Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

คุณเป็นชาวพุทธแน่หรือ

พุธ 08 เม.ย. 2009 1:19 pm

โดย อ.พญ.อมรา มลิลา
ณ ชมรมพุทธรรม โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2525


ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/ubasika/ubasika-main-page.htm

คุณเป็นชาวพุทธแน่แล้วหรือ?คำถามนี้ฟังดูก็ไม่น่าเป็นคำถาม เพราะทุกท่านที่ถูกถาม คงตอบว่า ใช่ ฉันเป็นชาวพุทธ แต่ดิฉันใคร่จะเรียนถาม ให้เจาะจงลงไปกว่านั้นอีกสักนิดว่า ที่เราว่าเป็นชาวพุทธนั้น เราเอาอะไรมาวัดความเป็นชาวพุทธของเรา เราเป็นชาวพุทธ เพราะเหตุว่า เราเกิดมาพ่อแม่เราเป็นชาวพุทธ เราก็เป็นชาวพุทธ เหมือนอย่างกับวัวที่ถูกตีตราว่า ตัวนี้เป็นของคอกนี้ ตัวนั้นเป็นของคอกนั้นหรือ หรือว่า เรามีการประพฤติปฏิบัติที่แน่ใจมั่นใจได้ว่า นี้เป็นปฏิปทาของพุทธศาสนิกชนจริงๆ

การจะถามตนเอง และไตร่ตรองโดยรอบคอบนั้น พอมีหลักพิจารณาได้ดังนี้เบื้องต้น พุทธศาสนาของเรานั้น มิใช่เรื่องของพิธีกรรม ไม่ใช่การสอนให้เรา เพียงแต่ทำกิริยาไหว้พระสวดมนต์ เข้าวัด หรือประกอบพิธีต่างๆ เป็นต้นว่า เมื่อเด็กเกิดก็จัดพิธีทำขวัญ นิมนต์พระมาสวดชยันโต พราหมณ์มาเป่าสังข์ ครั้นเด็กอายุถึงเกณฑ์ ก็ทำพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ในงานมงคลต่างๆ ต้องมีพระมาเจริญพร ประพรมน้ำมนต์ ถึงวันพระจึงรับไตรสรณาคมน์ รับศีล เหล่านี้เป็นต้น

พระพุทธองค์ไม่เคยเลยที่จะสอนว่า การเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ ต้องติดข้องอยู่กับพิธีกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี มิใช่เรื่องของไสยศาสตร์ และดิรัจฉานวิชา ซึ่งเชื่อในเวทมนต์คาถา อิทธิปาฏิหาริย์ เชื่อในอำนาจลึกลับ ที่ต้องสวดอ้อนวอน เพื่อขอความคุ้มครองให้สวัสดีมีชัย หรือมีการทำพิธีบวงสรวงติดต่อกับเทพ กับสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เพื่อให้มารักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยทำพิธีปลุกเสก ดึงตะปู ด้าย เส้นผม อะไรทำนองนั้นออกมาจากผู้ป่วย

ถ้าเราเพ่งเล็ง สนใจแต่สิ่งเหล่านี้ ก็อาจไปติดอยู่ตรงจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หัวใจของพุทธศาสนา แล้วเลยไปสำคัญผิดว่า พุทธศาสนามีความหมายเพียงเท่านั้นเอง

โลกทุกวันนี้ เดือดร้อน สับสน เราจึงต่างค้นคว้าหาที่พึ่งกัน แต่ละคนก็เข้าใจว่า ตนหาที่พึ่งได้ถูกต้องแล้ว เพราะทุกสำนัก ทุกลัทธิ ล้วนอ้างตนว่าเป็นพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เราไปอิงเหล่านั้น หากมองให้ละเอียดรอบคอบ อาจเห็นว่าเป็นการเดินตามหนทางที่อ้อมวกวน จนทำให้เผลอลืมไปว่า จุดหมายปลายทางของเราคืออะไรกันแน่

ของทุกอย่างย่อมมีเปลือก มีแก่น มีกระพี้ ถ้าเราไปติดที่เปลือกมากเกินไป ก็เป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะพิธีกรรมต่างๆ เปรียบเหมือนกระดาษห่อของ ที่โน้มน้าวจิตใจผู้รับ ให้เกิดความสนใจใคร่จะได้ ใคร่จะรู้ว่าในห่อนั้นมีอะไร เราก็ให้ความสนใจกับเปลือกแต่พอสมควร ต้นไม้ทั้งหลาย หากไม่มีเปลือก ก็ไม่สามารถรักษาแก่นและกระพี้ให้คงอยู่ได้ แต่ถ้าเพ่งเล็งเปลือกมากเกินไป จนกระทั่งลืมไปว่า แท้ที่จริงนั้นเราไปที่แก่น เราเลยติดอยู่แค่เปลือกนั้นเอง

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ถามตนเองต่อไปว่า พุทธศาสนิกชนที่ดี ควรเป็นอย่างไร หรือ เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ถูก ที่ควร

เราก็หันไปมองพระพุทธองค์ เพราะท่านได้ทรงทำพระองค์ไว้ ให้เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศแก่เรา ท่านไม่ใช่พระเจ้า เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านไม่ใช่อะไร ที่เราทุกคนไม่ได้เป็น ท่านเป็นเหมือนเรา ท่านมาอย่างเรา ท่านเกิดออกมาเป็นคนเท่ากับเราถ้ามองดูปฏิปทาของพระองค์ให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่านั้นคือคำตอบ ปฏิปทานั้น ชี้บอกถึงวิธีที่เราจะเดินต่อไป และสามารถที่จะเดินไปได้ เพราะสิ่งใดที่ท่านสอน ท่านบอกเรา สิ่งนั้นท่านได้ทำแล้วด้วยพระองค์ท่าน และได้ทำสำเร็จมาแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราแน่ใจ มั่นใจว่า ธรรมของพระองค์ เปิดโอกาสให้แก่คนทุกคนเท่าเทียมกัน หากใครต้องการไปให้ถึง ณ จุดนั้น คนทุกคนมีสิทธิเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบใคร ไม่มีใครเสียเปรียบใคร

ท่านแสดงให้เราเห็นว่า หัวใจของพุทธศาสนา คือ การที่เรามีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ท่านไม่เคยสอนให้เราไปสวดอ้อนวอนใคร ท่านไม่เคยบอกว่า เราต้องมีชาติ ชั้น วรรณะ มีบุคคลพิเศษ มีอภิสิทธิ์เหลื่อมล้ำกัน ทุกคนเมื่อเข้ามาเป็นพุทธบริษัทแล้ว เสมอกันหมด เท่ากันหมด ทุกคนอยู่กันด้วยธรรม ทุกคนอยู่กันด้วยเหตุผล ทุกคนอยู่กันด้วยการพึ่งพาอาศัยตัวเอง แต่มิได้หมายความว่า พุทธบริษัทจะเป็นผู้คับแคบ เห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจ เราโอบอ้อมอารีต่อกันและกัน มีเมตตาธรรมต่อกัน แต่ยึดในหลักที่ว่า ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง ส่วนการเพียรพยายาม เป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง เราเริ่มต้นด้วยการฝึกฝน เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนเสียก่อน

ทำอย่างไรเราจึงจะมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้การที่เราจะมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้นั้น เราต้องทราบก่อนว่า ชีวิตคนเรา ต้องพึ่ง ต้องอาศัยสิ่งใดบ้างชีวิตมีร่างกาย ซึ่งเปรียบเหมือนยานพาหนะ พาให้เราสามารถไปโน้น มานี้ แสวงหาปัจจัย เครื่องอยู่อาศัย วัตถุสิ่งของ เครื่องเอื้ออำนวยความสะดวกในการยังชีพ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ที่พึ่ง เป็นเพียงเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เป็นอุปกรณ์ เพื่อพาเราให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง เพราะจุดหมายปลายทางนั้น อยู่พ้นจากการที่ร่างกายอันเป็นสมมุติจะไปถึงได้ สิ่งที่จะไปถึงได้ก็มีแต่จิตเท่านั้น จิตที่เป็นพุทธะ จิตที่เป็นผู้รู้

พระพุทธองค์ ไม่เคยสอนให้เราเชื่อสิ่งใด ด้วยศรัทธาอันงมงาย หรือด้วยความไม่มีเหตุผล ท่านตรัสว่า ธรรมคำสั่งสอนของท่าน ไม่ใช่สิ่งที่ท่านบัญญัติขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ท่านสร้างขึ้น หากเป็นธรรมชาติเป็นสัจธรรม เป็นความจริงที่มีอยู่คู่โลกมานานแล้ว แต่เราทั้งหลายมองข้ามไป ไม่ทันได้สังเกต เพราะความสะเพร่า ความรีบร้อนสับสน ท่านเพียงแต่นำสิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ มาลำดับเป็นหมวดหมู่ มากลั่นกรองอธิบายให้เราเข้าใจ เห็นตาม มาจัดระบบให้สะดวกต่อการใช้ ง่ายต่อการเข้าใจ เท่านั้นเอง

โดยที่แท้แล้ว สิ่งเหล่านี้มีอยู่ เป็นอยู่โดยธรรมชาติใครก็ตาม แม้ไม่รู้จักพระพุทธองค์ ไม่เคยได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของท่าน แต่เอาสติปัญญาเพ่งไตร่ตรอง มองดูโลกนี้ตามสภาพความเป็นจริง ก็สามารถพบเห็นธรรมอันนี้ น้อมใจให้เชื่อ เป็นพุทธศาสนิกชนได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ ภาษา หรือสมมุติใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเราเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็สิ้นความคลางแคลงสงสัยว่า จิตอันนี้จะมีพลัง มีความสามารถที่จะรู้ เห็น ตามสภาพความเป็นจริง แล้วไปถึงความบริสุทธิ์นั้นได้หรือไม่ในการดำรงชีวิตอยู่เช่นทุกวันนี้ มีหน้าที่การงาน ครอบครัว ความรับผิดชอบต่างๆ นั้น เราจะนำธรรมมาประยุกต์อย่างไรได้บ้าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยจำกัดว่า ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม หรือจะเป็นพุทธมามกะนั้น ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือกำหนดกฎเกณฑ์เป็นพิเศษ ต้องปลีกตัวออกจากสังคม ต้องหลีกจากโลก ต้องสลัดละทิ้งความรับผิดชอบ ท่านไม่เคยตรัสเช่นนั้นท่านตรัสแต่ พุทธบริษัทประกอบด้วย อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี มีเป็นองค์ 4 ไม่ใช่มีแต่ผู้ละทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ป่าหมด หรือผู้อยู่เรือนหมด โลกนี้ย่อมมีทั้งกลางวันและกลางคืน มีทั้งฆราวาสและสมณะ มีทั้งคามวาสี ผู้อยู่เรือน และอรัญวาสี ผู้อยู่ป่า การเป็นพุทธมามกะนั้น เราเป็นได้ทั้งๆ ขณะเป็นฆราวาสเต็มภูมิ

แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือน หรือผู้สละบ้านเรือน หัวใจของความเป็นชาวพุทธ คือ เราจะเพียรพยายาม ทำให้ใจของเราที่ยังมืดมัว ยังมีปัญหาขัดแย้งระหว่างความอยากของใจ กับสภาวะเป็นจริงที่ประสบอยู่ สว่าง หมดจด ผาสุก สิ้นปัญหาถ้าเราทุกคนหัดมองดูใจของตนเอง จะพบว่าตั้งแต่วันเกิดมา ทุกคนมีความขัดข้องใจกันทั้งนั้น ทุกคนไม่สามารถที่จะได้ทุกอย่างดังที่ใจปรารถนาการที่เกิดความขัดข้องขึ้น ระหว่างความอยากของใจ และสภาวะความเป็นจริงนั้น คือทุกข์ คือสิ่งที่ทำให้ใจของเราไม่มีความสุข ไม่มีความพอใจในสภาวะที่มีอยู่ สภาวะที่เป็นอยู่ของเรา ทำให้รู้สึกคับข้อง ดิ้นรน ต่อสู้ ทำให้เราคิดหาหนทาง ทำอะไรเพื่อลบล้างสภาวะนั้น

พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนให้หนีทุกข์ พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนให้ลืมทุกข์ ให้กลบเกลื่อนทุกข์ แต่ทรงสอนให้มองดูทุกข์ ให้ทำความรู้จักกับทุกข์ แล้วสาวหาสาเหตุของมัน

สาเหตุของทุกข์คืออะไรเล่า ก็คือใจที่ไม่รู้เท่าทันกิเลสทั้งปวง ใจที่ถูกจองจำคุมขังอยู่ด้วยความยึดผิด เห็นผิด คิดไว้อย่างหนึ่ง ยึดมั่นถือมั่นไว้อย่างหนึ่ง แต่ความเป็นจริงไม่เป็นไปตามนั้น ใจที่ถูกฉุดลากไปด้วยความอยากที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ ความเศร้าหมอง ทับถมใจการที่เราเป็นทุกข์ การที่เราเศร้าหมอง ก็เพราะเราไปยึดในสิ่งที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นมิจฉาทิฐิ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าสมุทัย หรือสาเหตุแห่งทุกข์

ถ้าเราจะมองให้ชีวิตเป็นเหมือนถนนสายหนึ่ง ใจก็เหมือนเป็นผู้เดินทาง ถ้าใจเลือกเดินทางผิด เดินไปในทางที่ขรุขระ ที่ร้อน ที่ทุรกันดาร ไม่ได้ดังใจ ก็หมายถึงว่า ใจของเราขาดสติ ขาดปัญญารักษา ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ เราจึงหันผิด เลี้ยวไปในทิศทางของมิจฉาทิฐิ จึงพบแต่โรงงานผลิตบาป ผลิตทุกข์พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละบาปทั้งปวง ยังกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์

การยังกุศลให้ถึงพร้อมนั้นคืออย่างไร ก็คือการเอาสติ เอาปัญญา มาระวังรักษาใจ ไตร่ตรองทุกอย่างให้รอบคอบ ก่อนที่จะกระทำลงไป ให้เป็นสัมมาทิฐิ เมื่อเป็นสัมมาทิฐิ ถนนแห่งชีวิตก็เป็นมรรค เมื่อเป็นมรรคแล้ว ผลที่ได้ย่อมเป็นความสงบ ความผาสุกใจขณะใดที่ใจมีสติปัญญารักษา ย่อมรู้เท่าทันกิเลสทั้งปวง เลือกประกอบแต่สิ่งที่เป็นกุศลใจที่ยังติดข้องด้วยบาปอกุศล เปรียบเหมือนน้ำสกปรก เมื่อเรานำน้ำสะอาดคือกุศลมาเติมทีละเล็กทีละน้อยอยู่ทุกวันๆ ผลที่สุดน้ำนั้นย่อมใสขึ้นๆ จนวันหนึ่ง กลายเป็นน้ำสะอาดได้

ถ้าเราทำได้ดังนี้ ความเป็นชาวพุทธของเราก็จะถูกต้องดังพุทธประสงค์หากท่านเห็นตาม ไม่มีข้อแย้งในหลักการที่ได้กล่าวมานี้ ก็จะได้พิจารณารายละเอียดปลีกย่อยต่อไปว่า เราจะทำอย่างไรบ้างจึงเป็นการละบาปอกุศลและทำกุศลให้ถึงพร้อมได้

การที่จะตัดบาป ละอกุศลนั้น ไม่จำเป็นต้องศึกษาปริยัติตามประเพณี หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามบัญญัติของท่าน ที่อ้างว่าเป็นผู้รู้เสียก่อน จึงจะตัดจะละได้พระพุทธองค์ตรัสว่า การจะรู้โลกคือการเฝ้าดูจิตของเรา เพื่อให้เห็นและรู้จักจิตเจ้าของเอง จิตของเราคือโลกใน เมื่อเรารู้จักโลกในครบถ้วนทุกแง่ ทุกมุม โดยถ่องแท้แล้ว โลกนอกทั้งโลก ก็จะสว่างกระจ่างแจ้งแก่เรา เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเขา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่กิเลสและผู้รู้ ที่คลุกเคล้าผลัดกันฉุดลากใจแต่ละดวงๆ ให้คิด ให้พูด ให้กระทำไปต่างๆ นานา

ถ้าเมื่อใดก็ตาม สิ่งที่เราคิด เราพูด เรากระทำ ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง ใจของเราไม่เบิกบาน ใจของเราหงุดหงิดขัดข้อง สิ่งนั้นเป็นบาป เป็นอกุศล สิ่งนั้นเป็นสิ่งไม่ถูก ไม่ควร เราก็เพียรพยายามละเสีย บ่อยครั้ง มันยากยิ่งที่จะละ เพราะกิเลสนั้นฝังแทรกซึมอยู่ในใจมานานแสนนาน จนเราเข้าใจผิดคิดว่ากิเลสเป็นอันเดียวกับจิตของเรา และการที่จะขัดแย้งกับกิเลสนั้น คือการที่เราจะแล่เนื้อเถือหนังของเราเอง เลือดมันจะหยด หัวใจจะวายความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลอกให้เราปรุงคิดและเชื่อไปว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะละกิเลสนั้นๆ เสีย เพราะมันเป็นเรา เราเป็นมัน เสียจนกระทั่งเรามองไม่เห็นช่องแบ่งแยกว่า มันและเราไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เมื่อใดที่เราเกิดความตั้งใจ มันย่อมมีหนทาง เราเพ่งมองดูใจของเราด้วยสติ เพียรเอาสติกำกับอยู่กับใจให้ต่อเนื่องกันเรื่อยไป เท่าที่จะระลึกได้ เราจะค่อยๆ เห็นรอยแยกระหว่างเรากับกิเลสได้ชัดขึ้นๆ และเห็นว่า ถ้าเราเข้มแข็งกับตนเอง ไม่คล้อยตามกิเลส เรามีหนทางละได้เราเข้าใจว่า ตัวเองเป็นคนรักความจริง เป็นคนรักษาคำมั่นสัญญา แต่ถ้าเฝ้ามองเข้าไปในใจของเราเองให้ทัน ทุกๆ ขณะ เราจะพบว่า เราเปลี่ยนใจโลเล หลอกตัวเองอย่างเหลือเชื่อ หลอกอย่างชนิดที่หากมีใครในโลกนี้มาหลอกเรา อย่างที่เราหลอกตัวของเราเอง เราจะไม่คบค้าสมาคมด้วย เห็นหน้าก็จะไม่ยอมมอง พูดด้วยก็จะไม่โต้ตอบ แต่เราเองทำอย่างนั้นกับตัวเองทุกวี่วันโดยไม่รู้ตัว เช่น เราบอกกับตัวเองว่า … เอาละ วันนี้จะภาวนา พอไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว จะนั่งสักครึ่งชั่วโมง … ครั้นวันนี้มาถึงจริงๆ นั่งไปสัก 5 นาที เราอาจแก้ตัวกับตัวเองว่า … วันนี้เหนื่อยมาทั้งวัน บังเอิญมีงานพิเศษเข้ามา เราเองก็กำลังเป็นหวัด ขืนนั่งต่อไป ร่างกายจะอ่อนเพลีย ทรุดโทรม เห็นทีจะต้องพักเสียก่อน รอไว้พรุ่งนี้ก็แล้วกัน … หรือมิเช่นนั้น เราก็อ้างว่า …วันนี้ดึกมากแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องไปธุระตามที่นัดไว้แต่เช้า … เรามีเหตุผลสารพันอย่าง ที่จะบิดพลิ้วกับตัวเอง แล้วเราก็หลอกตัวเองต่อไป ต่อไป ต่อไป ต่อไป อยู่อย่างนี้

หากเราเที่ยงธรรมกับตัวเอง เรามองตัวเราโดยไม่เข้าข้างใครออกข้างใคร เราก็จะมองเห็นความย่อหย่อน ความไม่เอาไหนของเราต่อตัวเอง เราเข้มงวดจริง เมื่อเพ่งเล็งผู้อื่น เราคุ้นเคยกับการแก้ไขโลกข้างนอก แต่ลืมย้อนมาเข้มงวด เพ่งเล็งตนเองเราจะเห็นวิทยาการด้านวัตถุก้าวหน้าไปอย่างมาก เราไปถึงโลกพระจันทร์ได้ เรามีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยพุทธกาล เราภูมิใจในความก้าวหน้า ในเทคโนโลยีและในวิชาความรู้ของเรา แต่มีสิ่งใดบ้างหรือไม่ในบรรดาเครื่องยนต์กลไก สิ่งประดิษฐ์ของเราเหล่านี้ ที่สามารถนำมากดปุ่มแล้ว ทำให้ใจของเราสงบ ใจของเราเป็นธรรม ใจของเราเป็นดังที่เราต้องการได้ไม่มีเลยมิใช่หรือ

ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว กรรมวิธีที่เราชาวโลกทั้งหลาย เพ่งเล็ง คิดค้น แสวงหา ก็เพื่อให้ได้สิ่งซึ่งจะมาทำให้เป็นสุข แต่เราพลาดไปสำคัญผิดว่า สิ่งที่อำนวยกายให้สะดวกสบายนานัปการนั้น คือความสุขเราทุกคนต้องการความสุข และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่พระพุทธองค์แสวงหา แต่ท่านเล็งเห็นถึงแก่นว่า โลกนี้ไม่ว่าสุขแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเป็นสิ่งใดก็ตาม โลกียสุขนั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลง สุขนั้นยังเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นความสุขที่มีทุกข์แทรกอยู่ภายในด้วยทั้งสิ้น ถ้าใครหลงไปยึดติดเข้า ก็เปรียบเหมือนกำถ่านไฟไว้ในอุ้งมือ ไฟย่อมไหม้มือ เราก็หาได้เฉลียวใจคิด ยังนึกปรุงต่อไปว่า ถ้าเรามีสิ่งโน้น สิ่งนี้ สิ่งนั้น เราไปปรุงหาสิ่งจากข้างนอก เพื่อสิ่งนั้นจะเป็นเครื่องทำให้เราสุขได้แต่ถ้ามองให้เที่ยงแท้ พระพุทธองค์ทรงมองมาหมดแล้วทุกวิถีทาง ท่านเป็นจอมปราชญ์ ใครๆ ก็ยกย่องว่า ปัญญาของพระองค์นั้น กว้างใหญ่ไพศาลล้ำลึก สว่างแจ่มจ้ายิ่งกว่าแสงอาทิตย์ ถ้ายังมีสิ่งใดที่เราอาจแสวงหาจากภายนอกมาได้ ท่านคงแสวงหาพบ และนำมาสอนพวกเราแล้ว

ท่านกลับสอนว่า อย่าไปมองข้างนอก อย่าไปเพลินดูข้างนอก อย่าไปแสวงหาจากข้างนอก ความสุขนั้นอยู่ข้างในใจของเรานั่นเองถ้าเราย้อนทวนเข้ามามองดูในจิตของเรา จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน ทุกคนเหนื่อยด้วยการวิ่งตะครุบเงา เหนื่อยเพราะคิดหาว่า ทำอย่างไรเราจึงจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำอย่างไรเราจึงจะมีฐานะครอบครัวเป็นปึกแผ่น มีชื่อเสียง เกียรติยศ บางครั้งเราเองไม่ได้คิดที่จะวิ่งมากถึงแค่นั้น แต่เพราะสังคมรอบล้อมเป็นอย่างนั้น จะหยุดวิ่งก็เกรงว่าฐานะของตนจะไม่ทัดเทียมเขา

เสียงของคนอื่น เสียงของโลกธรรมที่ตัดสินเรา มีความหมายเหมือนลมพายุ คอยคลอนแคลนจิตใจของเรา ซึ่งเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วยึดให้ลึก พอที่จะทรงตัวยืนตรงนิ่งอยู่ได้ เวลาที่มีพายุแรง เราจึงต้องวิ่งต่อไป เราจึงต้องเหนื่อย เราจึงต้องแสวงหา ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งที่เราเองอยากหยุด แต่ก็ไม่รู้ที่จะหยุดอย่างไรได้ เราเริ่มเหนื่อย หงุดหงิด กำลังใจค่อยตกต่ำลงไป แล้วเราก็เคว้งคว้าง หวาดหวั่น ไร้ที่พึ่ง

แต่ถ้าเรารู้จักหยุด มองเข้าไปข้างใน ด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ว่าลมพายุจะสั่นคลอนรุนแรงแค่ไหน เราจะพบว่า เราแน่ใจ มั่นใจ ว่าเราอยู่ด้วยตัวของเรา ด้วยใจของเราได้พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ ทุกอย่างเป็นผลของการกระทำของเราเอง เราจะสุขก็เพราะเราทำให้ตัวเราเอง เราจะทุกข์ก็เพราะเราทำให้ตัวเราเอง ที่ท่านเรียกว่า กฎแห่งกรรมกฎแห่งกรรมนี้ คงยากที่จะนำมาอธิบายให้เห็นแจ่มชัดได้ในเวลาอันจำกัด แต่ก็พอเปรียบเทียบได้ว่า มันเป็นสิ่งที่จะเอามาตีแผ่ให้เห็นกันด้วยตาไม่ได้ เปรียบได้กับเราเองเม็ดข้าวมาสักเม็ดหนึ่ง แล้วเอามาแกะเปลือก ผ่าเม็ดข้าวนั้นออกดู เราไม่เห็นมีต้นข้าว มีรวงข้าว อยู่ในเม็ดข้าวนั้น เราเห็นได้แต่เพียงสภาวะของเม็ดพันธุ์ แต่เราก็ทราบมิใช่หรือว่า ถ้าเรานำข้าวเม็ดนั้นไปหว่านลงดินในวาระอันเหมาะ เม็ดข้าวนี้จะงอกเป็นต้นข้าว เติบโตจนเกิดรวงข้าวให้เราได้เก็บเกี่ยว เอามาใช้บริโภค หรือใช้ทำพันธุ์ต่อไปได้

กรรม คือ การกระทำของเรา จะเป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ก็ตาม พระพุทธองค์เปรียบเทียบเหมือนเมล็ดพืช เรามองไม่เห็นเมื่อเวลาที่ทำลงไป เพราะมันยังเป็นเพียงเมล็ด แต่เมื่อได้กระทำลงไปแล้ว จิตของเราเปรียบเหมือนพื้นนา เมล็ดแห่งกรรมที่เราได้กระทำแล้วนั้น ก็จะไปงอกในจิตของเรา ผลิดอก ออกผล ให้เราได้เสวยเป็นวิบากขึ้นมาถ้าเรามองเห็นตามนี้ เราจะเห็นต่อไปว่า อะไรทุกๆ อย่างที่กำลังเกิดอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ คือผลของเมล็ดกรรม ที่เราได้หว่านเอาไว้แต่ในอดีต จึงไม่มีทางที่เราจะไปเถียงกับมัน เพราะ เมื่อตอนที่หว่านเมล็ดลงไปนั้น เราไม่รอบคอบ ไม่ได้เลือก ไม่ได้ถามใจของเราให้เที่ยงแท้แน่นอนเสียก่อน มาบัดนี้เป็นตอนที่เราจะต้องเสวยผลเท่านั้นถ้าเห็นถึงใจดังนี้แล้ว เราก็จะยอมรับ เพราะฉะนั้นปัญหาขัดข้องจะหมดไป จะไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างความอยากของใจ กับความจริงที่เป็นอยู่ เพราะเราเห็นชัดแล้วว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร

เมื่อเราไปปรารถนาผลอย่างนี้ เรากำลังจะหว่านเมล็ดอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เราจะได้รอบคอบเราจะได้เอาสติ เอาปัญญา มาถามตัวเอง แล้วมองดูใจให้เที่ยงว่า ในอนาคตนั้น เราต้องการผลอย่างไรกันแน่ เราจะได้เลือก จะได้พิถีพิถัน รอบคอบ ในการกระทำ คำพูด และความคิด ทุกๆ ขณะของเราเมื่อทำได้ดังนี้แล้ว นับแต่นี้ต่อไป ปัจจุบันเหตุจะเป็นสิ่งที่เราทำด้วยความจงใจ ด้วยความตั้งใจด้วยเหตุผล ฉะนั้น ผลที่พึงเกิดขึ้นในอนาคตย่อมต้องเป็นไปตามปรารถนา เพราะทุกอย่างนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลอยู่ในตัวของตัวพร้อมสรรพพระพุทธองค์ไม่ทรงสอนให้เชื่อสิ่งใดที่ไม่มีข้อพิสูจน์ ไม่ทรงสอนให้เชื่อด้วยความงมงาย แม้ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไปแล้วก็เช่นกัน

ครั้งหนึ่ง หลังที่ทรงแสดงธรรมจบลงแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระสาวกทั้งหลาย ที่สดับฟังอยู่ว่า ธรรมที่ทรงแสดงนั้นเป็นอย่าไร พระสารีบุตรทูลตอบว่า ธรรมของพระพุทธองค์งามพร้อมมหาที่ติมิได้ แต่พระสารีบุตรก็ทูลขอโอกาสนำไปปฏิบัติดูก่อน แล้วจึงจะกราบทูลผลให้ทรงทราบ สาวกอื่นๆ พากันไม่พอใจ ตำหนิพระสารีบุตรว่า ไม่เคารพเชื่อฟังพระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า สิ่งที่พระสารีบุตรกล่าวนั้นถูกต้อง เพราะ ธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเชื่อด้วยความงมงาย หรือเชื่อเพียงเพราะออกจากพระโอษฐ์ แต่ท่านมีพระประสงค์ให้เหล่าสาวกและพุทธบริษัททั้งปวง นำไปพิจารณาไตร่ตรอง และทดสอบด้วยตัวของตัวเองสิ่งที่เป็นธัมมะจะไม่บังเกิดผล ถ้าเรานำมาเก็บไว้ในใบลาน หรือในตู้พระไตรปิฎก หรือเราเพียงแต่อ่านละจำด้วยสัญญา แล้วนำมาพูด มาถกเถียงมาแสดงความรู้กันโดยโวหาร แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทดลองนำมาปฏิบัติจริงๆ กับชีวิตเรา เอากายและใจของเรานี้เป็นสัตว์ทดลอง เมื่อทดลองแล้วได้ผลอย่างไรแล้ว นั้นแหละ จึงจะทำให้เราเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่า เราต้องเชื่อตามผู้นำ หรือตามพระพุทธองค์ ท่านตรัสไว้ว่า เมื่อสิ้นท่านแล้ว พระธรรมและพระวินัยที่ได้บัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เป็นหลัก เป็นแสงสว่าง นำพุทธบริษัทให้ดำรงคงอยู่ และผลคือความผาสุกใจ ความบริสุทธิ์ของใจนั้น จะมีขึ้นได้ในใจของทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความจริงจัง ตามสมควรแก่ธรรมไม่ใช่ว่า เมื่อพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพานไปแล้ว พุทธศาสนาจะเรียวขาดหายไป หรือสิ่งที่เคยปรากฏในสมัยพุทธกาล จะไม่มีปรากฏเมื่อสิ้นพระพุทธองค์แล้ว ท่านไม่เคยตรัสเช่นนั้น ท่านตรัสแต่ว่า ความสงบ ความบริสุทธิ์ของใจ ที่ท่านและพระอรหันตสาวกทำได้อย่างไร ก็คงยังมีอยู่ในโลกนี้ตลอดไป

คนทุกคนสามารถทำได้เช่นเดียวกับท่าน ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงเป็นชาย เป็นฆราวาสหรือสมณะ จะเป็นอะไรก็ตาม หากตั้งใจปฏิบัติจริงจัง โดยนำธรรมมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับชีวิตทุกๆ ขณะ ผลย่อมเกิดขึ้นเต็มเม็ดเต็มหน่วยเสมอ ไม่มีการสึกกร่อน หรือเรียวเล็ก ด้อยคุณภาพลงไปถ้าเราเพ่งสำรวจวิธีปฏิบัติตัวของเรา และถามตัวเองอย่างจริงจัง เราก็อาจรู้ได้ว่า ความเป็นชาวพุทธของเรายังมีข้อบกพร่องตรงไหนอีกบ้าง ยังมีสิ่งใดที่เราจะทำให้กับตัวเองได้อีกบ้าง เพราะทุกๆ ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่นี้ โอกาสยังเปิดสำหรับเราอยู่เสมอที่จะเริ่มต้น เมื่อได้เริ่มต้นแม้เพียงวินาทีหนึ่งผลย่อมมีปรากฏ ผลที่จะปรากฏนั้น พระพุทธองค์ทรงแบ่งดังนี้หากใครต้องการผลเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ท่านก็ตรัสว่า เมื่อเราขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ ขวนขวายในทางชอบธรรม จิตใจย่อมปีติอิ่มเอิบ ชีวิตก็งอกงามด้วยทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี อยู่ที่ใดใจก็สบายแวดล้อมไปด้วยหมู่เพื่อนมิตรสหาย เหล่านี้จัดเป็นประโยชน์ปัจจุบันหากใครเห็นไปไกลกว่านั้น เห็นว่าประโยชน์เพียงแค่ปัจจุบันยังไม่แน่นอน ไม่พอคุ้มครองตัว เพราะจิตที่ยังไม่สิ้นกิเลสนั้นเป็นนักท่องเที่ยว ติดวนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เราเชื่อว่า ตราบเท่าที่ยังไปไม่ถึงที่สุด ตายแล้วก็ยังต้องกลับมาเกิดอีก

ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทในการสะสมหาเสบียงกรังไว้ สำหรับชีวิตในภพใหม่ชาติใหม่ของเรา เพื่อฐานของใจจะได้สูงขึ้น มีความมั่นคงแน่นอน มีความสงบผาสุกยิ่งขึ้นเสบียงนั้นคืออะไรเล่า? ท่านทรงแนะนำให้เรามีศรัทธาในคุณธรรม ทำทาน รักษาศีล ทำภาวนา เพื่อเป็นประโยชน์เบื้องหน้า

การทำทานนั้น มิใช่จะตั้งหน้าตั้งตาว่า เมื่อเจอคนยากจนก็ให้เขาเรื่อยไป หรือมุ่งไปวัด ทำบุญตักบาตร อุปัฏฐากท่านด้วยปัจจัยไทยทาน การทำทานในความหมายที่พระพุทธองค์ ทรงประสงค์ให้เราทำนั้น คือ ให้เราจาคะ สละ แบ่งปันส่วนที่เป็นความหวงแหน ส่วนที่เป็นตัวตนของเราออกไปถ้าเราทำทานโดยไม่เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ให้ไปนั้น เราตั้งใจ ตัดใจ สละแบ่งปันออกไป ทั้งที่ยังรัก ยังหวงแหน หรือสิ่งที่ให้ไปนั้น เราจงใจเพื่อเกื้อหนุนให้เขาเป็นสุข ให้เขาได้มีสิ่งที่เรามี เราพอใจกิริยาเช่นนั้นไม่ใช่จาคะ เพราะเป็นแต่เพียงการเอาวัตถุเฉลี่ยออกไป ให้ออกไป โดยไม่เกิดคุณธรรมความดีอะไร ติดเป็นนิสัยฝังอยู่ในจิตใจของเราเลย เมื่อใดที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป อารมณ์ของเราแปรไป เราก็เลิกให้ทาน กิริยาที่ได้ทำไปแล้วเลยกลายเป็นเสบียงเน่า สูญเปล่า

มันจะเป็นทานก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า การให้นั้นได้เอาส่วนหนึ่งของเราออกไปเพื่อความสุขของผู้อื่น เป็นการสละความคับแคบเห็นแก่ตัวของเราให้เบาบางลงทานในระดับที่พวกเราควรคำนึงและฝึกฝนนั้นคือ อภัยทาน เมื่อใดที่เราเกิดความรู้สึกว่า ใครก็ตามมาทำร้ายเรา มาหยาบหยามน้ำใจ มาดูถูก ดูหมิ่นอัตตาของเรา แล้วเราสามารถสงบกาย วาจา อยู่ได้ และค่อยข่มใจ น้อมใจให้สามารถอภัยต่อเขา ไม่ว่าเขาจะทำด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้เท่าถึงการณ์ และเจตนาก็ตาม เราก็อภัยให้ การทำเช่นนี้จะเป็นทานที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยุติเวรปลูกฝังเมตตา ให้บังเกิดเป็นความสงบร่มเย็นขึ้น ทำให้ความเป็นชาวพุทธของเรา มีความมุ่งหมายและคุณภาพสูงขึ้น

เมื่อรู้จักให้ทานแล้ว ก็ฝึกรักษาศีลศีลนั้นเนื้อแท้คือเจตนาที่จะรักษาใจ ให้เป็นปกติให้เป็นธรรมชาติ ธรรมดาการจะพูดถึงเจตนา เพื่อรักษาใจให้เป็นปกติเป็นธรรมชาติ ธรรมดานั้น กว้างขวางมาก พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติประโยคของศีล ซึ่งคือข้อความที่จำกัดว่า ผู้ถือศีลนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างจึงจะมีศีล

ศีล 5 นั้น มุ่งสำหรับความเป็นปกติร่มเย็นของฆราวาส เพราะการอยู่รวมกันเป็นหมู่ เป็นชุมชนย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน จึงเกิดหลักบัญญัติ เพื่อช่วยให้เราระวังจิตใจของเราเอง เป็นต้นว่า เราคอยระวังใจไม่ให้โกรธจนถึงกับจะไปฆ่าใคร โดยไม่ต้องอาศัยตำรวจมาคอยจับเราไปเข้าคุกศีลนั้นละเอียดกว่ากฎหมาย กฎหมายปกป้องเพียงชีวิตคนด้วยกัน แต่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของชีวิตทุกชีวิตเสมอค่ากัน จึงให้เรางดเว้นการล่วงชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับพวกเรา โอกาสที่จะผิดศีลข้อนี้คงน้อย เพราะเราคงไม่ไปทุบปลา ฆ่าไก่ ฆ่าเป็ด เพื่อเอามาเป็นอาหารแน่ แต่ขออนุญาตเรียนติงสักนิดว่า ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ขณะทำงานเราไม่เชือดชีวิตก็จริง แต่เราเชือดหัวใจคนอยู่ทุกบ่อยทุกบ่อย เราไม่ใคร่สงบ สำรวมระวังวาจากันเลยพอเหนื่อยหน่อย เราไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า สิ่งที่พูดออกไปนั้นได้ไปเชือดเฉือนหัวใจคนฟังแค่ไหนการจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ โปรดเพ่งเล็งสำรวมระวังวาจา มีคำกล่าวว่า เมื่ออยู่ผู้เดียวให้ระวังความคิด อยู่ท่ามกลางมิตรและหมู่ชนให้ระวังวาจา ถ้าระลึกได้ดังนี้ เราจะเป็นคนงามและอ่อนโยนด้วยความเมตตา

เมื่อมีทาน มีศีลแล้ว ก็ถึงภาวนาการภาวนานั้น แท้ที่จริงคือการฝึกให้มีสติอยู่กับใจทุกๆ ขณะ ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ตรงนี้ ก็ให้มีสติอยู่กับการฟังนี้ ขณะทำงานก็มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้า ใจที่มีสติกำกับ จะมีความระวังระไว ตื่นตัวทั่วพร้อม หากมีอะไรเกิดขึ้น จะคิดหาเหตุผลทันทีว่า เพราะเหตุใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ใจขณะได้คำตอบสว่างกระจ่างแจ้งขึ้น นั้นคือตัวปัญญา และเมื่อสิ้นสงสัยว่า เพราะเหตุใด ทำไมแล้ว ใจที่ว้าวุ่น ที่ไม่แน่ใจ ที่ปรุงคิดเป็นนิวรณ์ไปต่างๆ นานาก็จะสงบ เกิดความมั่นใจ ความแน่ใจ เป็นสมาธิขึ้น

ใจที่ได้ฝึกให้ศรัทธา ทาน ศีล ภาวนา หยั่ง รกรากเป็นอุปนิสัยขึ้นแล้ว จะมีปัญญา เห็นทางที่ชอบธรรม ที่เป็นคุณประโยชน์ ไม่หวาดกลัวภัยแห่งโลกหน้า เพราะเชื่อในกุศลที่ได้กระทำ จนเป็นอริยทรัพย์ สะสมเป็นเสบียงกรังอยู่ในจิต เหล่านี้จัดเป็นประโยชน์เบื้องหน้า

ใจขณะที่มีสติและปัญญาอยู่ด้วยนั้น เป็นใจที่ เป็นพุทธะ เป็นใจที่รู้ เห็น สิ่งต่างๆ ตามสภาพเป็นจริง เมื่อรู้เห็น เกิดความมั่นใจแล้ว เราจะเยือกเย็นมั่นคง อะไรเกิดขึ้นก็แน่ใจ ว่าจะรักษาตัวรอดปลอดภัยได้ อะไรเกิดขึ้นดี เกิดขึ้นชั่ว หากมีสติและปัญญาอยู่กับใจ เป็นอันหมดปัญหา เมื่อเป็นดังนี้ เราย่อมมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จิตใจที่เคยกระสับกระส่าย เป็นทุกข์ ร้อนรุ่ม ก็สงบ ผาสุก เมตตา เข้าใจสภาพรอบล้อมตามเป็นจริง และสามารถสงเคราะห์เกื้อกูล ชี้แนะ ผู้อื่น สิ่งอื่น ยังโลกให้ศานติ ร่มเย็น

การขัดเกลาใจจนบริสุทธิ์ เป็นใจที่เป็นพุทธะรู้ ตื่น เบิกบาน เป็นอกาลิโกนั้น จัดเป็นประโยชน์สูงสุด ที่พระพุทธองค์ทรงจำแนก ถือเป็นจุดหมายปลายทางของทุกชีวิตในสังสารวัฏ และเป็นจุดที่ความเป็นชาวพุทธของเราเต็มบริบูรณ์

Re: คุณเป็นชาวพุทธแน่หรือ

พุธ 08 เม.ย. 2009 3:00 pm

ขอบคุณมากครับคุณเด็กลึกลับ

ธรรมะ ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ วัย ฐานะ และชนชั้น จริง ๆ :P
ตอบกระทู้