Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ไม่ล่วงละเมิดศีล 5

อังคาร 31 มี.ค. 2020 7:41 am

" ตนมีความทุกข์
ก็เพราะตนทำให้ตน​
เมื่อทำความดีใส่ตนแล้ว
ชื่อว่า เป็นผู้รู้ตน
เป็นผู้ยกตน เป็นผู้รักษาตน​

ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน
'อัตตา หิ อัตตโน นาโถ'
เป็นที่พึ่งของตนได้ก็เพราะ
ตนนั่นแหละทำความดี​

เป็นที่พึ่งของตนไม่ได้ ก็
เพราะตนเป็นผู้เกียจคร้าน​
ไม่มีศรัทธาเข้าวัด
ฟังธรรม รักษาศีล​

มันมัวแต่เห็นแก่ปาก
แก่ท้อง​ มัวหามา
ใส่ปากใส่ท้อง
คอยเวลาที่มันตายนั่นแหละ.."

โอวาทธรรม
หลวงปู่ขาว อนาลโย










" จงพยายาม หาที่พึ่ง
ให้ตนเอง คนที่หาพึ่ง
แต่คนอื่น จะพบแต่
ความหลอกลวง

การฝึกจิตให้เป็นที่พึ่ง
แก่ตนเองได้ คือ การฝึก
สติ การปฏิบัติธรรม
ตามแนวของพระพุทธเจ้า
ที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้าง
จิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง

มีสติสัมปชัญญะรู้รอบ
อยู่ที่ตัวเอง สามารถยืน
หยัดอยู่ในความเป็นอิสระ
ได้ตลอดกาล ไม่ต้อง
พึ่งพาอาศัยอะไร "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย









" ไหว้พระสวดมนต์
รักษาศีล 5 ศีล 8
คุณพระจะรักษา
อินทร์พรหมเทวดา
จะคุ้มครอง "

โอวาทธรรม
หลวงปู่ครูบาบุญยัง ปัญญาวโร








" สภาวะคนเราไม่เท่ากัน
เกิดมา ยากดีมีจน
สูงต่ำดำขาว
แต่ที่มีเสมอกัน คือ
ความคิด จิต ปัญญา

แต่จะดีหรือชั่ว อยู่ที่
ตัวเราเลือกทำและปฏิบัติ

ตอนสอนสั่งก็รับกันไป
แต่จะตั้งอยู่นาน
หรือไม่นานนี้
มันสำคัญมากนะ "

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร












"..การปฏิบัตินี่ ที่ไหน
ก็ทำได้ เมื่อก่อนนี้อาตมา
ก็กลัว จึงเที่ยวแสวงหา
ครูบาอาจารย์ เพราะ
ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร
กลัวมันจะไม่ถูก

ออกจากเขาลูกนี้
เข้าเขาลูกโน้น
ไปโน่น ไปนี่ ไปเรื่อยๆ

มาค้นคิดดู ทุกวันนี้
จึงเข้าใจก่อนนี้รู้สึกว่า
เราโง่จริงๆ ไปเที่ยวหา
แต่กรรมฐาน หารู้ไม่ว่า
มันอยู่เต็มศีรษะเรานี่เอง

ไม่รู้จักว่าผมเรานี้เป็น
กรรมฐาน มานั่งพิจารณา
ดูทุกวันนี้ มีแต่กรรมฐาน
อยู่ที่เรานี่เอง มันเกิด
มันแก่ มันเจ็บ มันตาย
มันอยู่ที่เรานี่

ฉะนั้นพระพุทธองค์
จึงตรัสว่า 'ปัจจัตตัง
เวทิตัพโพ วิญญูหิ'
ผู้ฉลาดรู้เฉพาะตน "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อชา สุภัทโท









“คนว่ากูดี ก็มี
คนว่ากูไม่ดี ก็มี
แต่ว่าอย่าไปหลง
เขาจะว่าดี ก็ช่างเขา
เขาจะว่าไม่ดี ก็ช่างเขา
ดี หรือ ชั่ว มันอยู่ที่ตัวเราเอง”

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ










ถาม : ทำไมถึงไม่ได้เหมือนกัน
ตอบ : #เพราะได้คนละคาถา_ได้คนละวิธี

เรื่องธรรมะทุกคนที่อยู่ที่นี้มีธรรมะหมด
ไม่มีผู้ที่จะไม่มีธรรมะ แต่จะมีมากมีน้อยอันนี้ต่างกัน

ทำไมถึงต่างกัน
ก็เพราะบุญสร้างมาไม่เท่ากัน มันถึงต่างกัน คนที่มีบุญมากนั่งสมาธิภาวนา จิตก็สงบได้ง่าย เมื่อจิตสงบแล้วดวงสว่างก็เกิดขึ้นมาง่าย ดวงสว่างเกิดขึ้นแล้ว

บางคนก็ไม่เห็นอะไร...บางคนก็จะเห็น
บางคนก็เห็นเป็นดวงสว่างเล็กๆ
บางคนก็สว่างทั่วไปไกล ไม่มีขอบเขตจักรวาล
บางคนรู้ไปถึงสวรรค์ลงไปเมืองบาดาล ไปทั่วสารทิศอย่างที่อยู่กลางเขาอย่างนี้

" ถ้าเราลืมตาขึ้นมองไปก็จะเห็นภูเขา ป่าปิดบังหมดมองไม่เห็น แต่ถ้าเกิดเป็นตาทิพย์ข้างใน มันจะทะลุไปหมดไม่มีอะไรจะปิดกั้นได้ นี่มันเป็นอย่างนี้ "

...เพราะฉะนั้นเรื่องจิตนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
เราควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเราศึกษาให้เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมในจิต เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า ทำไมไม่เป็นอย่างเดียวกัน พ่อแม่ครูอาจารย์ก็สอนภาวนา "พุทโธ" ตัวเดียวกัน แต่ทำไมถึงไม่ได้เหมือนกันอย่างนี้

...เราก็มานึกถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ที่พระองค์แสดงไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็คือ ๘๔,๐๐๐ คนเอาอย่างนี้ ได้คนละคาถา ได้คนละวิธี คนหนึ่งนั่งลงไปจิตก็สงบ คนหนึ่งนั่งลงไปมีแต่คิด แต่ความคิดนั้นคิดที่จะหนีออกจากกิเลส หนีออกจากความโลภ ความโกรธ ความหลง อันนั้นก็เป็นปัญญา

..."เมื่อทำให้เกิดขึ้นมาได้แล้ว ก็จะทำให้ตัวเราได้รับความสงบสบายใจขึ้นมา อยู่ยังไงก็มีความสงบมีความอิ่มเอิบใจ มีความแจ่มใส่ทุกที่ อยู่ในความสงบ คนที่อยู่ในความสงบอยู่ที่ไหนก็มีความสงบนิ่งอยู่ ความโกรธ ความโลภ ความหลงก็ไม่โกรธ"

...เหมือนกันกับคนที่ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณา
ก็ได้มาคนละทาง เพราะกำจัดความโลภ กำจัดความโกรธ กำจัดความหลงได้เหมือนกัน นี้มันเป็นอย่างนี้ บางคนก็จะทำให้เกิดความศรัทธาให้มากขึ้นไปอีก เกิดฌาน เกิดญาณ เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมา ก็จะมองเห็นอดีตกรรมของตัวเองขึ้นมา

...คำว่า "อดีตกรรม" คือกรรมที่เคยก่อให้เอาไว้ตั้งแต่หลายภพหลายชาติ พอเรารู้ว่าเราเคยทำผิดศีลข้อไหนมา ภพชาตินี้เราก็จะไม่ทำผิดศีลข้อนั้นๆอีก ให้มีความ "หิริโอตัปปะ" คือความละอายต่อบาป

...เมื่อเรามีธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ แล้ว ก็ให้เอามาใช้ทำความดีไม่ใช่ว่าจะทำบาปเหมือนในชาติก่อนๆที่เคยนิมิตมา เพราะการเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องมีบุญมาก เมื่อมีบุญมากส่งให้มาเกิดแล้ว เราจะสร้างบุญใหม่ให้กับตัวเองยังไง ก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้

" เหมือนที่พวกเราพากันมาทำ ณ ที่แห่งนี้แหละ "

ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม อินทสิริ
ในงานพิธียกยอดฉัตรพระมหาเจดีย์ศรีสามหมื่นทุ่ง วัดป่าบ้านมูเซอสามหมื่นทุ่ง อ.แม่สอด จ.ตาก
วันที่ ๐๔ ธ.ค.๕๙
ถอดเทป/เรียบเรียง : นรินทร์ ศรีสุทธิ์








#ภาวนาพุทโธบ้างก่อนนอน_ไม่ต้องเสียเงิน

ภาวนาเท่าอายุ. แต่อย่าไปตั้งความหวัง. เหมือนกับเราทานอาหาร. ถึงเวลามันอิ่มเอง.

จักขุง อุทะปาทิ อะโลโก อุทะปาทิฯ

ที่ท่านแสดงไว้ในธรรมจักร. บุญนี้เหมือนกันนะ. เมื่อมันพอ. จ้าออกมาเลย. เป็นปัจจัตตัง.

โอวาทธรรม : หลวงปู่ทุย ฉันทกโร วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ









“…พรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบัน…”

๑. ไม่เสียดายอยากถือศาสดาอื่นนอกจากพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนขององค์ท่าน และอริยสาวกขององค์ท่าน อริยสาวกขององค์ท่านเบื้องต้นนั้นไม่นิยมว่าภิกษุสามเณรและชั้นวรรณะใด ๆ

๒. ไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดศีล ๕

๓. ไม่เสียดายอยากล่วงอบายมุขทุกประเภท

๔. ไม่เสียดายอยากจะถือฤกษ์ดียามดีพร้อมทั้งไสยศาสตร์ต่าง ๆ เช่น อยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น

๕. ไม่เสียดายอยากค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษ การค้าขาย ๕ อย่างนี้ไม่เสียดายอยากค้าขายเลย

๖. ไม่เสียดายอยากจะผูกเวรกับท่านผู้ใด โกรธอยู่แต่ไม่ถึงกับผูกเวร แปลว่าโกรธแบบเบา ถ้าหากว่ามีผู้มาทำให้ผิดใจ จนถึงร้องไห้หรือน้ำตาออกก็ตกลงในใจว่า “ถ้าเคยทำเขาแต่ชาติก่อน ผลของกรรมตามมาก็ให้แล้วก้นไปซะ ข้าพเจ้าจะไม่จองเวรเลย ถ้าเขามาก่อใหม่ในชาตินี้ก็ให้แล้วกันไปซะ จะไม่จองเวรใด ๆ ” ดังนี้เป็นต้น

เมื่อตกลงใจขนาดนี้ ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็ปิดประตูนรกแล้ว เพราะไม่มีนรกอยู่ในที่ใจ ปิดประตูเปรตอีกด้วย ปิดประตูสัตว์ดิรัจฉานอีกด้วย ก็มีคติเป็น ๒ ในอนาคตคือ “ไม่มนุษย์ก็สวรรค์” เท่านั้น

ซ้ำเข้าไปอีกว่า “สิ่งใดไม่เสียดายอยากล่วงละเมิด สิ่งนั้นก็ไม่ลำบากหัวใจเลย” นี่คือพรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบันเราดี ๆ นี้เอง ไม่นิยมชั้นวรรณะและเพศวัยใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเปิดประตูใจถึงพระโสดาบันแล้ว เรียกว่า “ดวงตาปัญญาเห็นธรรม” เป็นทุนแล้ว เรียกว่า โลกุตตระทุน เป็นทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอกหากดึงดูดไปเอง และก็เปิดประตูสกทาคามีไปเองในตัวด้วย จะเร็วหรือช้าก็ไม่ถอยหลังด้วยดังกล่าวแล้วนั้น…”

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
ตอบกระทู้