยากจะ...อดทน
อยากจะปล่อยไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่
เหมือนน้ำน่ะแหละ มันก็ไหลไปตามเรื่องของมัน
ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามน้ำก็สบาย แต่ว่านั่นไม่ใช่ลักษณะการปฏิบัติ
ลักษณะการปฏิบัติต้องฝืน ต้องฝืนกิเลส ฝืนใจของตัวเอง ข่มจิตเจ้าของ
ทำความอดทนให้มากขึ้น มันจึงเป็นการปฏิบัติทวนกระแสน้ำ

จาก: "เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต" รวบรวมคำอุปมาของ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)











" บาปแต้ๆ มัวแต่ว่าคนอื่น เลิกว่าคนอื่นเขาเสียที หันกลับมาว่า​" ตัวเอง" กันได้แล้ว
เลิกวิจารณ์การกระทำคนอื่นเขาเสียที
มาวิจารณ์การกระทำของตัวเองได้แล้ว
การงานของคนอื่นก็เลิกวิจารณ์ได้แล้ว
ตายไปจะเป็นเปรต มัวเที่ยววิจารณ์คนอื่น​ ลืมวิจารณ์ตัวเองกันอยู่นั้นเด้
บาปแต้ๆ มนุษย์เอ๋ย

โอวาทธรรมคำ​สอน​
หลวงปูแหวน สุจิณโณ










" ตั้งใจงดเว้นขึ้นเมื่อใด ศีลก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ฉะนั้น ถึงจะรับศีลจากพระแต่รับเพียงด้วยปาก
ใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไร ก็ไม่เกิดเป็นศีลขึ้น
ถึงไม่ได้รับศีลจากพระ แต่มีใจงดเว้น ก็เกิดเป็นศีลขึ้นได้ "

พระนิพนธ์ 'มนุษยธรรม'
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก








“ จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุงสังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมดเกิดจากจิต เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย แม้ที่สุดเรานอนอยู่ก็ปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า อย่างที่เราเรียกว่าฝันนั่นเอง ไม่มีการนิ่งอยู่เฉยได้ จิตนอนหลับไม่เป็น แลไม่มีกลางคืน กลางวันเสียด้วย ที่นอนหลับนั้นไม่ใช่จิต กายต่างหาก มันเหนื่อยจึงพักผ่อน จิตเป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในทุกที่ทุกสถาน แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย จิตนี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรนาให้สิ้นสุดได้
ใจ คือผู้เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี กลางอยู่ตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น ใจหมายความเป็นกลางๆ ดั่งภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ใจมือ ก็หมายเอาท่ามกลางมือ ใจเท้า ก็หมายเอาท่ามกลางเท้า แม้ที่สุดเมื่อถามถึงใจคนเรา ก็ต้องชี้เข้าท่ามกลางหน้าอก แต่แท้จริงแล้วที่นั่นไม่ใช่ใจนั่นเป็นแต่หทัยวัตถุ เครื่องสูบฉีดเลือดที่เสียแล้วกลับมาเป็นของดี ให้ไปหล่อเลี้ยงสิ่งต่างๆ ในสรรพางค์กายเท่านั้น ตัว ใจแท้มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม “

หลวงปู่เทส เทสรังสี








❝ การบวชที่แท้จริง
อยู่ที่ “การบวชใจ”
คือ หลบ หลีกจาก...
การเกิดกิเลส และการเกิดทุกข์
การบวชทางกาย ภายนอก
เป็นเพียงการให้ความสะดวก
หรือ ความง่ายแก่การบวชใจ ❞

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จาก “ฟ้าสางทางความลับสุดยอด”
ในหนังสือ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์”









ตั้งมั่นในความสงบให้จิตใจมีกำลัง
บรรดาพวกเรานักปฏิบัติจงพยายามทำจิตใจนี้ให้อยู่ในความสงบ ให้มีกำลัง ซึ่งจะเป็นเครื่องพยุงฐานะความเป็นอยู่ของเราให้สูงขึ้น นี้แนะนำหลักย่อ ๆ เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติทางด้านจิตใจ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่สถานที่แห่งใดก็ตาม ไกลแค่ไหนแสนไกลก็ตาม ก็จะต้องมีร่างกายและจิตใจอันนี้ในชีวิตของเรา หรือในตัวบุคคลเราบุคคลหนึ่ง ก็จำเป็นนั่นเองที่เราจะพยายามฝึกหัดจิตใจซึ่งเป็นนามธรรม เป็นในรูปธาตุ แต่ความจริงก็คือความรู้สึกคิดนึกที่เรารู้กันอยู่นี้เอง จุดนี้หละ เป็นจุดที่จะเดินไปสู่ความบริสุทธิ์ เดินไปสู่ความดิบความดีในกาลข้างหน้า

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระเทพวิสุทธิมงคล
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 105 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO