...เช่น.."ให้ทาน"นี่เราก็ได้ผล แต่เราไม่รู้ เพราะไปเล็งผล”ผิดที่ “ "ไม่ได้เล็งที่ใจเรา" ไปเล็งที่คนรับ คนที่เราทำบุญด้วย ถ้าเล็งผลที่ใจแล้ว ไม่ว่าคนรับจะเป็นใคร ไม่สำคัญ
..."สำคัญที่ความบริสุทธิ์ใจของเรา" "ความเมตตากรุณาของเรา" "ความเสียสละของเรา" ที่จะช่วยคนนั้นให้ได้รับประโยชน์
...โดยไม่สำคัญว่า จะต้องเป็นสัตว์ หรือเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำไป ถ้าอยู่ในสภาพที่เดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ เราช่วยเหลือเขาได้ ก็ช่วยไป โดยไม่หวังผลตอบแทน จากการช่วยเหลือนี้เลย
... อย่างนี้แหละ "จะปรากฏเป็นผลขึ้นมาในใจเรา" ใจจะมีความภูมิใจ มีความสุขใจ มีความอิ่มเอิบใจ มีความพอใจ. ..................................... จุลธรรมนำใจ 12กัณฑ์ที่ 379 ธรรมะบนเขา 17/2/2551 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
#อุบายธรรมคนเลี้ยงโค
"เรานั่งสมาธิ เมื่อเราปวดขาปวดหลังก็อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถไปอีกอย่างอื่นแล้ว หลงไปตามอารมณ์ภายนอก ลืมที่เรากำหนดรู้อยู่อย่างนี้ เรากำหนดรู้ดูลมหายใจเข้าออกอยู่นี้ ก็ลืมแล้ว พอเปลี่ยนอิริยาบถเสร็จถึงจะมาบริกรรมพุทโธใหม่ มันก็ขาดวักขาดตอนไม่ติดต่อกัน"
"ถ้าเป็นคนเลี้ยงโค เขามีเชือกยาวๆไปล่ามโค เขาตอกหลักเอาไว้ล่ามเอาไว้ เชือกมันยาวโคมันก็หากินหญ้า จนกว่าจะรอบนั้นมันก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าเชือกมันขาดอยู่เรื่อยขาดอยู่เรื่อย เชือกยาวๆมันขาดเหลืออยู่แค่ศอกเดียว จะไปมัดโคให้มันกินหญ้าอยู่ที่นั้น"
แล้วโคมันจะไปกินหญ้าที่ไหนมันจะอิ่ม ?
เชือกมันสั้นนี่ !! จิตของคนเรานี่กำลังดูสมาธิอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้จิตของเราเผลอไปตามกระแสอารมณ์ต่างๆ จิตมันก็ขาดเป็นวักเป็นตอน แล้วผลสุดท้ายอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นมาครอบงำลบล้างสมาธิของเราโดยง่าย"
"ก็คือกิเลสที่จะปรุ่งแต่งให้เกิดขึ้นในกระแสจิต พอมันปรุ่งแต่งเกิดขึ้นเหมือนกับสิ่งที่มันเคยมี เหมือนกับน้ำมันกับไฟ ถ้ามีน้ำมันอยู่ใกล้ไฟ ไฟก็จะไหม้น้ำมัน ถ้าอยู่ในรถไฟมันก็จะไหม้ทั้งรถ"
"นี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็จะถูกลบล้างคุณงามความดีที่มีอยู่ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่นั้นสูญหายไปหมด มีแต่ความมืดอยู่เหมือนเดิม"
"จุดนั้นควรให้ระมัดระวังอย่าให้ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะเหล่านี้มาครอบงำในจิตใจของพวกเรา ให้จิตใจของเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราได้รับความสงบ เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงมาแล้ว ตัวนี้แหละจะทำให้เราหายข้อสงสัย "
หายจากอะไรในข้อสงสัย ??
"หายจากความมืดที่มีอยู่ หายจากความเจ็บปวดทรมานที่มีอยู่ในร่างกายสังขาร มีแต่ความสุข มีแต่ความอิ่ม มีแต่ความเบิกบานแจ่มใส่ ถึงเราจะนั่งอยู่เหมือนปกติ แต่ไม่เหมือนกับปกติ"
"ปกติที่เรานั่งครั้งแรกเรากำลังเจ็บปวดเหมือนกับกำลังถูกทรมาน ร่างกายของเราก็หนักหน่วง หลับตาลงก็มืดสนิทแต่พอจิตของเราเป็นสมาธิ ได้รับแสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว ความหนักที่มีอยูในร่างกายสังขารนี้ สูญหายไปหมด"
"ตัวรู้ของเราก็จะเบา เหมือนกับลอยอยู่บนอากาศ เพราะจิตเป็นสมาธินี้มันจะพยุงร่างกายสังขารนี้ให้เบา บางที่จนไม่มีตัวตน มีแต่ตัวรู้อย่างเดียว มีแต่ดวงสว่างอย่างเดียว"
"นี้แหละเวทนาก็จะไม่เกิดขึ้น แม้แต่ความง่วงหงาวหาวนอนก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะจิตมันตื่นอยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ตลอดเวลา นี้คือการปฏิบัติ "
ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม อินสิริ วัดป่าภูเขาหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชศรีมา ในงานพิธีสวดลักขี วัดธรรมมงคล วันที่ 8 ม.ค.59
"บางคนมีความเข้าใจว่า ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วจะมีประโยชน์อะไร มัวแต่ถือศีล ถือธรรม ก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน นี่คิดผิดมาก
เพราะธรรมะจริงๆ ก็คือ เรื่องของความถูกต้อง มันรวมเรื่องถูกต้อง ของชีวิตเราไว้ทั้งหมด
จะหากินอย่างไร? จะเก็บรักษายังไง? คบหากับคนอื่นอย่างไร? ดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์? นี่เรื่องของธรรมะ ทำไมจะไม่มีประโยชน์ "
หลวงปู่ชา สุภัทโท
"ถ้าโลกนี้ เต็มไปด้วยการขอโทษ และการให้อภัยโทษแล้ว จะไม่มีวิกฤตการณ์เลวร้ายใดๆ เกิดขึ้นมาได้เลย
เป็นการสร้างสันติภาพให้แก่โลกทั้งโลก ด้วยการยึดถือหลักที่ว่าขอโทษ และ อดโทษ
ฉะนั้น ขอจงประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัย และอบรมลูกเล็กเด็กแดง ให้รู้จักขอโทษ และอดโทษ แก่กันและกันจนเป็นนิสัย"
ท่านพุทธทาสภิกขุ
อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป
"หลวงพ่อคะ การสร้างพระพุทธรูป กับ การถวายปัจจัยอย่างไหนมีอานิสงส์ดีกว่าคะ"
: การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็นพุทธบูชา ถ้าในเรื่องกรรมฐานจัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก
:ถ้าถวายปัจจัย ถวายเป็นของสงฆ์ จัดว่าเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จัดเป็นจาคานุสสติกรรมฐาน เกิดมาชาติหน้าก็รวย
การสร้างพระถวาย ด้วยอำนาจพุทธบูชา ทำให้มีรัศมีกายมาก เป็นคนสวยตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า #พุทธบูชา_มหาเตชะวันโต "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"
แต่ถ้ามีอำนาจแต่ขาดสตางค์ก็อดตายนะ ใช่ไหม แต่งตัวเป็นจอมพลแต่ไม่มีสตางค์ในกระเป๋า แย่นะ
อีกแบบหนึ่ง มีสตางค์มากๆ แต่ขาดอำนาจราชศักดิ์ ก็โดนโจรปล้นอีก ฉะนั้น ทำมันเสีย ๒ อย่างเลยดีไหม
"ดีค่ะ แต่ได้ยินเขาว่า ถ้าสร้างพระพุทธรูปนี้ควรสร้างพระประธานจึงมีบุญมาก"
: ก็เขียนไว้สิ สร้างพระประธาน องค์เล็กองค์ใหญ่ก็เขียน ไว้ ก็เป็นพระพุทธรูปเหมือนกัน เราสร้างแล้วก็ได้บุญแล้ว ใครไปโยนทิ้งก็ซวยเอง
"ถ้าหากว่าจะย้ายพระประธานไปบูชาเป็นพระประธานวัดอื่นจะได้ไหมคะ"
: เรื่องของบูชา สำหรับที่วัดนี้ถือว่าเขาถวายมาเพื่อบูชา ตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าพระย้ายไปที่อื่นนอกเขต ถือว่าย้ายเจดีย์ ทางวินัยท่านปรับอาบัติ
และถ้าของนั้นเขาถวายสงฆ์ เขามีเจตนาเฉพาะจุดนั้น ถ้าเราเอาไปถือว่าขโมยของสงฆ์
อันดับแรก เขาลงบัญชีอเวจีไว้ก่อน ของสงฆ์นี่แม้แต่เศษกระเบื้อง ถ้านำไปก็ลงบัญชีอเวจีเลย
"หลวงพ่อเจ้าคะ การสร้างพระพุทธรูป ทำด้วยโลหะกับทำด้วยปูน อย่างไหนจะดีกว่ากันเจ้าคะ"
: ถ้าเป็นเจตนาของฉันนะ ชอบให้ทำด้วยปูนมากกว่า ปั้นด้วยปูนแล้วก็ปิดทอง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระปูนไม่มีใครขโมย พระโลหะเผลอหน่อยเดียวคนตัดเศียรแล้ว ดีไม่ดีเอาไปทั้งองค์ ฉะนั้นปูนดีกว่า มีอานิสงส์เท่ากัน ราคาถูกกว่า ทนทาน และรักษาง่ายกว่า
การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังพุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่น ก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ใช่ไหม
ที่นี่ถ้าเราต้องการสร้างให้สวยตามที่เราชอบ เห็นแล้วก็ทำให้จิตใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอ ก็จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้น ถ้าหากโยมเห็นว่าพระที่ทำด้วยโลหะสวยกว่า ชอบมากกว่า โยมก็สร้างแบบนั้น
"หลวงพ่อคะ ถ้าหากว่าเดินไปเช่าตามร้าน กับการจ้างเขาหล่อให้แล้วเททองเอง อานิสงส์จะได้เท่ากันไหมคะ"
: กุศลน้อยกว่าที่เขาทำสำเร็จแล้ว เพราะว่าเราต้องเหน็ดเหนื่อย ดีไม่ดีหัวเสีย ที่เขาทำเสร็จแล้วนะ เราก็เลือกดูเอา ตามชอบใจ ใช่ไหมล่ะ
วิธีการแบบนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยนี่ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย บางทีไอ้ตัวร้อนตัวเหนื่อยนี่มันตัดเลย ทำบุญทุกอย่าง ทำให้จิตสบาย กายสบาย อันนี้ถือว่ามีผลสูง
ถวายสังฆทานนี้มีค่าสูงมาก การที่นิมนต์พระมาเลี้ยงข้าวที่บ้าน ๔-๕ องค์ อานิสงส์เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่ดีไม่ดีมันน้อยกว่าอย่างนี้ เพราะยุ่งกว่า ดีไม่ดีคนแกงบ้าง คนต้มบ้าง เราไม่ชอบใจก็โมโห ไอ้ตัวโมโหนี่แหละมันตัด ใช่ไหม
คำสอนของพระเดชพระคุณ “หลวงพ่อพระราชพรหมยาน” (พระมหาวีระ_ถาวโร) วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี ที่มา จากหนังสือ “ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๓๖ หน้า ๕-๘”
|