โยม : หลวงปู่ครับ ผมได้ยินมาว่าพุทโธพาเราไปได้ แค่พรหม ไม่สามารถไปนิพพานได้นี่ ถูกต้องไหมครับ
หลวงปู่ : คุณดูนั้น (ท่านชี้มือไปที่ต้นสะเดา) คุณว่าต้นมะขามที่ขึ้นอยู่ ข้างต้นสะเดา มันจะกลายเป็นต้นสะเดาได้ไหมหล่ะ
โยม : ไม่ได้ครับหลวงปู่
หลวงปู่ : หือ ไม่ได้เหรอ เอาใหม่นะ ถ้าต้นมะขามออกใบ ออกดอก ออกผล แล้วร่วงหล่นลงมาที่โคนของต้นสะเดา ย่อยสลาย เป็นธาตุอาหารในดิน
รากของต้นสะเดา ก็ดูดเอา ปุ๋ยนั้นไปหล่อเลี้ยงลำต้น ออกเป็นใบ ดอก ผล ผลก็ตกลงมาเป็น ต้นสะเดาเล็กๆ หลวงปู่ถามคุณอีกครั้งว่า มะขามกลายเป็นสะเดาได้ไหม
โยม : ได้ครับผมหลวงปู่
หลวงปู่ : เออ พุทโธ ที่คุณว่า ไม่พาคุณไปนิพพานเหรอ แต่คุณต้องอาศัยพุทโธ พาคุณไปนิพพาน นิพพานหน่ะ ประตูไม่กว้างนะและก็ไม่แคบ พอดีตัวคุณเลยหล่ะ
คุณจะเอาอย่างอื่นเข้าไปด้วยไม่ได้ บุญก็เข้าไม่ได้ บาปก็เข้าไม่ได้ ศีลก็เข้าไม่ได้ ธรรมก็เข้าไม่ได้ พุทโธก็เข้าไม่ได้ คุณต้องทิ้งหมด ทั้งดีทั้งชั่ว
เข้าไปแค่ตัวคุณคนเดียว พุทโธ เป็นบาทเป็นฐาน เป็นสมถะที่เข้าสู่วิปัสสนา
วิปัสสนาตัวปัญญานั้น ถึงจะพาคุณ ตัดกิเลสได้ แต่วิปัสนาของคุณต้องอาศัยพุทโธ (อาศัยสมถะ)
วิปัสนาเป็นรถ สมถะเป็นน้ำมัน รถที่ขาดน้ำมัน มันจะวิ่งไหมหล่ะ
พองหนอ ยุบหนอก็ดี นะ มะ พะ ธะ ก็ดี สัมมาอรหังก็ดี ล้วนแต่เป็นปุ๋ยให้ พระนิพพาน เหมือนกันหมด เหมือนต้นมะขามที่กลายเป็นสะเดานั้นไง เข้าใจนะ
โอวาทธรรม หลวงปู่ไดโนเสาร์
...ขอให้เรา มีความแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา .."พยายาม..ปฏิบัติไป" .. เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว "ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์" ถ้าเป็นเดรัจฉาน เป็นนกเป็นกา ก็ปฏิบัติไม่ได้ อย่างมากก็ได้แต่อาศัยศาสนา อยู่กินไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นเอง นี่เราไม่ได้เป็นนกเป็นกา เราเป็นมนุษย์ ..มีสติปัญญาพอที่จะ รับความรู้ของพระพุทธศาสนาได้ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว.. "ก็ขอให้นำไปปฏิบัติ". ............................................. . หนังสือทวนกระแส หน้า46 ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
วันนี้อยากจะขอฝากญาติโยมสาธุชน ทั้งหลายทุกๆท่าน
ที่ทุกคนได้สร้างคุณงามความดีอยู่แล้ว ก็ให้สร้างคุณงามความดีต่อไป ชีวิตของเรานั้น อาศัยความดีเป็นอาหารใจ เป็นอาหารกำลังสมอง เป็นอาหารของชีวิต
ฉะนั้นเมื่อเราสร้างอาหารแห่งความดี ของชีวิตแล้ว สร้างสวรรค์วิมานให้แก่ ตนเองเป็นๆแล้ว
ก็อย่าสร้างนรกให้แก่ตนเอง นรกมันเกิดที่ไหน นรกมันเกิดที่ปาก เกิดที่เขาเรียกว่ากาย เกิดที่กาย ที่วาจา ที่ใจ
ฉะนั้นเรานั่นแหละเป็นผู้สร้างเครือข่าย สร้างขุมนรกให้แก่ตนเอง
คราวนี้พอจะเราสร้างสวรรค์ก็เช่นเดียวกัน เราก็มาตั้งใจน้อมนึกถึงสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดเราสร้างขึ้นมา
ก็สร้างที่กาย ที่วาจา ที่ใจ เช่นเดียวกัน สร้างยังไงสวรรค์ คือสร้างความดี พูดแต่สิ่งที่ดี คิดแต่สิ่งที่ดี ทำแต่สิ่งที่ดี ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนตนเอง จนไม่สามารถจะปกครองตัวได้
อันนี้แหละคือวิธีการสร้างความดี ฉะนั้นเราเกิดมา มาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ อย่าให้เสียชาติเกิดของการมาเป็นมนุษย์
เรารักษาภาวะ ความเป็นมนุษย์ของเราไว้ให้ดี และเราก็จะต้องรักษา ความดีของตัวเองไว้ และเราก็อนุโมทนากับความดีของผู้อื่น งั้นชื่อว่าเราได้กระทำความดีให้กับตนเอง
และต้องอนุโมทนาความดีของผู้อื่น เราก็จะได้ปัญญา จากการแลเห็นความดี ของผู้อื่น นั้นจงพยามให้รักษาดี ประพฤติดี ปฎิบัติดี คิดดี พูดดี ทำดี เดินห่างหนีจากความเลวร้าย นั้นแหละชื่อว่าท่านเป็นคนที่รักดีจริงๆ
โอวาทธรรม พระครูปทุมภาวนาจารย์ วิ. ดร. (หลวงพ่อวีระนนท์ วีรนนฺโท) วัดป่าเจริญราช ลำลูกกา คลอง ๑๑ จ.ปทุมธานี
"... ผู้ปรารถนาความสุขในปีใหม่ จึงพึงระลึกรู้อยู่เสมอว่า ต้นเหตุของความทุกข์ คือการประกอบกรรมชั่ว ต้นเหตุของความสุข คือการประกอบกรรมดี
การที่คิดว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว จัดเป็นความคิดอย่างมิจฉาทิฐิ ด้วยเหตุที่ยังไม่มีปัญญาสอดส่องรู้ถึงกฎแห่งกรรม อันเป็นกฎแห่งธรรมะ
ท่านทั้งหลายควรเริ่มต้นแก้ไขปัญหาชีวิตของตนเอง ด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง แล้วไม่ประมาทในการศึกษาอบรมเพิ่มพูนคุณธรรม เพื่อความเจริญก้าวหน้าสืบไปเถิด ..."
โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อมฺพรมหาเถร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธฯ กรุงเทพมหานคร
ถ้าหากว่าใครยังไม่ได้ทำสมาธิต้องทำเสีย ทำแล้วมันได้กุศลมหาศาล มันเกิดได้พลังจิตขึ้นมา พลังจิตนั้นมันน้อยนิดเดียวแต่มันบรรจุไปด้วยวาสนาบารมี บุญ วาสนา บารมี สามอย่างนี้มันจะเกิดขึ้นที่พลังจิต ในพลังจิตนั้นมันจะเก็บเอาไว้ทั้งหมด แล้วก็เป็นของที่ไม่ตาย ร่างกายแม้จะแตกสลายไปแต่พลังจิตนี่จะไม่แตกสลายไป จะติดตนตามตัวท่านทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ช่วยได้อย่างยิ่ง เพราะเวลาคนจะตายนี่จิตมันจะต้องออกจากร่าง เวลาจะออกจากร่างนี่มันจะต้องทุรนทุราย ในความทุรนทุรายนั้นก็เป็นบุญเป็นกุศลเพราะว่าเราได้สร้างพลังจิตขึ้น พลังจิตนั้นจะต้องมาช่วยเราในเวลาที่เราจะดับชีพทำลายขันธ์ เพราะว่าพลังจิตมันก็อยู่ที่จิต พอเราจะออกไปมันก็ตามเราไป มันก็ส่งให้เป็นบุญเป็นวาสนาเป็นบารมีติดตัวเราไปตลอด
ด้วยเหตุดังนี้ท่านทั้งหลาย การที่เราได้สร้างความดีต่างๆ นับไปแต่บุญทานการกุศล สวดมนต์ภาวนา สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาแต่เบื้องต้นมาจนถึงวันนี้ได้ก่อให้เป็นกลุ่มนอนนิ่งเรียกว่าแนบนิ่งอยู่ในจิตใจของเรา ก็ทำให้เรานี้ไปสู่สุคติแน่นอน
พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ถอดความจาก ธรรมรุ่งอรุณ ๒๔/๑๐/๕๘ หัวข้อ “มีชีวิตอยู่ให้ทำประโยชน์”
'ปฏิบัติได้ คลายทุกข์' 10 คำสอน 'หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ'
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้มีความจริงจังต่อการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง นั่นทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธ เราจึงคัดเลือกคำสอนของท่านที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้มา 10 ข้อเพื่อให้คุณผู้อ่านได้น้อมนำมาปฏิบัติ
1."บางคนทำความดีเพื่อให้คนอื่นยกว่าตัวเองเก่ง ดี ฉลาด อยากให้คนอื่นชม ถึงจะพอใจมีความสุข แต่ความดีแบบนั้นมันอยู่ที่ปากคนไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง ความดีที่ไม่อวดคนต้องดีที่ใจ คือเพียรระวังรักษาใจตัวเอง"
2."โดยมากคนเรามักมีอคติ คนนี้พวกเราก็เข้าข้าง ทำดีเราก็สรรเสริญ แม้ทำไม่ดีเราก็ยังกลับยกย่อง คนไหนที่ไม่ใช่พวกเรา ทำดีอย่างไรเราก็อิจฉา ไม่ชอบไม่พอใจ เพราะไม่ใช่พวกเรา ยิ่งถ้าทำไม่ดีแล้วเราก็ยิ่งไม่ยอมให้อภัย นั่นมันไม่ดีสำหรับใจเรา ไม่ใช่ดีชั่วอยู่ที่ตัวเขา แต่ดีชั่วมันอยู่ที่ใจเราเสียแล้ว เพราะเราคิดไม่ดีกับคนอื่น"
3."คนเราเมื่ออายุมากๆ มักเป็นบ้าหอบฟาง ตัวไม่หอบแต่ใจมันหอบ แบกไปหมด อะไรต่อมิอะไรเก็บมาคิดมานึกหมด สะสมอยู่คนเดียวนั่นแหละ ใครไม่ทุกข์เราก็เก็บมาทุกข์คนเดียว บ้าหอบฟางมันไม่มีอะไร มีแต่ฟางที่หอบไป มันหลงนึกว่าเป็นสมบัติล้ำค่า แต่ที่แท้ก็แค่ฟางเท่านั้นเอง…ต้องแก้ที่ใจ มันมี ก็ทำใจเหมือนไม่มี ปล่อยวางให้เป็น มันก็จะเย็นลง”
4."สมบัติในโลกนี้ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เงินสักบาทหนึ่งสักสลึงหนึ่งก็เอาไปไม่ได้ เอาใส่ปากก็ยังเอาไปไม่ได้ เว้นแต่บุญกุศลเพียงข้าวทัพพีหนึ่งหรือสมาธิชั่วครู่หนึ่ง กลับมีอานิสงส์ไปยังชาติหน้าได้"
5."บุญนี้ต้องทำบ่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย ทำจนเป็นนิสัย บุญจากการทำสมาธินี้เป็นยอดบุญ พยายามทนทำไปเถอะ พอถึงที่สุดแล้ว มันจะมีพลังบันดาลให้เราพบแต่สิ่งดีงาม แล้วมันจะเป็นกำลังใจให้เราแก้ปัญหาชีวิต ผ่านพ้นความวิกฤติไปได้"
6."ถ้ามีธรรมะประจำใจแล้วจะปลงตก ผัวไปมีเมียน้อยก็ยกให้เมียน้อยเลย จะได้ไปหาธรรมะ รอเวลานี้มานานแล้ว จะได้หมดห่วงเสียที อยู่กับคนไม่ดีคนสองใจนี่ไม่มีความสุขหรอก ไปอยู่กับธรรมะใจเดียวดีกว่าสบายใจดี"
7."คนเรามันโง่ เพราะไปคิดผิดๆ เขาไม่รัก เรายิ่งทุกข์ใหญ่ เขาไม่รักเราสิสบายใจ เราไม่ต้องไปปรนนิบัติเอาอกเอาใจเขาแล้ว เราช่วยตัวเองดีกว่า เข้าหาธรรมะ มาบวชมาเรียนมาปฏิบัติเสียดีกว่า ตายแล้วยังได้ไปสวรรค์บ้าง อ้ายนั่นตายแล้วก็ไปนรก…เพราะรักเขาไม่มีปัญญา ตัวเขากลับไปนั่งยิ้มคนเดียว ส่วนเราก็เป็นทาสของความรักไป ช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย เขาเรียกว่าเป็นทุกข์เพราะความรัก"
8."คนเราที่ทะเลาะกัน ก็คือ แย่งความเป็นใหญ่ หรือแย่งความคิดที่ว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ตัวเองเป็นนาย ตัวเองสำคัญ คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าเขา แต่แท้ที่จริงแล้วคนเรามีธาตุธรรมเสมอกัน ไม่มีใครจะเกินเลยกันได้ มนุษย์เรานี้มีกินเท่ากัน นอนเท่ากัน ใช้ชีวิตไม่ต่างกัน บุญกุศลก็สามารถทำได้เท่ากัน ไม่มีใครจะวิเศษกว่ากัน"
9."คนคิดมากจะมีความสุขอะไร คนคิดมากก็คือคนทุกข์มาก…คนสงบมากคือคนสุขมาก สงบที่ใจ ไม่สงบที่ใจ ทุกข์ที่ใจ อันนี้แหละที่จะป็นอริยทรัพย์ของเรา เราต้องฝึกใจอย่างนี้ จะได้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในชาตินี้ว่า มาวัดแล้วเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจได้ดีขึ้นกว่าเดิม"
10."ถ้าเราไม่ฝึกใจเลย เราจะเป็นคนเร่าร้อนอยู่เรื่อย แล้วเราจะใช้ใจที่เร่าร้อนนี่หรือ…ไปไหนก็ใจร้อน นั่งก็ใจร้อน นอนก็ใจร้อน กินก็ใจร้อน คิดนึกก็ใจร้อน เราพอใจหรือที่่เราเป็นคนร้อนอยู่ตลอดเวลา พอแล้วหรือที่เราจะไปใช้กับโลก อยู่วัดก็ร้อน อยู่โลกแล้วยิ่งร้อนใหญ่ แล้วเมื่อไหร่เราจะมีความสุข…
"พยายามภาวนาของเราไว้ "พุทโธ" ไว้ พุทโธๆๆๆ จนใจเย็น จนใจไม่โกรธ จนใจไม่โลภ ไม่หลง จนใจสบาย…แล้วนั้นแหละ เราจึงเอาใจดวงนี้ไปใช้ได้ เพราะมันเย็นพอแล้ว" .............
จากหนังสือคติคำสอนหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ สำนักพิมพ์ธรรมสภา
ความสุขของโลกมันปนด้วยทุกข์ สุขน้อยเดียวนอกนั้นมันมีแต่ทุกข์ ทุกข์เพราะความอยากมี อยากเป็น ทุกข์เพราะความไม่พอ เมื่อไหร่ที่มีความพอ พอดี พอใจ เมื่อนั้นแหล่ะมีความสุข ที่พากันนั่งฟังอยู่นิกะรู้ว่าความไม่พอทำให้เกิดทุกข์ แต่จะมีจักคนที่จะปัดทิ้งซึ่งความทุกข์ คือความไม่พอออก มีแต่โกยมาใส่ตัวเอง เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตัวเอง แล้วบอกว่าทุกข์ บอกว่าร้อน จะไม่ทุกข์ไม่ร้อนแบบใด๋ ในเมื่อจะของเองหาไฟมาเผาจะของเอง ...
โอวาทธรรม หลวงปู่บุญมา คมฺภีรธมฺโม วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
..บุคคลทั้งหลายบางบุคคลก็จะคิดว่า การแสวงหาแต่ทรัพย์ภายในอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีทรัพย์ภายนอกมันจะอำนวยความสะดวกให้เรามีความสุขได้อย่างไร อาจจะมีความสงสัยในธรรมเทศนากัณฑ์นี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะเข้าใจในเรื่องนี้เองว่า ถ้าหากบุคคลนั้นพากันศึกษาและเข้าใจว่าทรัพย์ภายนอกเขามีประโยชน์อย่างไร เช่น มีเงิน ถ้าเราแสวงหาเงินมาได้ เราไปซื้อสิ่งของต่างๆให้เป็นประโยชน์ได้มันก็เป็นประโยชน์ แต่มันเป็นทรัพย์ภายนอก มันอำนวยความสะดวกให้เหมือนกับซื้อรถซื้อเรือ ซื้อบ้านซื้อช่อง ซื้อสิ่งของเครื่องนุ่งห่มอะไรต่างๆและเครื่องอำนวยความสะดวกมีมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เราทรัพย์สมบัติทั้งหลายนี้ ..บัดนี้เครื่องอำนวยความสะดวกที่เราซื้อมา ซื้ออยู่ซื้อกินก็ดีอะไรต่างๆก็แล้วแต่ มันมีมากมายก่ายกองที่บุคคลทั้งหลายจะซื้อเอาสิ่งของทั้งหลายนั้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ตน มันก็เป็นวัตถุทั้งหลาย เอามาใช้มันมีความสะดวก เช่น เรามีรถ เราซื้อรถมาหลายคันอำนวยความสะดวก แต่มันเจือไปด้วยทุกข์ ต้องรักษา เราสร้างบ้านหลังใหญ่หลังโตเราก็ต้องรักษา ถ้าเราสร้างหลายๆหลังก็ยิ่งต้องรักษามากขึ้น ..เหมือนบุคคลทำงานอะไรหลายบริษัทนี่นะ ถ้าเราทำงานหลายบริษัทเราก็ต้องดูแลหลายบริษัท ไม่ได้พักผ่อน ทุกข์ยากลำบาก เราก็จะมีความลำบากมีทุกข์เกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ทรัพย์ภายนอก เราทำไร่ทำสวนก็เหมือนกัน ทำพื้นที่กว้างใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งต้องรักษามากขึ้น มันเป็นอย่างนี้ ถ้าพูดถึงมีชุมชนมีบริวารมาก มันก็ยิ่งต้องดูแลบริวารให้ความสะดวกแก่เขา เลี้ยงดูและดูแลเขา ภาระก็มีมากขึ้นเหมือนกัน นี่มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นทรัพย์ภายนอก ..ถ้ามีช้างหลายเชือกอย่างนี้ก็ต้องลำบาก มีโคหลายตัวมีกระบือหลายตัวอย่างนี้ มีหมูหมาเป็ดไก่ก็แล้วแต่ แมวอะไรต่างๆที่เราเอามาเลี้ยงไว้อย่างนี้หลายๆอย่าง มันเป็นทรัพย์อำนวยความสะดวกภายนอก แต่ก็ทำให้เกิดทุกข์ในการดูแลซิ พระพุทธเจ้าสอนว่ามันเจือไปด้วยทุกข์ คิดดูสิเรามีอะไรอยู่ในบ้านของตนเองที่ซื้อมาไว้ ก็ต้องเก็บต้องรักษาดูแล เดี๋ยวมันเก่าคร่ำคร่าก็ซ่อมดูแลรักษามัน นี่มันเป็นอย่างนี้เอง..
..โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทัโป...
ตัวอวิชชาที่มันอยู่ในตัวของเรานี่ ที่มันทำให้จิตใจของเราต้องมัวหมองก็คือตัว “อวิชชา” อวิชชาซึ่งเราจะแปลว่ายังไง อวิชชา วิชชาก็คือ ความรู้ อะ...เอา “อะ” ไว้ข้างหน้ามันก็คือ ปฏิเสธ ไม่มีความรู้ คือไม่มีความรู้ว่าเรานี้มันเกิดมาจากไหน แล้วเวลาตายแล้วเราจะไปไหน แล้วเวลาเราอยู่นี่เราอยู่ทำอะไร อย่างนี้เป็นคำถามที่เราพากันตอบกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นในข้อปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระไม่ว่าจะเป็นโยมต่างคนก็ต่างเป็นชาวพุทธ ต่างคนก็ต่างก็มาลงเรือลำเดียวกัน คือหมายว่า เรือลำนี้เป็นเรือเรียกว่า “เรือชาวพุทธ” เราก็เป็นผู้โดยสาร เขาก็ต้องมีกัปตันสำหรับเป็นผู้ขับเรือไป เมื่อเราเป็นผู้โดยสารนั่นเราก็ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งไป แล้วก็นอนไป แล้วก็เดินไป แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก นอนไปบ้าง นั่งไปบ้าง คุยกันบ้าง ในที่สุดเราผู้โดยสารมันก็ไปถึงฝั่งอยู่ ไปถึงฝั่งพร้อมกัน ไม่ว่ากัปตันไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารก็ไปถึงฝั่งเดียวกัน
ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านเปรียบเหมือนกันกับว่า พุทธศาสนานี่เป็นเรือลำใหญ่ที่ผู้โดยสารจะโดยสารเรือลำนี้ไป อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าไม่กระโดดหนีจากเรือไปซะก่อนแล้ว เราก็จะต้องไปถึงจุดที่หมายปลายทาง แต่โดยมากคิดว่าเรือมันจะไปที่ไหนก็ไม่รู้ เราเองก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็เลยโดดน้ำ โดดน้ำก็ตายเปล่า ปลาฉลามเอาไปกินเงียบ ก็เหมือนกับว่า เมื่อเราเป็นชาวพุทธแล้ว ชาวพุทธเขาจะต้องทำยังไงเขาถึงจะเป็นชาวพุทธ
“ชาวพุทธ” ก็คือเป็นผู้ที่ “ละบาป บำเพ็ญบุญ” ที่ถือว่าเป็นชาวพุทธ แล้วก็ยังมีที่ว่า “ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป” อันนี้คือชาวพุทธ ที่ไม่ใช่ชาวพุทธคือชาวพุทธแต่ปากแต่ว่าไม่ใช่ชาวพุทธนั้นก็หมายความว่า เป็นพุทธแต่ปาก เราพูดว่าข้าพเจ้าเป็นพุทธแต่ว่าจิตใจอำมหิต สร้างแต่บาปกรรมให้แต่ตัวของตนก็เลยกลายเป็นเพียงแต่พูดแต่ว่าเราเป็นชาวพุทธแต่ว่าที่ไหนได้...โดดออกจากเรือลำนี้ไปแล้ว เมื่อโดดออกจากเรือลำนี้ไปแล้วมันก็ไม่มีที่พึ่ง หมายความว่าตกกลางทะเลแล้วมันหาอะไรเป็นที่พึ่งไม่ได้ มันก็จมน้ำตายฟรี
พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ถอดความจาก ธรรมะรุ่งอรุณ : “ทำอย่างไรจิตดวงนี้ ไม่ต้องลำบากอีกต่อไป” ๐๘/๐๑/๕๗
|