Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จงมีสติอยู่เสมอ

อาทิตย์ 19 ม.ค. 2020 5:31 am

...ต้องปฏิบัติเสียแต่วันนี้
ปฏิบัติได้มากเท่าไร
ก็จะบรรลุได้เร็วเท่านั้น

ถ้ามัวผัดวันประกันพรุ่ง
งานก็จะรอเราอยู่

..หันไปทีไรก็เห็นว่า ต้องนั่งสมาธิ
ต้องเดินจงกรมอีกแล้ว

“รีบทำให้ติดเป็นนิสัย
จนกลายเป็นสิ่งที่ชอบทำ “

..ไม่อย่างนั้น
มันก็จะรังควานใจเราอยู่เรื่อย
พอเห็นทีไรก็จะ..รู้สึกอึดอัด
ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมอีกแล้ว.

.................................
.
กำลังใจ37 กัณฑ์374
ธรรมะบนเขา 21/10/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








#จงมุ่งมั่น
“...เราต้องการที่จะพ้นจากความเกิดความตายเข้าถึงการเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เข้าถึงเป้าหมายที่เรามุ่งมาดปรารถนากัน ให้พากันบำเพ็ญอย่างจริงจังลงไป ทานก็ทำอย่างจริงจัง รักษาศีลก็จริงจังมุ่งมั่น รักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ขึ้นมา ในเมื่อเราจริงจังในการที่ทำให้ความบริสุทธิ์ของจิตของเรานี้มีกำลังพอ จิตของเราก็เข้าถึงความบริสุทธิ์ หรือวิมุตติธรรมขึ้นมาได้ เข้าถึงการเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้ ตามที่เรามุ่งมาดปรารถนากัน.”

หลวงปู่แบน ธนากโร











เกิด-ตายเป็นประเพณี

“...ถ้าหากเราปรารถนาแต่พากันย่อหย่อนพากันอ่อนแอในการประพฤติปฏิบัติ ทานก็ทำเป็นประเพณี ศีลก็เป็นประเพณี ภาวนาก็เป็นประเพณี เลยเกิดเป็นประเพณี ตายเป็นประเพณี เกิด-ตายๆ เกิด-ตายเป็นประเพณีนั่นเอง ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการเป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้าได้ เพราะมาติดอยู่ตรงเกิดตรงตายนี่...”

หลวงปู่แบน​ ธนากโร









#ถ้าคิดว่าบวชพระแล้วจะสบายอย่าบวช

... เราบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ทำความพ้นทุกข์ให้แจ้ง วิถีแห่งความเพียร อดกินอดนอน ขันติอดทนทุกอย่าง เดินจนเลือดติดทางจงกรม นั่งจนยางตายออก ปอกเปลือกขันธ์๕ และทำลายมายาของจิตด้วยสติธรรมปัญญาธรรม

… แดดเเรงอากาศร้อน …ฝนตกอากาศหนาว เราก็ยังก้าวเดินต่อไป ทางสายพระนิพพาน เป็นสายทางทรมานกิเลส จะหวังความสุขความสบายอะไรได้ กิเลสทุกข์นั่นแหละธรรมเจริญ ทำตามคำสอนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

… ทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์แล้วยังประโยชน์สุขแด่เพื่อนสรรพสัตว์ต่อไป…

โอวาทธรรม :
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์)










"กงจักรอันใหญ่หลวงคือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันกำลังบดเราอยู่ มันเป็นของจริง เราจะมัวไปหอบเอาอันโน้น อันนี้มา มันก็เป็นธรรมเมาเท่านั้นแหละ อารมณ์ก็สัญญานี่แหละ สัญญาไปจำมันมา ใจเรารับมันมา คิดไป คิดมา มันก็เดือดร้อนอีก เวลานี้เรามาทำความพอ อะไร ๆ ก็ให้มันพอ หลงก็พอแล้ว โลภก็พอแล้ว โกรธก็พอแล้ว อันนี้เป็นรากเป็นเง่าของกิเลสตัณหาทั้งหลาย ความพอใจก็เพราะตัณหา ความไม่พอใจก็เพราะตัณหานี่แหละ..."

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ









ใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา
ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอม
อย่าให้ อกุศล วนมาตอม
ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบาย
เห็นคนอื่น เขาชั่ว ตัวก็ดี
เป็นราคี ยึดขันธ์ ที่มั่นหมาย
ยึดขันธ์ต้อง ร้อนแท้ เพราะแก่ตาย
เลยซ้ำร้าย กิเลสกลุ้ม เข้ารุมกวน
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต









#เมื่อบารมีพอ
“นั่งตั้งแต่หัวค่่ำจนสว่าง”
“เดินตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง” นี่เป็นการสร้างบารมี
บารมียังไม่พอ ทําไม่ได้หรอก ดึงให้ไปทําขนาดไหน มันก็จะดึงจนเชือกขาด นั่นล่ะ ดีไม่ดีจมูกมันฉีกโน่นล่ะ ถ้าหากว่าบารมีไม่พอ เดินจงกรมตั้งแต่หัวค่ำไปจนสว่าง เดินไม่ได้ นั่งก็เหมือนกัน ถ้าบารมีไม่พอนั่งไม่ได้ มันต้องบารมีพอ

บารมีพอนี่ ดึงไว้ก็ไม่อยู่ ดึงไม่ให้เดินจนแจ้ง ดึงไม่ให้นั่งจนสว่าง ดึงไว้ยังไง ก็ไม่อยู่ มีคนมาห้ามก็ไม่ได้ ห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เรียกว่า บารมีพอ บารมีพอแล้ว การเดินตลอดรุ่ง การนั่งตลอดรุ่ง เป็นเรื่องเล็ก

บารมีพอคืออะไร คือมันพร้อมหมด พร้อมที่จะต่อสู้ จิตใจนี่พร้อม มันฮึกเหิม มันห้าวหาญ ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เหมือนนักมวยที่ฟิตเต็มที่นี่ ดึงไม่ให้ชกนี่ โอ้ย..มัน เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะไปเปรียบ

ทํายังไงบารมีจึงจะพอ สร้างบารมีให้พอคือยังไง

ก็ต้องทําให้มาก เดินจงกรมก็เดินให้มาก นั่งสมาธิก็นั่งให้มาก นั่งให้มากเดินให้มากๆ นี่ล่ะเป็นการสร้างบารมีให้พอ หนักเข้า นั่งภาวนานี่ต้องให้ชนะความเจ็บความปวด ให้ได้เสียก่อนจึงค่อยเลิก เดินจงกรมนี่ ให้ชนะขาอ่อนขาเพลียไปเสียก่อนจึงค่อยเลิก เรียกว่ามันขยับก้าวหน้าไปได้ขึ้นชั้น ถ้าหากว่าเดินจงกรมผ่านการเหน็ดการเหนื่อยการอ่อนการเพลีย ทีนี้ถ้าจะเดินตลอดคืนเดินตลอดรุ่งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เดินได้อย่างสบาย ไม่ได้เป็นอย่างทุกข์อย่างลําบาก นั่งภาวนาก็เหมือนกัน นั่งอย่างสบาย ไม่ได้นั่งอย่างทุกข์ ไม่ได้นั่งอย่างทรมาน นี่เรียกว่า บารมีพอ

มันค่อยก้าวไปทีละขั้นๆ ที่แรกก็ต้องอาศัย ขันติบารมี อดทนเอา แล้วก็อาศัย วิริยบารมี ความพากความเพียรเอา แล้วก็อาศัย สัจจอธิษฐาน เป็นบารมีเคียงคู่ไปด้วย อาศัย ขันติวิริยะ สัจจะ อธิษฐาน นี่ บารมีอันนี้พยายามสร้างขึ้นให้มาก ในเมื่อสร้างขึ้นให้มากๆ พอแล้ว ใจมันเป็น ใจมันเป็นแล้วทีนี้มันก็เป็นไปเอง ที่จะเดินจนสว่าง ก็เดินได้ ที่จะนั่งจนสว่างนี้ก็นั่งได้ เพราะมันเดินอย่างสบาย มันไม่ได้เป็นอย่างทุกข์ อย่างยาก มันนั่งมันก็นั่งของมันอยู่อย่างสบาย มันไม่ได้นั่งอย่างทุกข์อย่างยาก

เอ้า.. ใครมีความพากความเพียร ใครมีความสัตย์ความจริงให้ตั้งอยู่อย่างนี้ ให้ตั้งลงในลักษณะนี้ ผู้นั้นไม่ว่าผู้เก่าไม่ว่าผู้ใหม่ จะเห็นความอัศจรรย์ในการปฏิบัติธรรม

ถ้าหากว่าผู้เก่าก็ดีผู้ใหม่ก็ดี ไม่มีความพากความเพียร ไม่มีการตั้งความสัตย์ ความจริงอย่างนี้ ความอัศจรรย์ในข้อปฏิบัติ ความอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนานี้ มืดมน

โอวาทธรรมหลวงปู่แบน ธนากโร (๙ ส.ค.๓๐)
คัดลอกมาจาก หนังสือ พระธนากโร หลวงปู่แบน หน้า ๑๔๘ - ๑๔๙











จำไว้นะ... ทุกอย่างบนโลกล้วนเกิดขึ้นตามวาสนาบารมีที่เคยบำเพ็ญมา หาใช่สิ่งที่มันปรุงแต่งขึ้นมาเองไม่
.
บนโลกนี้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังก็ดี สมหวังก็ดี การพลัดพรากก็ดี การไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาก็ดี ทุกอย่างเกิดขึ้นตามกระแสแห่งกรรม ที่ผู้รับนั้นได้เคยกระทำไว้ในกาลหนหลัง ไม่มีสิ่งใดที่จะมาหักล้างกันได้

จะไปบนบานที่ใดก็ตามแต่ ถ้าสิ่งที่เรากำลังเจอนั้นเป็นวิบากของกรรมแล้ว เทพองค์ใดก็ไม่สามารถช่วยได้.... สิ่งที่ช่วยได้ คือการมีสติและเผชิญหน้ากับมัน การทำกุศลให้ถึงพร้อมนี่แหละวิธีการรับมือกับวิบากกระแสแห่งกรรม

หลวงปู่สุธัมม์ ธัมปาโล












”ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา"
" จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น
จะมองอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น
ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้องปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด
แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล
ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก
แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆมาเป็นธรรม เป็นยอดไตรปิฎกได้
ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจสามเณรไปบิณฑบาต เห็นเชาไถนา เห็นเขาไขน้ำ
นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญาแล้วท่านก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้
เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถมาเป็นอุบายว่า
ดินไม่มีใจทำไมเขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้
น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้
เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์
เพราะเหตุนั้นธรรม จึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้ามิใช่หรือ”
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต









...ถ้ารู้ว่าขันธ์๕เป็นเอง
เกิดแล้วก็ดับเอง มันเกิดเอง ดับเองของมันอยู่อย่างนั้น
ท่านก็เรียกว่า "วิบากขันธ์"
ก็คือผลของขันธ์๕ อิงอาศัยกันเกิด
ถ้าจิตไปรู้อันนั้นอันนี้ก็เรียกว่า "วิบากจิต"
นี่แหละคือสิ่งที่ควรกำหนดรู้เรียกว่า "ทุกขสัจ" ถ้าไม่รู้ว่าขันธ์๕ เกิด /ดับเอง ไม่รู้ว่าขันธ์๕ทำงาน ไปแบกเอางานเอาขันธ์๕
หรืออุปาทานขันธ์๕
ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์๕ก็คือ ทุกข์
ถ้าเรารู้ว่าขันธ์๕มันเกิดเองดับเอง
ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ตัวตนอยู่ในนั้น
ขันธ์๕ ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีเจ้าของ
จะเกิดจะดับวันละกี่ครั้งเราไม่ไปอุปทานเอา ไม่ยึดไม่ถือเอา
...."ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"...เท่านั้น...

พระธรรมคำสอนของหลวงตาศิริ อินทสิริ วัดถ้ำผาแดงผานิมิต
ต. บัวเงิน อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น










พระอริยสาวกที่เป็นพระอเสขบุคคล (อเสขะ=ผู้ไม่ต้องศึกษาเพราะศึกษาเสร็จแล้ว คือ พระอรหันต์) ท่านละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ได้ ส่วนพระเสขะบุคคลท่านยังละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ไม่ได้ เมื่อเวลาโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เสขบุคคลกับปุถุชนนั้นจะต่างกันอย่างไร
.
ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่า พระเสขบุคคลเวลาที่โลกธรรมทั้ง ๘ เกิดขึ้น สมัยที่ท่านมีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้โลกธรรมตามความเป็นจริง ความยินดียินร้ายในโลกธรรม ๘ ก็ไม่เกิดขึ้นในใจขึ้นได้ สมัยที่เผลอสติ เวลาที่โลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความยินดียินร้าย แต่ว่าคงน้อยแล้วก็ละได้ง่าย ไม่ครอบงำใจเหมือนปุถุชน เพราะท่านได้เห็นความจริงแล้ว (พระเสขะ=ผู้ยังต้องศึกษา คือพระโสดาบัน สกทาคา อนาคา)
.
นี่เป็นส่วนความเข้าใจ ถ้าต้องการจะรู้ให้แน่ ก็จงประพฤติปฏิบัติทำตนให้เป็นพระเสขบุคคลจึงจะรู้ได้ว่า อัธยาศัยใจคอของท่านเป็นอย่างไร ส่วนปุถุชนที่ยังไม่ถึงสรณะ ไม่มีศีลและศรัทธานั้น เวลาโลกธรรมทั้ง ๘ ฝ่ายข้างดี ๔ อย่างเกิดขึ้นก็กำหนัดยินดีหมกมุ่นพัวพันไปตามโลกธรรมนั้น หรือโลกธรรมฝ่ายข้างไม่ดี ๔ อย่างเกิดขึ้น ก็ยินร้ายไม่ชอบเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะปุถุชนที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็ทำใจไม่แยบคาย ความยินดียินร้ายจึงเกิดขึ้น ครอบงำใจของปุถุชนนั้นได้
.
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
#ที่มา ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิปัตติวิภาค









"การระลึกถึงความตาย เท่านี้แหละ
จะแก้ความเศร้าโศกได้ เมื่อมีการพลัดพรากจากกัน"

ท่านหลวงปู่แบน ธนากโร








อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอ

หลวงปู่ชา สุภัทโท
ตอบกระทู้