#กิเลสของคน
โยม: หลวงปู่ครับถ้าคนเข้าวัดเยอะๆ ฟังธรรมเยอะๆ ศาสนา บ้านเมืองคงเจริญนะครับผม
หลวงปู่: อือ แต่ยากนะเพราะกิเลสมันมีกำลังมาก
โยม: งั้น ต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกณฑ์คนมาเข้าวัด ฟังธรรมมากๆครับผม
หลวงปู่: เออนั้นหล่ะแนวสิฉิบหาย
โยม: ฉิบหายยังไงครับผมหลวงปู่
หลวงปู่: คนที่ไม่ศรัทธา คนที่ยังไม่พร้อม เอามาฟังธรรมมันก็เหมือนเอาแก้วน้ำคว่ำมาวางไว้กลางแก้วน้ำหงายนั้นหล่ะ เทน้ำใส่ยังไงก็ไม่เข้าเกะกะอีกต่างหาก ให้เขาพร้อมให้อินทรีย์เขาแก่กล้า มันจะเป็นแก้วหงายเองไม่ต้องไปเกณฑ์มาดอก คนมีธรรมอยู่ไหนก็เรียบง่าย อยู่ไหนก็สุขสบาย คนไม่มีธรรมไปอยู่ที่ใดก็เดือดร้อนที่นั้น ทุกข์ที่นั้น เอาเข้าวัดก็ทุกข์วัดรกวัดนั้นหล่ะ
พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว)
ในกาลามสูตรพระพุทธองค์ทรงวางหลักความเชื่อไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ๑. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา ๒. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา ๓. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ ๔. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ ๕. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน ๖. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมานคาดคะเน ๗. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเดาจากอาการที่เห็น ๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว ๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ ๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษ เมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ
ในโลกตะวันตกพระสูตรนี้ดัง คนอ่านส่วนใหญ่มักจะสรุปว่าพระพุทธศาสนาสอนว่าไม่ต้องเชื่อคนอื่น แม้แต่ครูบาอาจารย์ หรือพระศาสดาเอง ต้องรู้เองพิสูจน์เอง ชาวตะวันตกที่หันมาสนใจศาสนาตะวันออกเพราะเบื่อหน่ายศาสนาดั้งเดิมของตนชอบมาก แต่ที่จริงคำที่สำคัญที่สุดในพระสูตรนี้คือคำว่า ‘ปลงใจเชื่อ’ ปลงใจเชื่อไม่ใช่ปฏิเสธหรือไม่ให้ความสำคัญเลย ไม่ปลงใจเชื่อ คือ ‘ไม่เชื่อ ๑๐๐% เพียงเพราะ….’ บางสิ่งบางอย่าง เช่น การเล่าลือ เราฟังหูไว้หูดีกว่าแน่นอน แต่ในเมื่อผู้มีกิเลสหนายังเชื่อจิตใจตัวเองไม่ได้ บางอย่างเราเอาเป็นข้อสังเกตหรือข้อพิจารณา ส่วนคำสอนในพระคัมภีร์ คำสอนของครูบาอาจารย์เราเชื่อไว้ก่อนก็เป็นประโยชน์ เพื่อมีหลักมีแผนที่สำหรับการเดินทาง หลักที่พระองค์ทรงฝากไว้คือถึงจะเชื่อ ๘๐% หรือ ๙๐% หรือ ๙๕% อย่าให้มันถึงร้อย
พระอาจารย์ชยสาโร
...การพิจารณาปัญญา ต้องแยกออกจากการปฏิบัติสมาธิ "ทำพร้อมกันไม่ได้" ..ถ้าจะทำสมาธิ ก็อย่าไปทำปัญญา ถ้าจะทำปัญญา ก็อย่าไปทำสมาธิ "มันเป็นคนละเรื่องกัน"
..เหมือนถ้าจะนอนก็ไม่ต้องไปทำงาน ถ้าจะทำงานก็อย่านอน
.."การฝึกสมาธิเป็นการพักจิต สร้างกำลังจิต สร้างความสุขให้กับจิต"
..ดังนั้น.. เวลาทำสมาธิอย่าไปทำปัญญา "อย่าไปพิจารณาอะไรทั้งนั้น". ..................................... . ธรรมะสดๆร้อนๆเล่ม1 หน้า132 ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
พวกเรามีเครื่องไม้เครื่องมือดีอยู่เวลานี้ แต่พวกเราไม่เอาจริง พวกเราไม่ทำจริง ถ้าพวกเราทำจริงต้องได้เป็นเนื้อเป็นหนังติดไม้ติดมือ ติดจิตติดใจบ้างล่ะ ที่มันหลุดไม้หลุดมือสลัดปัดหลุดอยู่เวลานี้เพราะอะไร เพราะพวกเราปล่อยวางทอดธุระ เห็นว่าเจ้าของเป็นคนไกล ไกลตรงไหนล่ะ มันใกล้ทุกข์ขนาดนี้ยังว่าไกลเหรอ ไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นเหตุแห่งทุกข์ เจ้าของเป็นทุกข์เวลานี้เพราะอะไร เพราะพวกเราโลภ โกรธ หลงนั่นล่ะ
ปัญหาของพวกเราอยู่ที่โลภโกรธหลง ทำไมจะชำระความโลภความโกรธความหลงได้ ก็เอาสิ่งที่เป็นข้าศึกศัตรูต่อเรื่องนั้น โลภมันก็มีเครื่องไม้เครื่องมือคือความเห็นแก่เนื้อแก่ตัว ก็เอาความเห็นแก่คนอื่น อย่างที่พวกเราจาคะเสียสละข้าวปลาอาหารที่พวกเรานำมา ครูบาอาจารย์ออกบิณฑบาตด้วยบาตรเปล่า ๆ กลับมาเต็มเปี่ยมด้วยข้าวปลาอาหาร ข้าวปลาอาหารตกลงในบาตร อัตภาพของครูบาอาจารย์เป็นไปเพราะข้าวปลาอาหารจากพวกเราฆราวาสญาติโยมที่นำมา เป็นผู้ให้ ที่ให้น่ะให้เฉพาะกิริยาอาการเหรอ ให้ถึงใจสิ เพราะออกจากสมบัติส่วนตัวแท้ ๆ มีแต่ความดีเลิศ มีแต่ความเป็นเลิศ เลิศที่สุดในเวลานี้ ดีที่สุดในเวลานี้ แล้วทำไมจะไม่ได้รับผลเลิศเล่า ทำของดีต้องได้รับผลดี ทำของเลิศต้องได้รับผลเลิศ เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราทำด้วยจิตด้วยใจ ถึงจิตถึงใจ เป็นเครื่องบูชาด้วยอามิสบูชา
การบูชามีหลายอย่าง ปฏิบัติบูชาหนึ่ง อย่างที่พวกเรามานี่ เสียสละบ้านช่องห้องหอ ใกล้ไกล ไม่ได้เป็นอิสระ ไม่ได้เป็นปกติ เพราะมาสู่สถานที่อัตคัตขัดสน มาวัด วัดก็เป็นเครื่องวัดจิตวัดใจอย่างหนึ่ง พวกเราจะปล่อยปละละเลย จะปล่อยวางได้ไหม มาได้รับความสะดวกไม่สะดวกก็ให้อภัย เพราะไม่ใช่บ้านเรา เรารู้อารมณ์ว่าชอบไม่ชอบ เอาความจอมปลอมแยกออก แทรกออก แยกออกจากกัน ทำให้รู้ขึ้นมา เมื่อรู้ขึ้นมาก็เป็นพุทธะพุทโธ เบื้องต้นยังเป็นพุทธะแบบจาง ๆ เป็นศาสนาพุทธแบบจาง ๆ แบบล้มลุกคลุกคลาน เอาเข้า ๆ จนแน่นหนามั่นคง เป็นอจลศรัทธา คือมั่นคงไปว่า พระรัตตรัยสอนเรื่องกรรมและผลของกรรม พวกเราเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรม เราจึงมาสร้างกรรมดีเพื่อผลที่ดี ผลที่ดีจากกิริยาอาการของพวกเราที่ทำนั่นเอง
: พระอาจารย์สามดง จันทโชโต ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
การเพ่งที่กายลงแห่งเดียวตลอดทุกอิริยาบถ ตามหนังสือมุตโตทัยก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว เพราะมีสติอยู่กับกาย ตรงกับคำที่พระมหากัสสปะกล่าว และท่านก็สมาทานว่าเราจะพิจารณากายเป็นอารมณ์ ทั้งกายนอกและกายใน กายใกล้ให้เป็นสักแต่ว่าดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะรวมหรือไม่รวมก็เอากายเป็นตัวประกัน
เมื่อมันยังไม่หน่ายไม่คลายกำหนัดตราบใดก็จำเป็นจะได้รื้อกายให้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก พร้อมทั้งมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นสารพัดโลกจิปาถะ พระพุทธศาสนาจึงยืนยันว่ากายนี้มีทุกข์มากมีโทษมาก เหล่าอาพาธต่างๆ ย่อมตั้งอยู่ในกายนี้ โรคในตา โรคในหู โรคในลิ้นโรคในฟัน โรคในจมูก โรคในปาก ทวารหนักทวารเบา โรคกลากเกลื้อน ฝีทุกชนิด เหล่านี้เป็นต้น
การพิจารณาอย่างนี้เป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันด้วย คนเราถ้ารู้เท่าทันกายแล้วการหลงหนังหุ้มก็จะเบาลง และเป็นธรรมดาอยู่เองที่มีอารมณ์ต่างมากระทบจิต สิ่งที่มากระทบจิตย่อมเป็นยาวิเศษเป็นเหตุให้ระอาการมากระทบ ผู้ที่ราคะโทสะไม่กระทบจิตนั้นเป็นญายะปฏิปันโนคือพระอนาคามีนั่นเอง
เราก็ต้องพิจารณากายและใจให้ลงสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่ในตัว ขณะเดียวพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ หรือพร้อมกับกรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้า
กรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้าซึ่งเป็นเป้าเดิมนั้น ที่เราตั้งไว้เฉพาะปัจจุบันซึ่งมีสติปัญญาสมดุลกันอยู่ขณะเดียวไม่ได้ส่งส่ายหนีจากเป้าเดิม เป้าเดิมคืออะไรเล่า คือกายและใจที่กลมกลืนกันอันเราตั้งไว้ และที่ไม่สงสัยในคำสอนและข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์นั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว...
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
"ความดี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำทุกวัน เหมือนกับลมหายใจเข้าออก ที่จำเป็นจะต้องหายใจ เช่น กราบพระทุกวัน สวดมนต์ทุกวัน สิ่งนี้จำเป็น เหมือนกับลมหายใจ ถ้าเราไม่หายใจ เราก็ตาย ถ้าเราไม่ทำความดี เราก็ตายจากวัด"
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
พระโสดาบัน ยังโกรธ ยังร้องไห้ ยังอยากรวย อยากสวยอยู่หรือเปล่า?
ถ้าถึงพระโสดาบันจริงๆ จิตจะยอมรับนับถือ กฏของธรรมดาเพิ่มขึ้น จิตจะรักพระนิพพาน เมื่อถูกนินทาว่าร้ายใหม่ๆ จะไม่มีความรู้สึก แต่ถ้าโดนนินทาหนักๆ เข้า
พระโสดาบันก็สะเทือนเหมือนกัน เพราะยังมีความโกรธแต่ว่าไม่คิดจะฆ่าใคร อย่านึกว่าพระโสดาบันไม่โกรธนะ ยังโกรธอยู่แต่โกรธน้อยแล้วก็หายเร็ว
อีกประการหนึ่งกฏธรรมดาก็มีอยู่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ร่างกายจะป่วยไข้ไม่สบาย ก็ถือว่าเป็นธรรมดาของร่างกาย
แต่ว่ามันก็ยังมีการหวั่นไหว การนึกว่าพระโสดาบันจะไม่ร้องไห้ นี่ไม่จริง ถ้าพ่อตายแม่ตายนี่ พระโสดาบันยังร้องไห้นะ
เพราะว่าพระโสดาบันนี่กำลังใจยังไม่สูงนัก กำลังใจยังแค่ชาวบ้านชั้นดีธรรมดา แต่ดีกว่านิดหนึ่งคือว่าไม่ลงอบายภูมิ พระโสดาบันยังมีความรักในระหว่างเพศ แต่ก็ไม่นอกใจคู่ครอง
พระโสดาบันยังมีความต้องการความร่ำรวย แต่ไม่คดโกงใคร พระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ไม่คิดฆ่าใคร พระโสดาบันยังมีความหลงไหลในร่างกาย ยังมีความต้องการความสวยสดงดงาม
โดยหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง
[ คนที่ชั่ว แล้วรู้ว่ายังชั่วอยู่ คือ คนดี แต่คนชั่ว ที่ว่าตัวเองดี พวกนี้แหละชั่วแท้ ] ไม่เห็นฉันจะผิดอะไรเลย พวกแกมาว่าฉันนี่ ไม่เห็นฉันจะผิดอะไรเลย นั่นแหละชั่วแท้เลย มองไม่เห็นในสิ่งที่ตัวเองกระทำอยู่ว่าถูกหรือผิด เข้าใจสิ่งที่ผิดเสียอีกว่าถูกแล้ว ...
#หลวงพ่อเฉลิมโชค_ฉันทชาโต สำนักวิปัสสนาป่ากล้วย อุตรดิตถ์ เทศน์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562
|